คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย : [3] การเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทยของคนต่างด้าว--"หลักความจำเป็นทางสังคม"


 

3.1         หลักความจำเป็นทางสังคม

 

จากการศึกษาค้นคว้า ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์พบว่าด้วยความจำเป็นทางสังคม(Social Need)อันเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคการประมงในประเทศไทย ส่งผลให้ความต้องการแรงงานไร้ฝีมือเพิ่มปริมาณมากขึ้น รัฐไทยเล็งเห็นความสำคัญของการจ้างแรงงานกลุ่มนี้เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงสมัครใจที่จะบันทึกตัวคนต่างด้าวที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเข้ามาเป็นแรงงานกลุ่มนี้ไว้ในทะเบียนราษฎรไทย

แม้ว่าการบันทึกนั้นจะไม่ได้เป็นไปภายใต้หลักต่างตอบแทน(Reciproccity) กล่าวคือ รัฐไทยสมัครใจที่จะบันทึกคนต่างด้าวกลุ่มนี้ในทะเบียนราษฎรไทย โดยไม่ได้คำนึงว่ารัฐอันเป็นประเทศต้นทางของคนต่างด้าวกลุ่มนี้จะยอมรับบันทึกแรงงานไทยในทะเบียนราษฎรหรือไม่ ทั้งนี้เป็นไปเพื่อความมั่นคงเชิงประชากรแห่งรัฐไทยเป็นสำคัญ

ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันธ์รัฐไทย  ทั้งจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ปรากฎตัวในรูปแบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ในข้อ 6 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 ซึ่งวางหลักให้บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด  และสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่รัฐไทยเป็นภาคี ได้แก่ บันทึกความเข้าใจ(MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า ลาว กัมพูชา เช่น บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2546 หรือภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) หรือสนธิสัญญาส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอื่นๆ

ภายใต้กฎหมายและนโยบายของรัฐไทย   นับตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมารัฐไทยสมัครใจที่จะบันทึกตัวแรงงานต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย และดำเนินนโยบายผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นครั้งแรกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2535 โดยเริ่มจากแรงงานงานจากประเทศพม่า และขยายให้ครอบคลุมถึงแรงงานจากประเทศลาวและกัมพูชา โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ระบุระยะเวลาผ่อนผันให้ทำงานไม่เกิน 2ปี และระบุให้ทำงานได้ในบางกลุ่มอาชีพ ต่อมาโดยมติคณะรัฐมนตรีวันที 28 เมษายนและ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2541, 4 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ได้ขยายพื้นที่การทำงานและอาชีพออกไป และโดยมติคณะรัฐมนตรีวันที่  28 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงานประจำกับนายจ้างคนหนึ่งคนใดสามารถมาขึ้นทะเบียนได้ด้วยตนเอง โดยการขึ้นทะเบียนครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้แรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานทุกคนต้องเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ ตามโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยเก็บค่าบริการอัตรา 1,200 บาท/ปี โดยให้แรงงานร่วมจ่ายค่าบริการครั้งละ 30 บาท และกำหนดค่าตรวจสุขภาพสำหรับการต่ออายุใบอนุญาตทำงานงวดถัดไป จำนวน 300 บาท

ต่อมาโดยมติครม.วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่มาขึ้นทะเบียนและรายงานตัวแล้วตามมติ ครม.ในปี พ.ศ. 2544 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไปได้อีก 1ปี และโดยมติครม.วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี [1]

ข้อสังเกต

แม้ว่าคนต่างด้าวนั้นจะเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง แต่ด้วยความต้องการแรงงานทำให้รัฐไทยยอมรับที่จะผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในประเทศไทย (consent to reside) ได้เป็นการชั่วคราว โดยเป็นไปตาม มาตรา  17 แห่งพรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 

และชัดเจนยิ่งขึ้นในปี พ.ศ. 2547 เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  2 มีนาคม 2547 และวันที่ 27 เมษายน 2547  เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบโดยผ่อนผันให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา  อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ และให้จัดทำทะเบียนราษฎรของคนต่างด้าว

โดยกำหนดให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 3 สัญชาติที่ประสงค์จะขอใบอนุญาตทำงานจะต้องรายงานตัวเพื่อรับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติกับนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นก่อนแล้วจึงจะนำหลักฐานทะเบียนราษฎรไปประกอบการขอใบอนุญาตทำงาน  กลุ่มเป้าหมายของการดำเนินการครั้งนี้นอกจากตัวแรงงานแล้วยังให้รวมถึงกลุ่มผู้ติดตามของแรงงานที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วย ส่วนเรื่องสถานะการอาศัยอยู่ในประเทศไทยจะเป็นไปในลักษณะการอนุญาตให้อยู่ได้ปีต่อปี และต้องเป็นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ด้วย เช่น เมื่อรายงานตัวจัดทำทะเบียนประวัติแล้วต้องไปขออนุญาตทำงานที่กรมการจัดหางานหรือจัดหางานจังหวัด ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จัดทำทะเบียนประวัติ  ต้องไม่ถูกดำเนินคดีอาญา (ยกเว้นความผิดโดยประมาทและความผิดลหุโทษ) เป็นต้น ถ้าผิดไปจากเงื่อนไขที่กำหนดแล้วสถานะของการได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยย่อมสิ้นสุดลงตามกฎหมาย

ทั้งนี้ รัฐไทยโดยคำนึงถึงความมั่นคงเชิงประชากร จึงเห็นควรที่จะบันทึกสถานะบุคคลของคนต่างด้าวกลุ่มนี้ในทะเบียนราษฎรไทยตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร โดยการจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ(ท.ร. 38/1)  ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 38[2] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534  หรือในปัจจุบันคือมาตรา 38 วรรคสอง[3] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551  โดยมีกระบวนการตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2547[4]  ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนจังหวัดและนายทะเบียนกรุงเทพมหานครที่จะต้องดำเนินการเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ[5]ทั้งทะเบียนคนเกิด คนตาย และย้ายที่อยู่ ของคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและอยู่ในระหว่างรอการส่งกลับออกนอกราชอาณาจักร สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา โดยกำหนดแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติเป็นแบบ ท.ร. 38 และกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก สองหลักแรกเป็นประเภท “00”  และถือ บัตรบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งออกโดยกรมการปกครองภายใต้ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ.2547[6] ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกโดยระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ.2551  และอีกด้านของบัตรถือเป็นใบอนุญาตทำงานตาม มาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 หรือปัจจุบันคือพ.ร.บ.ว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 อีกด้วย

ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์มีข้อสังเกต ดังนี้

ประการแรก  จากองค์ความรู้ในบทที่ 2 เราสามารถจำแนกคนต่างด้าวกลุ่มนี้ได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ดังต่อไปนี้  1. แรงงานแท้ คือ บุคคลที่เข้ามาเป็นแรงงานจริงๆ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแรงงาน โดยสามารถจำแนกได้ 2 กรณี คือ 1.กรณีมีใบอนุญาตทำงานซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยตาม มติ ครม.ซึ่งออกตามมาตรา 17 พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522  และ 2. กรณีที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานก็จะไม่มีสิทธิอาศัย  

และ 2. แรงงานเทียม คือ บุคคลที่ไม่ได้เข้ามาเพื่อเป็นแรงงานแต่ได้แก่  บุตรของแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดตามแรงงาน บุคคลที่ขึ้นทะเบียนแรงงานทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วมีสัญชาติไทยแต่ยังอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติตามกฎหมายไทย และบุคคลไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยมานานแล้วแต่ตกหล่นการสำรวจ

ประการที่สอง แรงงานกลุ่มนี้อาจเข้ามาในประเทศไทยทั้งโดยผิดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง(แต่ต่อมาภายหลังได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ ท.ร.38/1) หรือเข้ามาโดยถูกกฎหมายซึ่งเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งรัฐเจ้าของตัวบุคคล (government to government : G-G ) เช่น รัฐบาลไทย-รัฐบาลพม่า รัฐบาลไทย-รัฐบาลลาว  รัฐบาลไทย-รัฐบาลกัมพูชา เป็นต้น

ประการที่สาม ในเบื้องต้นยังไม่ปรากฎมียุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนต่างด้าวกลุ่มนี้

ประการที่สี่ ในปัจจุบันรัฐไทย ภายใต้นโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ภายใต้มติ ครม.ปี พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้มีขั้นตอนของการพิสูจน์สัญชาติกับรัฐต้นทาง ความร่วมมือกับประเทศต้นทางของกลุ่มคนต่างด้าวที่เป็นแรงงานกลุ่มนี้ในการพิสูจน์สัญชาติแก่กลุ่มแรงงานที่เข้ามาอยู่ในระบบ กล่าวคือเป็นแรงงานที่ขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  (1) โดยความร่วมมือแบบทวิภาคี (MOU) ดังปรากฎในกรณีนางแสงเดือน ทานะสมบัติ[7] คนเชื้อชาติลาว ที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติโดย MOU ลาว-ไทย และกลับเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่กับครอบครัวในประเทศไทย และ(2) โดยความร่วมมือทางการทูต ดังปรากฎในกรณีของนายคำตุ่น หรือตุ่น[8] คนเชื้อชาติลาว ที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติลาวโดยความร่วมมือทางการทูตผ่านการประสานงานของอาจารย์บุญมี ราชมีไชย และเจ้าหน้าที่ของสถานทูตลาวประจำประเทศไทย

 

เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์จึงขอนำเสนอ ตัวอย่างกรณีศึกษาของคนต่างด้าวในประเภทนี้ ดังต่อไปนี้


ตาราง : การเข้าสู่ทะเบียนราษฎรของคนต่างด้าวโดยหลักความจำเป็นทางสังคม

สถานการณ์

มูลเหตุ

ก.ม.ระหว่างประเทศ

ก.ม.ภายใน

กระบวนการเข้าสู่ทะเบียนราษฎร

กรณีศึกษา

กม.คนเข้าเมือง

กม.ทะเบียนราษฎร

แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ พม่า-ลาว-กัมพูชา ซึ่งเข้าเมืองผิดกฎหมาย

(เข้าสู่ ท.ร.38/1)

-    ความต้องการ
แรงงานไร้ฝีมือ

-    แรงงานไร้สัญชาติที่เดินทางข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน

-    โดยผลของความตกลงทวิภาคี

 

หลักความยินยอมของรัฐ(consent of state)

หลักต่างตอบแทน-ทางอ้อม

MOU;สนธิสัญญาทวิภาคีไทย-ลาว

,ไทย-พม่า,ไทย-กัมพูชา

 

-    สิทธิเข้าเมือง

ม.17 พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522

สิทธิอาศัย

- ได้รับการผ่อนผันม.17 พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522

-  สิทธิในการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร

-  ม. 38 พรบ.ทะเบียนราษฎร 2534

ม. 38 วรรคสอง พรบ.ทะเบียนราษฎร 2551

-    เพิ่มชื่อในทะเบียนประวัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2547

 

-แรงงานแท้

-นางมาต ลุงยอน(ไม่อาจพิสูจน์สัญชาติ)

- นางกาวีพร วิไลวรรณ(อาจพิสูจน์สัญชาติลาวได้)

-แรงงานเทียม

- ด.ช.ชลชาติ แสนสุข(ผู้ติดตามแรงงาน)

-น.ส.คำแสง นาเฮง (แรงงานเทียมเด็กในสถาน ศึกษาไทย)

-น.ส.ธนิษฐา จองคำ

(คนสัญชาติไทยที่รอการพิสูจน์สถานะบุคคล)

-น.ส.คำกอง พิมพ์สอน(คนไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทยแต่ตกหล่นการสำรวจ) 




[1] ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, สิทธิในการมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในรัฐไทย,วิทยานิพนธ์นิติศาสตรม

หมายเลขบันทึก: 261981เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กรณีศึกษาที่ 6  แรงงานต่างด้าวแท้ที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรประเภท ท.ร.38 ในฐานะแรงงานจากพม่า : กรณีนางมาต ลุงยอน[1]

นางมาต เกิดเมื่อ พ.ศ.2511  ที่หมู่บ้านนามล ตำบลบ้านเลา อำเภอกุนฮี จังหวัดเมืองนาย ประเทศพม่า (ปรากฏตาม ท.ร.38/1) เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทางเมืองยอน เมื่อ พ.ศ. 2541 ปัจจุบันประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปในพื้นที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ นางมาตได้ร้องขอจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใน พ.ศ.2547 และได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรประเภทแรงงานต่างด้าว (ท.ร.38/1) ต่อมาในปี พ.ศ.2548 นางมาต ได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เลขประจำตัว คือ 00-xxx-xxxxxx-8  วันออกบัตร 25 สิงหาคม 2549 วันบัตรหมดอายุ 30 มิถุนายน 2552  และมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวรวมถึงบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบัน  

จะเห็นได้ว่าการที่นางมาตได้รับอนุญาตทำงานตามกฎหมายไทยมาตลอด ทำให้นางมาตมีสิทธิทำงานในประเทศไทย และความเป็นคนทำงานถูกกฎหมายไทยนี้เองที่ส่งผลให้มาตมีสถานะเป็น "แรงงานต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว" แม้จะยังมีสถานะเป็น "คนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย" ก็ตาม

นอกจากนี้ยังปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า แม้ว่านางมาตตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าในขณะที่เกิด แต่ต่อมา นางมาตได้ร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าในช่วงที่มีประชาพิจารณ์รัฐธรรมนูญพม่าใน พ.ศ.2551 ส่งผลให้นางมาตได้รับการบันทึกสถานะบุคคลทั้งในทะเบียนราษฎรไทยและทะเบียนราษฎรพม่า จะเห็นได้ว่านางมาตจะมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองไทยอย่างถูกกฎหมาย หากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติพม่าได้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2546

 

กรณีศึกษาที่ 7  แรงงานต่างด้าวแท้ที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรประเภท ท.ร.38 ในฐานะแรงงานจากพม่าทั้งที่โดยข้อเท็จจริง และโดยข้อกฎหมายลาวมีสัญชาติลาว : กรณีนางกาวีพร วิไลวรรณ[2] 

นางกาวีพร วิไลวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2523 ที่บ้านบึงวะ เมืองไกสรพรมวิหาร แขวงสวรรค์นะเขต ประเทศลาว เป็นบุตรคนที่ 2 ในบรรดาบุตร 8 คน ของนายธงและนางณีคนเชื้อชาติลาวสัญชาติลาว เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจนจึงไม่ได้ศึกษาต้องรับจ้างทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว  ในปี พ.ศ.2537 นางกาวีพรได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยผ่านนายหน้าจัดหางาน และได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยทางด่านจังหวัดมุกดาหารประเทศไทย โดยเข้ามาทำงานขายปลาได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1400 บาท ในขณะที่ทำงานในกรุงเทพก็ได้พบกับนายยุง แสนสุข พม่าซึ่งได้เกิดมีความรักมักกันจึ่งตกลงปงใจกันอยู่แบบสามีภรรยาแต่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนการสมรส ต่อมาได้มีบุตรด้วยกันคือ ด.ช.ชลชาติ แสนสุข เกิดเมื่อวันที่  6  มิถุนายน  พ.ศ.2545 ที่โรงพยาบาลปทุมธานี

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2547  นางกาวีพรและนายยุงได้ไปแสดงตนขึ้นทะเบียนแรงงานกับกระทรวงแรงงานฯ (ในขณะที่ ด.ช.ชลชาติ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดตามแรงงาน) อันส่งผลให้ได้รับการรับรองสิทธิในการทำมาหาเลี้ยงชีพในประเทศไทย และได้รับการรับรองสิทธิที่จะอาศัยในประเทศไทย กล่าวคือ แม้ว่าทั้งสองจะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่บุคคลทั้งสองก็มีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งผลในทางข้อเท็จจริง ก็คือ ครอบครัวของเขาทั้งสองตลอดจนบุตรย่อมไม่อาจถูกผลักดันออกจากประเทศไทย

นอกจากนี้ครอบครัวของนางกาวีพรยังได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนประวัติตามมาตรา 38 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 อันทำให้พวกเขาและบุตรได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนประวัติ (ท.ร.38/1) อันเป็นการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนไทย ส่งผลให้ครอบครัวของนางกาวีพรไม่ไร้รัฐอีกต่อไป พวกเขาไร้เพียงสัญชาติ และเป็นราษฎรไทยประเภทที่มีสิทธิอาศัย แม้ว่าไม่มีสัญชาติไทย

 

กรณีศึกษาที่ 8  แรงงานต่างด้าวเทียมที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรประเภท ท.ร.38: กรณี ด.ช.ชลชาติ แสนสุข[3]

สืบเนื่องจากกรณีศึกษาที่ 7 ด.ช.ชลชาติ แสนสุข เป็นบุตรของนายยง แสนสุขกับนางกาวีพร วิไลวรรณ เกิดเมื่อวันที่  6  มิถุนายน  พ.ศ.2545  ณ  โรงพยาบาลปทุมธานี   ถนนปทุมลาดหลุมแก้ว    ตำบลบางปรอก  อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี  ได้รับ"หนังสือรับรองการเกิด" หรือ "ท.ร.1/1 ตอนที่ 3" ที่ออกให้โดยโรงพยาบาลปทุมธานี และได้รับ"สูติบัตร ประเภท ท.ร. 3 ตอน 1" ที่ออกให้โดยเทศบาลท้องถิ่นปทุมธานี และปรากฏมีชื่อในทะเบียนบุคคลของรัฐไทยในหมายเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 7 จึงถือว่า ด.ช.ชลชาติ ได้รับการรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายไทยในทะเบียนราษฎรไทย ดังนั้น ด.ช.ชลชาติจึงมีสถานะบุคคลเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าว

ต่อมาในปี พ.ศ.2547 ในขณะที่บุพการีขึ้นทะเบียนแรงงานตามกฎหมายไทย ด.ช.ชลชาติ ก็ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดตามแรงงานพร้อมบุพการีและได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ ท.ร.38/1 ตั้งแต่นั้นมา และตราบเท่าที่นายยุงและนางกาวีพรได้รับอนุญาตให้เป็นคนทำงานถูกกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว  ทั้งสองก็จะได้รับการรับรองสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งผลในทางข้อเท็จจริง ก็คือ ทั้งสองตลอดจนครอบครัวย่อมไม่อาจถูกผลักดันออกจากประเทศไทย อันเป็นไปตามหลักความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของครอบครัว (family unity) และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าบุพการีมีสิทธิอาศัยในประเทศไทย ด.ช.ชลชาติ จึงควรมีสิทธิอาศัยเช่นเดียวกับบุพการี แม้ว่า ด.ช.ชลชาติ จะไม่ใช่แรงงานต่างด้าวก็ตาม แต่ในฐานะผู้ติดตามแรงงาน หรือ แรงงานเทียม ดังนั้น ด.ช.ชลชาติ จึงเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวที่เป็นแรงงานเทียมที่มีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยตามบุพการี

 


[1] กรณีศึกษาในโครงการห้องเรียนด้านสถานะและสิทธิของบุคคลภายใต้โครงการต่อยอดความรู้ "คลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่" โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร.มาต ลุงยอน (ตอนที่ 1)-เธอเป็นราษฎรไทยไหม?เธอมีสิทธิอาศัยไหม?เธอเป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายหรือไม่?,เผยแพร่ในhttp://gotoknow.org/blog/archanwell-and-maeai-study/255140 และ มาต ลุงยอน (ตอนที่ 2) - ไร้รัฐไร้สัญชาติหรือไม่?เสมือนไร้สัญชาติจริงหรือ?เผยแพร่ใน http://gotoknow.org/blog/archanwell-and-maeai-study/255361,งานเขียนเพื่อโครงการ "คลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ , ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย พายัพ และ Unicef, เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2552

[2] กรณีศึกษาภายใต้โครงการต่อยอดคลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ , บุญมี ราชมีไชย.กาวีพร วิไลวรรณ เป็นคนลาวจริงหรือไม่ เผยแพร่ใน http://gotoknow.org/blog/the-sis/242896

[3] กรณีศึกษาภายใต้โครงการต่อยอดคลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) อำเภอม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ห้องเรียนที่ 5 บุคคลมีเลขประจำตัว 13 หลักและเป็นแรงงานต่างด้าว , พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร.กรณีเด็กชายชลชาติ แสนสุข : ไร้สัญชาติ แต่ไม่ไร้รัฐ และไม่ไร้โอกาสในการพิสูจน์สัญชาติลาว เผยแพร่ใน http://gotoknow.org/blog/archanwell-and-maeai-study/239838

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท