๙.UKM18 : ทำหน่วยประสบการณ์ชุมชนให้เป็นฐานการเรียนรู้อย่างบูรณาการ


การเป็นเจ้าภาพเวที UKM18 ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จัดกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการทางการศึกษาและความเป็นศึกษาศาสตร์กับการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการสร้างองค์ความรู้เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ในลักษณะที่จัดแสดงและสาธิตให้เห็นไปในตัวถึงความเป็นสถาบันซึ่งมีความเข้มแข็งในประสบการณ์สร้างครูและพัฒนาการศึกษาในชนบทมาอย่างยาวนาน

Tacit Knowlegde ของ มรภ.ด้านวิชาการศึกษาและศึกษาศาสตร์เพื่อการพัฒนา 

กระบวนการเรียนรู้ที่ มรภ.ดำเนินการขึ้นแสดงการเชื่อมโยงกับบ้าน วัด โรงเรียน และชุมชน ในการบูรณาการบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาเข้ากับการพัฒนาชุมชนและออกแบบชุมชนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการจัดการความรู้เพื่อให้ชุมชนเป็นทั้งหน่วยประสบการณ์สำหรับการเรียนรู้ของคนภายนอก พร้อมกับเป็นวิธีจัดการตนเองให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายเรียนรู้ในอันที่จะทำให้คนในชุมชนได้เกิดการเรียนรู้ เพิ่มพูนความเข้มแข็งยั่งยืนในการพัฒนาตนเองไปด้วย

การออกแบบ จัดการความรู้ และดำเนินการดังกล่าวได้อย่างลงตัวนี้ สะท้อนถึงภูมิปัญญาการปฏิบัติหรือ Tacit Knowlege ด้านวิชาการศึกษาและศึกษาศาสตร์กับการพัฒนา ที่อยู่ในความเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามได้เป็นอย่างดีมากทีเดียว

วิธีจัดการความรู้เพื่อบูรณาการอย่างเบ็ดเสร็จด้วยการทำฐานการเรียนรู้ในชุมชน :
การเรียนรู้ สร้างความรู้ พัฒนาชุมชน และพัฒนาเครือข่าย UKM

กระบวนการสำคัญที่ มรภ.ดำเนินการเพื่อให้เครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ได้ประสบการณ์ในการเรียนรู้สังคมผ่านการจัดการความรู้ของ มรภ.ภายใต้หัวข้อ คุณภาพการศึกษาสู่การเรียนรู้และการพัฒนาชุมชน ของเวที UKM18 ในครั้งนี้ก็คือ....

  • เตรียมความตื่นตัวและทวีคูณแรงบันดาลใจเพื่อการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้นโดยทำกิจกรรมให้เกิดความตื่นตัว รู้สึกปลอดภัย กล้าแสดงออกและกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม ดำเนินการโดย ครูนกเอี้ยง ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของ มรภ. เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว มีทักษะทำกระบวนการและทักษะในการนำกิจกรรมให้กับกลุ่มคนสูงมาก
  • ให้แนวคิดโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.จีระ หงษ์ลดารมย์
  • ลงไปสัมผัสประสบการณ์ในการเรียนรู้กับชุมชนเพื่อได้ประสบการณ์ต่อความเป็นจริงของสังคมด้วยตนเองผ่านการจัดฐานการเรียนรู้บูรณาการอย่างเบ็ดเสร็จในชุมชนต่างๆ ๖ ฐาน ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะกระจายสมาชิกในกลุ่มตนเองให้ออกไปตามฐานการเรียนรู้ฐานละ ๑-๒ คนตามความสนใจ

                    ฐานที่ ๑  หลักสูตรการศึกษาสู่การเรียนรู้และพัฒนาชุมชน
                                 ณ โรงเรียนบ้านโนนสำราญ ตำบลวังชัย อำเภอบรบือ
                    ฐานที่ ๒  การจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้และพัฒนาชุมชน
                                 ณ บ้านหลังเรียนปู่ทวดครูสิงห์ ตำบลหนองโน อำเภอเมือง
                    ฐานที่ ๓  เทคโนโลยีสู่การเรียนรู้และพัฒนาชุมชน
                                 ณ โรงเรียนบ้านเม่นใหญ่ ตำบลแก่งเลิงจาน อำเภอเมือง
                    ฐานที่ ๔  ศิลปวัฒนธรรมสู่การเรียนรู้และพัฒนาชุมชน
                                 ณ โรงเรียนบ้านหนองปลิง ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง
                    ฐานที่ ๕  การวิจัยสู่การเรียนรู้และพัฒนาชุมชน
                                 ณโรงเรียนบ้านเม่นใหญ่ ตำบลแก่งเลิงจาน อำเภอเมือง
                    ฐานที่ ๖  Bussiness Meeting
                                 ณโรงเรียนบ้านเม่นใหญ่ ตำบลแก่งเลิงจาน อำเภอเมือง

  • เสวนาและนำเสนอเรื่องเล่าเร้าพลังในชุมชนภายหลังการเรียนรู้จากชุมชนในแต่ละฐานการเรียนรู้
  • สรุปบทเรียนในกลุ่มย่อยของแต่ละฐานการเรียนรู้และเตรียมนำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีรวม
  • นำเสนอเพื่อการเรียนรู้ อภิปราย และสะท้อนทรรศนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ

Community-Based Integration Learning Module

วิธีดำเนินการให้หน่วยจัดการการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้ชุมชนและผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-Centered and Community-Based Learning Process) สำหรับจัดฐานการเรียนรู้ขึ้นมาในชุมชนนั้น จะต้องจัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชนและเตรียมองค์ประกอบต่างๆ กระทั่งสามารถจัดให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้อย่างบูรณาการ มีความเบ็ดเสร็จอยู่ในฐานการเรียนรู้เดียวกัน โดยองค์ประกอบสำคัญที่ชุมชนแห่งการเรียนรู้จะต้องทำขึ้นมานั้น จะประกอบด้วยปัจจัยดำเนินการต่างๆ คือ.....

  • การจัดหน่วยประสบการณ์ โดยนำเอาการเรียนรู้จากการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพให้พออยู่พอกินเพื่อแก้ปัญหาได้จริงในชุมชน มาออกแบบหน่วยประสบการณ์สำหรับจัดการความรู้ให้ความสำเร็จจากการริเริ่มในชุมชน สามารถถ่ายทอดและขยายผลให้กับชุมชนและเครือข่ายเรียนรู้จากภายนอกได้ต่อไป เช่น การเลี้ยงจิ้งหรีด การเลี้ยงกบ การเลี้ยงปลา การทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร การทำผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน กิจกรรมพัฒนาชีวิตเพื่อความพออยู่พอกินเป็นความรู้ปฏิบัติซึ่งสามารถบูรณาการสาระการเรียนรู้ให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้จากของจริงได้อย่างรอบด้าน เช่น คณิตศาสตร์จากการทำบัญชีและการบริหารจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อมศึกษา สังคมศึกษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การงานและการประกอบอาชีพ ทักษะเทคโนโลยี รวมทั้งทักษะทางสังคม การทำงานเป็นทีม และคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิตที่สมดุลพอเพียง ในหน่วยประสบการณ์ของฐานความรู้หนึ่งๆจึงเป็นการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างรอบด้าน มีความเชื่อมโยงและบูรณาการทั้งความรู้เชิงทฤษฎี แนวคิด มิติจิตใจและสุนทรียภาพ กับการปฏิบัติ เรียนรู้ให้ปฏิบัติได้ครบถ้วนอยู่ในหน่วยการเรียนรู้เดียวกันเพราะมีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จอยู่ในตนเอง จะเริ่มเรียนรู้จากฐานการเรียนรู้ใดก่อนก็ได้ ซึ่งทำให้ยืดหยุ่นสูงต่อเงื่อนไขทั้งของผู้เรียนและครูซึ่งก็จะกลายเป็นผู้ออกแบบบริหารจัดการทรัพยากรและสถานการณ์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นจุดแข็งของการจัดแหล่งประสบการณ์เรียนรู้แบบ Learning Module : ฐานการเรียนรู้
  • การสร้างครูภูมิปัญญาชุมชนและทักษะจัดการเรียนรู้ของเด็ก พัฒนาทักษะการถ่ายทอดและนำเสนอประสบการณ์บนฐานการปฏิบัติของกลุ่มชาวบ้านและครูภูมิปัญญาชุมชน ทำให้สถานศึกษาและชุมชนสามารถบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมให้นักเรียนได้เรียนจากของจริงและชุมชนก็ได้เรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานและมีเด็กเป็นศูนย์กลาง
  • พัฒนาสื่อและทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ การพัฒนาสื่อ คู่มือ และทรัพยากรการเรียนรู้ เพื่อทำหน่วยประสบการณ์ให้มีข้อมูลและความรู้สนับสนนุนอย่างเหมาะสม พอเพียง
  • ใช้เทคโนโลยีท้องถิ่นผสมผสานกับเทคโนโลยีทันสมัยอย่างเหมาะสม การผสมผสานเทคนิควิธีสื่อสาร นำเสนอ และถ่ายทอดประสบการณ์ ที่ช่วยให้ชุมชน เด็กๆ และกลุ่มชาวบ้าน สามารถเรียนรู้และดำเนินการได้ด้วยตนเอง

ด้วยกระบวนการดังกล่าว จึงสามารถทำให้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ สามารถทำประสบการณ์และความริเริ่มที่ดำเนินการอยู่ในชุมชนเพื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติอื่นๆของชุมชน สามารถเป็นฐานการเรียนรู้อย่างเบ็ดเสร็จให้กับเครือข่ายการเรียนรู้จากแหล่งอื่น ทั้งการได้ความรู้ การได้เห็นตัวอย่างการปฏิบัติ รวมทั้งการได้สัมผัสสังคมและสภาพแวดล้อมของชุมชนด้วยตนเอง

Community-Based Contempletive Learning

การสัมผัสกับภูมิปัญญาของชุมชนที่อยู่ในวิถีปฏิบัติและอยู่ในกิจกรรมชีวิต ซึ่งมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนชุมชน เป็นวิธีจัดการความรู้เพื่อให้ประสบการณ์ต่อสิ่งที่อยู่เหนือการอธิบาย ซึ่งชุมชนสามารถเป็นครูได้ดีกว่าวิธีการความรู้สมัยใหม่ แต่การศึกษาสมัยใหม่ก็สามารถเข้าไปส่งเสริมให้เข้มแข็งได้ดังเช่น มรภ.ได้ดำเนินการและให้ชุมชนได้นำมาสาธิตแก่เครือข่าย UKM ครั้งนี้

Community-Based Setting for Experiences Sharing

หลังการเรียนรู้จากชุมชนแล้ว เครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยกลุ่มย่อยกลุ่มต่างๆ ก็ใช้เวทีในชุมชนที่เป็นฐานการเรียนรู้เป็นที่นั่งเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเรื่องเล่าเร้าพลังเกี่ยวกับบทเรียนจากประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ

กระบวนการดังกล่าวซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายหลังการได้เรียนรู้ในฐานการเรียนรู้ต่างๆแล้วนี้ หากพิจารณาโดยวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการ ก็จะเห็นอีกมิติหนึ่งของการเรียนรู้ชุมชนว่ามีบทบาทต่อการทำให้ได้วิธีคิด ซึ่งทำให้เครือข่ายผู้ร่วมประชุม ได้แนวสำหรับช่วยจัดการความรู้ภายในตนเองให้เป็นระบบ แล้วจึงนำเสนอผ่านเรื่องเล่าเร้าพลังในเวทีกลุ่มย่อยได้ดีขึ้น 

หากพิจารณาในแง่ของศิลปะในการจัดการความรู้แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า วิธีทำให้กลุ่มผู้ร่วมประชุมได้สัมผัสกับประสบการณ์และได้เรียนรู้ชุมชนนั้น เป็นการให้กรอบทรรศนะผ่านการได้เห็นของจริงและกิจกรรมสาธิตแทนการสอนทฤษฎี ช่วยให้ได้วิธีดึงประเด็นและจัดระบบคิดให้กลุ่มเรียนรู้ที่นั่งเสวนากัน สามารถเล่าเรื่องและถ่ายทอดบทเรียนจากประสบการณ์ต่างๆดังที่ต้องการได้ดีขึ้นโดยไม่รู้ตัว

จัดว่าเป็นวิธีทำหน่วยประสบการณ์ชุมชนให้เป็นฐานการเรียนรู้บูรณาการอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงวิธีคิด แนวปฏิบัติ และได้เห็นกรณีตัวอย่างในสภาพแวดล้อมของชุมชนได้เป็นอย่างดีของ คุณภาพการศึกษาสู่การเรียนรู้และการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นประเด็นหลักของเวทีเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยในครั้งนี้.

............................................................................................................................................................................

บันทึก UKM-18 มีทั้งหมด ๑๐ ตอน ตอนที่ท่านกำลังอ่านและชมนี้ เป็นตอนที่

ตอนที่ ๑  คุณภาพการศึกษาสู่การเรียนรู้และการพัฒนาชุมชน
ตอนที่ ๒  มิติจัดการความรู้ที่ให้ประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ทางสังคมแก่เด็กๆ
ตอนที่ ๓  จัดการความรู้สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อเสริมพลังภูมิปัญญาปฏิบัติ
ตอนที่ ๔  โอกาสพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมือง : Life-Long Learning Space ในที่พักผู้ร่วมเวที
ตอนที่ ๕  เพิ่มโอกาสเข้าถึงและบ่มสร้างการมองโลกด้วยศิลปะ
ตอนที่ ๖  จัดการความรู้สร้างแหล่งเรียนรู้ปูมเมืองและมุมสร้างประสบการณ์ภายใน
ตอนที่ ๗  ถ่ายรูป Documentation ยุค Digital/Computer-Based ต้องพัฒนาแนวคิด ปฏิรูปความรู้และวิถีปฏิบัติ
ตอนที่ ๘  เครือข่ายจัดการความรู้กับทางรอดและโอกาสพัฒนาของสถานศึกษาขนาดเล็กในชุมชน
ตอนที่ ๙  ทำหน่วยประสบการณ์ชุมชนให้เป็นฐานการเรียนรู้บูรณาการอย่างเบ็ดเสร็จ
ตอนที่ ๑๐ สรุปบทเรียนและการสะท้อนความคิด พลังเครือข่ายจัดการความรู้มหาวิทยาลัยไทย

หมายเลขบันทึก: 385919เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2010 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

วันนี้จบการถอดบทเรียนแล้วค่ะ น้อง ๆ ชาวมหิดลน่ารัก ถ่ายทอดความรู้ให้ครูคิมมากมาย  ได้ทั้งงาน ความรู้ และมิตรภาพค่ะ

ผลการถอดบทเรียน  ได้ของแถมคือกระบวนการเรียนรู้กับชุมชน ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงวิธีคิด แนวปฏิบัติ และได้เห็นกรณีตัวอย่างในสภาพแวดล้อมของชุมชนได้เป็นอย่างดี....จริง

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • คุณครูคิมนี่เป็นผู้เรียนที่ดีจริงๆ ยินดีด้วยมากเลยนะครับ
  • ทีมของมหิดลเขาก็ศรัทธาและคงตั้งอกตั้งใจทำเพื่อเป็นการลงทะเบียนขอแลกประสบการณ์ และได้เรียนรู้จากคุณครูคิมนั่นแหละครับผมว่า
  • เลยต่างเป็นครูและต่างเป็นนักเรียน แบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างดีเลยนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

การไปถอดบทเรียนครั้งนี้  ได้สิ่งที่นอกเหนือจาก Out put  ที่มีคุณค่าสูงมากค่ะ  ทีมผู้สูงอายุจังหวัดตรังมีความสุขมากที่ได้เล่าพฤติกรรมจิตสาธารณะของตน  ชุมชนมีความเข้มแข็งให้ความร่วมมมือกับภาครัฐเต็มที่ 

คุณยายอายุ ๗๐ ปี เล่าไปร้องไห้ไปด้วย แต่เป็นภาษาใต้ อันนี้ต้องถอด mp3 ค่ะ  แต่สรุปว่าท่านภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมค่ะ  ก่อนจากคุณยายได้กอดครูคิมกอดแล้วกอดอีก  ขอเบอร์โทรศัพท์ไม่พอ ขอที่อยู่อีก

สิ่งที่ได้จาก อบต.และชุมชนคือสิ่งที่ไม่คาดคิดในความเป็นปัจเจกบุคคลนั่นเองค่ะ  ตอนนี้ทำให้นึกย้อนถึงความรู้ที่ได้รับจากการอ่านบันทึกของอาจารย์มากค่ะ

นอกจากนี้ความเข้มแข็งของชุมชนเขารวมพลังเพื่อความอยู่ดี กินดี มีความสุข ยกระดับของผู้สูงอายุค่ะ

  • สวัสดีครับคุณครูคิมครับ จากเหนือลงสู่ใต้เลยนะครับ
  • ฟังดูแล้วก็จัดว่าให้ประสบการณ์ต่อสังคมที่ดี 
  • น่าประทับใจและเป็นส่วนหนึ่งของการทำการงานและการดำเนินชีวิตเลยนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท