ความรู้ - พลวัต - ความยั่งยืน : กระบวนการเรียนรู้ "ดอยวาวี" ดินแดนในฝัน สวรรค์บนดอยสูง


การท่องเที่ยวเป็นดาบสองคมก็จริง หากแต่เราได้วางแผนการรับมือที่ดี เราก็จะได้รับผลที่ดีจากการท่องเที่ยวนั้น กระบวนการทางปัญญาเป็นทางเลือกในการพัฒนาชุมชน ถึงแม้ผลที่ได้จะช้าไม่เป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันสั้น แต่หากเราถามถึงเรื่อง "ความยั่งยืน" นั้น ผมว่าเรามาถูกทาง

๑.

กระบวนการทำงานของผมอาจเหมือนทุกครั้งที่ผมเคยนำเสนอผ่านบันทึกเก่าๆของผมแต่ประสบการณ์ใหม่ๆรวมถึงการเรียนรู้ที่ได้รับแต่ละเวทีแตกต่างกัน มีคุณค่าพัฒนามุมมองของตนเองขึ้นไปตามปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น

จริงอยู่ว่าการทำงานโดยใช้กระบวนการเดิม ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่น่าจะแตกต่างกว่าเวทีเดิมมากนัก โดยการตอบโจทย์แรกก็ใช่ครับ หากแต่ประสบการณ์เล็กๆที่แทรกขึ้นมาระหว่างกระบวนการนั้น ทำให้ผมเติบโตทางความคิดมากขึ้น

 

กระบวนการเดิม แต่บริบทใหม่ๆ ทั้ง ผู้คน กลุ่มชาติพันธุ์ ช่วงเวลา และระบบเหนือชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป ชุดความรู้ที่ได้เป็นลักษณะเฉพาะช่วงเวลานั้น เรานำ "องค์ความรู้" นั้นมาตอบโจทย์การขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนได้ทันการ โดยตระหนักว่าความรู้นั้นมีความเป็น "พลวัต" การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันเป็นหัวใจของ "การจัดการความรู้" จึงมีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาชุมชน

ผมได้บอกผู้เข้าร่วมเวทีทุกคนบนดอยวาวีว่า ต่อจากนี้การพูดคุยกันในกลุ่มเล็กๆมีความจำเป็นมากเพราะการพูดคุยพบปะกันสม่ำเสมอทำให้เราได้ระดมความคิดใหม่ๆที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการพัฒนาที่ต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่

การสร้างพื้นที่รูปธรรมให้ชุมชนเข้ามาพูดคุยกันอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้เกิดพลังในการคิดร่วมกัน อันจะนำไปสู่การสร้าง "ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน"  เป็นความรู้สึกร่วมสู่การขับเคลื่อนพัฒนาแบบมีส่วนร่วม

๒.

จากเรื่องราวต่อเนื่องจากบันทึกก่อนหน้านี้ ดอยวาวี สวรรค์บนดอยสูง : กระบวนการเรียนรู้เพื่อการจัดการอนาคต

ผมเดินทางออกจากเชียงใหม่ตอนเย็นของวันหยุด เนื่องด้วยช่วงเช้ามีการประชุมที่สำคัญอีกเวทีหนึ่งที่เชียงใหม่ ในความรู้สึกแรกอยากเดินทางไปถึงดอยวาวีโดยเร็ว เพราะอยากเที่ยว อยากเรียนรู้บริบทอื่นๆในพื้นที่ก่อน เพื่อจะนำมาประมวลกับข้อมูลที่มีอยู่ รวมถึงข้อมูลที่จะแสวงได้ในเวที

 

ดิเรก วิศวกรหนุ่มจากกรุงเทพ เพื่อนของผมเขาตัดสินใจมาที่เชียงใหม่อีกครั้ง เพื่อจะเข้ามาร่วมเรียนรู้ในเวทีพร้อมๆกับผม ถึงแม้ว่าเราจะมีเวลาเพียงไม่นาน ๑ คืน ๑ วันในการทำงานบนดอยวาวี แต่การเดินทางไป มานั้นก็เหมือนไปเที่ยวรวมถึงได้พบเจอผู้คนใหม่ๆ เป็นประสบการณ์ที่ดีในช่วงชีวิตของคนๆหนึ่งที่สนใจเรียนรู้

อ่างเก็บน้ำแม่สรวย ยามเย็นย่ำริมทาง

-------------------------

จากเชียงใหม่มุ่งหน้าสู่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ใช้เวลาพอสมควรด้วยถนนกำลังก่อสร้าง หมอกฝุ่นคละคลุ้งอยู่ตลอดเวลา ผมนั่งในรถเงียบๆพร้อมขบคิดถึงกระบวนการในเวทีในวันพรุ่งนี้ไปด้วย ฝุ่นคลุ้งทำให้ทัศนวิสัยการขับรถไม่ดีต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เหมือนกระบวนการที่ผมจะจัดเวทีเรียนรู้เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่วาวีครั้งนี้เช่นเดียวกัน มันช่างอึมครึมมากในความรู้สึก เสียงเล่าอ้างถึงสภาพพื้นที่ ผู้คน ปัญหา ความต้องการที่หลากหลาย รวมไปถึงการมีข้อมูลพื้นที่ไม่มากนักของผมทำให้ความคิดผมทำงานไปเรื่อยๆตลอดระยะทาง ...ผมควรต้องออกแบบเวทีที่ว่านี้อย่างไร?

รถของเราเลี้ยวซ้ายเมื่อถึงตัวแม่สรวยสู่เส้นทางภูเขา  ภาพที่ปรากฏต่อหน้าตลอดสองข้างทางทำให้เราซึมซับความสวยงามของธรรมชาติ พระอาทิตย์กำลังจะลาลับ พรรณไม้หลากชนิดในป่าสมบูรณ์ วิถีชีวิตชาวไทยภูเขารายทาง  อากาศเย็นกำลังดี คาดว่าบนดอยอุณหภูมิน่าจะเย็นมากกว่านี้

"อีกไม่นานจะถึง ดอยวาวีแล้วครับ" เจ้าหน้าที่โครงการหลวงบอกผม  เขาพูดต่อ  "ที่ดอยวาวีผมสั่งอาหารเย็นไว้ข้างบนแล้ว" เย็นมากแล้ว เจ้าหน้าที่เกรงว่าผมจะหิวข้าว เป็นความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผมและเพื่อนอย่างสม่ำเสมอตลอดในช่วงการทำงาน

เส้นทางก่อนถึงวาวี เริ่มยากมากขึ้น ถนนลาดยางหายไปแล้ว เหลือแต่ถนนดินมีหลุมบ่อ โชคดีที่มากับรถออฟโรดขับเคลื่อนสี่ล้อ ทำให้คิดไปต่อว่า ช่วงฤดูฝนชาวบ้านจะออกมาข้างนอกยากลำบากขนาดไหน...

ถึงวาวี...ก็มืดค่ำแล้ว  อาหารมื้อค่ำบนดอยถูกใจผมมาก ผัดสดๆทำอาหารกันทันที ทำให้ผมเจริญอาหารมากทีเดียว อากาศบนดอยเย็นจนไม่ค่อยอยากอาบน้ำ โชคดีที่เรือนที่พักมีเครื่องทำน้ำอุ่นให้ด้วย

๓.

หลังจากทานอาหารเย็นอิ่มหนำ ผมพร้อมกับเจ้าหน้าที่โครงการหลวง และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ นั่งพูดคุยเตรียมเวทีที่จะมีในวันพรุ่งนี้ ในส่วนของวัตถุประสงค์ กระบวนการ รวมถึงผลลัพธ์ในช่วงเวลาที่เรามี เราควรจะได้อะไรบ้าง เราควรได้เรียนรู้อะไรบ้าง 

เจ้าหน้าที่สองท่านที่บนดอยวาวี ดูท่าทางกระตือรือล้นมาก เป็นลักษณะของผู้ที่สนใจเรียนรู้ การวางแผนการทำงานของเราในคืนนี้จึงเป็นการทำความเข้าใจร่วมกัน และให้น้องสนับสนุนบางอย่างเพื่อให้เวทีสมบูรณ์ขึ้น

คำถามหนึ่งของเจ้าหน้าที่ถามผมว่า "ทำไมถึงต้องทำงานวิจัย ทำไมไม่ลงพื้นที่พัฒนาไปเลย" เป็นคำถามที่คลาสสิค ครับ ตามจริงเราไม่ต้องพูดคำว่า "วิจัย"เลยก็ได้ ก็เพียงแต่การคิดเชิงระบบ วางแผนการพัฒนาโดยใช้ข้อมูล เรียกง่ายๆว่า "พัฒนาโดยอ้างอิงข้อมูล"

คำว่า "อ้างอิงข้อมูล" นั้นกินความกว้างครับ

การที่จะได้มาซึ่ง "ข้อมูล" เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราควรตระหนัก รวมถึงการพัฒนาที่เราจะตอบโจทย์ "ความยั่งยืน" ได้นั้น มาจากการ "มีส่วนร่วม" ของคนพื้นที่ด้วย  (การมีส่วนร่วมในการคิด วางแผน การปฏิบัติการ รวมถึงการประเมินผล)

การคิดเชิงระบบเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา ข้อมูลจึงเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญในการวางแผนยุทธศาสตร์

ผมยกเอาพระราชดำรัสในหลวง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาอธิบายให้น้องๆฟัง

ทำไมในหลวงท่านถึงเอาคำว่าพัฒนาไว้หลังสุด เพราะก่อนที่เราจะพัฒนาใครๆก็ตาม เราควรต้อง "เข้าใจ" พวกเขาก่อน และให้พวกเขาเข้าใจตนเองด้วย(รู้ตนเอง) กระบวนการนี้ใช้เวลามาก และสำคัญมากเช่นกัน

กระบวนการเวทีในวันพรุ่งนี้ เป็นการแสวงหาข้อมูลแบบหนึ่ง เป็นการวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างหนึ่ง ภายใต้โจทย์ "การพัฒนาการท่องเที่ยวดอยช้าง"

งานวิจัยและพัฒนา จึงเป็นภารกิจที่นักพัฒนาต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะลงไปลุยกับชุมชน งานแบบนี้ใช้เวลานาน เป็นการสร้างคนด้วยกระบวนการเรียนรู้ แบบ on the job training "เราได้เรียนรู้ ชาวบ้านได้เรียนรู้ พวกเราได้เรียนรู้ร่วมกัน" กระบวนการค่อยเป็นค่อยไป เรามีเวลาพอที่จะทดลองทางเลือกต่างๆ ที่เหมาะสมกับศักยภาพชุมชน ตอบคำถามของปัญหาที่ชุมชนต้องการ ติดอาวุธทางปัญญาให้ผู้คนในกระบวนการเรียนรู้

สุดท้ายยกเอาประโยคที่เราคุ้นกันมาคุยกัน "ให้ปลาหนึ่งตัวเพื่อนำมากิน และ การสอนให้ตกปลา" ทั้งนี้ทั้งนั้น เราคุยกันเรื่อง "ความยั่งยืน"นั่นเอง

๔.

เช้าแล้ว อยากจะพรรณาความงดงามของพื้นที่ให้มาก แต่คงไม่เท่ากับที่ผมสัมผัสด้วยตัวเอง ต้นเมเปิลเรียงรายตามสันเขา ดอกหญ้าหลากสีแต่งแต้มพื้นดิน ดอกไม้เมืองหนาวหลากชนิดแปลกตา ต้นพญาเสือโคร่งแม้หมดช่วงบานแล้ว แต่ผมก็ชอบใบที่เขียวครึ้มนั่น ...อากาศเย็นมากกว่าห้องแอร์นิดหน่อย  วิถีชีวิตชาวไทยภูเขาที่นี่ งดงามตามวิถีความง่าย ไม่เร่งรีบ ง่ายๆสบายๆ

 

กระบวนการเวทีท้าทายเริ่มต้นขึ้น ผู้เข้าร่วมเวทีมาจาก ๒ ชุมชน มี ๓ กลุ่มชาติพันธุ์ (อาข่า ลีซู และ จีนยูนนาน) โชคดีที่ทุกคนอ่านออกเขียนได้ กระบวนการทำความคุ้นเคยช่วงแรกทำให้ทุกคนผ่อนคลายมากขึ้น การระดมความคิด รวมถึงกิจกรรมแทรกในเวทีจึงปนเปไปด้วยเสียงหัวเราะและความสนุกสนาน กระนั้นเอง ข้อมูลต่างๆพร่างพรูออกจากทุกคนอย่างเป็นธรรมชาติ เราวาด เราเขียน เราคิด และเราพูด รายละเอียดในการทำเวทีผมไม่ได้นำมาเล่าแบบละเอียดครับ ...มีบันทึกที่ผมเคยเขียนมาแล้วหลายๆบันทึก กระบวนการไม่ต่างกันมาก

จากเช้าจนถึงเย็น ...ผมประเมินความสำเร็จของเวที เราทำได้ดีเกินคาด เพราะจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมขาดไปสองท่านเพราะมีธุระที่ต้องขอกลับไปก่อน ถึงแม้ว่าถึงนาทีสุดท้ายก่อนปิดการประชุม การพูดคุยล้อมวงในเวทีดูเหมือนยังสนุกไม่จาง ความคิดต่อความคิดยังถูกถ่ายทอดออกมาอย่างต่อเนื่อง

คาดว่าจะมีเวทีเล็กๆต่อจากนี้ เพื่อหาความชัดเจนของแนวทางการคิดพัฒนาชุมชน รวมถึงพัฒนาโจทย์วิจัยให้สอดคล้องกับ ๒ ชุมชน สอดคล้องกับประเด็นที่เราได้ในเวทีทั้งวันนี้

๕.

เสร็จเวที เล่นเอาผมแทบจะหมดแรง

เตรียมเดินทางกลับเชียงใหม่ให้ทันเวลาก่อนดิเรกจะบินกลับกรุงเทพ เรามีเวลาพอที่จะเที่ยวชมวิวสวยๆ บรรยากาศธรรมชาติในพื้นที่ทั้งหมดก่อน รถของเราค่อยๆลัดเลาะขึ้นบนสันเขาสูง ...ผมคิดว่าที่นี่สวยงามราวสวรรค์บนดินเลยทีเดียว...

ท้อดอกปลูกชมดอกสวยเท่านั้น

-------------------

ผมไปไหนมานะ ไม่เคยมาเที่ยวที่นี่มาก่อน

ต้นสนฉัตรสมบูรณ์มากขึ้นเป็นกลุ่มไหล่ตามสันเขา ดอกไม้เมืองหนาวอวดสีสันแปลกตากันเต็มที่ สายลมที่พัดเอื่อยๆ อากาศใสๆ ดอกเสี้ยวป่าที่แต่งแต้มราวป่าทำให้ป่าสีเขียวมีชีวิตขึ้นมามาก

ดอกเสี้ยวป่า

------------------

ทุน หรือศักยภาพชุมชนที่นี่มีมากมาย...จากนี้คงต้องคิดต่อกันว่า เราจะจัดการทรัพยากรเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องบนดอย จนถึงความสมดุลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การท่องเที่ยวเป็นดาบสองคมก็จริง หากแต่เราได้วางแผนการรับมือที่ดี เราก็จะได้รับผลที่ดีจากการท่องเที่ยวนั้น กระบวนการทางปัญญาเป็นทางเลือกในการพัฒนาชุมชน ถึงแม้ผลที่ได้จะช้าไม่เป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันสั้น แต่หากเราถามถึงเรื่อง "ความยั่งยืน" นั้น ผมว่าเรามาถูกทาง

 

 


 

♣ บนดอยดอยวาวี ♣

อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

๒๔ ก.พ.๕๑



ความเห็น (33)
  • สวัสดีครับน้องจตุพร
  • ชีพจรลงเท้าอีกแล้วนะ
  • ขอบคุณมากครับที่นำมาแลกเปลี่ยน
  • จะรออ่านบันทึกต่อๆ ไป และชมภาพสวยๆ นะครับ

สวัสดีครับ ขออนุญาต ลปรร 2 ประเด็นครับ

  ประเด็นแรก กรณี ให้ปลาหนึ่งตัวเพื่อนำมากิน และ การสอนให้ตกปลา พอดีผมเพิ่งอ่านบทความลักษณะดังกล่าว ของ อ.นิธิ จาก มติชนรายสัปดาห์  ท่านวิเคราะห์เอาไว้ในทำนองที่ว่า ระวังว่าการสอนวิธีตกปลา ก็จะเป็นวิธีตกปลานำเข้า ไม่ได้เกิดจากการคิดเอง  การพัฒนาจึงไม่ยั่งยืน

  ประเด็นที่สองศักยภาพชุมชนที่นี่มีมากมาย...จากนี้คงต้องคิดต่อกันว่า เราจะจัดการทรัพยากรเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน

     ประเด็นนี้ดีมากครับ แต่การพัฒนาคงเป็นเรื่องยากพอสมควร  เป็นเพราะความเชื่อบางอย่างครับ ที่ยังคงเป็นอุปสรรคอยู่ (ไสยศาสตร์ และ อำนาจนิยม)

     แต่ความยากไม่ใช่เรื่องใหญ่ครับ  เพราะกำลังใจของเราย่อมยิ่งใหญ่กว่าความยากอีก

      ถึงตอนนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้อีกหนึ่งครับ

                                    ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่วีรยุทธสิงห์ป่าสัก

กระผมเดินทางบ่อย ส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาระงานก็หลากหลายดี ได้พัฒนาตนเองตามระยะทางที่ไปครับผม

บันทึกนี้ ในส่วนกระบวนการก็คล้ายคลึงกับการเปิดเวทีแรกในหลายๆพื้นที่ แต่ผลลัพธ์ แง่มุมใหม่ๆแตกต่างกันไป แน่นอนว่าความหลากหลายของความคิดในแต่ละแห่งนั้น ทำให้เราเข้าใจวิถีชุมชนมากขึ้น เข้าใจความต่างในความเหมือนมากขึ้น

ผมได้นำภาพสวยๆมาเติมแล้ว เป็นภาพในการเดินทางทริปทำงานครั้งนี้ของผมครับ

มีประเด็นไหนที่พี่จะแลกเปลี่ยนขอเรียนเชิญต่อเติม

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ คุณเอก :)

  • ชุมชนดอยวาวีเป็นชุมชนใหญ่แห่งหนึ่งของแม่สรวย ครับ
  • การเขียนบันทึก .. สำนวนการเขียนเหมือนผมเคยอ่านหนังสือที่จัดพิมพ์โดย สกว.ภาคเหนือ ครับ อิ อิ
  • สำนวน รูปแบบ ภาษาที่ใช้ แสดงความเป็นนักวิจัยชุมชนอย่างแท้จริง
  • มีคำหลายคำที่คนทั่วไปอ่านแล้วดูเข้าใจยาก (ผมนั่นเองครับ คนทั่วไป) เช่น พลวัต บริบท กระบวนการ ฯลฯ
  • การจัดวางบันทึกนี้ สวยงาม อ่านง่ายจังครับ ผมจัดไม่ได้แบบนี้สักที
  • การวิจัยของนักวิจัย คือ การไปเที่ยวในคราวเดียวกันจริง ๆ
  • แต่ที่น่าสนใจคือ เจ้าหน้าที่โครงการหลวงให้ความสนใจกับคำว่า "วิจัย" ดีจัง
  • แสดงว่า มันมีประโยชน์ เพราะ "วิจัย" คือ "เข้าใจ"

ขอบคุณครับ :)

ครับเพื่อนเอก...

ชุมชนเปรียบเหมือนผ้าขาวที่รอหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปแต่งแต้มครับ ฉะนั้นการประสานของทุกภาคส่วนย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน...

          2m

ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หรือไม่คงไม่ได้อยู่แค่ที่ความประสานร่วมมือของคนในชุมชนเท่านั้น การประสานร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันครับ...

เป็นกำลังใจให้คนทำงานเพื่อชุมชนครับ...

           1m

น้องเอก

  แวะเข้าเติมพลังความสุขให้กับชีวิต อ่านเรื่องเล่าของน้องแล้ว มีความสุขทั้งได้รับความรู้มากๆๆๆๆ  ช่วงนี้กำลังช่วยงานของเภสัชสสจ  ทำการจัดการความรู้เสี่ยงด้านยา

กำลังจะขอความช่วยเหลือจากน้องเอก   ถ้าไปจัดมหกรรมที่เชียงใหม่ อาจขอมาร่วมช่วยด้วยหลายๆ  เรื่อง    ประมาณ ปลายปีงบ2551 นี้  ขอบคุณล่วงหน้าจ้า

สวัสดีครับ อ.small man

 

  • ประเด็น "การสอนตกปลา"นั้น ผมว่าเราใช้กระบวนการ เรียนรู้ร่วมกัน  น่าจะดีกว่าใช่มั้ยครับ การเรียนรู้ร่วมกันทำให้เกิดพลังของการคิด แลกเปลี่ยนกัน รวมถึง การหาความรู้โดยการ เค้น Tacit K. ออกมาเพื่อนำมาใช้  เป็นพลังปัญญาของผู้ปฏิบัติ
  • ประเด็น "การจัดการทรัพยากร"นั้น แปรผันตามความเข้มแข็งของชุมชน ตามวิธีคิด ความเชื่อ รวมถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นด้วย  โจทย์ที่ชาวบ้านเริ่มคิดส่วนหนึ่งมาจากปัญหาที่เริ่มปรากฏ
  • การติดอาวุธทางปัญญานั้น ผมมองไปที่ การใช้กระบวนการวิจัยเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาชุมชนครับ พัฒนาบนฐานของวัฒนธรรม พัฒนาบนฐานของข้อมูล และการมีส่วนร่วม
  • ขอบคุณมากครับ ที่เข้ามาร่วม แลกเปลี่ยนครับผม ยินดีเสมอครับ สำหรับข้อคิดเห็นแตกต่างนะครับ

 

แว๊บมาบอกว่า.."ภาพดอกไม้สวยมากๆ.".เอ.ถ้าดูจริงๆจะสวยเหมือนอย่างนี้หรือเปล่าคะ..ดอกสีเหลืองนั้นชื่อดอกอะไรคะ.ไม่เคยเห็นเลย.. ส่วนดอกท้อนั้นก็เพิ่งจะเคยเห็นสวยมากๆเลย ..รู้สึกว่าเวลามันออกดอกแล้วใบไม่มีเลยนะคะ.แปลกจังแต่ก็สวยดีค่ะ.มีสีเดียวหรือหลายสีคะ .เอามาปลูกแถบอีสานคงไม่ขึ้น..หรือเปล่าคะ..

ดูดอกท้อแล้ว...จะได้ไม่ท้อค่ะ.. (เพราะดอกมันสวยจริงๆ)

เป็นกำลังใจให้คนทำงานเพื่อชุมชนอีกแรงนะคะ.. ขอบคุณค่ะ.

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

  • เป็นกระจกสะท้อนที่นุ่มนวลเป็นมิตรมากครับ ผมอาจติดศัพท์วิชาการบางครั้ง(คนนอกวงการ) อาจเข้าใจยากบ้าง มันอะไรกัน(เฟ้ย) แต่ก็ขอให้เรียนรู้ไปครับ ศัทพ์เหล่านี้เราจะเห็นเรื่อยๆครับผม
  • ผมไม่ขึ้นกับ "สกว." นะครับผม ผม freelance ครับผม
  • เขียนบันทึก ผมพยายามวางรูปแบบให้อ่านง่าย และสีสันสวยงามตามความชอบส่วนตัวครับ ผมแทรก"ความสุข" ไว้ทุกช่องไฟ ด้วยแทรก "มิตรภาพ" ในระหว่างบันทึกเห็นมั้ยครับ??
  • บางทีไม่อยากใช้คำว่า "วิจัย"เลยครับ ดูเป็นทางการเกินไป แต่ต้องอธิบายให้เข้าใจรูปแบบง่ายๆในการทำงานบนฐานข้อมูลครับผม
  • ผมขอฝากประชาสัมพันธ์ งานด้วยครับผม- - - > เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือ   
  • ขอบคุณครับผม :)

สวัสดีครับ ดิเรก ครับMr.Direct

หลังจากที่กลับจากดอยวาวีผมหลับเป็นตายเลยครับ ตื่นมาอีกทีก็เช้าแล้ว ยังได้ไปประชุมต่ออีกก่อนกลับบ้านที่ปาย

ในส่วนของ ผู้สังเกตการณ์ เป็นยังไงบ้างครับ?

ผมอยากได้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ในฐานะที่เห็นกระบวนการที่ผมทำทั้งหมดในหนึ่งวันครับ

ขอบคุณที่เดินทางร่วม และ ให้กำลังกันและกันเสมอมาครับผม

ขอบคุณภาพหล่อๆของผมในบันทึกนะครับ :)

 

สวัสดีครับพี่เอก

ผมอ่านบันทึกของพี่แล้วนึกเห็นภาพเหมือนได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเลยทีเดียว ชอบเนื้อหาสาระสำคัญทุกส่วน (รวมถึงรูปภาพด้วยครับ) แต่ที่ชอบสุดๆเห็นจะเป็นประโยคทิ้งท้ายครับ   " วันทำงาน วันเที่ยว วันเดียวกัน"  ง่ายๆแต่กินใจมากๆครับ เป็นการให้กำลังการทำงานตัวเองที่ไม่ต้องรอจากใคร(แม้ลึกๆจะมีบ้างเล็กน้อยก็ตาม)  ผมติดตามบันทึกพี่เอกอย่างต่อเนื่อง และบางครั้งที่ต้องห่างเหินการแลกเปลี่ยนไปบ้าง แต่ทุกครั้งที่กลับมาอ่านบันทึกของพี่ชายคนนี้ก็ยิ่งเห็นพัฒนาการ ที่ไม่เคยหยุดนิ่งเลย

รักษาสุขภาพนะพี่  มีความสุขในสิ่งที่ทำนะครับ

นับถือครับๆ

จาก...เปียโร่ (คนเดิม)  086 - 9352581

***ผมฝากเบอร์ไว้ให้พี่นะครับเผื่อว่าจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับพี่ในเรื่องการพัฒนาชุมชน หรือเรื่องอื่นๆด้วย

สวัสดีครับพี่ท้องฟ้า

ดีใจมากครับ ^__^ ที่มาอ่านบันทึกผมแล้ว ได้ทั้ง "ความสุข" และ "ความรู้" ผมรู้สึกดีมากครับ สำหรับคำชมนี้ เพราะความรู้อันประกอบด้วยความสุขนั้นสุดยอด KM. เลยนะครับผม

งานมหกรรมที่เชียงใหม่...ยินดีช่วยครับผม มีอะไรบอกมาได้เลยครับ ร่วมด้วยช่วยกันครับ

บอกข่าวลอยลมมา นะครับ

ขอบคุณครับ :)

มายิ้มแบบมีความสุข ที่คุณครูแอ๊ว มาเยี่ยมครับ

สาวสวยมาพร้อมสีหวาน ๆ

ผมไม่ค่อยทราบชื่อดอกครับ แต่สีเหลืองที่ห่อกลีบนั่นเป็น ป๊อบปี้ ครับ  ดอกขาวๆต้นใหญ่ๆแทรกตามเนินเขานั้นเป็น ดอกเสี้ยวป่า  

ดอกท้อปกติจะมีกลีบเดี่ยวๆครับ แต่ที่นำเสนอนี้เป็นดอกท้อแบบกลีบซ้อน สำหรับดูดอก ผมเพิ่งเคยชมเป็นครั้งแรก

อาจารย์ที่ไปด้วยท่านบอกว่า มีอยู่สองแห่งที่มีคือ อ่างขาง กับ ที่นี่ ภาพจริงๆสวยกว่านี้ครับอาจด้วยสิ่งแวดล้อมที่เป็นใจด้วยก็เป็นได้ครับผม

ขอบคุณครับที่มาแวะเยือนครับ...

มีความสุขครับมีความสุข :)

สวัสดีครับ เปียโร่ "พรหมลิขิต "

คิดถึงมากเลยครับ...มาทันเวลาความคิดถึงพอดี :)

ห่างหายไปนานพอสมควรนะครับน้องเปีย ทราบว่าเดินทางกลับมาตุภูมิแล้ว มีความสุขดีใช่มั้ยครับ??

ขอบคุณมากครับช่วงนี้ผมเดินทางไปตามวิถีธรรมะจัดสรรครับ ได้มีโอกาสได้ทำงานในสิ่งที่ผมรัก ในสิ่งที่ผมมีความสุขที่ได้ทำ ตลอดจนมีกัลยาณมิตรที่ดีคอยช่วยเหลือ...นี่เป็นโชคดีของผม

เราพยายามให้ชุมชนพึ่งตนเอง และเราต้องพึ่งตัวเองด้วย เริ่มจากพื้นฐานคือ "กำลังใจ"

ให้กำลังใจที่ดีต่อตนเอง ดูแล ส่งเสริมสุขภาพร่างกายนี้ เพราะเราต้องใช้ร่างกายนี้อีกมาก บ่อยครั้งที่ผมเหนื่อยแต่ก็ยังยิ้มได้ เพราะเราสร้างกำลังใจง่ายๆจากตนตัว

ผมดีใจนะครับ ที่น้องเปียมาอ่านบันทึกผม ด้วยความสุข และสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ผมถ่ายทอด ...คือความตั้งใจครับ ความปรารถนาดีที่จะให้เกิดการแลกเปลี่ยน มีประโยชน์ต่อสังคมบ้าง ถือว่าช่วยสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง

โลกหมุนไปข้างหน้าเสมอ และเราก็เดินทางไปข้างหน้าเสมอ หยุดก็เท่ากับถอยหลัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็พุ่งไปตามแรงของเรา ให้สมดุล

ผมขอให้กำลังใจน้องเปียโร่ด้วยคนครับ มีโอกาสเราคงได้พบกันอีกนะครับ

รักษาสุขภาพและดูแลจิดใจตัวเองและคนรอบข้างด้วยนะครับ

- - -ขอให้รักงอกงาม- --

พี่เอกครับ :)

"วันทำงาน  วันเที่ยว  วันเดียวกัน"

 

 

สวัสดีค่ะคุณเอก

ประทับใจอีกแล้วค่ะ พี่อ่านเรื่องที่เล่าเข้าใจบ้าง งงๆบ้าง แต่ที่คุณเอกเล่าทำให้รู้สึกดีค่ะ ประสบการณ์เยอะจริงๆ แถมได้เที่ยวด้วยแต่ท่าทางจะเหนื่อยมาก ทำไมต้องรีบกลับคะ สงสัยค่ะว่าดอยช้างกับดอยวาวีนี่ใกล้ๆกันหรืออันเดียวกันคะ  ได้ความรู้มากมาย "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"...สำคัญจริงๆด้วยค่ะ ถ้าเราไม่เข้าใจ เข้าถึงเค๊า เราจะช่วยกันพัฒนาได้ยังไง

ถ่ายภาพได้สวยมากๆเลยค่ะ ชอบดอกสีส้มน่ารักมาก ๆ   เอ๊ะ..ไม่รู้ว่าดอกท้อนี่ใช่พวกเดียวกับซากุระหรือเปล่า... คล้ายๆกับดอกไม้ที่พี่เห็นที่ฮาวาย เค๊าเรียก ซากุระเหมือนกัน แต่อยู่ห่างออกไปจากบ้านขับรถ ประมาณ 2 ชม. เป็นสวนเลยค่ะ ดอกสีเดียวกัน แต่เล็กกว่ามาก คล้ายๆกันเลยค่ะ

 

 

สวัสดีครับ คุณเอก :)

  • ตะกี้นี้ ได้รับของฝากจากคุณเอกแล้วนะครับ ขอบคุณมาก ๆ ครับ
  • ย้อนกลับมาที่ความคิดเห็น "สำนวนการเขียนเหมือนผมเคยอ่านหนังสือที่จัดพิมพ์โดย สกว.ภาคเหนือ"
  • หมายถึงว่า สกว.ภาคเหนือได้พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการวิจัยชุมชนออกมาหลายเล่มครับ ผมได้มีโอกาสอ่านบางเล่ม บางบท บ้างแล้วแต่ชอบใจ
  • ทีนี้ ... คนที่เป็นนักวิจัยชุมชนและท้องถิ่นส่วนใหญ่ มักใช้คำ สำนวน ภาษา คล้ายกันครับ เวลาเขียนบรรยายงานวิจัยครับผม ... มิได้หมายความว่า ไม่ดีนะครับ หมายความว่า อืมมม เหมือนกัน ๆ คล้ายกัน ๆ  ไงครับ :)
  • และทราบว่า คุณเอกเป็น Freelance ครับ
  • ที่คุณเอกไม่เหมือนกับนักวิจัยท่านอื่นก็คือ การเลือกมุมที่เป็นความงามในสถานที่ หรือ ชุมชน มาสอดแทรกครับ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเบาลงในตัวเนื้อหา
  • แต่ผมเข้าใจวิธีการเขียนในลักษณะนี้นะครับ เพราะเพื่อนผม อาจารย์ผม ก็ "วิจัยท้องถิ่นและชุมชน" เหมือนคุณเอกครับ แต่ไม่ใช่คนพื้นที่เท่านั้นครับ ดังนั้น เวลาเขาคุย เขาพูด สำนวนเหมือนกันครับ
  • ผมเป็นครูที่ชอบฟังเรื่อง "ยาก" แปลงร่างเป็นเรื่อง "ง่าย" น่ะครับ ... มิมีเจตนาไม่ดีนะครับ :)
  • อย่าเครียด ๆ ผมล่ะกลัวว่า จะเข้าใจผิดไป
  • ข่าวรับสมัครงาน  เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือ   
  • ผมจะนำไปฝากติดที่คณะ, สาขาวิจัยฯ นะครับ

ขอบคุณมาก ๆ ครับคุณเอก :)

ขอบคุณพี่Conductor    ที่ได้ให้ข้อคิดเห็น ว่าผมเขียน "พลวัตร" ผิด ต้องไม่มี "ร" ครับ 

คำที่ถูกคือ "พลวัต"

ผมได้แก้ไขในบันทึกแล้ว

แจ้งมาเพื่อเรียนรู้ร่วมกันครับ

สวัสดีจ้ะน้องเอก

สถานที่ไปทำงานงานของน้องเอกสวยมากๆ เลยค่ะ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมน้องเอกถึงบอกว่า  "วันทำงาน  วันเที่ยว  วันเดียวกัน" พี่เองก็อยากให้ทุกๆวันของพี่เป็น "วันทำงาน  วันเที่ยว  วันเดียวกัน" เช่นกันค่ะ เวลาไปต่างจังหวัดทีไร แม้จะเดินทางเหนื่อยแต่ก็พอจะได้อารมณ์ "วันทำงาน  วันเที่ยว  วันเดียวกัน" ค่ะ ชอบมากๆ

 ดอกไม้สวยมากๆๆๆ กรี๊ดดดดดดดด ชอบบบบ...ดอกไม้

สวัสดีครับพี่อุ๊a l i n l u x a n a =)

ตามไปเยี่ยมสวนดอกไม้สวนครัวพี่อุ๊แล้วครับ...บรรยากาศดีมากๆครับ พร้อมมีผักสดๆปลอดสารพิษทานด้วย...

ขอบคุณครับที่ช่วยชี้แนะ เรื่องศัพท์วิชาการบางอย่างอาจสร้างความงุนงงให้บ้างครับ แต่เนื้อความที่อยู่รอบข้างจะช่วยอธิบาย เรียนรู้ร่วมกันนะครับ

แสดงว่าพี่อุ๊เห็น "ความสุข" ที่ผมแทรกอยู่ระหว่างช่องไฟของอักษรแล้วนะครับ อ่านบันทึกแล้วได้ความรู้สึก ผมก็ปลื้มแล้วครับ..

พอดีต้องรีบกลับครับ เพื่อนดิเรก จะต้องรีบเช็คอินเครื่องบินไปที่ กทม.ครับ  ต้องวางแผนให้ดี เลยกลับเร็วแบบรักษาเวลา

ดอยช้างเป็นหมู่บ้านหนึ่งของ ต.วาวี ครับ เป็นหมู่บ้านที่ผลิตกาแฟเป็นอาชีพหลัก ในชุมชนเดียวมี ๓ กลุ่มชาติพันธุ์อยู่ด้วยกัน (ลีซู -จีน-อาข่า)

ดอกสีส้มเป็น ป๊อบปี้ ครับ ส่วนดอกท้อ ดอกบ๊วย ดอกพวกนี้เป็นประเภทเดียวกับซากุระ สวยกว่าด้วยเพราะสีสันต่างๆกันไป

ดอกท้อที่มาให้ชมเป็นกลีบซ้อนสวยมาก ปลูกไว้ชมดอกอย่างเดียว ดอกพญาเสือโคร่งก็ลักษณะคล้ายกัน ที่นี่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นพญาเสือโคร่งครับ

บรรยากาศที่ฮาวายคงสวยงาม จะติดตามเรื่องราวดีๆจากบันทึกพี่อุ๊ครับ

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ผมยิ้ม ยิ้ม ครับ  ^____^ เมื่อได้อ่านข้อเสนอแนะอาจารย์

ต้องขอบคุณในความละเอียดอ่อนที่เกรงว่าผมจะเครียด หรือจริงจังในข้อคิดเห็นของอาจารย์ ผมกลับมีความสุขครับที่ได้เห็นความเห็นที่เสนอแนะอย่างละมุนเป็นมิตร...ก็เป็นจริงอย่างที่สังเกตครับ :)

ผมเองอาจเผลอใช้สำนวนวิชาการมากไป บางคำก็ยากที่จะอธิบาย แต่ก็พยายามจะร้อยเรื่องให้วิชาการที่ผมทำ ให้อ่อนลง อ่านง่าย เหมือนเรื่องเล่า

พยายามทำเรื่องซับซ้อนด้วยกำแพงวิชาการ ออกมาเป็นเนื้อหาที่ทุกคนอ่านได้ มีความสุข นั่นคือ ความปรารถนาของผม

สิ่งของที่ส่งให้เป็นความตั้งใจของผมเอง ที่จะมอบสิ่งที่เหมาะสมกับอาจารย์ไปให้ หลายๆชิ้น ผมก็ได้รับความกรุณาจากมิตรสหายเช่นกัน ผมจึงขอมอบความรักนั้นต่อไป

ขอบคุณที่ช่วยประชาสัมพันธ์การรับสมัครงานครับ

อยู่ดี มีสุขนะครับ :)

พี่แป๋ว paew ครับ

ได้ยินเสียง "กรี้ด" ของพี่แป๋วมาแต่ไกลเลยครับ อิอิ

ไม่รู้เป็นอะไรครับ เมื่อเห็นดอกไม้สวยงาม คนแรกที่ผมคิดถึงก็พี่แป๋วหละครับ

ที่วาวี มีดอกไม้เมืองหนาวที่หลากหลายครับ ส่วนใหญ่ก็ไม่เคยเห็นที่ไหน สีสวยงาม

"วันทำงาน วันเที่ยว วันเดียวกัน" ยืนยันอีกครั้งครับผม

มอบภาพดอกไม้สวยๆให้พี่แป๋วครับ

สวัสดีค่ะ

เห็นบันทึกจากนอกบ้าน แต่ไม่มีเวลาตอบยาวๆค่ะ

เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว การท่องเที่ยวดูจะเป็นนโยบายเสริม มากกว่าเป็นนโยบายหลัก ดูจากการที่เราเพิ่งมามีกระทรวงท่องเที่ยวก็เมื่อไม่กี่ปีมานี่เองนะคะ

 แต่บัดนี้การท่องเที่ยวกลับกลายเป็นเสาหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายๆประเทศ และดูจะเป็นทางลัดด้วยค่ะ

นี่ไงทุนวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ

ดูอย่างกัมพูชาที่อาศัยนครวัด นครธมเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แม้แต่ประเทศเจริญแล้วอย่างฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ก็ยังใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวนำอยู่ค่ะ

ปี 2007  อินเดีย ป็นTop of the Top Resorts in the world. ค่ะ

Of 225 properties around the world, more than one-fourth score in the 90s. India owns the overall winner:

 The Oberoi Vanyavilas, in Rajasthan

แต่ถ้าเป็นTop cities ในโลก....Sydney wins, with San Francisco, Florence, Cape Town, and Bangkok also taking votes.

กรุงเทพฯเป็นที่ 1 ในเอเซียจากการvotesจัดโดยhttp://www.concierge.com/bestof/readerschoice/top100_1/top100_1

เรื่องการทำการตลาดกับเรื่องท่องเที่ยวนี่ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะ คนจะมาเที่ยวแบบปากต่อปาก และจากการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตด้วยค่ะ

ส่วนการท่องเที่ยว เชิงนิเวศ และเชิงวัฒนธรรมประเภทโฮมสเตย์ หรือการพักแรมในหมู่บ้านชนบท  พี่เชื่อว่า การท่องเที่ยวลักษณะนี้จะกระจายรายได้ไปถึงคนที่รายได้น้อยได้

เมื่อสักครู่ 26-02-2008 เวลา 20.00น ดูทีวี ข่าวว่า ส่วนหนึ่งของจีนหิมะตก แต่กลับมีนักท่องเที่ยวมามาก มาพักแบบโฮมสเตย์ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากจนอยากจะให้มีหน้าหนาวนานๆ

 แสดงว่า เรื่องการท่องเที่ยวลักษณะคล้ายที่คุณเอกกำลังศึกษาการบูรณาการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและให้มีการกระจายรายได้กันอย่างเป็นธรรม      กำลังเป็นที่นิยมกันมากค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

สวัสดีครับพี่ศศินันท์ Sasinanda

ต้องขอขอบคุณพี่ที่นำเสนอองค์ความรู้ ด้านการท่องเที่ยวในบันทึกล่าสุดในขณะนี้ ช่วยเสริมความเข้าใจให้กับผู้ที่สนใจมากครับ

การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism)ส่วนใหญ่เป็นเพียงรายได้เสริมครับ ส่วนรายได้หลักก็มาจากการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมนั้นเอง

ส่วน Mass tourism นั้นทาง ททท.ก็มีแคมเปญโปรโมทให้เข้าสู่ตลาดโลกเพื่อนำรายได้เข้าสู่เมืองไทย

เมืองไทยได้ชื่อว่า "คุ้มค่าเงิน" ในการมาท่องเที่ยวต่างชาติ  และยังติดท๊อปเทนในหลายๆประเด็น

ปี ๕๑ ทาง ททท.จะเน้นไปส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้นครับ จะเป็นประเด็น "ประวัติศาสตร์" ส่วนภาคเหนือก็ ภาคใต้(ทะเล) เรียกได้ว่าติดตลาดโลกไปแล้ว

ข้อมูลที่น่าสนใจ

  • ปี 2563  ประเทศจีนจะได้รับนักท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แทนที่ฝรั่งเศส
  • การท่องเที่ยวระยะไกลจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ประมาณร้อยละ 24
  • นักท่องเที่ยวจะให้ความสนใจแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ/แหล่งท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพมากขึ้น
  • การดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญในการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะด้านมากขึ้น

แนวโน้มการท่องเที่ยวในอนาคต

  • ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเดินทางท่องเที่ยวในเวลาสั้นลง
  • ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวหรือเป็นกลุ่มย่อย
  • ผู้คนมีแนวโน้มที่จะต้องการการท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดธรรมชาติเพื่อหลีกหนี ชีวิตแบบจำเจเดิมๆ
  • ผู้คนมีแนวโน้มที่จะต้องการการท่องเที่ยวแบบไม่แพง
    การให้บริการทางท่องเที่ยวโดยมนุษย์จะมีความต้องการสูงขึ้นจากเดิม (ทักษะ)
  • ผู้คนมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาในการเตรียมตัวก่อนการเดินทางนานขึ้น

*** ข้อมูลทั้งหมดอ้างอิงจากการนำเสนอของ

ดร. สินธุ์  สโรบล

เครือข่ายประสานงานวิจัยท่องเที่ยวโดยชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

http://www.communitytourism.net

ขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์รับสมัครงาน

รับสมัครงาน : เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือ

เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือ มีความประสงค์รับสมัคร เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือ จำนวน 1 ตำแหน่ง

บทบาทหน้าที่
- ประสานงานชุมชนสมาชิกเครือข่าย
- จัดทำระบบข้อมูลของเครือข่าย
- ประชาสัมพันธ์ข้อมูล/ข่าวสารของสมาชิกเครือข่ายให้ผู้สนใจหรือหน่วยงานภายนอกรับทราบ
- ดูแลงานธุรการ/เอกสาร/บัญชี
- จัดทำรายงาน/บันทึกการประชุม

คุณสมบัติ
- อายุระหว่าง 20-30 ปี
- ไม่มีพันธะทางการศึกษา
- เข้าใจแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน
- ทำงานประสานงานได้ทั้งในระดับชุมชนและกับหน่วยงานภายนอก
- สามารถลงพื้นที่และค้างคืนในหมู่บ้านได้
- สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ทั้งการอ่าน ฟัง พูด และเขียน
- มีความรู้พื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ และสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้
- มีใจรักและชอบทำงานด้านข้อมูล
- มีความอดทน พร้อมทำงานหนัก รับผิดชอบ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

หากสนใจ
- เขียนใบสมัคร แนบประวัติการศึกษาและประวัติการทำงานพร้อมรูปถ่าย จำนวน 1 รูป (พร้อมเงินเดือนที่ต้องการ)
- ในจดหมายสมัครงานให้เขียนทัศนะ/มุมมองของตนต่อการท่องเที่ยวไทย และบทบาทของชุมชนท้องถิ่นต่อการท่องเที่ยว (หากไม่มีบทความแนบมาพร้อมกับใบสมัคร จะไม่พิจารณาใบสมัคร)
- ส่งทางไปรษณีย์ ไปที่เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือ ตู้ปณฝ 259 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 50202 ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2551 พร้อมเบอร์โทรศัพท์เพื่อการติดต่อกลับ
- ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบข้อเขียน วันที่ 20 มีนาคม 2551 ทางเว็บไซด์   http://www.communitytourism.net
- สอบข้อเขียนพร้อมสัมภาษณ์วันที่ 23 มีนาคม 2551 ณ สำนักงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือ ชั้น 3 คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร โทร.081 883 2138

 

สวัสดีครับ น้องเอก

น่าอิจฉาส์อีกแล้ว  

การเรียนรู้  ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แห่งใด  ก็เรียนรู้กันได้ตลอด เช่นเดียวกันทำงานก็ทำได้ในทุกที่ ทุกแห่ง  มันเกิดประโยชน์ได้

องค์ความรู้มีทุกที่ ขณะเดียวกันตัวเราเองก็สามารถให้ความรู้กับผู้คนรอบข้างได้    การจะเห็นผลหรือไม่เห็นผล ไม่ใช่สาระสำคัญ  สำคัญที่ว่าเราได้ทำให้เขาเห็นไหม

เอกเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปแบบที่ดี  ไม่ต้องไปเห็นผลทันตาหรอกครับ  ผลที่ได้เคลื่อนไหวนั้นคงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย  ทิ้งปัญญาไว้กับท้องถิ่น เป็นแบบอย่างที่ดี

เอกเคยเป็นไหม  ตอนเด็กๆเรามักแอบชอบใครบางคนที่แบบอย่างที่ตรึงตราใจเรา

สวัสดีครับ คุณจตุพร  เข้ามาเยี่ยมอีกรอบครับ

 -  ประทับใจในคำตอบที่ให้ไว้ครับ

 -    เป็นการทำงานวิจัยในบริบทของวัฒนธรรม LO อย่างแท้จริง

 -  ผมขออนุญาตนำประสบการณ์ดังกล่าวจัดเก็บไว้เป็นต้นแบบในการประยุกต์ใช้ในทำงานของผมครั้งต่อไป

                              ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่สิทธิรักษ์

 

ยินดีมากครับที่พี่มาเยี่ยมให้กำลังใจสม่ำเสมอ ...นี่คือน้ำใจของกัลยาณมิตรที่มีคุณค่า

โดยเนื้อหา กระบวนการของการทำงาน เป็นการ จัดการความรู้ระดับท้องถิ่น โดยใช้หลักการ ธรรมะ-ชาติ ในการสร้างสรรค์บรรยากาศของการมีส่วนร่วม

องค์ความรู้ที่ได้จึงมาจากการได้ใจชุมชนก่อน  เป็นความรู้ของพวกเขา มาจากพวกเขา และพวกเขาจัดการ พัฒนาชุมชน-แก้ไข ปัญหา

ขอบคุณที่ให้เกียรติที่ให้เป็น "แบบอย่าง" หากท่านอื่นๆซึมซับสิ่งดีๆที่นำเสนอมาได้บ้างก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ ผมยังต้องปรับปรุงและพัฒนาตัวเองเรื่อยไป

อยากให้มาเรียนรู้ร่วมกันครับ

"พี่รู้สอง น้องรู้หนึ่ง" ก็มาเติมๆกันไป

ขอบคุณมากครับ : )

สวัสดีครับ อ.small man

ไม่ว่าจะในอาชีพไหน หรือในวิถีชีวิตเราล้วนแล้วแต่ทำงาน"วิจัย" ตลอดเวลา สิ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องนั้น เห็นจะได้แก่

  • ความสุข
  • ความพึงใจ
  • โอกาส
  • การเห็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนษย์
  • จิตที่เมตตา
  • คุณธรรม

ทั้งหมดเกิดจาก การสร้าง"บรรยากาศ" ของการเรียนรู้ที่แท้จริง

"ความรู้จึงคู่กับความสุข"

  • สุขที่จะได้ให้
  • สุขที่จะได้เรียนรู้
  • สุขที่จะแลกเปลี่ยน

ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งครับที่เข้ามาเติมเต็มอีกรอบครับ

 

:)

  • ชอบจริงๆ วันทำงาน วันเที่ยว วันเดียวกัน อย่างนี้สินะถึงทำงานได้อย่างมีความสุข ทำได้เรื่อยๆ เป็นแบบอย่างที่ดีมากๆ
  • คนอ่านก็ได้ความรู้และความสุขด้วยเช่นกัน..ภาพงามๆ ทั้งนั้นเลย..ชอบมากๆ ค่ะ

ขอบคุณครับคุณ พชรวรัตถ์ แสงทองชนาพงศ์  ถึงวันนี้ผมก็ยังยืนยันว่า วันทำงาน วันเที่ยว วันเดียวกัน    ครับผม :)

พี่คะ หนูอยากได้ข้อมูลที่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาและปัญหาทุกอย่าง

ข้อมูลความเป็นมาแรกเริ่มของดอยวาวี และมีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวขึ้น

มันทำให้ที่นั้นได้รับอะไรบ้าง มีผลดีผลเสียอย่างไรต่อทุกคนทุกอย่าง อย่างไรบ้างคะ

น้องอมรรัตน์ ครับ

ข้อมูลทั้งหมดสามารถติดต่อได้ที่สองหนุ่ม ที่อยู่บนดอยวาวี เป็น จนท.ของโครงการหลวง เพราะน้องๆทั้งสอง เก็บข้อมูลอยู่ คิดว่าจะได้ข้อมูลที่ครบเลยครับ

"สำนักงานโครงการหลวง ดอยวาวี ..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท