๖.UKM18 : จัดการความรู้สร้างแหล่งเรียนรู้ปูมเมืองและมุมสร้างประสบการณ์ภายใน


ระหว่างรอเวลาเดินทางกลับ อาจารย์หมอจิตเจริญ ไชยคำภา และอาจารย์ชลิต ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำทีมมหาวิทยาลัยมหิดลไปดูแหล่งโบราณสถานและงานศิลปะของอีสานหลายแห่ง อาจารย์ชลิตเป็นนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่มีความบูรณาการมาก ท่านจบโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้น ไปทำปริญญาโททางชาติพันธุ์วรรณา และปริญญาเอกทางมานุษยวิทยาโบราณคดีศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น โบราณคดีศึกษาในแนวทางของอาจารย์จึงมีวิธีวิเคราะห์รอบด้าน เชื่อมโยงมิติต่างๆได้อย่างกว้างขวาง ฟังอาจารย์เล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟังได้อย่างสนุกเพลิดเพลิน 

ที่วัดพุทธมงคล บ้านสระ ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย ไม่ไกลจากตัวเมืองมหาสารคามมากนัก ก็ได้เห็นความพยายามเข้าไปจัดการความรู้เพื่อให้แหล่งโบราณสถานเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรื่องราวปูมเมือง โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เข้าไปทำโครงการวิจัยปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม นำชาวบ้านมาระดมความคิดและช่วยกันพัฒนาฟื้นฟูแหล่งศิลปวัตถุและโบราณสถานให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ให้การเรียนรู้เรื่องราวต่างๆด้วย

ในแง่ทัศนศิลป์และการจัดสื่อดิสเพลย์สำหรับความเป็นแหล่งเรียนรู้หรือการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตนั้น หากพิจารณาไปตามข้อจำกัดในความเป็นแหล่งในภูมิภาคแล้วก็นับว่าทำได้อย่างงดงาม เนื้อหาและวิธีนำเสนอผสมผสานภาษากราฟิคอาร์ตทำให้อ่านง่าย แต่ละแผ่นแยกย่อยด้วยเนื้อหาและเรื่องราวที่น่าสนใจให้สามารถเดินอ่านและหาความรอบรู้ได้หลายแง่มุม ทำให้ทั้งบริเวณมีบรรยากาศของความร่มรื่น เงียบสงบ ได้จิตวิญญาณของความเป็นสภาพแวดล้อมเพื่อเข้าสู่การได้อยู่กับความสงบเงียบและเรียนรู้ภายในจิตใจตนเองให้ได้ความเบิกบานแจ่มใส มีกำลังสติและพลังชีวิตกลับออกไปดำเนินชีวิต

ด้านข้างมีมุมจำหน่ายของที่ระลึกและของสักการะบูชาเช่นเดียวกับที่เห็นอยู่ทั่วไป รวมทั้งมีสื่อแผ่นพับและสื่อแผ่นป้ายแสดงเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับปูมเมืองกันทรวิชัย พระพุทธรูป แหล่งโบราณสถาน และเรื่องเล่าที่สืบทอดเป็นตำนานท้องถิ่นต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในแง่การจัดวางองค์ประกอบต่างๆที่ทำขึ้นใหม่ให้มีความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและเสริมให้สิ่งสำคัญในอาณาบริเวณนั้นๆยังคงความเป็นประธานของเรื่องราวทั้งหมด รวมทั้งได้ภาษาของความร่มรื่นและสงบเงียบ เหล่านี้ สื่อแผ่นป้ายซึ่งเป็น dialogue ของความรู้และเป็นวิธีจัดการความรู้ทางสื่อให้เข้าไปเป็นองค์ประกอบสร้างแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุให้มีความหมายต่อการท่องเที่ยวเรื่องราวนั้น หากนำไปจัดวางให้กระจายอยู่รอบนอก หรือตามแนวของศาลาด้านนอก ก็จะดูลงตัว เสริมการเป็นแหล่งเรียนรู้  รักษาทัศนียภาพ และเปิดพื้นที่ความเปล่าโล่ง ให้ภาษาความเงียบและความสงบร่มรื่น ทำงานได้อย่างมีพลังมากยิ่งขึ้น.

............................................................................................................................................................................

บันทึก UKM-18 มีทั้งหมด ๑๐ ตอน ตอนที่ท่านกำลังอ่านและชมนี้ เป็นตอนที่
ตอนที่ ๑  คุณภาพการศึกษาสู่การเรียนรู้และการพัฒนาชุมชน
ตอนที่ ๒  มิติจัดการความรู้ที่ให้ประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ทางสังคมแก่เด็กๆ
ตอนที่ ๓  จัดการความรู้สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อเสริมพลังภูมิปัญญาปฏิบัติ
ตอนที่ ๔  โอกาสพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมือง : Life-Long Learning Space ในที่พักผู้ร่วมเวที
ตอนที่ ๕  เพิ่มโอกาสเข้าถึงและบ่มสร้างการมองโลกด้วยศิลปะ
ตอนที่ ๖  จัดการความรู้สร้างแหล่งเรียนรู้ปูมเมืองและมุมสร้างประสบการณ์ภายใน
ตอนที่ ๗  ถ่ายรูป Documentation ยุค Digital/Computer-Based ต้องพัฒนาแนวคิด ปฏิรูปความรู้และวิถีปฏิบัติ
ตอนที่ ๘  เครือข่ายจัดการความรู้กับทางรอดและโอกาสพัฒนาของสถานศึกษาขนาดเล็กในชุมชน
ตอนที่ ๙  ทำหน่วยประสบการณ์ชุมชนให้เป็นฐานการเรียนรู้บูรณาการอย่างเบ็ดเสร็จ
ตอนที่ ๑๐ สรุปบทเรียนและการสะท้อนความคิด พลังเครือข่ายจัดการความรู้มหาวิทยาลัยไทย

หมายเลขบันทึก: 382485เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2010 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

ปัจจุบันวัดทุกแห่งถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และนิยมจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกเหมือนตลาดนัดไปแล้วนะคะ

  • สวัสดีครับคุณครูคิมครับ
  • แทบทุกแห่งจะเป็นอย่างนั้นไปหมดอย่างที่คุณครูคิมว่าเสียแล้วกระมังครับ
  • แต่ก็มีอยู่ ๓ ส่วนครับ ส่วนหนึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อดูแลรักษาของส่วนรวมให้ดูดีและคนเข้าไปใช้สอยร่วมกันได้อยู่เสมอ แต่ส่วนหนึ่งซึ่งมักจะกลายเป็นบดบังและชิงพื้นที่เปรอะไปหมดก็คือการเข้าไปทำเป็นแหล่งขายพระเครื่องและสินค้าทางไสยศาสตร์ อีกส่วนหนึ่ง เมื่อเกิดทำเลและคนเยอะ ก็เป็นตัวดึงดูดให้ร้านค้า รถเข็น หาบเร่เดินขายของ เข้าไปอยู่รวมกัน ผสมปนเปให้หนาแน่นและกลายเป็นความจอแจไปได้แทบทุกแห่ง
  • อธิบายจากมุมมองคนทำงานแนวจิตสาธารณะและสร้างวัฒนธรรมการดูแลส่วนรวมด้วยความสำนึกของพลเมือง มีส่วนร่วมอยู่เสมอ อย่างคุณครูคิม แล้วละก็ ก็ต้องบอกว่าเพราะแรงกดดันของสังคมที่เพิ่มมากยิ่งๆขึ้น กับการศึกษาเรียนรู้สร้างความเป็นพลเมืองที่ผิดทาง ปล่อยให้คนส่วนใหญ่ดิ้นรนเอาตัวรอดแม้ในเรื่องพื้นฐานของชีวิต และคนส่วนน้อยได้โอกาสอย่างแตกต่างไปจากคนหมู่มาก สร้างความสุขและมุ่งสู่เป้าหมายตลอดเส้นทางของชีวิตอย่างปัจเจกที่คับแคบ สังคมก็อ่อนแอที่จะดูแลและจัดการความเป็นส่วนรวมสำหรับการอยู่ร่วมกันต่างๆ มือใครยาวก็สาวได้สาวเอา อยู่อย่างตัวใครตัวมัน กดดันและคาดหวังสิ่งดีเพื่อตนเองจากผู้อื่น ทว่า ให้ความสบายและยืดหยุ่นกับตนเอง
  • ปัจเจกต่างเข้มแข็งเพียงการแข่งขันเอาตัวรอด ทว่า ความเป็นส่วนรวมต่างๆกลับจะอ่อนแอ ขาดความสมดุล การให้ประสบการณ์ทางสังคมตามแหล่งต่างๆเพื่อได้วิธีคิด ความสำนึกแบบใหม่ และจัดวางตนเองใหม่ๆที่สอดคล้องกับสิ่งที่พึงประสงค์มากกว่าเดิม จึงเป็นเรื่องที่สามารถหยิบยกขึ้นมาทำกันให้แพร่หลายได้อยู่เสมอ และเมื่อเห็นที่ไหนก็ต้องส่งเสริมและช่วยขยายเสียงละครับ

สวัสดีค่ะ

ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณาให้แนวคิดค่ะ  ที่ไม่น่ามากกว่านั้นคือ โฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้ผู้รุมกันบริจาค มีสิ่งของล่อใจเป็นวัตถุมงคล เหมือนการประมูลขายสินค้า หรือการจัดบูธตามห้างค่ะ

เคยเห็นคุณยายงก ๆ เงิ่น ๆ แกะห่อผ้าจะพยายามหยิบเงินมานับเพื่อบริจาคตามคำเรียกร้อง   หากทุกอย่างปล่อยให้เป็นไปตามจิตศรัทธา ก็น่าจะดีนะคะถึงแม้ว่าเป็นการระดมทุน

สวัสดีครับอาจารย์

เดี๋ยวนี้วัดกลายเป็นสถานที่ที่แทบจะไม่น่ามอง ไม่น่าอยู่เกือบจะที่สุดแล้ว

การก่อสร้าง จัดวางองค์ประกอบไม่ได้คำนึงถึงการออกแบบเอาเสียเลย

นึกอยากจะทำอะไร ตรงไหนก็ทำ

แวะมาเยี่ยมเยียนอาตารย์ด้วยความระลึกถึงครับ...

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • สภาพอย่างที่คุณครูคิมกล่าวถึงนี่นึกภาพออกครับ แล้วบางครั้งก็ให้รู้สึกกระทบใจไปด้วยเมื่อได้เจอตามแหล่งกราบไหว้บูชาต่างๆ
  • ในหลายแห่งนั้น นอกจากจะดูไม่เหมาะสมมากแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกผิดอีกด้วยที่ไม่สามารถบริจาคและสนองตอบการเรียกร้องชวนเชิญได้ทุกที่ แทนที่จะเป็นแหล่งสร้างพลังใจและได้ความสงบใจ ก็เลยกลายเป็นทำให้คนเห็นความขาดของตนเองเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก
  • แต่สังคมของเราก็เป็นอย่างนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นช่องว่างและความแตกต่างกันอย่างมากมายของคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกันได้เหมือนกันนะครับ

สวัสดีครับหนานเกียรติ

  • เมื่อคืนได้เข้าไปอ่านบันทึกของคุณครูคิมและหนานเกียรติอย่างเพลิดเพลิน ว่าจะเข้าไปทักทายอยู่นะครับ
  • ชอบบรรยากาศการพาเด็กๆและคนเฒ่าคนแก่มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนด้วยกัน แล้วหนานเกียรติก็นำมาจัดการความรู้ ช่วยบันทึกและเก็บสะสมไว้ให้ชุมชนล่าหู่นะครับ
  • ด้วยความรำลึกถึงเช่นกันครับ มีความสุขครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท