เรียนรู้'การให้'ที่สร้างสุขภาวะชุมชน


"......ปัญญาญาณที่ชาวบ้านและประชาชนทั่วไปได้มาจากการดำเนินชีวิต เพื่อเข้าถึงการคลายอัตตาและความเป็นตัวกู-ของกูอย่างลึกซึ้งได้นั้น เป็นอีกหนทางหนึ่งที่สร้างพลเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นสิ่งที่เรียนรู้ทางสังคมได้จริงๆ..."

การให้และการเรียนรู้จากการให้นั้น เป็นโอกาสให้การเรียนรู้ทางสังคมและการให้การศึกษาอบรมแก่พลเมืองของสังคมไทยได้อีกโอกาสหนึ่ง เนื่องจากโดยทั่วไปนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ ถูกพลังสังคมแบบราชการหล่อหลอมให้เกิดความสำนึกว่าตนเองเป็นไพร่และราษฏร ที่ต้องเป็นผู้รอรับสิ่งต่างๆจากเจ้านาย อีกทั้งไม่ตระหนักถึงหน้าที่ต่อส่วนรวม ทำให้พลเมืองอ่อนแอ เป็นผู้ที่รอคอยเอาเข้าตัวอย่างเดียวและปล่อยให้สังคมส่วนรวมเป็นไปตามยถากรรม เมื่อเกิดความจำเป็น ทุกข์ร้อน และต้องการสิ่งใด ก็จัดความสัมพันธ์ต่อสิ่งนั้นด้วยการอ้อนวอน บนบาน บูชา ไม่มุ่งบรรลุผลด้วยการน้อมสู่การทำเหตุปัจจัยทางการปฏิบัติที่เหมาะสม ไม่เป็นการปฏิบัติชีวิตการเรียนรู้ที่ดี

ต่อมาก็ถูกสังคมตลาดกล่อมเกลาให้เป็นผู้บริโภค อยากได้สิ่งดีและสังคมดี ก็รู้จักแต่เพียงการดิ้นรนหาเงินไปซื้อเอา กลายเป็นสังคมเอาแต่บริโภค บ้าแข่งขันช่วงชิง ทุนนิยม และวัตถุนิยม ขาดความพอดีระหว่างความเป็นวัตถุกับจิตใจ รวมทั้งขาดการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้และการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรและแบ่งปัน ลักษณะอย่างนี้ จะทำให้สังคมไม่แข็งแรงพอที่จะพัฒนาตนเองให้ทันกับความจำเป็นของสังคมที่ทุกอย่างขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีความซับซ้อน ต้องมีการเรียนรู้ที่ผสมผสานเหมือนเป็นมิติหนึ่งของการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ ดังปัจจุบัน 

การให้ทานและการเรียนรู้ที่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนต่างๆได้มีโอกาสพัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองที่มีสำนึกของการเป็นผู้ให้ จากกิจกรรมการให้ทานและการทำบุญ จึงเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิรูป แม้จะเป็นการทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็สามารถกระทบต่อการปรับวิธีคิดอย่างลึกซึ้ง แต่ต้องใช้โอกาสอย่างนี้เป็นและต้องพัฒนาคนที่เห็นความสำคัญให้เป็นเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ทำเรื่องย่างนี้ได้อย่างแยบคาย กลมกลืนไปกับวิถีชีวิตและวิถีวัฒนธรรมของสังคม

  การให้ที่กลับทำลายและการรับที่กลับสูญเสีย...  

การให้และวิธีการให้นั้น นอกจากมีความสำคัญในแง่ที่เป็นโอกาสทำให้เป็นเวทีเรียนรู้พัฒนาพลเมืองและสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีอยู่ตลอดเวลาให้กับชาวบ้านแล้ว ในอีกแง่หนึ่งที่สำคัญมากเช่นเดียวกันก็คือการไม่ทำให้สิ่งที่เป็นทานและการให้ ต้องกลายเป็นการบั่นทอนชาวบ้านและชุมชนเสียเองอย่างไม่รู้ตัว แต่เรื่องอย่างนี้เราต้องกำหนดรู้ด้วยปัญญา กอปรด้วยการมีความสำนึกและการตระหนักรู้ครับ  หากขาดการเจริญสติและขาดการใช้ตัวปัญญามาเข้าใจก็จะไม่เห็น อีกทั้งกลับคิดว่าเป็นการทำดีเพียงพอแล้ว

การให้และการทำทานโดยมากนั้น ผู้ให้มักเกิดตัวตนของการเป็นผู้เหนือกว่า เกิดความเป็นตัวกูของกูว่าเมื่อตนเองจะต้องให้สิ่งต่างๆแก่ผู้อื่นแล้ว ตนเองอยู่ในฐานะให้สิ่งดีสงเคราะห์แก่ผู้อื่น ลักษณะการให้อย่างนี้ ผู้ให้จะยิ่งเกิดตัวตน อหังการ์ ลำพองตน เป็นจ้าวใหญ่นายโต 

ในส่วนของผู้รับก็รู้สึกอยากได้เปล่าในสิ่งที่มีผู้อื่นนำมาให้ จึงต้องทำตนเพื่อจูงใจและโน้มน้าวให้ผู้อื่นอยากให้สิ่งที่ตนเองต้องการได้มากๆ กลายเป็นผู้ละโมภทางวัตถุ ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์และคุณค่าของอุปโภคและบริโภคปัจจัยให้ลึกซึ้งดังที่ควรจะเป็น กลายเป็นชาวบ้านและชุมชนที่สูญเสียภาวะผู้นำ อ่อนแอต่อการพึ่งตนเอง เป็นผู้รับที่ขาดการใช้สติและปัญญา

จึงกลายเป็นการให้ที่ทำลายและการได้ที่สูญเสีย ทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ

  การให้และการสูญเสียที่กลับเป็นการได้  .

เมื่อสองสามเดือนก่อน พ่อของเพื่อนร่วมงานผมป่วยเป็นมะเร็ง เป็นการป่วยหนักครั้งเดียวในชีวิตแล้วก็ถึงแก่กรรมโดยเข้าโรงพยาบาลแล้วก็ไม่ได้กลับไปบ้านอีกเลย ครอบครัวของเพื่อนร่วมงานนี้เป็นคนต่างจังหวัด เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ ทำงานรับจ้าง แต่เป็นผู้มีสัมมาปฏิบัติ ดูแลลูกๆให้ได้ศึกษาอย่างสูงและทำการทำงานดีทุกคน ผมรักใคร่นับถือและทั้งสองท่านก็นับความคุ้นเคยกับผมเสมือนเป็นญาติ ตอนที่ท่านป่วยเลยมีโอกาสเยี่ยมเยือนและเอาใจใส่ดูแลกัน

ทว่า ความรุนแรงของโรคมะเร็งนั้นดำเนินไปเร็วมาก หลังจากแกเข้าโรงพยาบาลไม่กี่วันก็ถึงขั้นโคม่า แต่ก็คิดว่าจะอยู่ดูแลกันได้สักระยะหนึ่ง ทว่า วันหนึ่งแกก็อยากออกจากโรงพยาบาลและกลับบ้าน ผมได้ทราบก็นึกสังหรณ์ใจอย่างไรชอบกล จู่ๆเลยตัดสินใจไปเยี่ยมทั้งที่ตั้งใจว่าจะไปเยี่ยมในอีกสองสามวันถัดไป

ปรากฏว่าพอผมไปถึงโรงพยาบาล หมอและญาติๆก็ตัดสินใจระงับการเดินทางกลับบ้านเสียแล้ว และพยาบาลที่เฝ้าใข้ก็บอกผมว่าท่านอาจจะทนไม่ไหวแล้ว ตอนนั้น ชีพจรและสัญญาณชีพทั้งหลายตกหมดแล้ว ภรรยาและลูกหลานทุกคนก็ทำใจ

ผมไปถึง เมื่อเห็นอาการแล้วก็บอกให้ทุกคนอยู่ในอาการสงบ หากสัมผัสก็ขอให้สัมผัสเบาๆและให้สัมผัสที่เท้าเพื่อไม่ให้จิตดวงสุดท้ายต้องกวัดแกว่งและเสียกำลังในการนำตนเองให้ผ่านพ้นสิ่งที่แกกำลังต้องเผชิญอยู่แต่โดยลำพัง 

จากนั้น ก็ให้ลูกๆเอาเครื่องเล่น MP3 มาเปิดเสียงพระสวดทำวัตรโดยวางลำโพงขนาดเล็กไว้ข้างหูทั้งสองข้าง เพราะบ้านที่บ้านนอกของแกและลูกเมียนั้นอยู่ข้างวัด สติและสำนึกสุดท้ายยังอยากได้กลับบ้านอยู่  จึงต้องนึกถึงบรรยากาศความเป็นบ้านที่แกคุ้นเคยที่สุด อีกทั้งแกก็มีประสบการณ์ที่ดีในชีวิตที่ได้บวชลูกชายหลายคน ประสบการณ์ชีวิตและความทรงจำฝังแน่นอย่างนี้เท่านั้น ที่จะสามารถเป็นเพื่อนการเดินทางในชีวิตยามนี้ให้แกได้

ผู้คนและทุกสิ่งอย่างในชีวิตที่เป็นเรื่องภายนอก ไม่มีความหมายอย่างใดทั้งสิ้น นอกจากก็ต้องสามารถแปรวิกฤติและการสูญเสียอันยิ่งใหญ่นี้ ให้เป็นการสร้างสติปัญญาและได้ความถ่องแท้ในชีวิตมากขึ้นแก่ตน

ไม่น่าเชื่อว่า สักพักหนึ่ง สัญญาณชีพของแกก็กระเตื้องขึ้นสูง อีกทั้งไม่กระชากกวัดแกว่ง ผมใช้สองมือสัมผัสสองเท้าแกเบาๆ ทุกอย่างก็เริ่มแผ่วและลดลง กระทั่งสิ้นลมหายใจและคลื่นต่างๆก็ราบเรียบ ทางโรงพยาบาลขอให้รอในสภาพนั้นอีกสองชั่วโมงก่อนที่จะปลดเครื่องช่วยพยุงชีวิตทุกอย่างออก

ภรรยาแกร้องไห้และบอกว่า “….ไม่ใช่เพราะเสียใจ แต่สงสารเหลือเกิน....”  แล้วแกก็บอกว่า “…..ชีวิตยามทรุดโทรมร่วงโรยกระทั่งต้องพรากจากกันไปนั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องเสียใจ เพราะมันก็เหมือนกับต้นไม้ที่กิ่งไหนหมดอายุของมัน มันก็จะค่อยๆแห้งและร่วงโรยไป  แต่ที่ร้องไห้นั้นเพราะสงสาร…..”  นี่เป็นคำพูดของหญิงชราบ้านนอก อ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้แล้ว นะครับ ทว่าแกเคยทำบุญทำทาน แล้วก็คงได้อบรมกล่อมเกลาตนเองผ่านประสบการณ์ชีวิต

คนที่หยั่งความเป็นจริงของชีวิต จัดวางท่าทีต่อความพลัดพรากและความสูญเสียคู่ชีวิตที่ทุกข์ยากมาด้วยกันด้วยสติ  อีกทั้งในสถานการณ์ที่กำลังพลัดพรากสูญเสีย  ก็กลับเรียนรู้การละวางความเป็นของกูกับตัวกูให้ออกจากทุกข์  ทำความสูญเสียให้กลายเป็นการได้ความลึกซึ้งแก่ตน  วิถีแห่งสติและกอปรด้วยปัญญาอย่างนี้ ความสูญเสียก็กลับเป็นการได้ความลึกซึ้งต่อชีวิต

  ทุนเดิมของสังคมเพื่อต่อยอดนั้นมีอยู่  .

จากตัวอย่างที่เล่ามานี้ การให้บทสรุปของชีวิตและอุปมาอุปมัยออกมาอย่างแม่ของเพื่อนร่วมงานผมที่แสดงต่อสามีของท่านนั้น สะท้อนปัญญาการเข้าถึงธรรมของชาวบ้าน ซึ่งเป็นทุนศักยภาพการเรียนรู้จากวิถีชีวิต ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับทำกิจกรรมชุมชนต่างๆให้มีความหมายต่อการพัฒนาสุขภาวะทั้งของปัจเจกและชุมชนได้อยู่เสมอ

ภาษาธรรมและการแจกแจงในระดับที่เห็นความเป็นสิ่งเดียวกันและความเป็นธรรมดาของชีวิตอย่างนี้มีอยู่ในหลักพุทธธรรมและเป็นธรรมะในขั้นสูงมาก คนสมัยใหม่และความรู้แบบสมัยใหม่ก็ยังเข้าถึงได้ไม่ลึกซึ้งขนาดนี้เลย ดังนั้น การให้ทานและกิจกรรมการให้ หากมีองค์ประกอบทางปัญญา วิธิการที่เป็นกุศโลบาย และการเรียนรู้ที่แยบคาย ก็จะกลายเป็นโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ให้ชาวบ้านได้ทั้งต่อเนื่องและลึกซึ้ง

จากตัวอย่างเล็กๆน้อยๆนี้ จะเห็นว่า ปัญญาญาณที่ชาวบ้านและประชาชนทั่วไปได้มาจากการดำเนินชีวิต เพื่อเข้าถึงการคลายอัตตาและความเป็นตัวกู-ของกูอย่างลึกซึ้งได้นั้น เป็นอีกหนทางหนึ่งที่สร้างพลเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นสิ่งที่เรียนรู้ทางสังคมได้จริงๆ  อีกทั้งมีเป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมอยู่มากมายในสังคมไทยครับ

ดังนั้น การทำให้ทานและวิธีการให้ เป็นโอกาสการเรียนรู้ของชาวบ้านไปด้วย จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านและชุมชนต่างๆมีพื้นฐานอยู่ในวิถีชีวิตอยู่แล้ว อีกทั้งมิใช่จำเพาะผู้ศรัทธาในพุทธศาสนาเท่านั้น ในทุกศาสนา ก็มีเรื่องการให้ทานและการพัฒนาตนให้ขึ้นสูงทั้งนั้น  ซึ่งเชื่อว่าเป็นโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งของชาวบ้านเพื่อพัฒนาตนเองให้ทันกับความจำเป็นและสามารถสร้างสุขภาวะในการอยู่ร่วมกันของชุมชนได้อย่างมากมาย.

หมายเลขบันทึก: 319292เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2009 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 10:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)
  • นึกถึงสมัยก่อนว่าคนจะตายมักให้มีการสวดโพฌชงค์
  • อยากให้ผู้เสียชีวิต
  • เสียชีวิตอย่างสงบและมีความอิสระจากเครื่องมือแพทย์
  • นึกถึงกรณีท่านอาจารย์พุทธทาสเลยครับ

 “…..ชีวิตยามทรุดโทรมร่วงโรยกระทั่งต้องพรากจากกันไปนั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องเสียใจ เพราะมันก็เหมือนกับต้นไม้ที่กิ่งไหนหมดอายุของมัน มันก็จะค่อยๆแห้งและร่วงโรยไป  แต่ที่ร้องไห้นั้นเพราะสงสาร…..”  

เป็นประโยคที่ไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆเลยนะคะพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์..ความซาบซึ้งของคุณยายกับคุณตาเกิดจากการใช้ชีวิตคู่ที่มีแต่ความเข้าอกเข้าใจกัน ประคับประคองมาจนเป็นไม้ใกล้ฝั่งมาทั้งคู่ สงสารที่คุณตาไม่ได้ไปหลับที่บ้านนะคะ..ถ้าได้กลับบ้านคุณตาคงหลับสบายกว่านนี้ค่ะ...การกลับมานอนหลับที่บ้านของตนเองเป็นความต้องการแห่งวาระสุดท้ายของมนุษย์เราจริงๆค่ะ..คุณตาของอ้อยเล็กขอกลับบ้านและมานอนจับมือของแม่อ้อยเล็กจวบจนวาระสุดท้ายของลมหายใจ..ตอนที่ยังมีสติคุณตาจะเพ้อเรียกแต่อีหนูๆอยู่ตลอดเวลา การจับมือตาไว้ทำให้ตาสงบและเหมือนอุ่นใจและจากไปอย่างสงบ..ระหว่างนี้ญาติพี่น้องก็จะมาห้อมล้อมสวดมนต์ภาวนา ให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณตาอุ่นใจและพวกเราก็ทำหน้าที่ส่งคุณตากลับบ้านด้วยใจที่ว่าเราได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดในวาระลมหายใจสุดท้ายของคุณตาแล้วค่ะ...

P..เสียชีวิตอย่างสงบและมีความอิสระจากเครื่องมือแพทย์...ถูกต้องเลยค่ะน้องดร.ขจิต..คุณตาพี่อ้อยเล็กก็ขออย่างข้อความนนี้..คุณตาบอกกับแม่พี่อ้อยเล็กว่า.."อีหนูพ่อขอกลับบ้าน พ่อรู้ว่าพ่ออยู่ไม่นาน คนเราเกิดมาต้องตายอยู่แล้ว ถ้าจะตายพ่อขอไปตายที่บ้านนะอีหนู พาพ่อกลับบ้านเถอะ" ตอนนั้นพี่อ้อยเล็กเห็นแม่หน้าเคร่งเครียดมาก เพราะรู้อยู่แล้วว่าพ่อจะขอไปแล้วต้องพลัดพรากกันแล้ว แม่ปรึกษาคุณหมออยู่นานมาก คุณหมอบอกเอากลับบ้านได้แต่ต้องเอาถังอ๊อกซิเย่นติดไปด้วย ถ้าคนไข้ไม่ประสงค์จะใส่ก็ได้แต่ต้องไปให้ถึงบ้านก่อนนะ..คุณหมอบอกอย่างนั้น...

เรียนท่านอาจารย์

เคยอ่านเจอ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต อารมณ์ก่อนสิ้นลม ควรมีโอกาสได้รำลึกถึงในความดี สิ่งแง่งาม เป็นสิ่งสำคัญ ใช่ไหมคะ

สงสารภรรยานะคะ ชีวิตคู่รักที่ผ่านผูกผันวันเวลาคงเศร้าและเหงา เมื่อที่รักจากไป ช่วงที่คุณปู่เสีย ย่าก็เปลี่ยนไปจากเดิมค่ะ แล้วไม่นานย่าก็ตามสุดที่รักไปอยู่ด้วยกันค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ

  • การสวดมนต์และการมีสติเป็นวิธีดูแลกันในห้วงเวลาที่สำคัญได้ดีที่สุด
  • นอกจากการสวดให้เป็นเครื่องสร้างกำลังแห่งสติในขณะอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตนั้น ในมุมมองผมก็คิดว่าวิธีคิดและแนวปฏิบัติในโพฌชงค์ ๗ นั้น เป็นกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติเจริญสติภาวนา ที่ทำให้การทำงานและการดำเนินชีวิต เป็นการปฏิบัติเข้าถึงธรรมอย่างดีไปด้วยเลยนะครับ
  • ผมเคยมีบทเรียนในการดูแลผู้ป่วยในห้วงวิกฤติของชีวิตหลายครั้ง ทั้งในผู้ป่วยจากการติดเชื้อเอชไอวีขั้นสุดท้าย พ่อ ญาติพี่น้อง และผู้ที่เคารพนับถือ แต่เดิมที่ไม่เคยมีประสบการณ์ชีวิตมาก่อนต่อสภาวการณ์นี้ ก็เป็นทุกข์และทำอย่างเจ็บปวด โศกเศร้าครับ
  • แต่พอผ่านบทเรียนชีวิตพอสมควรแล้ว ก็เห็นอีกมิติหนึ่งว่า ในห้วงเวลาอย่างนั้น เราจะได้เห็นบทสรุปที่ดีที่สุดของชีวิตปัจเจกและการอยู่ร่วมกันของคนเราเลยว่า สิ่งที่สั่งสมมาตลอดชีวิตเพื่อนำออกมาใช้ดูแลกันยามนั้น สิ่งใดมีความสูงส่ง งดงาม และดีงาม อย่างแท้จริง
  • ผมได้เห็นทุกครั้งว่าการดูแลกันทางจิตวิญญาณและชีวิตด้านใน เป็นสิ่งสำคัญมากเลยครับ แต่จะให้เกิดขึ้นในยามที่จำเป็นไม่ได้ ต้องทำอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างสั่งสม หลักอย่างโพฌชงค์ ๗ เลยเป็นคำตอบอย่างหนึ่งที่ดี ผมเองนั้นก็เลยนำมาศึกษาและเรียนรู้ปฏิบัติอย่างขั้นอนุบาลครับ
  • มีความสุขครับอาจารย์ เมื่อวานแทนได้ไปงานเกษตรแฟร์ของ ม.เกษตรกำแพงแสน ผมก็ไปซื้อผักมาหอบใหญ่ ประเดี๋ยวก็จะนั่งปาตี้ผักต้มสักหน่อยครับ

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก : งดงามมากเลยครับ แต่การที่จะสามารถปรึกษาหารือกันได้อย่างมีสตินั้น วิถีปฏิบัติอย่างนี้ต้องเป็นการเรียนรู้แบบสั่งสม ผ่านกิจกรรมต่างๆในชีวิต ทั้งการงาน การดำเนินชีวิต และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของส่วนรวม แต่เรื่องพวกนี้ต้องพากันทำด้วยเหมือนกันครับ ใครที่สามารถบูรณาการองค์ประกอบการเรียนรู้อย่างนี้เข้าไปในการทำงานและการดำเนินชีวิตได้ ก็จัดว่าเป็นผู้สามารถทำการเรียนรู้เพื่อสร้างสุขภาวะทางจิตวิญญาณได้ในแนวหนึ่งเหมือนกันนะครับ

สวัสดีครับคุณ poo : ที่เราได้ยินได้ฟังกันมาก็คงเป็นในทางทฤษฎีและความคิดนึกเอาอย่างนั้นกระมังครับ แต่ความเป็นจริงเป็นอย่างไรนั้นผมมิบังอาจตอบหรืออธิบายได้เลยครับ ทว่า หากเทียบเคียงกับประสบการณ์ที่เคยแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนต่างๆ ทั้งหนักบ้างเบาบ้างนั้น ก็เห็นด้วยตนเองว่ากำลังใจและพลังชีวิตด้านในของเรานั่นแหละครับที่เป็นเครื่องช่วยได้ดีที่สุด

แต่ในภาวะปัจจุบันขณะ ของยามนั้น มันไม่ได้เกิดจากความต้องคิดถึงสิ่งดี สิ่งงาม มันเป็นของมันไปเอง ซึ่งพอผ่านไปแล้ว ก็จะรู้สึกได้แก่ตนเองทุกทีว่า ความสามารถรำลึกถึงความดีและสิ่งแง่งามอย่างที่คุณ poo ว่านั้น ต้องทำให้ตนเองอย่างสะสมทีละเล็กละน้อยอยู่เสมอในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง แต่ว่าแต่ละคนก็คงถูกกับวิถีปฏบัติที่แตกต่างหลากลหายกันไปนะครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

น่าจะมีการศึกษาให้เป็นแบบชิวิตเรียนรู้ร่วมกัน

ที่เห็นบ่อยคือคนเฒ่าคนแก่เมื่อท่านหนึ่งจากไปแล้ว บางทียังไม่ได้ทำบุญร้อยวันเลยอีกท่านที่ยังเหลือก็ตามไปอีก

หรือไม่ก็ท่านที่อยู่ก็มักจะซึมเศร้าโศกใจ เปลี่ยนไปเป็นอีกคนหนึ่งเลย

วิชาชีวิตเป็นเรื่องที่ทั้งง่ายและยากพร้อมกันแต่เราก็มักจะหลงลืมหรือแกล้งลืมไม่อยากรู้จักด้วยซ้ำ

ทำชีวิตให้เป็นเรื่องสุดวิสัยทุกทีคือชอบแก้ไขปัญหาในวินาทีสุดท้ายแล้วก็ไม่ประสบผลมากนัก(ประมาท)

สุขก็จะดีใจกันสุด ๆ โดยเผลอใจไปกันอย่างขนานใหญ่ปิดบังความจริงที่มีอยู่ทั้งหมด

ทุกข์ก็เอาแต่ระทมทุกข์โศกเศร้าจนมองไม่เห็นความจริงแท้ ถ้าตั้งสติให้ดีแม้ในทุกข์ก็จะทำให้เกิดปัญญาได้

ต้องคิดหรือภาวนากันบ้างให้เห็นชีวิตจริงว่าควรเป็นไปอย่างไร

จะได้ไม่ประมาทหลงมัวเมาจนลืมความจริงของโลกและชีวิตตามธรรมชาติ ชอบแต่ปรุงเสียจนเหมือนหลอกตัวเอง

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

ผมไม่ทราบว่าพระคุณเจ้าหมายถึงอย่างที่ผมเข้าใจหรือไม่นะครับ คือ ผมนึกถึงการเรียนรู้ร่วมกันที่ผสมผสานอยู่กับการดำเนินชีวิต จำเพาะในด้านที่ผมเข้าใจนี้ ผมเห็นความสำคัญด้วยมากครับ สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมสำหรับดำเนินชีวิตในทุกวันนี้นั้น เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ชาวบ้านต้องมีการเรียนรู้และใช้ความรู้อยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางด้านจำเป็นต้องเรียนรู้ทางสังคม หรือผ่านการอยู่ร่วมกัน ทำมาหากิน และดำเนินชีวิตร่วมกันกับผู้อื่น การได้ปฏิสัมพันธ์กันก็จะเป็นช่องทางของการได้กล่อมเกลาและฝึกอบรมตนให้ดีขึ้นในทุกด้าน

ทว่า ต้องเป็นการปฏิสัมพันธ์และการสร้างสังคมที่มีความหมายต่อการเรียนรู้ที่ดีด้วยนะครับ เพราะการรวมกลุ่มและการปฏิสัมพันธ์กันของคนโดยทั่วไปนั้น เราไม่ค่อยพัฒนาโครงสร้างความสัมพันธ์กันเชิงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโครงสร้างทางการใช้ปัญญาด้วยกันเพื่อจัดวางการปฏิสัมพันธ์ต่างๆต่อกันน่ะครับ

ส่วนใหญ่นั้น หากไม่เป็นการรวมกลุ่มที่เอียงไปทางสนุกสานรื่นเริงบันเทิงใจ กลุ่มอบายมุข กลุ่มช่วยกันทำลายเวลาในชีวิตอย่างสูญเปล่าและเสียความสมดุล เหล่านี้แล้ว ก็กลายเป็นโครงสร้างของการใช้อำนาจ

ด้านแรกก็เป็นการสร้างสังคมที่ดูเข้มแข็งก็แต่เรื่องไร้สาระและบันเทิงเริงรมย์ แต่นำเอากลุ่มก้อนอย่างนั้นไปใช้ทำงานสร้างสรรค์สักหน่อยก็ไม่ได้หรอกครับ เป็นโครงสร้างที่ไม่เข้มแข็งต่อการผลิต เป็นโครงสร้างที่แข็งขันแต่กับเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์และเรื่องที่ผิวเผิน

ส่วนโครงสร้างแบบใช้อำนาจ ก็จะเห็นว่ามีความพร้อมเพรียงและทำสิ่งต่างๆตามกันได้ดี ทว่า แต่พอเจอปัญหาและความจำเป็นในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ก็จะไม่สามารถเผชิญได้แล้วครับ เพราะเป็นโครงสร้างที่ไม่ได้ทำให้คนเกิดการเรียนรู้และมีภาวะผู้นำออกมาจากตนเอง ไม่เกิดการเรียนรู้จากการมีประสบการณ์ที่เพิ่มพูนขึ้น เกิดแต่ทักษะการรับโปรแกรม รอคำสั่ง และทำตามๆกันไป ทั้งสองแบบนี้ สามารถพัฒนาขึ้นได้ผ่านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในวิถีชีวิตครับ

เมื่อมองในแง่นี้ การผสมผสานการเรียนรู้สิ่งต่างๆไปด้วยกันเสมอระหว่างการดำเนินชีวิต จึงเป็นเหตุปัจจัยเพื่อเกิดสิ่งดี ที่ควรทำให้มีขึ้นเยอะๆครับ เรื่องอย่างนี้ใครเห็นโอกาสในชุมชนแบบต่างๆของตนก็ต้องถือโอกาสพัฒนาตนเองที่จะทำขึ้นมาให้ได้อยู่เสมอครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ภาวะการต่อต้านภายในกับความสูญเสียด้วยความสงบ เข้มแข็งเพื่อเป็นกำลังใจ

มองอย่างปัจเจกที่ทำเพื่อสุขภาวะของครอบครัว แผ่ขยายออกไปสู่ชุมชน และสังคม การเปิดมือ และแขนออกไปกว้างๆ พร้อมขยับ เคลื่อนย้ายตัวเองน่าจะได้ผลดีกว่าการรอคอยให้ใครหยิบยื่นมือมาให้ วิถีของสรรพสิ่งคงเป็นตัวบอกได้

การอยู่อย่างเป็นกลุ่ม ชุมชน คงดีกว่าการอยู่เป็นเอกเทศ (อาจารย์เคยกล่าวไว้) เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่าที่เป็นไปตามกฏ ตามเกณฑ์ของสังคม .. เสี้ยวหนึ่งของมนุษย์ ความความเอื้ออาทรต่อตนเอง และผู้อื่น การอ่อนน้อมถ่อมตนยังคงมีอยู่ในเบื้องลึกของจิตใจ คนไทยเป็นคนรู้กาละเทศะออกค่ะ แม้กระทั่งนักเลง หรือขี้ขโมย  พวกที่ถูกตำรวจจับได้นั่นคงเพราะไม่รู้กาละเทศะนั่นแหละค่ะ ฮ่าา

............................................................

(เอ่อ .. เขียนมาร่วม ๑ หน้ากระดาษ A๔ เขียนแล้วหายเกลี้ยง หมดแรงเขียนต่อ ) ^^"

 

P....แนะนำสำหรับ้องณัชพัชร์...สำหรับความคิดเห็นที่เป็นเชิงวิชาการมีความยาวเป็นหน้ากระดาษพี่อ้อยเล็กแนะนำให้พิมพ์ใน...word...ในเครื่องคอมพ์ของเราก่อนแล้วค่อยก๊อบปี้ลงมาวางค่ะ...พี่อ้อยเล็กโดนจนเข็ดแล้วเลยไปพิมพ์ใส่wordไว้แล้วค่อยวางได้งาน2ต่อค่ะ

ขอบคุณค่ะ พี่ครูอ้อยเล็ก ที่แนะนำค่ะ ลืมหน่ะค่ะ ไว้ใจระบบไปนิ๊ดด ^^"

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • เพิ่งนึกได้ว่าเคยอ่านเจอโครงการหนึ่งเมื่อเดือนก่อนโน้นค่ะ มีชื่อว่า "โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ" ของเครือข่ายพุทธิกา กับโรงพยาบาลจุฬา ที่เปิดรับอาสาสมัครช่วยดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย แต่เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ แล้วค่ะ ..
  • เป็นการช่วยให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย และช่วยเหลือแบ่งเบาภาระงานที่หนักอยู่แล้วของทางโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยที่ถือว่าโหลดมากๆ
  • ได้ฝึกตัวเองจากการทำภาวนาร่วมกัน ได้รู้จักการบำเพ็ญประโยชน์ ต่อสังคม
  • ทางโครงการมีความเชื่อที่ว่า ทุกคนสามารถเข้าถึงสุขภาวะได้แม้ยามเจ็บไข้ ทำให้นึกถึงกรณีของป้าอ้วน วริชณิตา ปลั่งสำราญ ที่อาจารย์เคยกล่าวถึงไว้ในหลายๆ บันทึก ตั้้งแต่เมื่อหลายปีมาแล้วค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์

  • เป็นแนวการทำงานและความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจครับ
  • นอกจากเป็นเรื่องเผชิญความตายอย่างสงบแล้ว อาจจะมีความหมายมากกว่านั้นครับ อย่างที่เคยเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มบัณฑิตอาสาสมัคร (ซึ่งอาจารย์ณัฐพัชร์เป็นหนึ่งในกลุ่มบุกเบิกนั้น) ไปอาสาช่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและช่วยกันพัฒนาระบบการทำงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในยุคแรกๆที่ยังไม่มีอะไรเลย ให้กับวัดพระบาทน้ำพุ ของท่านพระครูประชานาถ หรือท่านพระอลงกต ผมได้บทเรียนอย่างหนึ่งว่า เราต้องสามารถเป็นเพื่อนเพื่อการตั้งหลักชีวิตและเจริญสติให้กับผู้ป่วยจนเขาสามารถค้นพบความหมายและโอกาสอย่างใหม่ของตนเอง ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่เลยทีเดียว เหมือนกับเป็นการ Recover และ Re-Program เลยจริงๆครับ มากกว่าการปรับตัวเพื่อเผชิญความตายอย่างสงบ ทว่า ต้องกลับมามีชีวิตและดำเนินชีวิตของตนเองให้มีความหมายที่สุด อีกด้วย
  • ครั้งนั้น พวกเราไปอยู่และทำงานกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายและกับพระ กระทั่งกอบกู้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ที่ถูกนำไปทอดทิ้งให้หมดอาลัยตายอยาก ซ้ำเติมความทุกข์และความสิ้นหวังตนเองจากความเจ็บป่วย ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทำงานอาสา กระทั่งเตรียมสือ ต้อนรับการศึกษาดูงาน และตั้งวงดนตรี จนมีในปีหนึ่ง ผมกับพระอาจารย์อลงกตก็ถึงกับนำมาแสดงโชว์ให้กับที่ประชุมวิชาการ ที่สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งหมด เป็นการ Recover ตัวตนอย่างใหม่ของปัจเจกเลยทีเดียวครับ
  • มีบันทึกที่ผมเขียนถึง วงดนตรีคีตาญชลี ทว่า ที่มาของการนำมารีบเขียนไว้ให้คือพี่อ้วน หรือพี่วริชฌิตา ปลั่งสำราญครับ
  • ขอบคุณที่ร่วมแลกเปลี่ยนครับ
  • ขอบพระคุณค่ะอาจารย์วิรัตน์ ที่เอ่ยถึงโครงการที่เคยร่วมทำกิจกรรมด้วยกันที่มิใช่เพียงให้ความหมายใหม่แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น คิดว่าเรา (บัณฑิตอาสาฯ) ก็ได้สิ่งนี้จากพระอาจารย์อลงกต และผู้ติดเชื้อฯ เช่นกันค่ะ
  • ประเด็นการทำงานแนวจิตอาสา เป็นหัวข้อนึงที่กำลังเขียนอยู่ค่ะ และได้แตะไปบ้างจาก คห ที่ ๑๐ ค่ะแต่ข้อความหายไปเสียก่อน ..
  • ยุคนั้นเป็นยุคที่ ยังไม่มีคนเชื่อว่า เชื้อเอชไอวี/เอดส์ มีจริง  เป็นยุคที่คนยังคิดว่าน้ำที่ไหลจากวัดพระบาทน้ำพุ ไหลลงสู่ที่ต่ำ จะทำให้พืชไร่เค้าจะติดเชื้อเอดส์ไปด้วย  เป็นยุคที่ยังมีคนไม่เข้าใจว่าพระอลงกต แห่งวัดพระบาทน้ำพุ กำลังทำอะไรอยู่ จน พระ เณรที่วัดต้องย้ายที่จำวัด  ..... เรานอกจะเป็นเพื่อนชีวิต ให้กำลังใจกับผู้ติดเชื้อแล้ว ยังต้องเป็นเพื่อนร่วมกู้สถานการณ์ต่างๆ ไปพร้อมๆ กับพระอาจารย์อลงกตอีกด้วยค่ะ
  • อย่างไรประเด็น การทำงานแนวจิตอาสา ที่ไม่ใช่เพียงแค่อุดมการณ์ แต่เป็นอะไรที่มากกว่านั้น เป็นบทเรียนที่กำลังถอดตัวเองอยู่ค่ะ
  • ขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้โอกาสค่ะ

สวัสดีค่ะ

อ่านทั้งบันทึกและความเห็น พบว่ามีความงดงามเสมอ แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต

ถือโอกาสนี้สวัสดีปีใหม่(แต่หัววันเลย)กับอาจารย์เลยนะคะ

และหากเคยล่วงเกินอะไรอาจารย์ไป ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ ด้วยค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดา : คุณณัฐรดาเป็นคนทำให้ได้ความรู้สึกถึงการกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกปีหนึ่งอีกแล้ว เลยนะครับ ดูสิยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย แล้วก็เพิ่งปรับเปลี่ยนตนเองหลายอย่างจนมีความรู้สึกว่ากำลังเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่หลายอย่างของตนเอง พอคุณณัฐรดามาสวัสดีปีใหม่ก็เลยต้องตระหนักว่ากำลังจะผ่านไปอีกปีแล้วนะนี่

ผมนั้น นอกจากก็ขอสวัสดีปีใหม่คุณณัฐรดาด้วยแล้ว ก็ต้องถือเป็นวาระรำลึกถึงสิ่งดีๆมากมายที่ได้อ่าน ได้ชม จากงานเขียนและบันทึกของคุณณัฐรดา รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันหลายอย่าง อย่างคนที่สนใจคล้ายๆกัน

เลยก็ขอขอบคุณ และขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย รวมทั้งสิ่งอันเป็นที่เคารพนับถือของคุณณัฐรดาและครอบครัว จงได้อำนวยอวยพรให้คุณณัฐรดามีความสุข มีพลังใจในการทำสิ่งที่รักทั้งเพื่อความสุขความงอกงามในตน และเพื่อยังประโยชน์ให้บังเกิดแก่ผู้อื่นอย่างที่เป็นมาโดยตลอดนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ : อาจารย์ณัฐพัชร์ถอดบทเรียนด้านนี้ออกมา จะมีประสบการณ์ตรงดีๆหลายอย่างที่สามารถนำเอามาเป็นแนวทำงานในปัญหาใหม่ๆและในกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆได้เยอะเลยนะครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

 

  • ชุดภาพ ๒ ภาพนี้สวยจังค่ะ ถ่ายที่ไหนค่ะเนี่ยะ
  • ชื่อภาพก็มีความหมายดีจัง ....

 


                     
                      ภาพ : แสงแห่งความงอกงามเติบโต   ผู้ถ่าย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

                     
                      ภาพ : ดอกไม้และเมล็ดพันธ์ความงดงาม ผู้ถ่าย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

 

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ : ภาพแรก ถ่ายตอนไปร่วมกิจกรรมเจริญสติภาวนา ของชมรมชีวเกษม ที่ศูนย์เบิกฟ้าธรรมาศรม จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปลายปี ๒๕๕๑ ครับ ภาพสอง ถ่ายจากแปลงดอกไม้หน้าบ้าน ที่บ้านห้วยส้ม สันป่าตองครับ เมื่อตอนปีใหม่ ๒๕๕๒ ตอนนั้นผมปลูกรอบบ้านเลย แต่ตอนที่อาจารย์ณัฐพัชร์และคณะขึ้นไปเมื่อกลางปีนั้น ตรงนี้เป็นกระถางดอกบัวแล้วครับ

ธรรมสากัจจานี้....ประเทืองปัญญายิ่งนัก

อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ : "เป้าหมายการเข้าสู่ฝั่ง"

.....คนที่หยั่งความเป็นจริงของชีวิต จัดวางท่าทีต่อความพลัดพรากและความสูญเสียคู่ชีวิตที่ทุกข์ยากมาด้วยกันด้วยสติ อีกทั้งในสถานการณ์ที่กำลังพลัดพรากสูญเสีย ก็กลับเรียนรู้การละวางความเป็นของกูกับตัวกูให้ออกจากทุกข์ ทำความสูญเสียให้กลายเป็นการได้ความลึกซึ้งแก่ตน วิถีแห่งสติและกอปรด้วยปัญญาอย่างนี้ ความสูญเสียก็กลับเป็นการได้ความลึกซึ้งต่อชีวิต ...

พระอาจารย์มหาแล อาสโย : "กลวิธีเพื่อการเตรียมพร้อมสู่ฝั่ง"

 .... สุขก็จะดีใจกันสุด ๆ โดยเผลอใจไปกันอย่างขนานใหญ่ปิดบังความจริงที่มีอยู่ทั้งหมด ทุกข์ก็เอาแต่ระทมทุกข์โศกเศร้าจนมองไม่เห็นความจริงแท้ ถ้าตั้งสติให้ดีแม้ในทุกข์ก็จะทำให้เกิดปัญญาได้ ต้องคิดหรือภาวนากันบ้าง ให้เห็นชีวิตจริงว่าควรเป็นไปอย่างไร จะได้ไม่ประมาทหลงมัวเมาจนลืมความจริงของโลกและชีวิตตามธรรมชาติ ชอบแต่ปรุงเสียจนเหมือนหลอกตัวเอง

  • เยี่ยมจริงๆ คุณช้างน้อยมอมแมม
  • ต้องขอ copy คำพูดของคุณณัฐรดา ค่ะ "อ่านทั้งบันทึกและความเห็น พบว่ามีความงดงามเสมอ"
  • ดิฉันถือว่าเป็นบทสรุปชั้นครู ต้องขอบคุณมากๆ ค่ะ ..
  • ไม่ผิดหวังที่ตามเข้ามาอ่านคอมเมนต์นี้ค่ะ ^^

 

 

คุณช้างน้อยมอมแมมและอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • หลานช้างน้อยมอมแมมนี่เขาลึกซึ้งครับอาจารย์ณัฐรพัชร์ เริ่มพัฒนาวิธีบันทึกบล๊อกให้เป็นการเขียนเชิงวิเคราะห์จากข้อมูลที่สามารถสร้างความหมายและอ้างอิงกันได้เองจากการสนทนาของบล๊อกแล้ว
  • "เป้าหมายการเข้าสู่ฝั่ง" เป็นวิธีคิดต่อความเป็นชีวิตที่ตอบคำถามสำคัญที่สุดคำถามหนึ่งในพุทธธรรมเลยนะครับ วิธีมองว่าชีวิตเป็นการเดินทางข้ามห้วงมหรรณพ จากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฟากฝั่งหนึ่ง ที่เราจะสามารถพัฒนา มรรควิถี ในแนวทางต่างๆอย่างที่ตนเองเชื่อได้ และวิถีแห่งสติปัญญาก็เป็นวิถีหนึ่งที่มุ่งการพึ่งสมองและจิตใจหรือการพึ่งการปฏิบัติตนเองของปัจเจกเป็นก่อนอื่น 
  • ด้วยเหตุนี้ การก้าวพ้นของกูและตัวกู จึงแทบจะเป็นทั้งด่านแรกและเป็นศูนย์กลางของทั้งหมดของ "เป้าหมายการเข้าสู่ฝั่ง" ของทั้งหมดทั้งสิ้นอย่างที่คุณช้างน้อยมอมแมมผุดขึ้นเป็นหัวข้อกระทู้เลยทีเดียว

                            

                            

                             ภาพ ดอกบัวในตัวเรา จากโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณ สวนโมกขพลาราม ผู้ถ่าย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท