ดอยวาวี สวรรค์บนดอยสูง : กระบวนการเรียนรู้เพื่อการจัดการอนาคต


การจัดการความรู้ในงานพัฒนาลักษณะนี้ จึงมุ่งเน้น "คน" ก่อนการ "สร้าง-ยกระดับองค์ความรู้"

คุณๆรู้จักดอยวาวีหรือเปล่าครับ?

 

ดอยวาวีเป็นพื้นที่สูงด้านเทือกเขาผีปันน้ำ สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๗๐๐ เมตร  ทิศตะวันตกบริเวณ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย  เชื่อมั้ยว่าในช่วงฤดูหนาวของที่นี่ดอกซากุระเมืองไทย(ดอกนางพญาเสือโคร่ง)ต่างพร้อมใจกันบานสะพรั่งทั่วขุนเขา งานเปรียบดังเวียงสวรรค์ งามเหลือคำรำพันเลยทีเดียวเชียว ขุนเขาสลับซับซ้อน พรรณไม้เขียวขจี วิถีชนเผ่าที่หลากหลายบนดอยสูง

อากาศหนาวเริ่มกำจาย หมอกสวยคลอเคลีย ซบยอดไม้อ้อยอิ่ง ...กว่าแดดจะสาง ความรักระหว่างหมอกสวยกับต้นไม้ที่ชายป่าก็บ่มเพาะจนสุกงอม เราแอบเห็นความงามระหว่างความรักนั้น

ดอกไม้เมืองหนาวชื่อแปลกๆต่าง มากมายหลายพันธุ์พร้อมใจกันอวดความงาม ไม่พรั่นพรึงต่อสายตาภมรที่โลมเลีย  ไม้ผลที่ปลูกแถบนี้จึงเป็นไม้ผลเมืองหนาวที่ทุกคนรู้จักกัน เช่น บ๊วย ท้อ พลัม ลูกไหน และอีกหลายๆชนิด นอกจากจะให้ผลผลิตสร้างความพึงพอใจให้กับคนในพื้นที่แล้ว สิ่งที่ผมชื่นชอบอีกอย่างก็คือ ดอกของไม้ผลพวกนี้ครับ เขามีเสน่ห์ไม่แพ้ดอกไม้ประดับอื่นๆที่ปลูกเพื่อตกแต่งสถานที่

ที่นี่ "วาวี " จึงเป็นแหล่งรวมความหลากหลายที่งดงาม ในบรรยากาศของธรรมชาติรังสรรค์

ความเป็นเอกอุของดอยวาวีที่ทุกคนรู้จักกันดี คือ "กาแฟวาวี" แบรนด์กาแฟชื่อดังแถบภาคเหนือ เมื่อเดินผ่านร้านกาแฟนี้เป็นอันต้องแกล้งเดินพลัดหลงเข้าไปในบัดดล

หากคอชาก็คงรู้จัก "อู่หลง" ก้านอ่อนเบอร์ ๑๒ ที่หอมกรุ่น รสชาตินุ่ม ที่นี่เป็นแหล่งปลูกชาอู่หลงแห่งแรกในประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีชาพื้นเมืองสายพันธุ์ "อัสสัม" ชาสายพันธุ์ไต้หวันอย่าง "ชิง ชิง" เบอร์ ๑๒ ,๑๓ ปลูกกระจายตัวตามเทือกเขาแถบนี้ เราเดินทางเลยไปที่บ้านใหม่พัฒนา ไปชม "ชาพันปี" ที่มีเส้นรอบวงลำต้น กว่า ๑๕๐ เซนติเมตร สูงถึง ๒๐ เมตร เป็นจุดหนึ่งที่เป็นจุดแวะชมธรรมชาติที่หาที่ไหนไม่ได้

 

คุณทราบมั้ยครับว่า ที่วาวี มีกลุ่มชาติพันธุ์ อาศัยอยู่ถึง ๑๓ เผ่า  ??

มีม้ง ลีซู ลาหู่ ปกาเกอญอ จีนฮ่อ และเผ่าอาข่า(มีมากที่สุด) พร้อมทั้งเผ่าอื่นๆ มีประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อที่เป็นอัตลักษณ์ มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับวิถีการผลิตเกษตรพื้นที่สูง ความงดงามของประเพณีที่แต่ละเผ่ายังสืบสานกันไว้เหนียวแน่น ตามวาระปฏิทินรายปี เราจึงมีโอกาสได้สัมผัส และเรียนรู้เรื่องราวพวกเขาเหล่านั้นในแต่ละเวลาที่แตกต่างกัน

ผมพรรณาความงดงามของทุนในพื้นที่ "วาวี" จนหลายท่านเคลิบเคลิ้มไปแล้วใช่หรือไม่ครับ?

ผมกำลังเดินทางไปเป็นวิทยากรกระบวนการที่โครงการหลวงวาวี ในประเด็น "การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน" โดยมีโจทย์ที่ท้าทายที่ว่า เรามี"ต้นทุน" ที่มากมายขนาดนี้ ชุมชนจะสามารถจัดการได้อย่างไร? การผลักกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่เป็นงานพัฒนาที่ใช้ "วิจัย"เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนทำได้หรือไม่ อย่างไร?

แสวงหาพื้นที่ แสวงหาโจทย์ แสวงหาภาคี มาขับเคลื่อนทำงานพัฒนาท้องถิ่นด้วยกัน

จากการที่เดินทางไปสามจุดโครงการหลวงในภาคเหนือ (หมอกจ๋าม,วัดจันทร์ และที่นี่ วาวี) แต่ละจุดมีความหลากหลายในเกือบทุกปัจจัยที่ต่างกัน เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับคนทำงานมากครับ ที่จะพัฒนาโจทย์ในแต่ละพื้นที่ แต่ผมใช้แนวคิดเดียวที่ทำคือ การพัฒนาและวิจัยแบบมีส่วนร่วม จะใช้วิจัยนำ หรือ การพัฒนานำก็ได้ทั้งนั้น ประเมินวิเคราะห์จากพื้นที่

แล้วที่ "วาวี" ผมจะไปทำอะไร?

ผมไปเป็นวิทยากรกระบวนการ(Facilitator)ครับ

ผมได้รับเชิญจาก สถาบันพัฒนาพื้นที่สูง-มูลนิธิโครงการหลวง  เพื่อไปให้ความรู้เกี่ยวกับ "การจัดการชุมชนโดยใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชน" ดูตามตารางจดหมายเชิญ ส่วนใหญ่ก็เป็นภาคบรรยายทั้งหมด รวมถึงระดมสมองในช่วงบ่ายของวัน

มันไม่เวิร์คครับ...

(แต่ทางผมและโครงการหลวงฯ ได้หารือในส่วนกระบวนการแล้ว สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสะดวกเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายเต็มที่)

เพราะอบรมแบบนี้ ชุมชนผู้เข้าร่วม(Participant)ก็มึนกันไปหมด ชุมชนไม่ชอบการนั่งฟังบรรยายที่น่าเบื่อ จำเป็นต้องสร้างบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ (creating the right environment / right climate)ผมมักจะรื้อกระบวนการของเจ้าภาพที่เชิญบ่อยๆ(ทั้งนี้ปรึกษาท่านแล้ว) ออกแบบการอบรมใหม่ให้กิดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ชาวบ้านสนุกและมีส่วนร่วมที่สุด และมีประเด็นที่ท้าทายผมตลอดคือ "มีวิทยากรกระบวนการเพียงท่านเดียวคือกระผมเอง"  ดังนั้นผู้ช่วยกระบวนการคือผู้เข้าร่วมเวทีนั่นเอง การสร้างบรรยากาศจึงเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากครับ อยากให้ทุกคน "เปิดใจ" (Openness) และ"รู้สึกผูกพันและพร้อมที่จะเรียนรู้" (commitment to learning)

ผมเลิกตื่นเวทีแบบนี้แล้ว เพราะชินครับ ก่อนโน้นก็เตรียมเวทีมากมาย เพื่อจะเพิ่มกระบวนการแบบโน้น แบบนี้ พอเอาเข้าจริงต้องปรับเวทีแทบทั้งหมด ทำตามสไตล์นักมวยบ้านนอก แต่มีลีลานะจะบอกให้ หากเผลอผมมีหมัดฮุกนะครับ น็อคไปเลยเชียวละ

ผมคิดว่าหากวัตถุประสงค์ชัด ผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร ส่วนกระบวนการนั้นไปปรุงแต่งเองโดยให้ผู้เข้าร่วมอบรมช่วยออกแบบ แล้วเรามาทำร่วมกัน ง่ายๆชิลๆ แต่ได้เนื้อหา ได้งาน ได้ใจ นั่นคือสไตล์ของผม

ได้ข้อมูลน้อยไปหน่อยนะครับ- - -ผมแจ้งบอกทางเจ้าหน้าที่โครงการหลวง

แต่ไม่เป็นไรครับ แสวงหาข้อมูลจากเวทีก็ได้ อาจช้าหน่อยแต่ก็ได้มีโอกาสทบทวน "ทุนเดิม" ของพื้นที่ด้วยกัน อย่างน้อยการใช้เวลาในการค้นหา"ทุน"ของพวกเขาเอง ก็ทำให้ได้ย้อนทบทวนตัวเอง ให้"รู้ตัวเอง" ให้ชัด วิเคราะห์ทั้ง ๔ ระบบ (ระบบความรู้ ระบบทรัพยากร ระบบคุณค่า รวมถึงระบบเหนือชุมชน) และทำแผนพัฒนาชุมชนโดยการชี้ชวนให้มอง "เป้าหมาย" ร่วมกันโดยใช้ "ทุน" ขับเคลื่อน

  • ทุนใน

  • ทุนนอก

  • ภาคี

  • โอกาส

  • จุดอ่อน - จุดด้อย

จากนั้นก็มาคิดโจทย์ทำงานร่วมกัน พัฒนาโจทย์ให้ชัด คิดกระบวนการขับเคลื่อนด้วยกันไป  ใช้การวิจัยพัฒนาแบบมีส่วนร่วม (Paticipatory action research) สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน แบบ "On the job training" หรือ  "training by doing"

ถอดบทเรียนระหว่าง(Leson Learned) ปรับกระบวนการ ตั้งแต่วางแผนโครงการ (learning before) การดำเนินโครงการ (learning during)  ประเมินผล ถอดบทเรียนปลายทาง (learning after)

สำเร็จ- - -> ขยายผล

ไม่สำเร็จ- - -> ทำใหม่ รื้อกระบวนการใหม่จากกระบวนการเรียนรู้เราได้ชุดความคิดที่เป็นข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา ปรับปรุงการทำกิจกรรมในระยะต่อไปให้ดีขึ้น (Specific Actionable Recommendations : SARs)

เรามีโอกาสเสมอสำหรับการเรียนรู้ และพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นไป บนฐานของกระบวนการทางปัญญา

ในผลิตท้ายสุดที่เราต้องการนั้น เป็น "คน" ครับ เราได้คนที่ถูกพัฒนาจากกระบวนการเหล่านี้ คนในชุมชนกลุ่มนี้หละครับที่จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนโดยใช้ปัญญา โดยใช้องค์ความรู้ที่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ส่วน "องค์ความรู้" ที่ได้นั่นก็คือผลผลิตอย่างหนึ่งของกระบวนการ

การจัดการความรู้ในงานพัฒนาลักษณะนี้ จึงมุ่งเน้น "คน" ก่อนการ "สร้าง-ยกระดับองค์ความรู้"

เชิญแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ 

 


 

ขอบคุณครับ

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ปาย,แม่ฮ่องสอน

 

 

หมายเลขบันทึก: 166286เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2008 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (40)

น้องเอกครับ

ขึ้นไปบนดอยแล้วขอฟังเพลงดอยวาวีนะครับ ฝีมือน้องผมครับ

สวัสดีค่ะ

คุณเอก เป็นผู้รู้จริงด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน พี่ติดตามงานมาโดยตลอดค่ะ

แล้วพอไปบรรยาย และจัดกิจกรรมกระตุ้นการเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์ดังว่าแล้ว 

ทางหน่วยงาน ได้นำเอาไปใช้ และประเมินผลออกมาไหมคะ ว่าได้ผลประการใด  ใช้เวลาเท่าไรหลังจากการบรรยายแบบนี้

คงจะแนวว่า  จะเป็นการใช้วัฒนธรรมและธรรมชาติอันสวยงามเป็นจุดขาย

แต่ทำอย่างไรให้สิ่งดีๆเหล่านี้ อยู่ยงคงกะพันไปได้เรื่อยๆด้วยนะคะ ไม่ใช่ถูกทำลายไปโดยนักท่องเที่ยว ทุกคนในดอยวาวี ควรต้องรู้ค่าของวัฒนธรรมของตัวเองให้มากที่สุด

พี่อดนึกถึง ฝรั่งเศสไม่ได้ ที่Inner Paris สวยงามเก่าแก่ ร่มรื่น เขารักษาความเก่ได้ดีมาก แม้ชีวิตประจำวันจะทันสมัย

ความเก่าแก่ของปราสาทราชวัง โบสถ์ และวัฒนธรรมเก่าๆของเขา เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาดู มาจับจ่ายใช้สอยอย่างเต็มใจในประเทศของเขา เป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งมาตลอดเวลา

พี่อยากให้เราเป็นอย่างนั้นบ้าง อย่าให้อะไร มาทำลายสิ่งดีๆของประเทศเราได้ค่ะ

สวัสดีครับ คุณเอก

  • ระยะนี้ บันทึกเป็นบรรยากาศของกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน .. นะครับ
  • กระบวนการเรียนรู้ในชุมชนทางบ้านเรา (ภาคเหนือ) มีเสน่ห์อย่างยิ่ง สำหรับคนรักภูเขา
  • เป็นการกระเทาะ ตามหา สืบค้น แก่นความรู้ที่มีมานานแสนนานเป็นร้อยปี พันปี
  • คนทำงานด้านชุมชนที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาก ๆ แล้วย่อมเชี่ยวชาญเช่นคุณเอก และอีกหลาย ๆ ท่านที่เดินทางมาตามเส้นทางนี้
  • ผม ... คือ คนวงนอก ที่ยืนอยู่ติดกับ "การพัฒนาและวิจัยท้องถิ่น" แต่ยังมิไม่เข้าใจถึงแก่นแท้
  • และกำลังเฝ้าถามตัวเองอยู่เสมอว่า "ผมจะนำความรู้ของผมไปประยุกต์รวมกับการวิจัยและพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างไร"
  • ผมนั่งมองเพื่อน ๆ อาจารย์ ทำวิจัย ลงพื้นที่ท้องถิ่นและชุมชน ... เพื่อนผมสอน "วัดผลและวิจัย" อยู่แล้ว จึงเข้าใจได้ว่า เขาประยุกต์วิชาชีพของตัวเองแล้ว เพราะไฟท์บังคับที่เขาต้องทำวิจัยโดยสม่ำเสมออยู่แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่า เค้าได้ถามตัวเองหรือยังว่า วิจัยเรื่องนี้ เรื่องนั้น วิจัยไปทำไม อยากทราบอะไร เป็นประโยชน์ทุกฝ่ายหรือไม่ และเพื่อใคร .. ผมอาจจะตั้งคำถามผิดก็ได้ หรือไม่ควรถามแบบนี้ก็มิทราบได้
  • ขออภัยคุณเอกที่ผมบ่น ๆ ให้ฟังในความไม่เข้าใจ และความไม่รู้ของผม
  • ผมอาจจะสามารถนำไปเขียนบันทึกหนึ่งได้ แต่ยังไม่แน่ใจและมั่นใจในเรื่องราวเรื่องนี้ที่ผมจะสามารถเขียนได้ เพราะผมยังค้นหามันอยู่
  • ขอยืนยันว่า "กาแฟวาวี" ไอซ์บูมคาราเมล ราคา 75 บาท ... อร่อยครับ ผมชอบ อิ อิ

ขอบคุณครับที่ฟังผมบ่น :)

สวัสดีครับ พี่อัยการชาวเกาะ

ความตั้งใจของผมนะ ผมอยากนำเพลงชาวไทยภูเขามาเผยแพร่ในบันทึกแบบนี้ด้วย กะว่าให้คลอกันไปเพราะดี มีอรรถรสในการอ่านอีกแบบ

เพลงชาวเขาจะเป็นแบบ hillbillies ครับที่เราได้ยินบ่อยที่ร้องแบบ hoe-rey-rey-hooh-hoh-hee-hoh เป็นการร้องตอบโต้กันระหว่างหุบเขา ก็ได้อารมณ์บ้านดอยอีกแบบ ซึ่งผมชอบครับ

ผมฟังเพลงของ Ruby พี่คงคุ้นชิน เป็น traditional bluegrass ที่ไพเราะครับ ที่รู้จักกันก็เพลง Don't take your love to town ไม่มีตัวอย่างให้ฟังครับ แต่ยืนยันว่าเพราะมากครับคล้ายเพลง Country ครับ จินตนาการต้องสวมหมวกแบบ cowboy  แล้วขี่ม้าไปตามเชิงเขา...มันเท่ห์จริงๆ

แต่หากฟังเพลงบรรเลงแบบ Lisu แท้ๆ คลิ๊กไปฟังที่ นี่ครับ ดนตรีแบบนี้ช่วงนี้เป็นช่วงปีใหม่พี่น้องลีซูเราจะได้ยินในหมู่บ้านลีซูทุกแห่งครับ

วันที่ ๒๒ - ๒๔ กพ.นี้ที่ปายจะมี มหกรรมภูมิปัญญาลีซู ที่บ้านน้ำฮู ตรงที่ผมพาพี่ไปทานอาหารยูนนานนั่นหละครับ (หมู่บ้านตรงข้ามสันติชล)

ผมไม่ได้ไปร่วมเพราะต้องไปเป็นวิทยากรงานที่ผมเขียนในบันทึกนี้

ขอบคุณมากครับพี่อัยการครับ

:)

คุณเอก คะ

  • เอาใจช่วย สู้ ๆ ค่ะ ทำหน้าที่  Fa ชอบๆๆ ค่ะ
  • ขอ ออฟเสริฟ ตาม blog คุณเอกไปอย่างต่อเนื่อง  นะคะ
  • ครั้งหลายปีก่อน เคยไปที่ดอยแม่สะลอง จ.เชียงราย (ขณะนั้น ทางขึ้นยังเป็นหิน ดิน อยู่เลยค่ะ
  • ไปนอนกะคนดอย  ชิมชา "อู่หลง" และอื่นๆ อีกมากมาย ได้บรรยากาศมาก ๆ ค่ะ นอนบนดอย อยู่ 4 คืน (หนาวสุด ๆ) สนุกด้วยค่ะ ยังติดใจชาไม่หาย เมื่อปีที่แล้วมีโอกาสไปจีน ซื้อมาดื่ม  ตอนนี้ ชาอู่หลง หมดแล้ว หากมีโอกาส จะไปซื้อที่เชียงราย ก็น่ารสชาดเดียวกันเนอะ
  • ไปครั้งนั้น เน้นเที่ยวอย่างเดียว แต่เราก็แอบเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นของคนที่นั่นได้เยอะทีเดียว
  • ณ ตอนนี้ ยังไม่ได้ไปแถวนั้นเลย ได้ข่าวว่า เปลี่ยนไปมาก อยากไปมาก ๆ ค่ะ และหวังว่า แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งที่นี่ คงจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ชุมชนได้รับการยกระดับ และพัฒนาได้รวดเร็ว ค่ะ
  • หากมีโอกาสได้มาอีก คงได้เจอกันนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

เห็นด้วยกับเพื่อนเอกครับ...

เราไปบรรยายให้เขาฟัง บางทีเขาไม่เข้าใจหรอกครับ เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา...

สู้เราจัดให้เขามีส่วนรวม เขาจะได้ความรู้จากเรา และที่สำคัญเราจะได้รู้ในสิ่งที่เขาเป็น ในสิ่งที่เขาคิดด้วยครับ...

จะได้นำมาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์แนวทางในการทำงานร่วมกันต่อไปครับ...

เป็นกำลังใจในการทำงานนะครับ...

สวัสดีครับพี่ Sasinanda

กระบวนการที่ผมลงไปทำ เป็นส่วนของการแสวงหาโจทย์วิจัย ไปชวนให้ชุมชนคิดเรื่องการจัดการทรัพยากร ที่เป็น" ทุน" เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะมาถึงพวกเขา เพื่อประโยชน์สูงสุด สมดุลที่จะเกิดแก่ชุมชน โดยมีหน่วยงานต่างๆเป็นภาคี ผมเพียงผู้ทำกระบวนการในช่วงเริ่มต้นครับผม

หากเกิดเป็นโครงการวิจัย ก็เป็นพี่เลี้ยงในกระบวนการวิจัยครับ

ผมก็หวังว่า กระบวนการสร้างคนเพื่อให้เก่งขึ้น เป็นคำตอบของงานพัฒนาท้องถิ่นครับ

ขอบคุณครับผม

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ช่วงนี้เป็นงานที่ผมทำกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชุมชนครับ ความตั้งใจอยากจะนำกระบวนการเหล่านี้มาเขียนเพื่อแสวงหาข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้มีประสบการณ์ในนี้ครับ ...

ผมเองทำไปเรียนรู้ไป ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรหรอกครับ เป็นผู้ "เสียวซ่าน" มากกว่าครับ ผมชอบเรียนรู้ และทำ มาสรุปบทเรียนกับตัวเอง และหากระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆเพื่อทำงานชิ้นต่อๆไป สนุก ท้าทายดี

อาจารย์เองก็มีส่วนในการพัฒนาชุมชนมากครับ เพราะตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยแล้ว ก็เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นนะครับ ศาสตร์ที่ทางสถาบันมีผมคิดว่านำเอามาบูรณาการกับชุมชนได้ โดยเฉพาะ "เทคโนโลยีทางการศึกษา" ผมมองว่างานท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องอาศัยศาสตร์นี้มากในการขับเคลื่อน

หากในช่วงของกระบวนการมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ผมจะขอเชิญท่านเป็นวิทยากรด้วยนะครับ เพื่อไปแลกเปลี่ยนกับชุมชนครับผม

ไอซ์บูมคาราเมล อร่อยครับ แต่ดูเหมือนจะเสริมพุงเราได้เป็นอย่างดี เป็นห่วงก็แต่รอบเอวท่านอาจารย์ครับ (ฮา)

วันศุกร์นี้หากไม่ไปไหน เรียนเชิญทานข้าวด้วยกันครับ ที่เชียงใหม่ ผมเดินทางไปพร้อม ดร.กะปุ๋ม ก่อนที่เธอจะบินกลับขอนแก่นครับ  ส่วนผมจะเดินทางไป อ.แม่สรวย จ.เชียงราย พร้อม Mr.Direct  ครับ

ผมรู้สึกยินดีและมีความสุขเสมอที่ได้อ่านข้อเสนอแนะจาก อ.Was ครับ ดังนั้น "คุยไปบ่นไป" จึงไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างได้ ตรงกันข้ามประเด็นนั้นเองเราได้เรียนรู้และเติมให้กันครับ

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ คุณเอก

  • วิชาชีพประจำตัวของผมนั้น .. ก็เห็นเพื่อน ๆ ผมที่อยู่ "วัดผลและวิจัย" บอกไว้เหมือนกันครับว่า ทีมวิจัยมักจะขาดบุคลากร "เทคโนโลยีการศึกษา" ไม่ค่อยมีคนวิชาชีพนี้ ลงวิจัยเท่าไหร่ครับ
  • โดยส่วนใหญ่ คนวิชาชีพนี้ จะมีลักษณะเฉพาะตัวครับ ไม่เหมือนชาวบ้าน มีความตัวตนสูง ทางใครทางมันครับ (เหมือนผมนะเนี่ย อิ อิ)
  • "วิทยากร" หรือครับ ... น่ากลัวจัง ... ยังขาดความมั่นใจ ณ เวลานี้ ครับ การรวมศาสตร์ "วิจัยท้องถิ่น+เทคโนโลยีการศึกษา"
  • ไอซ์บูมคาราเมล ได้เสริมพุงมานานแล้วครับ น้ำหนักขึ้นเอา ๆ เพราะกาแฟนี่แหละครับ อิ อิ กลัวอย่างเดียวนี่แหละว่า จะใส่กางเกงไม่ได้ (ใส่ผ้าขาวม้าแทน)
  • ผมชอบเขียนตรงไปตรงมา จนบางทีหลายท่านก็รับไม่ได้น่ะครับ เส และ แสร้ง ไม่ใช่ทางผม ... บางทีเขียนความจริง ก็กลายเป็น โจมตี ไปในสายตาท่านอื่น ทำให้ผมต้องกลับมาปรับกลยุทธ์แทบไม่ทัน ครับ
  • คุยไปบ่นไป ได้นะครับ แต่ไม่เอา ชิมไปบ่นไป นะครับ เดี๋ยวเหมือนท่านนายกฯ ผมจะซวย 555
  • วันศุกร์ ผมมีภารกิจคุมสอบเกือบค่อนวันครับ ว่างก็เย็นนั่นเลย

ขอบคุณครับ .. คุณเอก

พักนี้บันทึกแห่งสาระการเรียนรู้และพัฒนาท้องถิ่นของคุณเอกดูออกดอกผลิบานอย่างต่อเนื่อง  อย่างน่าชื่นชม...

....

วันนี้วันสำคัญของพระพุทธศาสนา   แปลกแต่ก็จริงเมื่อคืนฝันถึงน้องนิสิตที่เสียชีวิตซึ่งเป็นนักกิจกรรม  และมักฝันถึงในวาระสำคัญเช่นนี้เสมอ  แต่ผมก็ไม่ได้ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้  เพราะต้องไปราชการแต่เช้า...  และเย็นนี้ก็ต้องพาน้องนิสิตไปร่วมกิจกรรมกับพ่อครูบาฯ ที่ อ.ยางสีสุราช  ..

แต่ก็โชคดี, คุณแดนไทไปวัดในเช้านี้  เลยพลอยได้ฝากให้อุทิศส่วนกุศลไปให้น้องเขาแล้ว

...

ถือว่ามาทักทายในเช้าแห่งชีวิตนะครับ

สวัสดีครับคุณบัวปริ่มน้ำ

ยินดีครับสำหรับการ "ออฟเสริฟ" ช่วงนี้ได้เดินทางไปในหลากหลายบริบทของพื้นที่ครับ ถือว่าเป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้ความหลากหลายที่มีอยู่ในท้องถิ่น เป็นมหาวิทยายชีวิต หลักสูตรที่มีชีวิตชีวา

ผมเพิ่งทราบครับว่า "วาวี" เป็นแหล่งปลูกอู่หลงพื้นที่แรกๆของประเทศไทย อยากไปชมชาพันปีจังครับ สูงเกือบ ๒๐ เมตร

ด้วยว่าพื้นที่แห่งนี้ได้รับผลจากการท่องเที่ยวโดยตรง การจัดการในชุมชนยังไม่เกิดดังนั้น การไปเตรียมความพร้อมชุมชน เป็นเรื่องที่ควรทำ กระบวนการในเวทีเเรกๆก็คงเป็นการระดมความคิดถึงอนาคตของหมู่บ้านก่อนจะ Action จริงๆครับ

ต้องขอปรึกษาคุณบัวปริ่มน้ำมากทีเดียวครับ

สวัสดีครับMr.Direct

ผมจะออกเดินทางบ่าย ๒๓ ครับ เพราะช่วงเช้ามีการประชุมกับ สกว.ภาคที่เชียงใหม่ เสร็จแล้วทาง โครงการหลวงมารับ ช่วงบ่ายออกเดินทางเลย ดิเรกสามารถมาถึงเชียงใหม่ได้สบายๆ

ส่วนขากลับ เวทีน่าจะปิดประมาณ ๔ โมงเย็นกลับถึงเชียงใหม่ยังทัน Check in ที่สนามบินเชียงใหม่ ไพท์สุดท้ายได้ครับ

ขอบคุณครับ

(หากเดินทางมาถึงเช้า ๒๓ โทรศัพท์แจ้งผมด้วยครับ)

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ในส่วนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น จำเป็นอย่างยิ่งในบางครั้ง ในการพัฒนาเพื่อต่อยอด เรามักมีเรื่อง "การตลาด" พ่วงเข้ามาด้วย ดังนั้น "เทคโนโลยีทางการศึกษา" น่าจะมีส่วนช่วยเสริมงานตรงนี้ให้ชุมชน

ที่ปางมะผ้ามีงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ประเด็นเยาวชน เราทำเรื่อง สื่อเพื่อเด็ก ครับ กรณีนี้น่าสนใจเช่นกัน

วิทยากร ไม่ยากเลยครับ เพียงแต่มาแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านเท่านั้นเอง ก็เรียนรู้ซึ่งกันและกัน สนุกกว่าที่เราตั้งใจมาบรรยายอย่างเดียว ที่สำคัญเราได้เรียนรู้ตรงนี้สำคัญ บรรยากาศคงไม่เหมือนห้อง เลคเชอร์ครับ

หากวันศุกร์มีเวลาว่างก็เชิญครับ ...เวลาไหนก็ได้ มีเบอร์ผมอยู่แล้วนะครับอยากให้แลกเปลี่ยนกับความรู้ +ธรรมะกับ นักเทคโนโลยีการศึกษาอีกท่านครับ คือ ดร.กะปุ๋ม นั่นเอง

ขอบคุณ ครับ

 

สวัสดีครับ คุณพนัสแผ่นดิน ครับ

จราจรงานยังคับคั่งเช่นเดิมนะครับ?

ช่วงนี้ผมขอหยิบยกประเด็นการทำงานในชุมชนมาแลกเปลี่ยนมากขึ้น ด้วยว่าประเด็นนี้น่าสนใจมากครับสำหรับผม คิดว่า การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดี ที่เราจะนำมาต่อยอดกันได้

ขอให้ทำงานอย่างมีความสุขนะครับ

ฝากความระลึกถึงอีกสามชีวิตที่บ้านด้วยนะครับ

พวกเขาคงสุขสบายดี

P  

 สวัสดีค่ะคุณเอก  

  • คงไม่มีอะไรให้แลกเปลี่ยนก็ขอเป็นกำลังใจอยู่ข้างหลังของคนทำงานก็แล้วกันค่ะ
  • เด็ก ๆ สบายดี
  • เสาร์ - อาทิตย์  นี้ก็ต้องไปราชการอีกแล้ว   ถึงการทำงานในแต่ละอาทิตย์จะไม่ใช่ภาระงานที่ต้องรับผิดชอบแต่ก็ได้มีส่วนร่วมทุกครั้งไป     เพราะต้องไปดูแลคนข้าง ๆเสมอ ๆ 
  •  ป้าแดงฝากสวัสดี   คุณยายด้วยค่ะ

สวัสดีครับ คุณแดนไท

เด็กคงสบายดีกันทุกคนนะครับ

ฝากดูแล คนข้างๆให้ดีนะครับ สังเกตว่าเขามุทำงานเหลือเกิน สุขภาพก็ไม่ค่อยดี ให้กำลังใจทุกท่านครับ

คุณยายไปวัดยังไม่กลับครับ น่าจะค่ำๆวันนี้มีงานบุญที่วัดใกล้บ้านครับ

ขอบคุณกำลังใจที่ดีนะครับ

  • เด็ก ๆ กลับมาจากวิ่งเล่นด้านนอก เมื่อสักครู่  เวลา 11.35   น.
  • ให้ฝากบอกลุงเอกมีความสุขมาก ๆ ครับผม 
  •  แผ่นดิน  ,  แดนไท  ครับผม

 

    อ่านบันทึกน้องเอก คลอด้วยเสียงเพลงชาวดอยแล้วได้บรรยากาศมาก พี่ยังไม่เคยแวะเข้าไปที่ วาวี เพียงแต่น่งรถผ่าน ตั้งใจจะไปตั้งแตเพื่อนไปเป็นครูใหญ่ที่นั่น จนเดี๋ยวนี้ย้ายไปอยู่ลำพูนแล้ว  ไร้วาสนาจริงๆ  

    การเก็บเด็ก  เก็บผู้ใหญ่ ยากจริงๆนะงัดกลยุทธจนจะหมด ก็ยังเหมือนเดิม แตก็ยังดีใจที่น้องไม่ท้อ สู้ สู้ ค่ะ  อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องปากท้องของเขา   อาจจะมีปัญหาทางศัพท์วิชาการ  ท้ายสุดก็ต้องเปิดเวทีชนบทแบบที่น้องพิสูจน์

    พี่มีปัญหาอยากจะแก้ไขบล็อก แตพอเข้าเมนูแก้ไข  แล้วจะปรากฏเป็นเพิ่มบันทึกทุกทีค่ะ

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

พี่เอื้องแซะ

คิดว่าน่าจะเป็นปัญหาในตัว Gotoknow เอง ครับ ติดต่อ น้อง มะปรางเปรี้ยวได้เลยครับอีเมลติดต่อ

ศัพท์วิชาการหากในบันทึกนั้นเป็นศัพท์ที่เราใช้บ่อยๆครับ เพื่อให้คุ้นชินกับศัพท์ เรียนรู้ศัพท์และนิยามพร้อมกันไปด้วย

ขอบคุณครับ

 สวัสดี ยามบ่ายค่ะคุณเอก  ขอบคุณมาก ได้หน้าจอโน๊ตบุ๊คที่ตรงใจมาก   อ่านสิ่งที่เอกได้เขียนแล้ว พี่ขอสะท้อนความคิดนะ " ชีวิตหนึ่งที่เกิดมา  เช้าจรดเย็นไม่หยุดนิ่ง สร้างทุกสิ่งที่ขอมา เส้นทางข้างหน้ายังยาวไกล หัวใจสุขที่ได้ทำ " (ชีวิตของเอกใช่ไหม ) ทุกที่มีภูมิปัญญา ถ้าสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้ฐานเดิม บนภูมิปัญญาของตน เป็นประโยชน์ยิ่งนะ พี่อ่อยขอเป็นกำลังใจค่ะ

พี่สาวที่น่ารัก  พี่  หิ่งห้อย

สวัสดียามบ่ายแก่ๆครับ รับกาแฟสักถ้วยมั้ยครับผม!!

ดีใจครับที่พี่อ๋อยเข้ามาใน Gotoknow อีกครั้ง (ทราบว่ามีปัญหาในการเข้า) ไปล้างไวรัสเครื่องพี่ด้วยนะครับ ผมรับมาหลายขนานเหมือนกันครับ อิอิ

ที่ไม่ยอมให้ภาพในกล้องโหลดนั้น ก็เพราะไวรัสครับผม ผมเช็คดูแล้วพบประมาณ ๓ ตัวร้ายๆครับ

ชีพจรการเดินทางยังไม่หยุดอยู่ตรงนี้ ตราบใดที่ชีวิตไม่สิ้น ผมคงดิ้นต่อไป มีความสุข พอใจในสิ่งที่ทำครับ...

ขอบคุณพี่ครับสำหรับกำลังใจที่ดีครับ

ขอบคุณคุณแดนไท ครับที่ดูแลหลานทั้งสองเป็นอย่างดี- - -คงน่ารัก และซนมากๆ

ฝากกำลังใจให้ทั้ง คุณพนัสและเด็กๆด้วยครับ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้เกี่ยวกับดอยวาวีนะคะ

สิ่งที่น้องเอกทำเป็นงานที่สำคัญทีเดียว ถึงแม้ว่าการวัดผลสัมฤทธิ์จะยาก แต่ถ้าสำเร็จก็จะเห็นชัด แต่ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ใช่เรื่องของการพูดคุยกันอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติด้วย 

เป็นกำลังใจให้ค่ะ ^ ^

สวัสดีครับ

เคยไปเที่ยวที่ดอยวาวี ราวๆ ปี 50 ครับ

พาคุณเตี่ยที่เคารพรักไป ซื้อชาอู่(เตี่ย)หลง ของขึ้นชื่อของดอยวาวี  ความจริงแล้วเหมือนหรอกพาไปเที่ยวด้วยอิอิ พาไปจุนแม่ยะ-เกษตรที่สูงดอยช้าง-วาวี

น่าเสียดายที่ไม่มีเวลาไปนอนชมพระอาทิตย์ขึ้น+ทะเลหมอกยามเช้าที่ ดอยกาดผี(ใช่เปล่าหว่า ไม่แน่ใจ) เพราะชาวบ้านยอกว่า ยังไม่มีห้องน้ำ(ตอนนี้มีหรือยังก็ไม่รู้)

สวัสดีครับพี่ตุ๋ย กมลวัลย์

ตอนนี้คงอยู่ อเมริกา เรียบร้อยแล้ว...สบายดีนะครับ

เรื่องราว "วาวี" ผมเองมีข้อมูลน้อย ทาง จนท.ก็ให้ข้อมูลเบื้องต้นน้อย  ผมต้อง "หาเช้ากินค่ำ"ครับ หมายถึงแสวงหาข้อมูลในเวที ก็สนุกไปอีกแบบครับ

อย่างน้อยชาวบ้านได้ทบทวนตัวเองไปด้วย

ขอบคุณพี่ตุ๋ยมากครับ- - -กำลังใจดีๆครับ

  • สวัสดีครับอาจารย์เอก
  • ไม่รู้ว่าตอนนี้จะส่งเสื้อผ้าไปให้อีกจะเป็นภาระหรือเปล่าครับ เพราะว่าช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาพวกพี่ๆเพื่อนๆที่สำนักงานเก็บบ้านกันเอามาให้อีกประมาณ 2-3 ถุง ยังไม่ได้ส่งไปเพราะว่ากลัวจะเป็นภาระ แต่ไม่ใช่เสื้อผ้าที่กันหนาวนะครับ เป็นเสื้อผ้าทั่วไป เพราะว่าที่ตราดไม่ค่อยหนาว
  • ยังไงก็จะส่งไปให้นะครับ บางทีอาจจะเอาไปให้ในปีต่อๆไปได้
  • ขอบคุณครับ

คุณประดิษฐ์ ครับ

ยินดีมากๆครับ ส่งมาได้ตลอดเลยครับ ฝากถึงผู้ที่ประสงค์จะบริจาค ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์อื่นใดก็แล้วแต่นะครับ สามารถส่งมาได้เรื่อยๆครับ หากรวบรวมได้พอสมควรก็จะนำไปให้ผู้ที่ขาดแคลนต่อไป

ผมขอขอบพระคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้ครับ

ขอบคุณคุณประดิษฐืมากครับ

สวัสดีค่ะ คุณเอก

พูดถึงดอยวาวี คิดถึงอยากดื่มกาแฟที่นี่ เคยไปเชียงราย 3-4 ปีมาแล้ว ไปอยู่ภูใจใส ถามหาอยากซื้อกาแฟวาวี เด็กที่นั่นไม่รู้จัก.. อดเลยค่ะ เพราะได้ยินแต่กิตติศัพท์มานาน

เห็นคุณเอกทำงานด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชน แถมเป็นวิทยากรกระบวนการ อยากทราบว่ามีคนทำแบบคุณเอก เยอะไม๊คะ เก่งค่ะ น่าสนุกด้วยนะคะได้ไปหลายๆที่

ภาพวิวสวยมากค่ะ

สวัสดีครับพี่อุ๊ a l i n l u x a n a =) ครับ

อากาศที่อเมริกาเป็นไงบ้างครับ?

ที่เชียงใหม่ และที่วาวีน่าจะหนาวอยู่บ้าง กาแฟ "วาวี" เป็นแบรนด์กาแฟที่ชื่อดังแถบภาคเหนือครับ หากมาเชียงใหม่ก็ได้ชิมครับ เป็นกาแฟสดที่เข้มข้นมาก

ผมเป็นนักวิจัยครับ และจากงานวิจัยก็เป็นวิทยากรไปด้วย มีกลุ่มที่ทำงานแบบเดียวกันก็มีครับ แต่ไม่มากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็นนักพัฒนาจากภาคเอกชนที่รู้จักกัน แต่ไมไม่กี่คนครับ

แนวคิดการท่องเที่ยวโดยชุมชนตอนนี้ก็เป็นกระแสที่ตอบรับที่ดี เพราะเป็นการจัดการทรัพยากร รวมถึงการจัดการวิถีชีวิตชุมชน ถือได้ว่าเป็นการเสริมความเข้มแข็งของชุมชนอีกแนวทางหนึ่ง

สามารถอ่านได้จาก

เครือข่ายการเรียนรู้และประสานงานการท่องเที่ยวโดยชุมชน

สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ขอบคุณพี่อุ๊มากครับผม...

 

สวัสดีครับ น้องเอก

มาใกล้ๆแล้วนะครับ  ไม่มีโอกาสได้เจอะเจอ 

ชุมชนต่างๆในภาคเหนือ ล้วนมีวัฒนธรรมที่หลายหลาย  ประเพณีแตกต่างกันไป  ส่วนใหญ่จะมีความสงบและยังหลงเหลือธรรมชาติที่สวยงาม      แต่ในบางแห่งจะมีปัญหามาก เป็นเพราะผลประโยชน์ที่วิ่งเข้าหา  การแปรเปลี่ยนจากความพอเพียงจะกลายเป็นใฝ่หาเหลือกินเหลือใช้  การแก่งแย่งจะเกิดขึ้น

ความเป็นธรรมชาติเปลี่ยนไป ความเจริญเข้าไปเมื่อไหร่ปัญหาก็จะเกิดขึ้น  ดีใจที่จิตสำนึกในส่วนลึกของคนข้างมากยังดีอยู่  อยู่ที่การจัดการ  ถ้าพวกท่านๆทั้งหลายเข้าไปสร้างระบบจัดการที่ดีๆอนาคตความเป็นอยู่ของชุมชนก็จะยังสงบสุข บรรยากาศก็ยังคงเดิม

ขอบคุณที่เมืองไทยยังมีคนชื่อ เอก ที่เอาการเอางานครับ

อยากเป็นส่วนหนึ่งของผู้เรียนรู้จังเลยครับ กิจกรรมของกระบวนกรท้าทายและน่าสนใจมากๆ

ขอติดตามผ่านบันทึกไปก่อนแล้วกันครับ

  • เคลิ้มไปกับดอยวาวีจริงๆด้วย...
  • เห็นชนเผ่าต่างๆในภาพ ก็น่าสนใจมากๆเลยค่ะ..(ไม่ค่อยเคยเห็น)
  • อ่านบันทึกนี้แล้วก็เท่ากับว่าได้ทบทวนหลักการการเป็นวิทยากรกระบวนการไปในตัวเลย...ขอบคุณนะคะคุณเอก..
  • งานพี่ท้าทายมาก น่าสนุกด้วยนะครับ
  • รอผมสะสมทุนทางสังคมให้มากพอก่อน เก็บเล็กผสมน้อย อิอิ
  • ซักวันจะได้ใช้พลังรับใช้สังคมได้อย่างเต็มที่
  • ตอนนี้ก็รับใช้เล็กๆ น้อยๆ ไปก่อน เนอะพี่เอกเนอะ

พี่สิทธิรักษ์

ยินดีนักๆครับ

ผมเดินทางไปพักแค่หนึ่งคืน หมายถึงว่าทำงานก็กลับเชียงใหม่เลยครับ แต่ช่วงขาไป ขากลับก็อาจแวะไปเที่ยวด้วย

กลับมาแล้วพร้อมกับเรื่องราวดีๆครับ ติดตามอ่านที่ ความรู้ พลวัตร ความยั่งยืน : กระบวนการเรียนรู้ "ดอยวาวี" ดินแดนในฝัน สวรรค์บนดอยสูง

มีโอกาสคงได้พบเจอกัน ธรรมะจัดสรรครับ

สวัสดีครับ คุณกบข้ามสีทันดร

ยินดีเสมอสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

มีโอกาสเดินทางมาแจมได้ ...คุณดิเรกเดินทางมาสองรอบภายในหนึ่งเดือนแล้วครับ

สวัสดีครับคุณแหววพชรวรัตถ์ แสงทองชนาพงศ์

เรื่องหลักการเป็นวิทยากรกระบวนการนั้น หลักๆก็เรียนรู้ผ่านทฤษฎีได้ ส่วนความพริ้วหรือไม่นั้น วัดกันที่เวทีครับ

ผมเองก็พยายามเรียนรู้ ด้วยตัวเองไปเรื่อยๆคระบ จะพยายามถ่ายทอดทุกแง่มุมออกมาให้อ่านครับผม

ติดตามที่บันทึกล่าสุดได้ครับผม

 

น้อง ปืนบีเวอร์

สบายดีนะครับ...

สะสมพลัง สะสมพลังใจ เอาไว้มาทำงานในโลกของการทำงานจริงๆครับ ผมคิดว่าน้องปืนมีวิธีคิดที่ดีมาก

รวมถึงหากมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ด้วยกันได้ครับ

ผมเข้ามาบันทึกนี้ในขณะที่ตัวเองก็ฟังเพลงสายน้ำ..ของธวัชชัย  ชูเหมือน

วันนี้ลูกน้องถามแบบแซว ๆ ว่า   เกิดอะไรขึ้นผมถึงนั่งฟังเพลงอย่างสบายอารมณ์ ..

ผมก็ตอบเขาว่า ...แน่นอนก็คนมันได้รับข่าวดีให้ลงจากเก้าอี้..เลยรู้สึกสบายใจ..

เขาก็แซวกลับว่า ... นั่นสิ, แล้วพวกผมล่ะ... มีหวังเคว้งและเหนื่อยขึ้นอีกเท่าตัวเป็นแน่

....

คิดถึงนะครับ

สวัสดีครับแผ่นดิน

คำว่า "ลงจากเก้าอี้" ผมไม่ทราบถึงนัยใดนะครับ แต่ผมคิดไปถึงการปลดปล่อยภาระอันหนักอึ้งออกไป และเป็นอิสระอย่างที่อยากเป็น

บางครั้งด้วยสถานะทางสังคม หรือ หัวโขนใดก็แล้วแต่ที่เราถูกเลือกแล้วทำให้พันธนาการเราเข้มแข็งมากขึ้น ฉาบปิดความสนุกชื่นในชีวิตเราเกินครึ่ง

เรากลับกลายเป็นมนุษย์ผู้ทำงาน อย่างไม่หยุดหย่อน ตามบทบาท ภาระ และความคาดหวัง บ่อยครั้งที่ทำไปแบบนั้นเอง และหลายครั้งก็สำเร็จ หลายครั้งก็ห่อเหี่ยวเพราะพ่ายแพ้ ไม่ประสบความสำเร็จ

หากการลงจากเก้าอี้ หมายถึง การก้าวสู่อิสระและเป็นวิถีที่อยากเป็น อยากได้ ผมยินดีด้วยครับ

ให้กำลังใจในการก้าวเดินต่อไป

ผมคล้ายๆกับได้ยินเสียงเพลงของ คุณอ้น ธวัชชัย ชูเหมือน คลอไปด้วยระหว่างผมเขียนข้อเสนอแนะนี้

----------------------------------------------------------------

เหม่อมองสายน้ำเรื่อยไหลเป็นสายธารยาว
เอ่อรินไม่มีจางเบาปล่อยให้เหงาผ่านแล้วจากไป
ไม่เคยถวิลไม่หวนคืนไม่ย้อนมาใหม่
ยิ่งมองยิ่งหมองหัวใจ เห็นสายน้ำไหลใจยิ่งเหว่ว้า

ดอกรักคราวนั้นหอมหวนรัญจวนจิตซึ้ง
อิ่มเอมหัวใจรำพึงติดฝังตรึงเอ่อล้นอุรา
มีเธอและฉันสองคนสุขสมชีวา
คู่เคียงกันทุกเวลาไม่คิดสักคราต้องพรากจากกัน

ยังรักเธออยู่ทุกวันคืนภาพหวานวิมานยังชื่น
รอยรักรื่นไม่เคยเปลี่ยนผัน
ไม่มีอีกแล้วดวงแก้วยอดชู้คู่ขวัญ
จากหายไปที่ไหนกันหรือสายน้ำนั้นพาเธอห่างไป

เธอจากไปแล้วไม่คิดถึงกันสักน้อย
รักเอ๋ยที่เคยที่คอยกลับเลื่อนลอยไม่เหลือเยื่อใย
ดอกรักที่หวงหลุดร่วงลงสายธารใส
ซัดพาน้ำตาหล่นไหลไหลรินเรื่อยไปเช่นดังสายน้ำ

 

---------------------------------------------------------------------

ขอบคุณครับ  :)

ตามมาอ่านค่ะ

คนดีมีชีวิตอยู่แค่ 1 ก้านธูป ก็มีคุณค่า

ขอบคุณครับ

ขอบคุณ  ครูเอ  ที่ตั้งใจทำดี ให้กำลังใจเสมอครับ

ชาวบ้านมีทุนเดิมแต่ไม่มีความรู้ที่จะนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ อยากเชิญชวนให้ผู้มีจิตเสียสละช่วยพัฒนาชาวบ้านให้เขาสามารถพัฒนาตนเองได้ค่ะ เห็นด้วยค่ะว่าต้องพัฒนาที่ "คน" ก่อน แล้วอย่างอื่นจะตามมา เนื่องจากชาวบ้านไม่มีความรู้ค่ะ การนำกระบวนการวิทยากรกับชนเผ่าต้องทำหลายครั้งค่ะ ต้องพูดย้ำอยู่บ่อยๆ ถึงจะซึมซาบค่ะ ชาวบ้านไม่เคยได้รับการสอนให้รู้จักคิด แต่ถ้าพูดย้ำๆ ชาวบ้านก็จะจำได้ เมื่อจำได้แล้วก็เข้าใจ เข้าใจแล้วก็ทำได้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท