โรงเรียน "สอนทำนา" :ที่โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก


ผมคิดว่าหลักสูตร “ทำนาที่ร้องขี้เหล็ก” เป็นมากกว่าหลักสูตรท้องถิ่น ผมขอเรียกว่า เป็น “หลักสูตรฟื้นถิ่น” และยกระดับองค์ความรู้ท้องถิ่น อย่างงดงามผ่านเยาวชน
บันทึกก่อนหน้านี้ >>>
โรงเรียน"ออกแบบความสุข" : โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก

 

 

ผมเป็นลูกชาวนาและลูกชาวนาแบบผมก็คงเหมือนหลายคนที่ไม่ได้เรียนรู้วิถีทำนาของบรรพบุรุษ หากรับรู้ก็เพียงผิวเผิน ซึ่งผมมองว่ารากเหง้าของเราเอง เรายังไม่ได้เรียนรู้ที่มาที่ไป “กว่าจะได้ข้าวสารกรอกหม้อ” ต้องทำยังไงบ้าง? ผมคิดว่าหลายคนคิดไม่ออกในกระบวนการละเอียดเหล่านั้น

ที่โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก อ.ดอยสะเก็ด สอนนักเรียนทำนา... 

ด้วยข้อมูลที่ผมได้รับจากผู้บอกกล่าว ผมก็ยังคิดไม่ออกว่า ที่นี่เขาสอนทำนากันอย่างไร? ที่แน่ๆไม่ได้สอนในห้องเรียนแต่เพียงอย่างเดียวแน่นอน เท่าที่ทราบจากข้อมูลโรงเรียนมีที่นาและมีการทำนากันจริงๆบนพื้นที่เรียนรู้ขนาด ๒ ไร่นั้น

จากเส้นทาง อ.เมือง ตรงไปทางดอยสะเก็ด บนถนนสายเชียงใหม่ –เชียงราย ไม่เกิน ๒๐ กม.เราเลี้ยวรถเข้าไปในหมู่บ้านริมทาง รถของขับมุ่งตรงไปโรงเรียนซึ่งเป็นทางเล็กเลียบเลาะทุ่งนาที่เขียวขจี หากมองเผินๆแล้ว พื้นที่เหล่านี้เอื้อต่อการเรียนรู้  “ทำนา” เป็นอย่างยิ่ง แต่หากโรงเรียนไม่ได้หยิบเอาประเด็น “สอนทำนา” ขึ้นมา นักเรียนคงได้เป็นเพียงผู้ดูและค่อยลืมเลือนวิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษไปหมด กองฟางที่วางข้างเถียงนา ควายไว้ใช้ไถนา เริ่มลดจำนวนลง พร้อมกับบ้านจัดสรรสมัยใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นในเขตชนบทกึ่งเมืองแบบร้องขี้เหล็ก

คุณครูพิศมัย เทวาพิทักษ์ คุณครูประจำโรงเรียนร้องขี้เหล็กบอกผมว่า “เด็กสมัยใหม่ทำนาไม่เป็นกันแล้ว และทุ่งนาแถบนี้ก็ขายให้นายทุนเอาไปทำบ้านจัดสรรกันส่วนหนึ่งแล้ว หากเราไม่ปลูกฝัง สืบทอด อนุรักษ์การทำนาซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิม อีกหน่อยก็วิถีภูมิปัญญาแบบนี้ก็ค่อยๆสูญหายไป เด็กรุ่นใหม่จะลืมบุญคุณบรรพบุรุษ ตลอดจนลืมรากเหง้าของตนเองไปในที่สุด”

เหตุผลที่เป็นไปได้มากที่สุดและเกิดขึ้นกับหลายๆพื้นที่ในชนบทไทย จากการสนทนากับครูพิศมัย ผมก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ  

โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก จึงเริ่มคิดหลักสูตรท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนขึ้นมา ภายใต้การปูความรู้การทำหลักสูตรท้องถิ่นจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ได้เข้ามาผลักดันฝึกอบรมการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมาในช่วงปี ๒๕๔๓ ตอนนั้นเน้นการเขียนหลักสูตรบูรณาการด้วยลายมือ ต่อมาการพัฒนาหลักสูตรทำนาของโรงเรียนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา การปฏิบัติจริงและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน หลักสูตรเล็กๆที่คิดกันมื่อเริ่มต้นเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

Dsc09287

Dsc09285

ผอ.สมบูรณ์ เดชยิ่ง บอกผมว่า “นักเรียนที่เรียนจบจากโรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็กไปไม่ใช่แค่รู้เรื่องการทำนาแต่ ต้องทำนาเป็น!!! เป็นเสมือนคำการันตีหลักสูตรสืบสานภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่ของพี่น้องชนบท...น่าภาคภูมิใจแทนวิญญาณบรรพบุรุษชาวนาไทยเสียจริงๆ

ทุ่งนาขนาดสองไร่ ที่อยู่ตรงหน้าอาคารเรียน ถูกจัดให้เป็นพื้นที่เรียนรู้จิตวิญญาณของท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า นักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าผ่านการเรียนรู้การทำนาผ่านพื้นที่นี้

วันนี้อาจจะยังพักดินแต่เมื่อเริ่มฝนโปรย ความมีชีวิตชีวาในท้องทุ่งก็เริ่มต้นขึ้น ทุ่งนาของโรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็กก็เหมือนกัน

ฝนมาแล้ว...

ความฉ่ำชื่นของสายน้ำ มีอยู่ทั่วทุกแห่งหนของพื้นที่นี้ เสียงอึ่งอ่าง กบเขียด ร้องระงมในช่วงกลางคืน ต้นหญ้าเขียวระบัดใบดูสดชื่น

ได้เวลาทำนากันแล้ว...

เชื่อไหมว่าเด็กๆทุกคนที่โรงเรียนแห่งนี้ต่างก็รอคอยเวลาที่พิเศษนี้ พวกเขาจะได้สวมบทบาทเป็นชาวนา ...ชาวนาน้อยๆที่ผลิตเม็ดข้าวเป็นอาหารของชุมชนทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง

เอาน้ำเข้านา...เริ่มต้นทำนา

กิจกรรมแรกของฤดูกาลทำนา ... นักเรียนชาย ป.๖ ใช้วิธีการ “คั่งน้ำเข้านา” เป็นภาษาเหนือ แปลว่า เปิดเส้นทางน้ำจากลำน้ำเหมืองเข้ามาในพื้นที่นา เว้นเวลาสักระยะหนึ่งเพื่อให้วัชพืชในนาเน่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ก่อนที่จะไถกลบวัชพืช ถือว่าขั้นตอนนี้ต้องใช้แรงงานนักเรียนผู้ชาย ไถนา ใช้ทั้งควายและรถไถนาเล็กผสมกัน

ครูพิศมัย เล่าความประทับใจให้ผมฟังถึงขั้นตอนการทำนาในขั้นตอนแรกๆว่า “มีนักเรียนชาย ป.๓ คนหนึ่งตัวโตๆเรียนหนังสือในห้องเรียนผลการเรียนไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เขาจะชื่นชอบการทำนามาก เขาไถนาแบบมีอาชีพ ดูเขามีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมนี้”  

สิ่งที่ครูเล่าหมายถึง “ความสุขที่ค้นพบในตัวเด็ก”  ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ครูจัดให้ หลักสูตรที่สอดคล้องกับความสนใจ ไม่ใช่รัดตรึงความสนใจเด็กให้จดจ่อกับทฤษฏีจนไม่เห็นภาพของการปฏิบัติ ยิ่งเรียนยิ่งไม่มีความสุข เด็กยิ่งขาดความสนใจใคร่รู้ ...

หลังจากไถกลบวัชพืช จะเว้นระยะเวลา “ดองนา” ให้วัชพืชที่ไถกลบเน่าเป็นปุ๋ยชั้นดีก่อน จากนั้น อีก ๑ สัปดาห์ถึงมีกระบวนการคราดไถ เอาเศษหญ้าบางส่วนออกไป กระบวนการคราดนารอบแรกอาจต้องใช้แรงงานนักเรียนผู้ชาย แต่การคราดแบบละเอียดครั้งที่สอง รวมถึงนำเศษหญ้าออกจากนา เด็กนักเรียนผู้หญิงมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้เต็มที่...

ลองคิดดูบรรยากาศ เด็กๆกับโคลน ซึ่งน่าจะเรียกความสนุกสนาน ครื้นเครงให้กับพวกเขาเป็นอย่างมาก

ขึ้นแปลง..รอหว่านกล้า

กิจกรรมการขึ้นแปลง ทั้งนักเรียนหญิง ชาย ป.๖ ถึง ม.๓ ช่วยกันอย่างแข็งขัน การขึ้นแปลงต้องขึ้นแปลงแบบนูนหลังเต่า (นี่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวนาเมืองเหนือ) การขึ้นแปลงลักษณะนี้ก็เพื่อให้มีการระบายน้ำที่ดี เวลาถอนกล้าข้าวดินจะไม่ติดกล้าเพราะน้ำไม่ขังแปลงเพาะ...

นักเรียนผู้หญิงจะง่วนกับ การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว พวกเขาใช้วิธี เอาข้าวเปลือกแช่น้ำ คัดเลือกเอาเมล็ดพันธ์ที่ลีบออกไป จากนั้นเทใส่กระสอบมัดปากให้แน่นแช่น้ำไว้ ๑ คืน ให้ข้าวมีรากงอกออกมาเล็กน้อย เป็นการเตรียมพร้อมเมล็ดพันธุ์สำหรับหว่านกล้าในขั้นตอนต่อไป หน้าที่การหว่านเป็นของ นักเรียนผู้ชาย เพราะต้องหิ้วตระกร้าที่หนักชุ่มน้ำพร้อมกับวิธีการหว่านลงในพื้นที่ที่เขาจัดเตรียมไว้เป็นแปลงเพาะ

Rkl2

จากเมล็ดข้าว จนถึงต้นกล้า และต้นข้าวที่ออกรวงสุกอร่ามทั่วท้องทุ่ง ของโรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก บรรดาคุณครูและนักเรียนต่างก็ใจจดจ่อกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในช่วงเก็บเกี่ยวข้าว ว่ากันว่า กิจกรรมเกี่ยวข้าว นวดข้าว ฟาดข้าวและตีข้าว ตามวิถีของชาวนาชนบททางเหนือ เป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานอีกครั้งหนึ่งของหลักสูตรทำนาของชาวนาน้อยๆ มันน่าภูมิใจขนาดไหนที่เด็กๆเห็นผลผลิตจากฝีมือของพวกเขาออกมาเป็นรวงข้าว เมล็ดข้าวที่ใช้เป็นอาหาร

Rkl1

หลักสูตร “ทำนา”ที่ร้องขี้เหล็ก เป็นเสมือน นวัตกรรมทางการศึกษาที่ช่วยสร้างเด็กให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง สิ่งที่พวกเขาได้ทำมากับมือ เป็นสิ่งที่พวกเขาภาคภูมิใจ และซึมซับเอาวิถีรากเหง้าของตนเองไปอย่างไม่รู้ตัว ...และสำนึกได้ว่า กว่าจากรวงมาเป็นเมล็ดข้าวนั้น มันเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน

เด็กเล็กๆชั้นอนุบาลพากันไปห้อมล้อมมุงดูพี่ๆทำนา ในขณะที่เด็กน้อยเหล่านั้นได้รับมอบหมายจากคุณครูให้จดบันทึก วาดรูปกิจกรรมรวมไปถึงสิ่งที่เห็นในท้องทุ่ง

นักเรียนชั้นป.๑ ถึง ป. ๕  ต่างก็มีภารกิจของตนเองต่อทุ่งนาของพวกเขา อย่างน้อยเขาได้เรียนรู้ร่วมไปกับพี่ๆ และได้เสริฟข้าวเสริฟน้ำพี่ๆ เป็นวิถีแห่งการเอื้อเฟื้อที่งดงามอันเป็นวิถีของชนบท

Dsc08922

การบ้านที่คุณครูให้ไปถามคุณพ่อ คุณแม่เรื่อง “การทำนา” แต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร เป็นการดึงความรู้จากผู้ใหญ่ลงมาสู่เด็ก “สานความรัก สานความรู้” 

เป็นภาพที่ชินตาที่ทุ่งนาของโรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก เมื่อผู้ปกครองมาร่วมกิจกรรมทำนากับลูกหลานของพวกเขา แบบที่ไม่ได้นัดหมาย แต่มาเพราะความรักลูก ตื้นตันใจที่เห็นลูกทำนาเฉกเช่นบรรพบุรุษ

เสียงหัวร่อต่อกระซิก ในระหว่างเกี่ยวข้าวของผู้ปกครองและนักเรียน น้องนักเรียนที่เฝ้าให้กำลังใจคนทำนาริมคันนา เฝ้าดูกิจกรรมชีวิตในทุงนาของพวกเขา เป็นภาพแห่งความสุขและความประทับใจที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก

ผมคิดว่าหลักสูตร “ทำนาที่ร้องขี้เหล็ก” เป็นมากกว่าหลักสูตรท้องถิ่น  ผมขอเรียกว่า เป็น     “หลักสูตรฟื้นถิ่น” และยกระดับองค์ความรู้ท้องถิ่น อย่างงดงามผ่านเยาวชน

ความสำเร็จที่โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก ถือว่าความสำเร็จของการบูรณาการความรู้ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กับการปฏิบัติจริงในบรรยากาศที่มีความสุข

 

 >>> ติดตามอ่าน บันทึกเกี่ยวข้อง  "โรงเรียนเล็ก ๆ แต่หัวใจไม่เล็ก" (โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก โรงเรียนสอนเด็กทำนา)  ของ อาจารย์ Wasawat Deemarn

>>> ติดตามอ่าน บันทึก Humanized Educare บันทึกอื่นๆ

ข้อมูลจำเพาะ

โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก  เป็นโรงเรียนขนาดกลาง-ขยายโอกาส

เปิดสอนในระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.๑-๓) จำนวนทั้งสิ้น ๑๓๕ คน

ที่ตั้ง  : ๑๖๙ หมู่ที่ ๗ ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต ๑

มี นายสมบูรณ์ เดชยิ่ง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

ครูผู้สอน ตาม จ.๑๘ ทั้งหมด  ๑๒ คน อัตราจ้าง ๓ คน

 

เวปไซต์ : http://www.banrongkheelek.com/


 

 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

๒๗ เม.ย.๕๒

นนทบุรี

หมายเลขบันทึก: 257670เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2009 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (67)

สวัสดีค่ะคุณเอก มาดูความน่ารักของเด็กๆ

ชุดที่ใส่ดำนา...สวยไปนะคะ

 ฝากกล้วยไม้ที่บ้านมาให้กำลังใจค่ะ

 

พี่ แดง 
ครับ

มารวดเร็วดีครับ ผมกำลังปรับแก้บางส่วนของบันทึกอยู่ครับ บันทึกของ โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็กที่ตั้งใจนำเสนอ ๒ บันทึกถือว่าเสร็ตสิ้นเเล้ว บ่มไว้นานเลยครับหลังจากที่ไปเก็บข้อมูลครั้งล่าสุด

ขอบคุณครับสำหรับดอกกล้วยไม้สวยๆ และกำลังใจดีๆสำหรับคนทำงานครับ

ขอบคุณมากครับ

  • ทานข้าวจากนาที่ปลูกเองคงให้ความรู้สึกที่ประมาณค่ามิได้นะคะ

มาสนับสนุน... หลักสูตรท้องถิ่นเข้มแข็งที่โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก...

ก็คงเหมือนกับการทำแปลงสมัยก่อนครับ
การทำแปลงสมัยก่อนนั้นมีการปลูกผัก เช่น ผักบุ้ง คะน้า หอมแบ่ง กวางตุ้ง
โรงเรียนไหนมีพื้นที่เพียงพอ ก็ให้เด็กทำแปลงปลูกผัก
โรงเรียนไหนมีพื้นที่น้อยก็ให้นักเรียนไปปลูกผักทำแปลงที่บ้าน
ถึงเวลาจะส่งงานก็นัดครูไปตรวจที่บ้าน

ดีครับเป็นการสอนเด็กให้รู้จักการทำสวนทำนา ให้สัมผัสจากชีวิตจริง

 

 

 

น้องเอก พี่สงสัย

"เถียงนา ควายไว้ใช้ไถนา " คือคันไถนาหรือเปล่า

น่าสนใจ และสืบสานเพราะมันคือรากเง้าของเราชาวไทย ต่อไปในอนาคต ข้าวจะแพง เพราะไม่มีที่จะปลูก ถึงเวลานั้นจะทำอย่างไร พี่อยากทำนาในกระถางเสียแล้วซิ กำลังให้น้องติดต่อซื้อที่ดินที่ราชบุรี อยากทำนา แต่ต้องระวังมากๆ เพราะเป็นคนที่แพ้ละอองเกสรข้าว ขอบคุณค่ะสำหรับบทเรียนนี้เป็นสื่อเรียนรูวิถีไทยได้ดีมากๆค่ะ

 

 

เป็นกิจกรรมที่น่ารักมากค่ะ   ส่งเสริมเยาวชนให้ทราบภูมิปัญญาไทย ทราบว่าการทำนากว่าจะได้ข้าวมาเหนื่อยยากเพียงไหน เกิดความรู้สึกหวงแหนในวัฒนธรรมหมู่บ้านตนเอง และที่สำคัญ เห็นคุณค่าของข้าวไทย สนับสนุน น่ายกย่องค่ะ

สวัสดีค่ะ  แวะมาทักทายค่ะ

  • เป็นโครงการที่ดีมากเลยนะค่ะได้ฝึกเยาวชนให้รู้จักการทำนาไว้กินเอง
  • แต่ว่าใส่ชุดทำนาแบบชาวนาสิค่ะจะทำให้ไม่เลอะค่ะ
  • ทุกคนน่ารักมากเลย นึกถึงตอนเป็นเด็กๆต้องดำข้าวในนาให้ได้ 1 กำก่อนถึงค่อยไปโรงเรียนได้
  • เก็บข้าวก็เป็น แต่ว่าตัวดำดูไม่ได้เลยละค่ะ

                                       

สวัสดีครับ อ.Sila Phu-Chaya

คงเป็นความรู้สึกเดียวกับที่ผม ปลูกผักและทานผักที่ตนเองปลูก ช่างน่าภูมิใจและหวานกรอบ..

โดยเฉพาะข้าวเราทานทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่เห็นความสำคัญ กินทิ้งๆเหลือ ๆ แต่พอมาเป็นชาวนาดูบ้าง กว่าจะได้เมล็ดข้าวแต่ละเมล็ดลำบาก เหนื่อยเพียงใด..

เด็กๆโรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก สัมผัสได้ตรงนี้ :)

ขอบคุณพี่ สิริพร ทิวะสิงห์ tuk-a-toon  มากครับ คุณครูที่โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก มาอ่านคงจะชื่นใจนะครับ

คุณ อาทร ขอบคุณมากครับ ที่เข้ามาให้ข้อเสนอแนะ ..

ไปในพื้นที่ของโรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็กแล้ว ก็ประทับใจกับกิจกรรมที่หลากหลายครับไม่เพียงแต่ การทำนา แต่มีกิจกรรมอื่นๆที่บูรณาการอยู่ด้วย

น่าสนใจครับ..มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียนแห่งนี้ได้ครับ :)

krutoi

เถียงนา คือ ริมคันนา,นา,พื้นที่นา,กระท่อมน้อยริมนา ครับ ส่วนประโยคที่พี่ยกมา เป็นคำที่ติดกัน อาจทำให้เข้าใจผิดได้

โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก ใช้ควาย และรถไถนาเล็ก ครับสำหรับใช้ไถนา :)

 

คุณน้อยหน่า 

เป็นกิจกรรมที่น่ารัก สามารถเนียนเป็นหลักสูตรท้องถิ่นได้ อย่างไม่แปลกแยก และเด็กๆก็สนุกสนานในกิจกรรมเหล่านี้

ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จ มีความสุข และสนุกสนานครับ

บทเรียนหนึ่งของโรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก

สวัสดีครับ  คุณตุ๊กตา

น้องๆแต่งตัวดูไม่เหมาะกับท้องนาเท่าไหร่นะครับ เปื้อนง่าย :)

อาจต้องค่อยๆปรับ และสวมชุดที่กันเปื้อนได้มากกว่านี้ แต่ดูยังไงก็น่ารักดีนะครับ

กุศโลบายของคุณพ่อคุณแม่ คุณตุ๊กตา ดีมากเลยนะครับ ที่ให้บุตรสาว ดำนาให้ได้ ๑ กำก่อนไปโรงเรียน

ใครจะรู้ว่า การดำนา เห็นง่ายๆแบบนี้ แต่เอาเข้าจริงๆ ยาก คนที่ดำไม่เป็นก็จะทำไม่ได้เลย

ขอบคุณมากครับ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น :)

สวัสดีค่ะ

หายหน้าไปพักหนึ่งก็มัวไปอยู่ในไร่ในนาค่ะ

มีความสุขเมื่ออยู่กับธรรมชาติ ท้องทุ่งนา

เห็นชาวนาเขาทำนาด้วยความอุตสาหะ อาบเหงื่อต่างน้ำ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน สมแล้วค่ะที่ได้ยกย่องชาวนาให้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ

และการทำนาก็ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไทยแท้ๆเลยค่ะ

เคยได้ยินปู่ย่าตายายพูดเสมอๆค่ะว่าเป็นทรัพย์ในดิน สินในน้ำ

ติดตามบันทึกของคุณเอกตลอดนะคะ

สวัสดีค่ะ

  • มาช้า..แต่รอนานนะเอก
  • วันนี้พี่คิมและเพื่อบ้านฝึกร้องคาราโอเกะกัน
  • พวกเขาให้พี่คิมร้องให้ฟังทีละเพลง
  • และตกลงตัดสินใจเลือกให้ ๓ เพลงค่ะ
  • เอาไว้ร้องหากินทั่วราชอาณาจักร
  • ฝนกำลังตก..แต่ร้อนจัง
  • วันนี้ไปหยอกอาจารย์ Wat มา  กลัวเหมือนกัน
  • ไปตามดูสิว่าหยอกอะไร

สวัสดีครับ ครูนกP

ดีจังเลยครับ มีโอกาสได้กลับสู่ธรรมชาติ แวดล้อมไปด้วยท้องทุ่งนา และต้นไม้ ผมเองก็พยายามหาโอกาสดังกล่าวเหมือนกันครับผม

ช่วงนี้พยายามเร่งบันทึกเกี่ยวกับ โรงเรียนที่ผมไปเก็บข้อมูลออกมาให้ครบก่อนครับ พรุ่งนี้จะเดินทางไปอีกสองโรงเรียนทางภาคใต้ คิดว่าคงมีเรื่องดีๆมาเติมเติมอีกครับ

รอติดตามบันทึกผมในโอกาสต่อๆไปนะครับ

ขอบคุณมากครับ สำหรับการติดตามเสมอมา :)

ครูคิม

เป็นกิจกรรมยามว่างที่น่าสนุกมากเลยครับผม ว่าเเต่เพลงที่ฝึกร้อง ใช่เพลง "ยอมจำนนฟ้าดิน" ไหมครับ

ฝึกร้องแบบนี้จะเตรียมไปร้องที่หาดใหญ่หรือเปล่านะ ผมขอเป็นคอรัสก็แล้วกันครับ

ขอบคุณครับ สำหรับการส่งข่าวน่ารักๆมาให้รับทราบครับ :)

สวัสดีคะคุณเอก

พี่ก็เป็นหลานชาวนา ดำนาไม่เป็นคะ ตอนเด็ก เคยไปถอนต้นข้าวทิ้ง คิดว่าเป็นหญ้า พ่อได้ไปเสียค่าปรับไหม ไปหลายบาท

ข้าวบ้านพ่อครู หวาน หอม อร่อยมากคะ ผัดผักจานใหญ่ทานจนหมด ผักอร่อย พ่อครูปลุกไว้เยอะมาก แล้วจะนำมาเล่าให้ฟังนะคะ ตอนนี้ขอตามเรื่องไข้หวัดสายพันธ์ใหม่ไปก่อน

สวัสดีคะ คุณเอก

     ที่โรงเรียนเคยทำนาเหมือนกันไว้โอกาสหน้าจะหารูปมายืนยัน(หลักฐานไง)ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

      ช่วงนี้เห็นคุณเอกเดินทางบ่อยรักษาสุขภาพด้วยนะคะ

ยากจะบรรยายในความรู้สึกที่ได้เห็นภาพ (ไปเอามาจากไหนกันครับ :) .. .. .. ชีวิตที่ไม่ลืมรากเหง้า มีความสุขกับบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง สุขอย่าบอกใคร .. เอ แล้วใครมาทำให้เด็กไทยหลงลืมเท้าของตัวเองกัน ... คนในกระทรวงศึกษาฯ หรือเปล่า ... ที่บอกว่า เรียนตามฝรั่ง หมาไม่กัด :)

บันทึกที่งดงามบันทึกหนึ่งครับ ให้ 5 ดาว เลย (ไก่ย่าง)

ขอบคุณครับ :)

น้องเอก  ....ควายมันเก่งนะสามารถ"ปลดแอก" ไม่ต้องมาลากคันไถให้ชาวนายุค พ.ศ.52...  :)

อ่านบันทึกพี่ที่ไรดูมีชีวิตชาวามากครับ และเป็นธรรมชาติในการนำเสนอด้วยใจ นับถือครับ มีโอกาสคงได้เจอกันนะครับพี่ (ขอโทษจริงๆครับที่ไม่สามารถไปตามที่นัดกันได้ ทั้งๆที่อย่ใกล้กันก็แล้ว อิอิ )

ราตรีสวัสดิ์ค่ะ คุณเอก

กิจกรรมนี้เป็นประโยน์ต่อชุมชนดีนะคะ

เข้ามาเยี่ยม มาชม

บทความมีประโยชน์ดีค่ะ

โชคดี มีสุขในการทำงานนะคะ

ส่งการบ้าน...บันทึกกลวง ๆ แลกกาแฟสักแก้วครับ :)

"โรงเรียนเล็ก ๆ แต่หัวใจไม่เล็ก" (โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก โรงเรียนสอนเด็กทำนา)

เนื้อหาเบา ๆ ภาพน้อย ๆ สาระไม่ค่อยมีครับ :)

สวัสดีครับ..พี่ประกาย

มีหลายคนครับ ที่เป็นลูกชาวนาที่ไม่เคยทำนา เช่นผมคนหนึ่งละครับ แต่ยังระลึกถึงวิถีรากเหง้าตนเอง แม้ว่าทำนาไม่เป็นแต่ก็ตระหนักว่า กว่าจะมาเป็นเม็ดข้าว ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ เหน็ดเหนื่อยเเค่ไหน...

ผมเคยเดินทางไปบ้าน ดร.แสวง ไปที่นาของท่าน ก็เห็นการทำนาแบบ อาจารย์แสวง ยังประทับใจเหตุการณ์เหล่านั้นอยู่ พี่ประกายอยู่ขอนแก่นมีโอกาสไปเยี่ยม ดร.แสวง บ้างนะครับ

-----------

วันนี้ตื่นเช้ามาก (ดุเวลาตอบแล้วอย่าตกใจนะครับ) เพื่อเตรียมตัวไปต่างจังหวัดครับ เดินทางเช้าก็เป็นแบบนี้ ต้องทำธุระเสร็จก่อนและเช็คอินหนึ่งชั่วโมงก่อนเดินทาง...(เวลาชีวิตผมรวนไปหมด)   :) ...แอบบ่นนะครับ

สวัสดีตอนเช้าครับผม

ครูยอดฉัตร

ยินดีมากครับที่ได้ข่าวคราวจากชาววิทยสัมพันธ์...

ทราบมาจากคุณครูหลายท่านเหมือนกันว่าที่โณงเรียนวิทยสัมพันธ์ มีกิจกรรมดีๆมากมาย เสียดายว่า วันที่ผมเดินทางไปเก็บข้อมูลนั้น เป็นช่วงปิดเทอม เลยไม่เห้นกิจกรรมด้วยตนเอง แต่ก็รับรู้ผ่านการนำเสนอนะครับ

ทำนาที่วิทยสัมพันธ์ ...หากยกระดับเป็น "หลักสูตรท้องถิ่น" ผมคิดว่าเยี่ยมเลยครับ :)

เช้าวันนี้ผมเดินทางไปหาดใหญ่ เพื่อไปเยี่ยมโรงเรียนอีกสองโรงเรียนในพื้นที่ภาคใต้ คิดว่า จะมีเรื่องราวดีๆมาฝากน้องครูยอดฉัตร และผู้อ่านท่านอื่นๆด้วย

ติดตามต่อไปนะครับ

 

ตามมาอ่านบันทึกก่อนครับ...

เห็นเรื่องราวเห็นบรรยากาศ ต้องขอบคุณอาจารย์มากครับ ที่ช่วยเพิ่มเติมสีสันของการเก็บข้อมูล

ผมใช้เวลาเขียนสองบันทึก ที่ทิ้งระยะเวลานานพอสมควรที่จะลงบันทึกเหล่านั้น แต่คิดว่าเก็บได้สมบูรณ์ระดับหนึ่งจาก

 โรงเรียน"ออกแบบความสุข" : โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก

และ โรงเรียน "สอนทำนา" :ที่โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก

แต่ก็ไม่ทราบว่าจะสมบูรณ์ขนาดไหน สิ่งที่ได้จากการอ่านบันทึก ผมคิดว่า การคิดต่อมากกว่าครับ หากสนใจกระบวนการจริงๆ อาจต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทางโรงเรียนหรือคุณครูอีกครั้ง

หากโรงเรียนนี้ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในโครงการ HEC. ก็จะมีรายละเอียดนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่องในอนาคตครับ

-----------------------------------------------------------------------

หากดูเวลาให้ข้อเสนอแนะอย่าได้ตกใจนะครับ ผมกำลังเตรียมตัวเดินทางไปต่างจังหวัด flight เช้าๆครับ ต้องตื่นประมาณนี้เลย- ตอนเย็นหลังจากกลับมาจากต่างจังหวัด ผมจะเข้ามาให้ข้อเสนอแนะอีกครั้งครับ

ต้องขอบคุณอาจารย์มากครับ ในที่สุดก็ออกมาจนได้ บันทึก "ร้องขี้เหล็ก" ผมไม่ลืมที่สัญญาไว้นะครับ กาแฟแก้วใหญ่ๆบรรยากาศดีๆของเวีเชียงใหม่ เอาว่าผมมีร้านในดวงใจอยู่ร้านหนึ่ง เอาไว้เจอกันที่เชียงใหม่ อีกไม่กี่วันนี้ครับ:)

สวัสดีค่ะ

  • เดินทางปลอดภัยนะคะ
  • ระวัง..สาว ๆ ทีมงานจะเดินชนเข้าโดยไม่รู้ตัวนะคะ
  • รออ่านเรื่องเล่าจากภาคใต้ค่ะ

พี่ หนุ่ม กร

สวัสดีตอนเช้าที่กรุงเทพฯครับ

บรรยากาศยามเช้าที่กรุงเทพเย็นสบาย หากเป็นต่างจังหวัดเช่นที่พี่อยู่ตอนนี้คงสดชื่นมาก ผมจินตนาการว่าหากได้วิ่งออกกำลังกายผ่านทุ่งนาเล็กๆ คงจะมีความสุขไม่น้อย

P
22. หนุ่ม กร~natadee
เมื่อ จ. 27 เม.ย. 2552 @ 19:36
1262546 [ลบ] [แจ้งลบ]

น้องเอก  ....ควายมันเก่งนะสามารถ"ปลดแอก" ไม่ต้องมาลากคันไถให้ชาวนายุค พ.ศ.52...  :)

อ่านข้อเสนอแนะของพี่แล้ว ทำให้ผมอมยิ้มเล็กๆนะครับ  ควายสมัยใหม่ ที่ต้องมาลากคันไถให้ชาวนายุุค๕๒...

ศัพท์คำว่า "ปลดแอก" เห็นภาพของ การคลายออกไปของบางสิ่ง เช่น คลายจากความไม่รู้ คลายจากความหลงผิด ทั้งหมดทั้งสิ้นก็ด้วยความรู้ การจัดการความรู้

หากจะช่วยชุมชนปลดแอก...ต้องมีกระบวนการพัฒนาชุมชนบนฐานความรู้ที่เป็นความรู้ที่เขามี และเติมในสิ่งที่ชุมชนต้องการ

ผมนึกไปถึง งานวิจัยชุมชนเลยครับ งานวิจัยชุมชนสร้างพลังให้กับนักวิจัยชาวบ้าน ในขณะเดียวกัน นักวิจัยชาวบ้านผู้ที่อยู่กับปัญหาของเขาเอง เป็นผู้ที่เชื่อมต่อกระบวนการสร้างคน สุดท้ายแล้ว การพัฒนาแบบนี้พัฒนาคนแบบยกแผง

ระยะเเรกพี่เลี้ยง(เช่นพี่) อาจต้องเหนื่อยบ้าง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ในแต่ละระยะนั้นชื่นใจครับ หากเราคิดถึงระยะยาวในการพัฒนา ก็นับว่าคุ้มค่า

สร้างสรรค์ปัญญาพัฒนาท้องถิ่น

ในอนาคตคงมีโอกาสได้จับเข่าแลกเปลี่ยนกับพี่กรนะครับ

 

ขอบคุณครับผม :)

 

 

น้องอาจารย์ฟูอ้าจ

เสียดายที่ไม่ได้เจอที่กรุงเทพฯครับ ผมเลยถือโอกาสไปตามนัดและช้อปปิ้งไปในตัวที่จตุจักร

ช่วงนี้ตามตัวผมยากหน่อยครับ  ผมเดินทางบ่อยและมีงานหลายงานที่ต้องจัดการครับ หลังจากต้นเดือน พ.ค.ผ่านไปน่าจะคลายขึ้นบ้างในงานเอกสารครับ แต่งานที่เป็น  activities ก็ยังมีอยู่ตลอดเวลาครับ

ใกล้กันแต่ไมได้เจอกันก็ไม่เป็นไรครับ

ผมจะเขยิบเข้าไปใกล้อีกหน่อย ในงาน gotoknow forum ที่ภาคใต้ หาดใหญ่ สงขลา...ครั้งนั้นน่าจะเจอ อ.อีย์ -อ.อาลัม ด้วยนะครับ

มีความสุขในการทำงานนะครับ...และติดต่อทางโทรศัพท์ได้ครับ

--------------------------------------------------------------------

บันทึก หลักสูตร "ทำนา"ที่บ้านร้องขี้เหล็ก เป็นบันทึกที่ ๒ จากบันทึก ออกแบบความสุข เป็นข้อมูลบวกกับความประทับใจที่ได้ไปสัมผัสเรื่องราวดีๆของแวดวงการศึกษาครับ

ผมอาจถ่ายทอดมาไม่ครบมิติของหลายท่านอยากอ่าน แต่น่าจะเป็นจุดเริ่มของการสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างได้ แนะนำไปอ่านเอาบรรยากาศอีกรูปแบบหนึ่งของการนำเสนอ

>>> ติดตามอ่าน บันทึกเกี่ยวข้อง  "โรงเรียนเล็ก ๆ แต่หัวใจไม่เล็ก" (โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก โรงเรียนสอนเด็กทำนา)  ของ อาจารย์ Wasawat Deemarn

ทั้งนี้ต้องขอบคุณกัลยาณมิตร gotoknow ที่ช่วยดูแลเวลาผมเดินทางออกพื้นที่ อบอุ่นและน่าประทับใจในทุกเส้นทางที่ไปครับ

ผมกำลังเดินทางไปหาดใหญ่วันนี้ครับ และจะกลับมาในวันเดียวกัน ติดตามเรื่องราวดีๆที่ใต้นะครับต่อจากบันทึกนี้นะครับ

ขอบคุณครับ

 

ขอบคุณครับ คุณภัทรานิษฐ์ เจริญธรรม  ขอให้ทำงานด้วยความสุขเช่นกันครับ :)

อ.Wasawat Deemarn

ต้องขอบคุณมากมายครับ สำหรับ บันทึกที่ช่วยเสริมพลังได้เป็นอย่างดี แบบนี้เรียกว่า กัลยาณมิตรตัวจริง..

เรื่องกาแฟแก้วใหญ่นั้นไม่ต้องห่วงครับ เลือกร้านไว้รอเลย ในวันที่ผมเดินทางไปเชียงใหม่ :) แถมวิปครีมเพิ่มปริมาณพุงได้ไม่อั้นด้วยนะครับผม

ผมตามไปอ่านหลายรอบเลยครับ  เป็นบันทึกที่เติมเต็มบันทึก ๒ บันทึกของผมได้อย่างดีเยี่ยม

ขอบคุณงามๆมา ณ โอกาสนี้...

---------------------------------------------------------------------

เมื่อวานโทรไป confirm เรื่องการเดินทางของผมกับอาจารย์บางท่านที่โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็กแล้วครับ

 

พี่ครูคิม..

สวัสดีตอนเช้าครับ  Bording แล้วครับ ...

...

แล้วจะเข้ามาทักทายอีกครั้ง ขอบคุณครับ

สวัสดีตอนเช้าค่ะคุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

  • มาเรียนรู้การทำนา เพื่อหยั่งรู้รากเหง้าของตัวเอง ...เพราะว่าเป็นหลานชาวนาแต่ทำนาไม่เป็น
  • สนใจงานวิจัยชุมชนที่คุณเอกกล่าว  กับคุณกรค่ะ
  • จะพยายามเรียนรู้จากบันทึกดี ๆ ของคนเอกต่อไปนะคะ
  • กระบวนการพัฒนาชุมชนบนฐานความรู้ที่เป็นความรู้ที่เขามี และเติมในสิ่งที่ชุมชนต้องการ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณ สีตะวัน

งานวิจัยชุมชนผมเข้าใจว่าพี่กร น่าจะเริ่มต้นคิดกระบวนการเล็กๆในเร็วๆนี้

และรายละเอียดงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในบันทึกผมมีส่วนหนึ่งให้ได้อ่านแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

มีโอกาสดีๆอาจได้ไปนั่งวงสนทนาพูดคุยที่อุดรฯ ครับ

 

ขอบคุณมากๆครับ

 

*** ไม่ทราบว่าได้รับ CD หรือยังครับ?

ขอบคุณ คุณเอก

...ที่เป็นสื่อทางสังคมที่นำเสนอเรื่องราวดีๆ ของโรงเรียน

.....จากมุมหนึ่งของการศึกษาค่ะ

 

อ่านเรื่องราวที่น้องเอกนำมาลงทีไรมีความสุขทุกครั้ง เหมือนเราได้ไปร่วมในเหตุการณ์นั้นด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดของตัวเอง จึงไม่อาจไปร่วมกิจกรรมดีๆเช่นนี้ จึงขออนุญาตเก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้ เพื่อเปิดดูในเวลาที่รู้สึกท้อ จะได้มีกำลังใจทำเพื่อเด็กๆต่อไป ขอบคุณมากๆสำหรับสิ่งดีๆที่นำมาลงให้พี่ได้อ่าน

ขอบคุณ ครูเอ  เช่นกันที่ช่วยประสานงาน ท่าน ผอ.สมบูรณ์ ให้ครับ..

อาจไม่ละเอียดมากในกระบวนการ ขั้นตอน แต่ขอเป็นแรงบันดาลใจดีๆให้คนแวดวงการศึกษาครับ

คุณwinny [IP: 125.27.52.204]

กำลังใจสร้างได้ด้วยตนเอง...ท้อได้แต่อย่าถอยครับ..

ขอบคุณครับที่มาอ่านเติมเต็มสม่ำเสมอ ...หากมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมประการใด แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ

 

 

 

จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่สอนทำนาเพื่อปลูกข้าวนะคะ แต่ยังได้ปลูกจิตสำนึกลงไปในใจเด็กๆ ด้วยค่ะ ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมากๆ เลยค่ะ ขอสนับสนุนค่ะ ^_^

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

  • เป็นโรงเรียนที่น้องเอกเล่าให้ฟังนะครับ
  • น่าสนใจมากๆๆ
  • เอามาฝาก
  • จากมหาสารคาม
  • บ้านสวนยายเฮ้า
  • Nongjarn7
  • Nongjarn4

น้องวชิราภรณ์ ครับ ที่โรงเรียนนี้ กระบวนการเรียนรู้ที่อยู่นอกหลักสูตร เป็นการบูรณาการเรียนรู้ให้กับเด็กๆครับ ช่วยกล่อมเกลาและพัฒนาเด็กให้ สุข ดี และ เก่ง หากอยู่ทางเหนือ มีโอกาสดีๆลองไปเยี่ยมชมโรงเรียนแห่งนี้ได้ครับ

 

อ.ขจิต ฝอยทอง

สวยยายเฮ้า เป็นโรงเรียนหรือ ศูนย์เรียนรู้ ???

เด็กๆน่ารักกันดีครับ ต้องขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยไปลดความเหลื่อมล้ำให้กับเด็กๆบ้านนอกครับ

 

ขอบคุณอาจารย์มากครับ ที่นำรูปมาฝากให้ชม

  • สวัสดีครับ
  • ผมภูมิใจโรงเรียนนี้มาก
  • ขออนุญาตนำเรื่องนี้ออกอากาศนะครับ

มาชม

การทำนา

ที่เริ่มลืมเลือนไปแล้วละ...

ให้ได้หวนคืนถิ่นท้องนา...

กว่าจากรวงมาเป็นเมล็ดข้าวนั้น มันเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน เด็กหลายคนอาจไม่เข้าใจ ขอบคุณคุณครูมากค่ะ สำหรับกิจกรรมดีดี

ท่าน เบดูอิน  ครับ

ยินดีครับ หากบันทึกนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง :)

อ.อุทัย umi

ผมมองว่า หลักสูตรท้องถิ่น ที่เน้นการปฏิบัติจริง เช่น "หลักสูตรการทำนา"ที่ร้องขี้เหล็กเป็นตัวอย่างหลักสูตรท้องถิ่นที่ดีครับ

มีโอกาสโรงเรียนต่างๆที่สนใจไปดูงาน เชิญได้นะครับ

มอบกำลังใจดีๆจาก คุณน้อยหน่า  สู่คณะครู โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็กผ่านบันทึกนี้ด้วยครับ ;)

  • ดีใจจัง
  • ที่โรงเรียนใกล้บ้าน
  • มีอะไรดีๆ

โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก เป็นโรงเรียนเล็กๆ จิ๋ว แต่ เเจ๋ว

เชิญชวนพี่  มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย) 
ไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนนี้ด้วยครับ อย่างน้อยผมคิดว่านวัตกรรมการศึกษาที่เขาได้ทำเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆได้เป็นอย่างดีครับ

สวัสดีครับอาจารย์จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ขอขอบคุณท่านเป็นอย่างสูงที่จุดประกายสานฝันให้แก่คณะครูได้ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆสำหรับครูแก่ๆครับและจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็ก ๆด้วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ขอขอบคุณท่านเป็นอย่างสูงที่จุดประกายสานฝันให้แก่คณะครูได้ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆสำหรับครูแก่ๆครับและจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็ก ๆด้วยครับ

ท่าน ผอ.สมบูรณ์ เดชยิ่ง ... ไม่เขียนสักบันทึกหรือครับ ?

พวกเรารออยู่นะครับ :)

ขอบคุณครับท่านอาจารย์วัต ผมคงต้องสะสมประสบการณ์และเรียนรู้อีกมากครับฝากตัวเป็นลูกศิษย์ด้วยนะครับ ชื่นชมในวิธีการเขียน กระบวนการคิดของท่านอาจารย์วัตและอาจารย์จตุพรมากครับ

สวัสดีคะคุณเอก พี่ส่งmail เบอร์ผอ.โรงเรียนให้แล้วนะคะ

และได้คุยรายละอียดกันไปบางส่วนตามที่เล่าในmail เปิดอ่านด้วยนะคะ

โรงดรียนนี้สอนให้หนูได้รู้จักความสามัคคีค่ะ

  • วันก่อน "ฮักเมืองน่าน" จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเกษตรกรเครือข่ายโรงเรียนชาวนาฮักเมืองน่าน มีเกษตรท่านหนึ่งตั้งประเด็นไว้น่าสนใจว่า "หมอส่งลูกไปเรียนหมอ ครูส่งลูกไปเรียนครู ตำรวจส่งลูกไปเรียนตำรวจ แต่ทำไมเกษตรกรกลับไม่ส่งลูกไปเป็นเกษตรกร กลับให้ลูกไปเป็นครู เป็นหมอ เป็นข้าราชการ"
  • เป็นการตั้งคำถามต่อสังคมว่า คุณค่าของเกษตรกรกำลังลดน้อยลงไปหรือไม่
  • ลูกชาวนาทำนาไม่เป็น และลูกชาวนาก็ไม่อยากเป็นชาวนา
  • ดีใจที่มีโรงเรียนสนใจระบบเกษตรกรรมหรอการทำนา ที่เป็นวิถีและรากฐานของสังคมไทยมาช้านาน
  • ฮักเมืองน่านก็มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างชาวนา ลูกหลาน ครู และนักเรียน เพื่อเรียนรู้เรื่องข้าว ชาวนา และคุณค่าความหมายของวิถีการเกษตร แต่ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อยของระบบเกษตรและชาวนาไทย
  • ดูบันทึกตัวอย่างที่ผมเคยบันทึกไว้เรื่องชาวนาที่นี่ครับ

สวัสดีครับอาจารย์จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ขอขอบคุณท่านเป็นอย่างสูงที่จุดประกายสานฝันให้แก่คณะครูได้ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆสำหรับครูแก่ๆครับและจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็ก ๆด้วยครับ

 

สวัสดีครับ ผอ.สมบูรณ์

ผมกลับมาอ่านบันทึกนี้อีกครั้ง เพื่อทบทวนเชิงประเด็น เเละเตรียมประเด็นในการพูดคุยในวงเเลกเปลี่ยนครับ

ต้องขอบคุณ ผอ.มากครับ ที่ให้การต้อนรับเมื่อคราที่ผมเดินทางไปเยี่ยมโรงเรียน

ให้กำลังใจผอ. และ คณะครูทุกท่านครับ

Wasawat Deemarn

ท่าน ผอ.สมบูรณ์ เดชยิ่ง ... ไม่เขียนสักบันทึกหรือครับ ?

พวกเรารออยู่นะครับ :)

 

พอดี ผมมาตอบบันทึกช้าไปหน่อย

ก็พบว่า ผอ.สมบูรณ์ท่านเขียนบันทึกเเล้ว และ เป็นหนึ่งใน ผอ.ที่ถูกคัดเลือกมาใน วง ลปรร. ครับ

สมบูรณ์ เดชยิ่ง

ขอบคุณครับท่านอาจารย์วัต ผมคงต้องสะสมประสบการณ์และเรียนรู้อีกมากครับฝากตัวเป็นลูกศิษย์ด้วยนะครับ ชื่นชมในวิธีการเขียน กระบวนการคิดของท่านอาจารย์วัตและอาจารย์จตุพรมากครับ

 

ขอบคุณ ผอ.สมบูรณ์ ครับ ขอบคุณในคำชื่นชมนะครับ

สวัสดีคะคุณเอก พี่ส่งmail เบอร์ผอ.โรงเรียนให้แล้วนะคะ

และได้คุยรายละอียดกันไปบางส่วนตามที่เล่าในmail เปิดอ่านด้วยนะคะ

 

ขอบคุณพี่ไก่ ประกายครับ สำหรับข้อมูลเบื้องต้นในการประสานงานโรงเรียน ผมได้ประสานงานโรงเรียนที่ให้เบอร์โทรศัพท์มาเเล้วครับ

ปรากฏว่า ผอ.โรงเรียนท่าน ไม่ค่อยต้อนรับ เท่าไหร่(จากการสนทนา) ...ก็ดีเเล้วครับ ก็ถือว่าเป็นการสกรีนโรงเรียนเหล่านี้ออกไปครับ

โรงเรียนนี้สอนให้หนูได้รู้จักความสามัคคีค่ะ

สวัสดีครับ น้องกุ้กกิ้ก

ยินดีด้วยนะครับ สำหรับโรงเรียนเล็กๆที่เปี่ยมคุณภาพ เช่น รร.บ้านร้องขี้เหล็ก

  • วันก่อน "ฮักเมืองน่าน" จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเกษตรกรเครือข่ายโรงเรียนชาวนาฮักเมืองน่าน มีเกษตรท่านหนึ่งตั้งประเด็นไว้น่าสนใจว่า "หมอส่งลูกไปเรียนหมอ ครูส่งลูกไปเรียนครู ตำรวจส่งลูกไปเรียนตำรวจ แต่ทำไมเกษตรกรกลับไม่ส่งลูกไปเป็นเกษตรกร กลับให้ลูกไปเป็นครู เป็นหมอ เป็นข้าราชการ"
  • เป็นการตั้งคำถามต่อสังคมว่า คุณค่าของเกษตรกรกำลังลดน้อยลงไปหรือไม่
  • ลูกชาวนาทำนาไม่เป็น และลูกชาวนาก็ไม่อยากเป็นชาวนา
  • ดีใจที่มีโรงเรียนสนใจระบบเกษตรกรรมหรอการทำนา ที่เป็นวิถีและรากฐานของสังคมไทยมาช้านาน
  • ฮักเมืองน่านก็มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างชาวนา ลูกหลาน ครู และนักเรียน เพื่อเรียนรู้เรื่องข้าว ชาวนา และคุณค่าความหมายของวิถีการเกษตร แต่ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อยของระบบเกษตรและชาวนาไทย
  • ดูบันทึกตัวอย่างที่ผมเคยบันทึกไว้เรื่องชาวนาที่นี่ครับ
  • จ.น่าน เป็นจังหวัดที่มีกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาสังคม ที่น่าเข้าไปเรียนรู้ร่วมด้วยมากๆครับ

    ผมตาม link ไปแล้ว มีประโยชน์ในการคิดต่อมาก ต้องขอบคุณคุณพ่อน้องซอมพอ มากๆครับ

    - สุขกายสุขใจนะคะ

     

    ครูพรรณาครับ

     ขอบคุณมากๆครับ คุณครู

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท