ดี เก่ง มีความสุข รูปธรรมของสิทธิเด็ก : บทเรียนจากวิทยุชุมชน สยชช. ปางมะผ้า


“เด็กๆทำงานเล็กๆนี้ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ครับ”

 “เก่ง ดี มีความสุข” เป็นวิสัยทัศน์ในการพัฒนาในทศวรรษนี้ที่คนทำงานด้านการพัฒนาเด็กไม่มีใครไม่เคยรู้จัก แต่จะทำได้ไม่ได้นั่นอีกเรื่อง  ผมก็เห็นด้วยนะครับ แต่ขอสลับ โดยเอาคำว่าดีขึ้นมาก่อน เป็น ดี เก่ง และมีความสุข เพราะเห็นว่าดี มีค่ากว่าเก่ง  คือ ถ้าเป็นคนดี มีคุณธรรม แล้วจะสอนไม่ยากครับ เดี๋ยวก็เก่งเอง มีคุณธรรม ก็พลอยมีความสุข  

การฝึกให้เด็กเป็นคนดี มีศีลธรรมจึงเป็นรากฐานที่จะก่อให้เกิดความเก่ง และการมีความสุข  

ที่ สยชช. เราจึงเน้นฝึกให้เด็กเป็นคนดีครับ บางคนก็ฝึกได้ บางคนก็ฝึกยาก และเด็กหลายๆคนอาการหนัก เป็นบัวอยู่ในตม ฝึกไม่ได้ เราก็ต้องปล่อยวาง

กำลังเรามีจำกัดครับ อายุขัยผมก็มีจำกัด จะฝึกศิษย์ก็ต้องเลือกคน ให้ได้คุณภาพแล้วเค้าก็จะไปฝึกคนอื่นๆได้ต่อไป

หลักการผม คือ ใช้เวลาฝึกคนดีให้ได้ผลจริงๆแม้เพียงคนเดียว  ดีกว่าฝึกคนเป็นร้อย แต่ไม่มีผลสร้างสรรค์ในทางปฏิบัติเลย  

สยชช. เราเคยเดินเส้นทางเชิงปริมาณมาแล้ว ไม่ได้ผลครับ การพัฒนาเด็กของเราจึงหันมาเน้นทางคุณภาพแทน

วิทยุชุมชนของเราก็เช่นกันครับ หนึ่งปีเจ็ดเดือนแล้ว ที่สถานีวิทยุเด็ก เยาวชน และครอบครัว สยชช. ได้ดำเนินการในฐานะวิทยุชุมชน ที่เป็นสื่อท้องถิ่นในการบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นภาษาท้องถิ่น (ไทใหญ่)

 

 

การมีส่วนร่วมโดยชุมชน ในระยะปีแรก ยังมีไม่มากครับ เป็นวิทยุที่เราตั้งขึ้นโดยเอาการพัฒนาเด็กเป็นศูนย์กลางก่อน เพราะขืนรอมติชุมชน ก็อาจจะเป็นชาติหน้าบ่ายๆ เด็กๆโตขึ้นทุกวัน ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กมีมหาศาล และค่อยๆลดลงตามวันเวลา

วัยเด็ก คือ วัยทองของการเรียนรู้

 การพัฒนาอนาคตของชาติจึงต้องทำตั้งแต่วันนี้  จะอ้างว่าไม่พร้อมไม่ได้

 ยังไงก็ต้องทำครับ มากน้อยนั้นอีกเรื่อง

กลับมาที่  “ดี เก่ง และมีความสุข”  ในวิทยุชุมชนของพวกเรานะครับ

วิทยุชุมชนทำให้เด็ก “ดี” เรามีหลัก 5 ส ที่เด็กๆแกนนำถือเป็นวินัยเชิงบวกที่ต้องทำนะครับ ได้แก่ สุภาพ สะอาด เสียสละ สัจจะ และสันติ หลัก 5 ส นี่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ที่เด็กๆทำงานมา ถือเป็นหลักธรรมเบื้องต้นของแกนนำ โดยเฉพาะ สัจจะ ข้อนี้เด็กๆทำยาก ถ้าทำไม่ได้เด็กๆก็จะวางกฎลงโทษกันเอง การลงโทษมิใช่เป็นไปเพื่อให้เจ็บจำ แต่เป็นการฝึกให้เขาสร้างชุมชนแห่งความยุติธรรม มีกฎกติกา ระเบียบในการอยู่ทำงานร่วมกัน  ขอย้ำเลยครับ เด็กจะดีไม่ได้เลยถ้าเขาไม่วางกติกาในการทำงานร่วมกันและร่วมรักษากฎกติกานั้นอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่น แรกๆเขาจะต่อต้าน เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราอธิบายถึงความจำเป็น และไม่ถอยที่จะชี้นำเขา พอนานเข้า ศรัทธาจะตามมาเป็นพลังเองครับ

       เด็กๆรุ่นเล็ก กำลังจัดรายการวิทยุชุมชน

 

แม้ว่าตามตำรา เด็กต้องการการชี้แนะ ไม่ใช่การชี้นำ แต่ในบริบทเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผมทำงานด้วย การชี้นำเป็นเรื่องจำเป็นก่อนครับ แล้วค่อยๆผ่อนเป็นการชี้แนะ และชี้ชวนตามลำดับ จะยึดตามตำราไม่ได้ เพราะบริบท พื้นฐาน อุปนิสัยใจคอเด็กแต่ละที่ไม่เหมือนกัน  

ดี ในที่นี้ยังไม่ได้หมายถึง ทำให้เด็กๆเป็นคนดีอย่างปัจเจก แต่เป็นการสร้างชุมชนให้ดีด้วย อย่างที่เราชวนชุมชน มาทำดีกัน บางคนก็เอาสื่อเทป ซีดีธรรมะมาให้สถานีช่วยเปิดเป็นธรรมทาน หลายท่าน ห้างร้านต่างๆก็กรุณาบริจาคค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหารกลางวันเด็กๆที่มาจัดรายการ เป็นการทำดีด้วยกันทั้งชุมชน โดยเอาพื้นที่สร้างสรรค์กิจกรรมเด็กๆเป็นตัวตั้ง

 

เด็กๆ ชวนชาวบ้านทำบุญค่าน้ำค่าไฟสถานีวิทยุชุมชน และค่าอาหารกลางวันดีเจน้อย สยชช.

ผมเคยเขียนโครงการกว่าห้าสิบหน้า ไปขอ งบ สสส.มา พัฒนาโครงการเจ็ดเดือน ส่วนกลางอ่านเปเปอร์แล้วบอกว่าไม่เห็นมันจะขยายเครือข่ายการมีส่วนร่วมตรงไหน เป็นอันว่าโครงการวิทยุจิ๋วๆอย่างนี้ไม่ผ่าน  

เด็กๆอกหักจาก สสส. ผมก็ผิดหวังมาก เครือข่ายภาคีคนทำสื่อด้วยกันไม่มีใครกล้าอ้าปากจะช่วยเหลือเลย ผิดหวัง สสส. ไม่เท่าไร แต่เจ็บใจภาคคนทำสื่อนี่แหละครับที่ไม่กล้าแสดงจุดยืนอัตลักษณ์ของคนทำงานท้องถิ่น เอาเถอะเรากลับมาซบอกชุมชนของเรา ไม่เป็นไร เราเรียนรู้ว่า ต่อนี้ไป เราจะพึ่งตนเองให้มากขึ้น

พูดไปเดี๋ยวจะกลายเป็นบ่น เรากลับมาต่อที่เรื่องการพัฒนาเด็กโดยวิทยุกันต่อดีกว่าครับ มาว่าถึงประเด็นที่สองที่เราได้จากการทำวิทยุ คือ “เก่ง” กันนะครับ

 

วิทยุชุมชนทำให้เด็ก “เก่ง”  

เรื่องเก่งนี่ดูไม่ยากเลย ทุกคนที่มาร่วมจัดรายการเป็นประจำจะเกิดทักษะหลายอย่างครับ เช่น ความกล้าแสดงออก บางคนมาทีแรกเจอไมค์พูดไม่ออก อย่างเด็กหญิงบุญรัตน์ หรือน้องแจ๋ว อายุเก้าขวบ ตอนนี้ก็ดีขึ้น คือเริ่มฝึกจัดรายการร่วมกับเด็กโตได้ นอกจากกล้าพูดแล้ว เด็กๆเรียนรู้ที่จะเตรียมความพร้อม มีความคิดเชิงระบบมากขึ้น ตั้งแต่การรู้จักจรรยาบรรณของสื่อมวลชน การเตรียมข้อมูล เตรียมเพลง เขียน story board ง่ายๆ การรับโทรศัพท์จากผู้ฟัง การวิเคราะห์แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น เวลาเกิดขัดข้องทางเทคนิคต่างๆ

 นอกจากนี้ ยังมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ และการค้นคว้าหาข้อมูล ซึ่งแบ่งเป็นสองแบบ คือ จากแหล่งเรียนรู้ทุติยภูมิคือหนังสือ ตำราต่างๆ กับแหล่งเรียนรู้ปฐมภูมิ คือแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ในชุมชน เช่น ผู้เฒ่าผู้แก่ ปราชญ์ชาวบ้าน สื่อ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ข่าวสารต่างๆที่มีอยู่ในวิถีชุมชน  วิทยุชุมชนของเราเน้นให้เด็กเข้าหาแหล่งเรียนรู้อย่างหลังนี้มากกว่าครับ

การพัฒนาฝีมือเด็กจะไม่ก้าวหน้าเลยหากไม่ได้ภาคีที่มาเป็นครูจากข้างนอกมาช่วยด้านเทคนิค  สถานีวิทยุเล็กๆของเราโชคดีที่ได้ร่วมงานกับกลุ่ม”เสียงไทย” ผลิตรายการข่าวและละครสั้นกึ่งสารคดีส่งให้กับวิทยุ FM 105 วิทยุไทยเพื่อเด็กและครอบครัวที่กรุงเทพ มาเกือบปี ได้เรียนรู้วิธีการลงเสียง ตัดต่อไฟล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนสคริปข่าวให้น่าสนใจ ทำให้งานมีคุณภาพที่จะสื่อสารกับสาธารณะมากขึ้น

ผลิตรายการ ออกอากาศไปแล้วก็ต้องมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ รวมทั้งจากการร่วม Focus Group กับทีมวิจัยจากนอกพื้นที่ แรกๆเราอาศัยเวทีวิจัยจากที่อื่นๆมาช่วยให้เราได้ข้อมูล แต่ต่อมา พวกเด็กๆได้ร่วมสำรวจความคิดเห็นของผู้ฟังทางโทรศัพท์ และการลงพื้นที่สำรวจด้วยตัวเองมากขึ้น รวมทั้งการเริ่มจัดหาทุน โดยถือกล่องรับบริจาคตระเวนไปตามห้างร้านตลาดต่างๆในพื้นที่กระจายเสียงเพื่อหาทุนค่าน้ำค่าไฟ และค่าอาหารกลางวันของพวกเขาเอง แม้จะไม่ได้เงินกลับมามากมายอะไร แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดของพวกเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น

 

ประชุมวางแผนและทบทวนการทำงานอย่างสม่ำเสมอ (PDCA : Plan- Do- Check- Act)

วิทยุชุมชนทำให้เด็ก “มีความสุข”

เสาร์ อาทิตย์เป็นวันที่เหล่า “ดีเจน้อย” สยชช. เฝ้ารอ มันไม่ใช่วันหยุดดูทีวีหรือไปเที่ยวเตร่เพื่อนฝูง หรือเมาท์มือถือกันอย่างเมามันกับเพื่อนฝูงเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แต่เป็นวันที่พวกเขาต้องทำงาน แต่เป็นการทำอย่างมีความสุข และเป็นระบบจากวินัยเชิงบวก หลังจากที่ต้องเตรียมรายการมาวันสองวัน ก็มาถึงวันที่ต้องออกอากาศจริง เด็กๆจะรู้สึกตื่นเต้น ดีใจที่มีคนขอเพลงเข้ามา  บางครั้งคนฟังก็ขอเพลงมาให้กำลังใจเด็กๆก็มี เพื่อนๆขอเพลงมาแซวพวกเขาตามประสาวัยรุ่นก็มี เสียงตอบรับเหล่านี้ กับเนื้อหาดีๆที่พวกเขาทำเพื่อคนฟัง ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และความสุขที่ได้แสดง “ความเป็นไทใหญ่” ในตัวพวกเขาออกมาทั้งจากภาษา และจิตวิญญาณ เป็นความสุขจากภายใน จากการทำงานรับใช้สังคม จากการรวมกลุ่มเด็ก “คอเดียวกัน” สร้างสรรค์สื่อดีๆออกไป มิใช่ความสุขจากการบริโภคพึ่งพิงภายนอก

 

วิทยุชุมชน ทำให้ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้เรื่องสิทธิเด็กอย่างเป็นรูปธรรม

ไม่ใช่เพียงแต่เด็กผู้จัดรายการเท่านั้น ที่ได้รับประโยชน์เต็มๆกับสถานีวิทยุ แต่จริงๆแล้วกลุ่มผู้ฟังก็ได้รับผลอย่างมาก ที่ปางมะผ้าของเรา ผู้ใหญ่วัยแรงงานกับกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มผู้ฟังหลักของเด็กๆ ส่วนเด็ก กับวัยรุ่นทั่วไปจะอยู่กับสื่ออื่น เช่น ทีวี และโทรศัพท์มือถือมากกว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ที่จัดรายการ 40 เปอร์เซนต์เป็นเรื่องปัญหาเด็กและเยาวชนที่ผู้ใหญ่ พ่อแม่ผู้ปกครองควรทราบ  ,  20 เปอร์เซ็นต์ เป็นธรรมะ , 20 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องสุขภาพ  , และอีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องจัดการสื่อกับการบริโภคนิยม สิ่งที่สะท้อนให้ผู้ฟังเห็นจากรายการก็คือรายการเกือบทั้งหมด ผลิตโดยเด็กและเยาวชน ทำให้ชุมชนเริ่มมองเห็นศักยภาพของเด็กในหมู่บ้าน และยอมรับการมีส่วนร่วมของเด็กในการพัฒนาแบบสมัยใหม่มากขึ้น ได้มีความเข้าใจเด็กรุ่นลูกหลานมากขึ้นโดยมีรายการที่เสริมสร้างความเข้าใจอย่างเข้าถึง เป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัยอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้เป็นบทเรียนที่พอจะสรุปได้ในรอบปีแปดเดือนของวิทยุเล็กๆแห่งนี้

อาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 53 นี้ เหล่าดีเจน้อยของเราจะได้ออกทีวีเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ของพวกเขา ติดตามได้จากช่องทีวีไทย 10.30 – 11.00 น. ในรายการมดคันไฟ ชวนกันติดตามชมด้วยนะครับ

รายการ “มดคันไฟ” จากทีวีไทยมาถ่ายทำการจัดรายการวิทยุของเด็กๆ

 

“เด็กๆทำงานเล็กๆนี้ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ครับ”

หมายเลขบันทึก: 387164เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

ขอชื่นชม เป็นกำลังใจ...

และขอบคุณสำหรับการแบ่งปันเรื่องราวดีดี มีคุณค่าทางใจครับ

ครับแล้วจะติดตามชม ชอบกับคำว่า เน้นคุณภาพดีกว่าปริมาณ ผมกำลังจะทำโครงการหนังสั้นเยาวชนกับเยาวชนแรงงานข้ามชาติ หลักการและรูปแบบที่คุณเขียนมา มีประโยชน์มากครับ

  • ขอบคุณกำลังใจจาก อ.นุนะครับ มีโอกาสจะแวะไปอ่านในบล็อกของท่านบ้าง
  • คุณบีเวอร์เป็นอีกคนที่ยังเข้ามาโพสต์กันเรื่อยๆ ที่จำได้เพราะคนโพสต์ถึงผมไม่เยอะนะครับ ซึ่งก็ดีครับ เพราะถ้าโพสต์กันมาก ชีวิตก็อาจจะยุ่งมากขึ้น เอาเป็นแบบพอเพียงที่เราจัดการตัวเองได้อย่างนี้ดีแล้ว
  • ผมชอบสำนวน “Remember Little Things make a big difference” เข้าใจว่างานของคุณบีเวอร์ที่ทำสื่อกับเด็กไร้สัญชาติคงคล้ายกัน
  • ทำหนังเสร็จแล้ว ให้เกียรติส่งมาให้สถานีวิทยุของเราเปิดบ้าง เป็นวิทยาทานนะครับ

ขออนุญาตครูยอดคัดลอกนำไปเผยแพร่ต่อคงได้นะครับ

เป็นวิทยาทาน และแรงบันดาลใจนะครับ

“ผู้ให้ต้องขอบคุณ”

เพราะผู้ให้คือผู้ที่ “ได้” มากกว่าผู้รับ

ผมต่างหากครับที่ต้องขอบคุณคุณวิทยาที่เอาข้อมูลไปใช้

ยินดีมากครับ คุณวิทยา

สวัสดีครับ ขอเป้นกำลังใจให้นะครับ ขอบคุณ คุณ อัมพร ศสอ ที่ส่งเมล์ มาให้ผม โชคดีจัง ผม ขอนำเป็นแบบอย่างนะครับ มีโอกาส คงได้ขอคำแนะนำจากท่านครับ เรามองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วนะครับ จะแวะมาเยี่ยมใหม่นะครับ ดึกมากแล้ว ขระนี้ ตีหนึ่ง กว่าๆ ส่งเข้านอนนะครับ หลบฝันดีนะครับ

  • ผมคิดว่าแบบอย่างที่ยิ่งใหญ่ของเราอยู่ไม่ไกล คือพระศาสดาที่พวกเราแต่ละท่านนับถือ ท่านสถิตอยู่ในทุกที่ แต่มีบางอย่างทำให้เราหลงลืมปฏิบัติบูชา
  • ศาสนากับงานพัฒนา เป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน แต่ปัจจุบัน งานพัฒนา ถูกจับแยกหั่นเป็นส่วนๆ ศาสนากลายเป็นแค่เครื่องมือในการพัฒนา ทั้งที่ศาสนาควรเป็นอุดมการณ์หลัก เป็น core-value ไม่งั้นจะถูกมิจฉาทิฐิ ความโลภ โกรธ หลง ยึดมั่นถือมั่นเข้าครอบโดยง่าย
  • ผมอาจจะเป็นคนพูดตรงไปบ้าง แต่ก็ด้วยความจริงใจ ไม่มีเจตนาจะไปทำให้ใครขุ่นมัวนะครับ ถ้าไปกระทบใคร แล้วเขาเจ็บ ผมก็ไม่สบายใจ ผมก็ขอโทษด้วย แต่ผมก็ต้องทำไปตามหน้าที่ที่สัญญาประชาคมไว้
  • ขอบคุณ kroo chang มากๆ ที่หวนมาให้กำลังใจ มีโอกาสยินดีรับใช้เสมอ
  • ผมจะเขียนบันทึกภาคสนามในบล็อกทุกๆเดือน มาเยี่ยมเยือน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอีกนะครับ

ขอเป็นแรงใจช่วยคนทำงานกิจกรรมเพื่อเด็กในแม่ฮ่องสอน ขอเป็นคนส่งเสริมให้เด็กมีบทบาทในสังคม ขอให้เด็กรับรู้ว่าเขามีเครือข่าย มีเพื่อนอีกเยอะพื้นที่นอกจากปางมะผ้าที่จะร่วมมือร่วมใจด้วยกัน ยังมีผู้ใหญ่อีกหลาย ๆ คนที่จะส่งฝันให้เขาโตพร้อมที่จะเป็นร่มเงาให้น้อง ๆ ได้พักอาศัยต่อไป

ปล. อาคิโดน้องออมสินขออนุญาตแชร์ไปใน FB ดูแล้วน่ารัก.. ผมว่าาวันหลังพี่ยอดต้องบันทึกยาวอีกนิส!! ดูแล้วสั้นไป ให้หลานใส่เสียงแนะนำตัว + ท่าประกอบโชว์ มากกว่าการใส่ text ไปจะเพิ่มความน่ารัก น่าติดตาม (ไม่แน่อาจจะเข้าตามกรรมการ ได้ออกรายการทางสื่อหลักก็ได้ 555+)

  • ขอบคุณไอเดียดีๆ จากครูจี๋นะครับ ผมอยากให้ FB มีคลิปสร้างสรรค์ของเด็กไทย และเด็กชนเผ่าบ้านเรานำเสนอมากๆ
  • จริงๆเราเสพสื่อสาธารณะกันเยอะ แต่สร้างสื่อกันน้อยกว่าที่ควร
  • เมื่อไรที่เราสร้างมากกว่าเสพ คำว่าสุข น่าจะมีมากขึ้น
  • เมื่อไรมีสื่อดีๆจากขุนยวม อย่าลืมนำมาอวดกันให้ชื่นชมบ้างนะ
  • ผมจะพยายามผลักดันให้ งบ คสข. ฝ่ายสื่อกระจายลงสู่สื่อชุมชน ให้เด็กๆได้ฝึกปฏิบัติมากขึ้น ขอแรงหนุนด้วยนะครับ

ขอบคุณมากครับครูยอด เราอยู่คนละมุมสยามเลยนะครับ ผมเพิ่งเข้ามาทำงานนี้ครับ ด้วยใจรัก เคยทำงานพัฒนาชุมชนกับผู้ใหญ่มาพอสมควร แต่เห็นเด็กๆแล้วอยากช่วยเขาทำให้เขาใช้เวลาที่มีอยู่ไปในทิศทางที่ถูกที่ควร เขาจะได้โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เพื่ออนาคตของประเทศเราครับ มีโอกาส เชิญครูยอด และเครื่อข่ายแวะไปที่เวปสถานีออนไลน์ที่ผมลิ้งไว้นะครับ วันนี้ได้คุยกับคุณนก วิทยุไทย บอกว่าครูยอด ทำงานกับเด็กมานานแล้ว ผมต้องขอแลกเปลี่ยนบ้างนะครับ เราชายขอบเหมือนกัน แต่ คนละขอบของสยามประเทศครับ เป้นกำลังใจให้กันครับ ทำงานกับเด็กมันไม่ง่ายครับ แต่ถ้าเราเดนหนีจากพวกเขาไปแล้ว เขาจะหนหน้าไปพึ่งใครครับ

ปล. ผมต้องเรียนรู้การเขียนบล้อกครับ มีโอกาสจะมาเขียนเรื่อเล่างานผมให้ได้แลกเปลี่ยนกันครับ

ผมก็ต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิตครับ kroochang

ผมจะแวะเข้าไปวิทยุออนไลน์ ช่วยบอก link มาด้วยครับ

การเขียนบล็อกให้อะไรมากกว่าที่เราคิด เขียนแล้วส่งมาให้เรียนรู้บ้างนะครับ

ได้ครับ แล้วจะส่งไปครับ

นับถือ

ต้องการสื่อวิทยุประเด็นไหน เป็นพิเศษมั้ยครับ

เชิยครูยอดดอย และ เพื่อนๆ พบกับเราที่นี่ครับ บางรายการเราออกร่วมกัน บางรายการเราแยกกันครับ ส่วนมาก ออนไลน์เอาไว้ เป็นเวปเผยแพร่ข้อมูลของสถานี และ ออนไแอร์ ในช่วงเวลาที่ ดีเจ เยาวชน จัดรายการครับ สำหรับ FM 107.5 MHz อุบล ปัจจุบันเชื่อมสัญญาณกับ วิทยุไทย FM 105 MHz ครับ

ที่นี่นะครับ ครูยอด www.welovethekingradio.com

ขอโทษครับลืมเข้าระบบ ข้อความข้างบนของผม ครูช้างนะครับ

ขอโทษครับลืมเข้าระบบ ข้อความข้างบนของผม ครูช้างนะครับ

ขอโทษครับลืมเข้าระบบ ข้อความข้างบนของผม ครูช้างนะครับ

คุณบีเวอร์ครับ จะเป็นหนังสือ ซีดี วีซีดีได้ทั้งนั้นครับที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อเด็กและชุมชน ทางไปรษณีย์ส่งมาได้ครับที่

สโมสรผู้นำเยาวชนเพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชน (สยชช.) 280/5 ม.1 ซ. รวมใจ

ต. สบป่อง อ. ปางมะผ้า จ. แม่ฮ่องสอน 58150 โทร. 086-9169486 , 083-5814804

ขอบคุณมากครับ

ครูช้างครับ ผม save link ไว้แล้ว เดี๋ยวจะแวะเข้าไปดู เราน่าจะได้ทำรายการแลกเปลี่ยนกันด้วยนะครับ เอารายการที่เรามีอยู่มาแลกกันบ้างดีไหม เสนอไอเดียเล่นๆ แต่ทำจริงได้ครับ

รับทราบครับ แล้วจะประสานงานไป

                                              

  • สวัสดีปีใหม่ค่ะ คุณยอดดอย วันนี้ขออนุญาตพาน้องเมย์จากบันทึกนี้ [คลิ๊ก] มามอบของขวัญปีใหม่ ๒๕๕๔ มาเป็นกำลังให้คุณยอดดอย และครอบครัว และเด็กๆ ทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรง มีพลังใจพลังกายอย่างล้นเหลือที่จะทำอะไรดีๆ ต่อไปนะค่ะ =)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท