หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

สัมมนา : พุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์ ณ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย


ในการสัมมนา มิได้มีการแนะนำว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นใคร แต่ผมเดาเอาว่าน่าจะเป็นนักศึกษาที่สูงกว่าระดับปริญญาตรี ของมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ซึ่งมีทั้งพระภิกษุและฆราวาส ในบรรดาผู้เข้าร่วมนี้ คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์ของที่นี่

    ทันทีที่ได้อ่านบันทึก สัมมนา : พุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์ ณ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (ประเด็น + เอกสารประกอบ) ของพี่ชิว – ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผมก็ถามกลับทันทีว่าขอเข้าร่วมได้ไหม ทั้งที่วันเวลาที่พี่ชิวจะบรรยาย เป็นเวลาที่ผมไม่ว่างแล้ว

    พี่ชิวตอบกลับมาว่า

น้องหนานเกียรติ
    ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะ (ถ้ามีที่นั่งพอ) เอาเบอร์พี่ไปก่อนครับ XXX-XXXXXXX
    ถ้ายังสะดวก ก็เจอกันวันพรุ่งนี้ครับ ^__^

    ผมเปลี่ยนโปรแกรมตัวเอง ณ บัดนาว

    แม้จะเปลี่ยนโปรแกรมแล้ว แต่ธุระปะปังไม่แล้วเสร็จ ผมตาลีตาเหลือกขับรถจอดไว้ที่สนามหลวง แล้วก็วิ่งกระหืดกระหอบขึ้นไปบนตึก เห็นพี่ชิวนั่งอยู่ในห้องคนเดียวก็โล่งใจ

    ตามกำหนดการที่ผมได้รับแจ้งคือตอนบ่ายสาม แต่ด้วยเหตุอันใดไม่ทราบเวลาสัมมนาเลื่อนออกไปกว่าครึ่งชั่วโมง ผมจึงมีเวลานั่งหอบในที่ประชุม

    มีผู้เข้าร่วมท่านนึง ตามมาจากบันทึกพี่ชิวใน G2K เป็นสื่อมวลชน ทำข่าวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ อยู่ นสพ.ไทยรัฐ

    ในการสัมมนา มิได้มีการแนะนำว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นใคร แต่ผมเดาเอาว่าน่าจะเป็นนักศึกษาที่สูงกว่าระดับปริญญาตรี ของมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ซึ่งมีทั้งพระภิกษุและฆราวาส ในบรรดาผู้เข้าร่วมนี้ คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์ของที่นี่

    การบรรยายของพี่ชิว วันนี้ดำเนินการภายใต้วิชา “สัมมนาพระพุทธศาสนากับวิทยาการสมัยใหม่ (Seminar on Buddhism and Modern Sciences)” หัวข้อ “พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ (Buddhism and Science)”

    ก่อนพี่ชิวจะบรรยาย พิธีกรได้แนะนำประวัติเสียยืดยาว เป็นโน้นเป็นนี้ต่าง ๆ นา ๆ มากมาย ถ้าพี่ชิวไม่บอกให้เพลาหน่อย การแนะนำนั้นน่าจะใช้เวลาไปจนหมด เพราะผลงานของพี่ชิวนั้นเรียกได้ว่า “ไม่ธรรมดา”


พี่ชิว - ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ

    แต่ทั้งหมดที่พิธีกรแนะนำ ก็มิใช่แรงจูงใจที่ทำให้ผมบากบั่นข้ามไปฟังพี่ชิวถึงฝั่งพระนคร

    แรงจูงใจของผมสืบเนื่องมาจากการได้ฟังพี่ชิวเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ผ่านเมฆและการพับกระดาษ ที่ ม.ขอนแก่น คราวที่ผมไปเข้าร่วมประชุม G2K สัญจร ที่นั่น ผมเขียนส่วนหนึ่งของความประทับใจของพี่ชิวไว้ใน หนานเกียรติเล่าเรื่อง GotoKnow สัญจร ครั้งที่ ๑ (ตอนที่ ๓) และได้เขียนบันทึก จม.ถึง ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ (CC มวลสมาชิก GotoKnow ทุกท่าน) ต่อยอดจากความประทับใจนั้น

    และการได้มาฟังพี่ชิวอีกครั้งในวันนี้ ก็มิได้ทำให้ผมผิดหวังแม้แต่น้อย...

    แม้หลายเรื่องผมจะฟังแล้วมึนตามประสา ทั้งเรื่อง อะตอม อนุภาค อิเลคตรอน โปรตรอน นิวเคียส ฯลฯ

    แต่ในความยากก็มีความสนุก และได้ความรู้ใหม่ ๆ ในมุมมองทางวิทยาศาสตร์เพียบ....

    ที่สำคัญพี่ชิวกระตุกให้ผมได้คิดหลายเรื่อง บางเรื่องก็ฟังเพลินจนลืมจด

    และที่ผมประทับใจมาก คือการทำ BAR แบบเนียน ๆ ของพี่ชิว

    ผมเข้าใจว่าพี่ชิวคงเตรียมเนื้อหามาอย่างเพียบพร้อมและประณีต แต่ก็ยังถามว่าที่ประชุมอยากรู้เรื่องอะไร ปรากฏว่าที่ประชุมสนใจเรื่อง ควอนตัว ทฤษีสำคัญ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถเทียบเคียงและสอดคล้องกันกับพุทธศาสนา รวมทั้งการศึกษาจิตของวิทยาศาสตร์

    ที่ผมทึ่ง ก็คือ พี่ชิวพูดบรรยายครอบคลุมเนื้อหาทั้งสามเรื่องได้อย่างครอบคลุมและแนบเนียนกับสิ่งที่เตรียมมา

    โห... สุดยอด

    การเข้าสู่เนื้อหาเพื่อปูพื้นก็น่าสนใจมาก ๆ ครับ จนผมต้องแอบจำเอาไปเป็นตัวอย่าง กัลยาณมิตรหลายท่านอาจจะผ่านตามาบ้างกับแบบฝึกหัดที่พี่ชิวนำมาแบ่งปันใน G2K เช่น 001) ตอบ จม. (สายตรง) ของคุณหนานเกียรติ : ตอน 01 หรือ 002) โจทย์อีกข้อสำหรับ คุณหนานเกียรติ & เพื่อนๆ GotoKnow ทุกคน



แฟนานุแฟนพี่ชิว คุ้น ๆ ไหมครับ

    หลังจากที่ผู้เข้าร่วมสนุกสนานกับโจทย์ต่าง ๆ แล้ว ก็ค่อยเฉลยและให้แง่คิดในมุมทางวิทยาศาสตร์แก่ผู้เข้าร่วม เป็นการสอนวิทยาศาสตร์แบบเนียน ๆ เลยครับ

    กรณีศึกษาหนึ่งที่ผมชอบมากคือ เหตุการณ์ 9/11 ที่เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิร์ดเทรด

    เหตุการณ์นี้กระทาชายนายหนึ่ง (ซึ่งผมจำชื่อไม่ได้) พยายามอธิบายว่ามันเป็นอาถรรพ์เลข 11 แล้วก็หาหลักฐานทั้งหลายแหล่มายืนยัน นั่งยัน และก็นอนยัน หลักฐานที่ว่าได้แก่

    - เครื่องไฟล์ท 11 มีผู้โดยสารอยู่ 92 คน ถ้านำมา เขียน เป็น 9+2 = 11
    - เครื่องไฟล์ท 77 ที่ชน ทวินทาวเวอร์ มีผู้โดยสารอยู่ 65 คน ถ้านำมาเขียน เป็น 6+5 = 11
    - เหตุการณ์ เกิดขึ้น เดือนกันยายน วันที่ 11 หรือนั่นก็คือ 9/11 หรือที่รู้จักกันว่า 911 นี่ก็มี เลข 11 รวมอยู่
    - จำนวน เหยื่อรวมทั้งหมด ในเครื่องบินที่ถูกจี้ นั้น รวมกันเท่ากับ 254 ถ้านำมาเขียนเป็น 2+5+4 นี่ก็จะเท่ากับ 11
    - กันยายน วันที่ 11 (09/11) เป็นวันที่ 254 ของปฏิทินของทั้งปี อีกครั้งนึง ถ้านำมาเขียนเป็น 2+5+4 นี่ก็จะเท่ากับ 11
    - การระเบิดที่เกิดขึ้นใน เมือง มาเดริก เกิดวันที่ 11 เดือน มีนาคม 2004 ซี่งถ้านำมาเขียน เป็นรูปแบบ การเขียนวันที่ของอเมริกา (เดือน/วัน/ปี) จะได้ 3/11/2004 ถ้านำมาเขียนเป็น 3+1+1+2+0+0+4 ก็จะรวมกันเท่ากับ 11

    อันที่จริงผมก็รับรู้เรื่องนี้มานานแล้ว แต่ก็ไม่เชื่อและไม่ใส่ใจ แต่การให้คำอธิบายของพี่ชิวก็ทำให้ผมถึงบางอ้ก พาลนึงถึงเรื่องทำนองนี้ไปได้อีกหลายกรณี

    พี่ชิวให้คำอธิบายว่า คนกลุ่มนี้จะเลือกเอาเหตุการณ์มาสนับสนุนความคิด/ความเชื่อของตนเอง โดยจะเลือกเอาเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของคนจำนวนมาก และเหตุการณ์นั้นมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องจำนวนมากและกว้างขวาง ซึ่งทำให้สามารถเลือกเอาข้อมูลเหล่านั้นมาสนับสนุนความคิด/ความเชื่อของตนเอง

    ผมลองเอาคำอธิบายนั้นไปอธิบายเหตุการณ์อื่นที่ใกล้เคียง ก็ถึงบางอ้อ ว่า เออจริงด้วยแฮะ...

    เรื่องราวเหล่านี้ ผมเพิ่งทราบว่ามันคือ “Confirmation Bias” จากปากพี่ชิว

    มีเรื่องสนุก ๆ อีกแยะเลยครับที่พี่ชิวนำมาเล่า เช่น เรื่อง ม้าแสนรู้ “Claver Hans” ที่นำมาอธิบายเชื่อมโยงกับกรณี “น้องเดียว ของ คุณปัญญา” อย่างที่ทำให้คนฟังอย่างผมเพิ่มรอยหยักในสมองได้โขทีเดียว

    เรื่องที่เป็นประเด็นหลักของการบรรยายวันนี้คือ การเชื่อมโยงระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์

    ประเด็นทางพุทธศาสนาที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง อนิจจัง กับ อนัตตา

    ผมแม้จะบวชเรียนมานาน แต่ก็ยังเข้าใจเรื่องนี้ไม่แจ่มแจ้ง

    ขณะที่ผมขับรถกลับบ้าน พยายามทบทวนความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่าง วิทยาศาสตร์ กับ พุทธศาสนา เท่าที่ตนเองประสบพบเห็นมา และจากการฟังพี่ชิวในวันนี้ ผมมีข้อสังเกตุกับการเทียบเคียงนั้นอยู่ไม่น้อย

    ประการแรก ผมมีความรู้สึกว่า พุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์ อยู่กันคนละเกณฑ์ ไม่น่าจะเปรียบเทียบกันได้สนิท พุทธศาสนา เป็น ศาสน์ ส่วนวิทยาศาสตร์ เป็น ศาสตร์ มีเป้าหมายไปกันคนละทาง มีแนวปฏิบัติไปคนละอย่าง

    ประการที่สอง หลัก อนัตตาของพระพุทธศาสนา อธิบายโดยตัวอักษรและวาจาได้ไม่หมดจด ชั่ง วัด ตวง ก็ไม่ได้ แล้วจะนำไปเปรียบเทียบกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่ชั่ง ตวง วัด พิสูจน์ ได้ด้วยเครื่องมือได้อย่างไร

    ประการที่สาม หากจะมีการเปรียบเทียบกันจริง ๆ น่าจะมีหลักคำสอนที่เป็นแนวปฏิบัติที่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ก็น่าจะแยะ แต่ทำไมไม่ทำกัน (หรืออาจเป็นไปได้ว่าผมคับแคบจนมองไม่เห็น) เช่น หลักกาลามสูตร อัคคัญญสูตร กระทั่ง หน่วยวัดที่ปรากฏในพระพุทธศาสนา

ผมเขียนบันทึกนี้มาขอบคุณพี่ชิวครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 316643เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2009 00:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

สวัสดีค่ะ

.อยากรู้ว่าอาจารย์ชิวเปรียบเทียบความเหมือนระหว่างวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสตร์ว่าอย่างไรบ้าง

.อ่านแล้วอยากอ่านต่อ

.แต่สิ่งหนึ่งที่ทราบเพียงเล็กน้อยว่า พุทธศาสน์เหมือนกับวิทยาศาสตร์คือ พูดถึงความจริงของโลก และสามารถพิสูจน์ได้ แต่พิสูจน์ด้วนตนเอง ไม่น่าจะต้องใช้ เครื่องชั่งตวงวัด

.ขอบคุณความรู้ดีๆค่ะ

 

P สวัสดีครับ คุณครู อุดมพันธ์

เท่าที่ผมจับประเด็นได้ แม้หัวข้อนี้เป็นหัวข้อหลัก แต่ พี่ชิวก็มิได้ให้ความสำคัญกับการเปรียบเทียบสักเท่าไร เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ และหยิบยกบางแง่มุมมาอธิบายเทียบเคียงกับพุทธศาสนา

หลักการหนึ่งที่พี่ชิวอธิบายเชื่อมโยงกับหลักอนิจจังและอนัตตาคือ ปฏิกิริยาฟิชชั่นและฟิวชั่น ที่ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวและแตกตัวของนิวเคลียสที่กลายสภาพไปไม่เหลือความเป็นตัวตนเดิมไว้

แหะ แหะ เรียนตามตรงว่าผมเข้าใจว่ามันเชื่อมโยงกับหลักการอนิจจัง แต่ผมยังไม่เข้าใจหรือเชื่อมโยงไปถึงหลักอนัตตาได้ ไว้ผมถามพี่ชิวให้นะครับ...

 

สวัสดีค่ะ

  • จบแค่นี้เหรอ  มีต่ออีกใช่ไหม
  • ไม่อยากไปอ่านเอง  เขียนเล่าให้จบ ๆ ไปเลยดิ

 

P สวัสดีครับ พี่ ครูคิม

โหพี่... วัยสะรุ่นจังเลย
ว่าจะเขียนต่ออีกตอน
แต่คิดไปคิดมากลัวจะปล่อยไก่  
จบห้วน ๆ ดีกว่าครับ

 

ตามมารับสาระดีดี กับวิทยาศาสตร์ค่ะ เป็นอีกหนึ่งบันทึกที่น่าภูมิใจ

ตามเข้ามาศึกษาหาความรู้ด้วยครับ ตามประสาคนเก่งวิทยาศาสตร์ 555...

ขอบคุณสาระดีๆครับ

สวัสดีครับน้องหนาน นายหัวเลิศ ชวนผมกะนะไรไปด้วย แต่พวกเราติดราชการครับ ก็ ฝากดูแลนายหัว ลูกผู้ชายตัวจริง สิงห์เจ็ดยอดครับ

  • ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า
    "หากต้องเลือกนับถือศาสนาจะขอนับถือพุทธศาสนาเป็นอันดับแรก"
  • นั่นคือเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงพุทธศาสนา "ศาสนาแห่งเหตุผล"
  • ขอบพระคุณความรู้ดี ๆ ค่ะ

สวัสดีครับ

P คุณ ครูแป๋ม

P ท่านรอง small man

P ท่านผู้เฒ่า วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

P คุณครู ธรรมทิพย์

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
ผมไปฟังพี่ชิวคราวนี้สนุกมากครับ ได้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาเพียบ แต่เรื่องการเปรียบเทียบกับหลักการระหว่างพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ ผมยังเข้าใจไม่มาก
ไว้รอพี่ชิวมาต่อยอดนะครับ

 

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านสาระดีๆมีประโยชน์

อ่านเรื่องนี้ แล้ว ได้ความรู้มากมาย

โดยเฉพาะการเปรียบเทียบระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนา

ดีใจที่เกิดมาในพุทธศาสนา  "พระพุทธเจ้าสอนให้คนทำดี  ละเว้นความชั่ว"

 

                      คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

 

P สวัสดีครับ น้อง กานต์

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ
เรื่องนี้ผมมีความรู้เพียงหางอึ่งเองครับ
พี่ชิว คุยสนุกมาก
ความรู้เพิ่มเติมลึก ๆ ให้พี่ชิวมาเติมเต็มนะครับ...

 

โอ้โห อ่านแล้วมันส์ ขอบพระคุณมากๆครับพี่หนานเกียรติ เชิญพี่เป็นผู้ตามไปเป็นผู้บันทึกวาระทุกที่ที่พี่ชิวไป และถอดความมาลงบันทึกG2K เลยก็ดีนะครับ 555 เขียนได้ดีมากๆๆๆๆ ;) ผมล่ะน๊า อยู่ตั้งไกล

อ้อ!!! เรื่อง work shop ดูเมฆของนิตยสาร a dayไงครับพี่หนานเกียรติ เดือนมกราคม ไปด้วยกันมั้ยพี่ 555 มันส์เช่นเคย

P สวัสดีครับ adayday

เป็นไงมั่งครับชีวิตคู่ ม่วนซื่นไหม...
พี่ชิวพูดมันส์มากครับ
ได้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ตรึมเลย...
อยากไปจัง เดือนมกราคม ที่ไหนครับ...

 

ตามมารับความรู้จากบันทึกคุณชิวค่ะ..ขอบพระคุณมากค่ะ

กำลังอ่านเพลินๆ...จบซะแล้วเหรอคะ

ท่านหนานไม่เปลี่ยนใจเขียนตอนต่อไปหน่อยเหรอ?

เห็นใจคนอดไปฟังหน่อยนะคะ...อยากฟังพี่ชิวบรรยายจัง ท่าจะมันส์แฮะ

 

P สวัสดีครับ คุณ blue_star

อยากเขียนต่ออีกตอนเหมือนกัน นั่งไปนั่งมาเขียนไม่ออกครับ

แหะ แหะ อ่านเรื่องอื่นละกันนะครับ...

มีเรื่องในสต็อกจะเขียนเพียบเลยครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท