๘.UKM18 : เครือข่ายจัดการความรู้กับทางรอดและโอกาสพัฒนาของสถานศึกษาขนาดเล็กในชุมชน


เวทีเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ ทางเจ้าภาพได้จัดการความรู้อย่างบูรณาการให้ช่วงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามประเด็นความสนใจเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการในชุมชน ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันของกลุ่มผู้ร่วมประชุม โรงเรียน ผู้นำชุมชน เด็กเยาวชน และชุมชน ซึ่งทำให้ได้สัมผัสกับชุมชนและวิถีชีวิตชาวอีสาน ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนโดยเฉพาะการจัดฐานการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน รองรับการพัฒนาเด็กและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชาวบ้าน ผมได้ไปฐานการเรียนรู้ที่ ๑ : โรงเรียนบ้านโนนสำราญ ซึ่งเป็นกลุ่มสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในด้านการพัฒนาหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาชุมชน

 พลวัตรทางประชากรและสังคมกับความเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาของประเทศ

ในระยะ ๒ ทศวรรษที่ผ่านมานี้ พลเมืองประชากรเด็กและวัยเรียนแต่ละรุ่นของสังคมไทยมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ผสมผสานกับการคมนาคมติดต่อสื่อสารกันระหว่างชุมชนชนบทกับชุมชนเมืองมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้ชุมชนและโรงเรียนต่างๆมีจำนวนเด็กนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาน้อยลง ที่โรงเรียนบ้านโนนสำราญก็เช่นกัน มีนักเรียนเพียง ๓๐ กว่าคนและมีครูเพียง ๓ คน

 ประเด็นอนาคตที่น่าสนใจต่อเครือข่ายจัดการความรู้เพื่อการศึกษาและสังคมไทย  

สภาพการณ์ดังที่ปรากฏในโรงเรียนบ้านโนนสำราญนี้ กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศและเป็นประเด็นร่วมที่สำคัญสำหรับอนาคตว่า หากไม่มีเด็กที่จะสอนและไม่มีครูเพียงพอที่จะจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กเท่าที่มีให้เพียงพอต่อความจำเป็นทั้งของสังคมไทยและสังคมโลกแล้ว ความเป็นหน่วยทางวิชาการขนาดเล็กของโรงเรียนในชุมชนจะต้องเผชิญเงื่อนไขความจำเป็นต่างๆอย่างไร จะสามารถนำเอาโอกาสและปัจจัยต่างๆอะไรบ้างมาบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงให้ไปสู่สภาพการณ์ที่พึงประสงค์ที่สุด ?  และอย่างไร ?

  ที่โรงเรียนบ้านโนนสำราญ   คุณครูและชุมชนได้วางอนาคตการพัฒนาตนเองและมุ่งสร้างเด็กไปในอีกแนวทางหนึ่งโดยเน้นความสามารถออกไปเป็นพลเมืองดี มีความสุข พัฒนาตนเอง ดำเนินชีวิตและสร้างความเป็นอยู่ที่พอเพียง ซึ่งกระบวนการเรียนรู้เพียงให้เลื่อนลำดับชั้นไปตามหลักสูตรภาคบังคับ นอกจากจะไม่สนองตอบต่อแนวคิดดังกล่าวแล้ว โรงเรียนก็มีครูอยู่เพียง ๒ คนและครูใหญ่อีก ๑ คนเท่านั้น วิธีแก้ปัญหาของโรงเรียนจึงได้แก่การพัฒนาการเรียนรู้และสร้างเด็กอย่างบูรณาการผ่านโครงงานและฐานการเรียนรู้เพื่อการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ใช้เด็กเป็นศูนย์กลาง โดยดำเนินการต่างๆคือ

  • โครงการเศรษฐกิจและการประกอบกิจการโดยเด็ก เช่น การเลี้ยงจิ้งหรีดและขายสร้างรายได้ การเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ปลูกผักปลอดสารพิษ เพาะเห็ดฟาง
  • โครงการพลังงานชีวภาพและการทำน้ำยาชีวภาพ
  • การจัดเป็นแหล่งการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานด้วย ชาวบ้านและเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากต่างชุมชน สามารถเรียนรู้จากการทำงานจริงที่มีอยู่ในโรงเรียน
  • สาระการเรียนรู้ทุกด้าน สามารถบูรณาการเข้าสู่โครงงานและฐานการเรียนรู้เพื่อทำกิจการต่างๆของเด็กๆและชาวบ้าน ทำให้ลดการเรียนการสอนอย่างแยกส่วนได้

 ชุมชนและการมีส่วนร่วมของชาวบ้านเป็นกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จของความริเริ่ม

โรงเรียนและชุมชนร่วมกันค้นหาครูภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่จะสามารถรู้และเข้าใจความเป็นชุมชนในมิติต่างๆได้อย่างดี ผูกพันและมีความรู้สึกร่วมต่อความเป็นชุมชนอย่างลึกซึ้ง สามารถผสมผสานความรู้ วิทยาการและเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาต่างๆทั้งของเด็ก โรงเรียน และชุมชน ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถสอน สื่อสาร อธิบาย พูดคุยและเข้าถึงวิธีคิดของชาวบ้านได้ด้วยวิธีของชาวบ้านด้วยกัน

ครูภูมิปัญญาชุมชนนั้น สามารถสอนทั้งความรู้และการดำเนินชีวิตให้แก่เด็ก รวมทั้งมีบทบาททำให้โรงเรียน เป็นแหล่งวิชาการของชุมชน ถ่ายทอดการเรียนรู้ให้ประชาชน ทำให้ไม่เพียงแก้ปัญหาความขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เท่านั้น ทว่า เป็นหน่วยจัดการความรู้และศูนย์จัดการเรียนรู้ พัฒนาชุมชนและสร้างความเป็นพลเมืองในคุณภาพใหม่ของสังคม ทั้งในกลุ่มเด็กและเยาวชนและสำหรับชาวบ้านในชุมชน ก่อเกิดความเป็นรูปธรรมในการพัฒนาตนเองไปสู่รูปแบบใหม่ๆของการบริหารจัดการสถานศึกษาขนาดเล็กในชุมชนได้อีกด้วย

  สรุปบทเรียนและการทำเพื่อเรียนรู้  

รูปแบบการดำเนินงานดังกล่าว สะท้อนให้เห็นบทบาทของโรงเรียนและสถานศึกษาขนาดเล็กในอีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในแนวทางที่สอดคล้องกับสภาพการณ์หลายด้านที่เปลี่ยนไป ทว่า ต้องเรียนรู้ที่จะริเริ่มและพัฒนาขึ้นมานอกเหนือจากบทบาทและรูปแบบที่เคยดำเนินการมาอย่างในอดีตหลายประการด้วยกัน กล่าวโดยสรุปจากสิ่งที่สะท้อนอยู่ในบทเรียนของโรงเรียนบ้านโนนสำราญ คือ

  • วิชาทำงานกับชุมชนของครู : ต้องสร้างความร่วมมือกับชุมชน มีวิชาพัฒนาการมีส่วนร่วมให้กับกลุ่มเด็ก ครอบครัว องค์กรท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และชาวบ้นในชุมชน
  • วิธีวิเคราะห์โอกาสและศักยภาพชุมชน : ครูมีบทบาทและได้ใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาการเพิ่มมากขึ้นในการค้นหาคน ทรัพยากร และภูมิปัญญาของชุมชน เพื่อนำมาวางแผนและบริหารจัดการในกรอบแนวคิดใหม่ ๒ ระดับ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน และดำเนินการโดยโรงเรียนเป็นฐาน
  • วิชาพัฒนาวิธีเรียนรู้และทำงานด้วยวิถีเรียนรู้ : ต้องมีบทบาทในความเป็นผู้จัดกระบวนการสนับสนุนการทำงานและเป็นนักวิจัยง่ายๆกับชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม
  • วิชาถอดบทเรียนและเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้และจัดการความรู้ : สร้างศักยภาพให้ครูภูมิปัญญาชุมชนสามารถสอน ถ่ายทอดประสบการณ์และถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเหมาะสม ผสมผสานสื่อและเทคโนโลยีโดยเน้นความเป็นสื่อบุคคลและมีจิตวิญญาณความเป็นธรรมชาติของชาวบ้าน รวมทั้งพัฒนาชาวบ้านให้มีทักษะการเรียนรู้ การฟัง การอ่าน การสร้างความรู้จากประสบการณ์ การมีวิธีคิดและทัศนคติที่พึงประสงค์ 
  • การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ : ในกรณีของโรงเรียนบ้านโนนสำราญนี้ โรงเรียนได้พัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงความสันบสนุนทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามและหน่วยงานสาธารณะในพื้นที่หลายแห่งด้วย ดังนั้น องค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งจึงได้แก่การที่จะต้องมีวิชาแสวงหาความร่วมมือและพัฒนาเครือข่ายกับแหล่งความรู้ ตลอดจนแหล่งทรัพยากรภายนอกชุมชน 
  • การปรับกระบวนทัศน์จากทุนวัตถุเงินตราไปสู่ทุนมนุษย์และทุนทางสังคม : การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญาการช่างของชาวบ้าน ทุนทางสังคม และทุนทางสิ่งแวดล้อมของชุมชน มีส่วนร่วมในการนำมาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้และจัดการความรู้ใหม่เพื่อชุมชนโดยสถานศึกษาขนาดเล็ก

กิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้หลายอย่างที่โรงเรียน ชุมชน เครือข่ายครอบครัว ผู้นำทางจิตใจและเครือข่ายครูภูมิปัญญา ของชุมชนบ้านโนนสำราญได้ดำเนินการขึ้นนั้น หากถือเอาผลกำไรและความสำเร็จเป็นรายโครงการกิจกรรมเป็นที่ตั้งแล้วก็อาจจะเห็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่เป็นกอบเป็นกำทันกับความต้องการของโลกภายนอก อีกทั้งอาจจะหายไปในระยะเวลาอันสั้นก็ได้

ทว่า หากมองในความเป็นการบริหารจัดการเพื่อการเรียนรู้และการจัดการความรู้เพื่อสร้างคุณภาพการเรียนรู้แล้ว โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน ตลอดจนเครือข่ายที่เรียนรู้ด้วยกัน ก็นับว่าได้บทเรียนและประสบการณ์ตรง ในการตั้งคำถามและสร้างความเป็นจริงใหม่ๆของสถานศึกษาขนาดเล็ก ที่มีความสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆของสังคมไทยที่กำลังเกิดขึ้น.

............................................................................................................................................................................

บันทึก UKM-18 มีทั้งหมด ๑๐ ตอน ตอนที่ท่านกำลังอ่านและชมนี้ เป็นตอนที่

ตอนที่ ๑  คุณภาพการศึกษาสู่การเรียนรู้และการพัฒนาชุมชน
ตอนที่ ๒  มิติจัดการความรู้ที่ให้ประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ทางสังคมแก่เด็กๆ
ตอนที่ ๓  จัดการความรู้สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อเสริมพลังภูมิปัญญาปฏิบัติ
ตอนที่ ๔  โอกาสพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมือง : Life-Long Learning Space ในที่พักผู้ร่วมเวที
ตอนที่ ๕  เพิ่มโอกาสเข้าถึงและบ่มสร้างการมองโลกด้วยศิลปะ
ตอนที่ ๖  จัดการความรู้สร้างแหล่งเรียนรู้ปูมเมืองและมุมสร้างประสบการณ์ภายใน
ตอนที่ ๗  ถ่ายรูป Documentation ยุค Digital/Computer-Based ต้องพัฒนาแนวคิด ปฏิรูปความรู้และวิถีปฏิบัติ
ตอนที่ ๘  เครือข่ายจัดการความรู้กับทางรอดและโอกาสพัฒนาของสถานศึกษาขนาดเล็กในชุมชน
ตอนที่ ๙  ทำหน่วยประสบการณ์ชุมชนให้เป็นฐานการเรียนรู้บูรณาการอย่างเบ็ดเสร็จ
ตอนที่ ๑๐ สรุปบทเรียนและการสะท้อนความคิด พลังเครือข่ายจัดการความรู้มหาวิทยาลัยไทย

หมายเลขบันทึก: 382539เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2010 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท