กฤษณพงศ์ กีรติกร : การปฏิรูปการศึกษา (๔)


 

ตอนที่ ๑
ตอนที่ ๒ 
ตอนที่ ๓

          ผมขอบทความที่มองระบบการศึกษาไทยอย่างครอบคลุมรอบด้าน   และเห็นภาพเชิงประวัติศาสตร์ ของ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร นักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษาที่ดีและเก่งที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย   เอามาเผยแพร่ต่อดังต่อไปนี้   โดยที่บทความนี้ยาวกว่า ๕๐ หน้า    จึงทยอยลงหลายตอน
          ขอชักชวนให้ค่อยๆ อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จะได้ประโยชน์มาก    

วิกฤติ    กระบวนทัศน์  มโนทัศน์  เพื่อการปฎิรูปการศึกษา
กฤษณพงศ์ กีรติกร

ต่อจากตอนที่ ๓

โครงสร้างประชากรและคลื่นการพัฒนา    กระบวนทัศน์  และมโนทัศน์  ที่ต้องเปลี่ยน
 

          ในรอบสิบปีที่ผ่านมา   มีการเพิ่มจำนวน(proliferation) ของสถาบันอุดมศึกษาอย่างน่าตกใจ    สมัยที่ผมดำรงตำแหน่งเลขาธิการสกอ. เมื่อสองปีที่แล้ว   ประมาณทุก ๆ 6-8  อาทิตย์จะมีเรื่องการขอเปิดสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นหนึ่งแห่ง    ขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษาประมาณ 150 แห่ง    เราลืมไปว่าคนเกิดน้อยลงแต่การศึกษายังขยายตัวทุกระดับ    เราจึงเห็นโรงเรียนประถมศึกษาในชนบทร้าง   จะเห็นโรงเรียนมัธยมศึกษาร้าง  และสถาบันอุดมศึกษาอาจจะเริ่มร้างภายในสิบปีนี้    ถ้าเราไม่วางแผนและเข้าใจถึงกลุ่มเป้าหมายอุดมศึกษาในอนาคต    มโนทัศน์(mind set)และกระบวนทัศน์(paradigm)เดิมคือ    เรายังคิดว่าจัดอุดมศึกษาเพื่อคนช่วงชั้นอุดมศึกษา(18-22 ปี)    คิดว่าอุดมศึกษารูปแบบนี้ยังขยายตัวได้อยู่   ทั้งที่คนช่วงชั้นอุดมศึกษาจะถึงจุดอิ่มตัว  รวมทั้งคนช่วงชั้นอุดมศึกษาไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักในอนาคต    จากการกำหนดกลุ่มเป้าหมายหลักผิด   สิ่งที่ตามมาสาระและรูปแบบก็จะผิดตาม   ถ้าเราไม่เปลี่ยนมโนทัศน์ที่เราใช้  

 

          นอกจากนั้นกระบวนทัศน์และมโนทัศน์ที่เราใช้   เราเอามาจากตะวันตก   รูปที่แสดงมาจากหนังสือ  It’s Alive ของ Stan Davis and Christopher Meyer   ที่กล่าวถึงคลื่นการเปลี่ยนแปลงหรือคลื่นพัฒนาในโลกตะวันตก   คลื่นพัฒนามีลักษณะคล้ายตัวเอสหรือเรียกทางเทคนิคว่า S-Curve     แสดงการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเวลา   ทั้งนี้สังคมตะวันตกไม่มีคลื่นเกษตรดั้งเดิมคือภาคเกษตรฐานแรงงาน   คลื่นพัฒนาแรกเริ่มจากคลื่นอุตสาหกรรม(industry/manufacturing) เมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว  ในช่วงต้นเป็นการสะสมความรู้    การหาความรู้หรือช่วงวิทยาศาสตร์   ช่วงที่สองนำความรู้มาใช้ประโยชน์  ให้เกิดบริการเกิดสินค้า   เป็นช่วงเทคโนโลยี    ช่วงที่สามค้าขายให้มากเป็นช่วงธุรกิจ  ช่วงสุดท้ายเป็นช่วงอิ่มตัว    มูลค่าเพิ่มในช่วงหลังนี้มาจากการจัดการ   ประเทศโลกตะวันตกนั้นต่างโตมาด้วยคลื่นอุตสาหกรรม    เกิดสังคมอุตสาหกรรม  มีผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนสังคมเช่น   อุปกรณ์ต้นกำลังที่ใช้น้ำมัน  เครื่องยนต์  และรถยนต์   เครื่องกำเหนิดไฟฟ้า    มอเตอร์ไฟฟ้า  แสงสว่าง    อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์    คอมพิวเตอร์  ระบบไอซีที  จนถึงพลังงานนิวเคลียร์   หลังจากคลื่นอุตสาหกรรมสองร้อยปี  โลกตะวันตกก็มีคลื่นใหม่ที่เกิดขึ้นใหม่ประมาณ 10 ปีมาแล้วคือ   คลื่นเทคโนโลยีสารสนเทศหรือคลื่นไอที     และคลื่นใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น    เป็นคลื่น Molecular หรือ คลื่นวิทยาศาสตร์ฐานชีวภาพ-  Biological science    ดังนั้นสังคมตะวันตกที่เป็นต้นแบบการพัฒนาสำหรับไทย    ไม่มีความทรงจำของภาคเกษตรฐานแรงงานหรือภาคดั้งเดิม(traditional sector)เหลืออยู่    ภาคเกษตรฐานแรงงานถูกเปลี่ยนเป็นภาคเกษตรฐานเทคโนโลยี(mechanized agriculture)   และเกษตรฐานธุรกิจ(agri-business)
 

          ประเทศไทยเมื่อเริ่มมีการศึกษาอย่างเป็นระบบเมื่อประมาณร้อยปีมาแล้ว   เรายังไม่มีคลื่นอุตสาหกรรม    เรามีแต่คลื่นเกษตรฐานแรงงาน   ที่สำคัญที่ต้องตระหนักคือคลื่นเกษตรฐานแรงงานนี้ยังคงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน     ในช่วงต้นของระบบการศึกษาและระบบอุดมศึกษาของประเทศไทยเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีเศษมาแล้ว     ในอเมริกาและยุโรป   การเกษตรเปลี่ยนจากฐานแรงงานเป็นเกษตรที่เริ่มใช้เทคโนโลยีบ้างแล้ว    ช่วงต้นนั้นเราผลิตบัณฑิตไทยเพื่อทำงานแทนคนต่างประเทศ     เพื่อสร้างและจัดการโครงสร้างพื้นฐานชนิด Hard  infrastructure (เช่นรถไฟ  ไฟฟ้า  ประปา ไปรษณีย์โทรเลขฯ) และ Soft  infrastructure (เช่น  ระบบศาล  ระบบการปกครอง  ระบบสาธารณสุขฯ)    ไม่ได้ผลิตคนสำหรับระบบเกษตรฐานเทคโนโลยี   หลังสงครามโลกครั้งที่สอง    เริ่มมีมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่และสถาบันอาชีวศึกษา    สถาบันอาชีวศึกษาไทยและอุดมศึกษาไทยก็ผลิตคนเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม    ที่ต้องการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและการส่งเสริมการลงทุน     เพิ่งจะมีคลื่นอุตสาหกรรมเกิดขึ้นประเทศไทยเมื่อประมาณ  50 ปีพร้อมกับการส่งเสริมการลงทุน    คลื่นอุตสาหกรรมของไทยจึงขยับเลื่อน( shift) และเกิดล่าช้ากว่าจากคลื่นอุตสาหกรรมของโลกตะวันตกประมาณ 150 ปี

 

 

          บทความชุดนี้เป็น master piece ด้านให้ความลุ่มลึกในการทำความเข้าใจระบบการศึกษาไทย    ต้องอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์จึงจะได้รับประโยชน์เต็มที่

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ พ.ค. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 264270เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2009 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท