จัดการความรักก่อนการจัดการความรู้ : ถอดบทเรียนทันตแพทย์ผู้นำการพัฒนา


กระบวนการจัดการความรัก กระบวนการจัดการความรู้สึก ก่อน จัดการความรู้ ผมเห็นความยั่งยืนในตรงนี้เอง ในเรื่องการทำงานส่งเสริมสุขภาพในระดับพื้นที่นั้น ผมคิดว่าเป็นปลายทางของการกระบวนการเรียนรู้ สำคัญที่สุดก็คือ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่หนุนเสริม จากการเป็นชุมชนแห่งการปฏิบัติ เครือข่ายที่เกิดขึ้นจากใจรวมใจแบบนี้ มีพลังอย่างมากจะเสริมในเรื่องความรู้โดยเฉพาะความรู้แฝง เกิด invisible KM เกิดนวัตกรรมหลายๆอย่างขึ้นในเนื้อหางานส่งเสริมสุขภาพในพื้น

หากเป็นดอกไม้ก็คงเป็นดอกไม้ที่เบ่งบาน มีกลิ่นหอมที่สุดอีกดอกหนึ่ง ในวงการสุขภาพของเมืองไทย ที่ผมกล่าวเปรียบเปรยแบบนี้ ผมหมายถึง กลุ่มของทันตแพทย์ ที่ทางทีมงานได้มีโอกาสไป “ถอดบทเรียน” การทำงาน ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทันตแพทย์ผู้นำรุ่นพี่เลี้ยงฯ ด้านส่งเสริมสุขภาพ ปี ๒๕๕๒ ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา

ครั้งนี้เป็นการรวมเอาทันตแพทย์ที่เข้ากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในโครงการพัฒนาทันตแพทย์ผู้นำ ที่อยู่ทั่วประเทศ ของกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย

Dentkm

ทีมถอดบทเรียนของเราก็มีหน้าที่ไปถอดบทเรียนกระบวนการทำงาน ว่าในที่สุดแล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เป็นอย่างไร ดูในทุกมิติ และมีความสำเร็จอะไรบ้างที่จะเสริมต่อในปีงบประมาณต่อไป

ผมอ่านวัตถุประสงค์คร่าวๆก่อนที่จะทำโครงสร้างการประเมินผลโดยใช้การถอดบทเรียน และ ทางทีมงานทำ BAR ผ่านทางอีเมล เพื่อให้ได้โครงสร้างคำถาม เพื่อจะนำมาสู่คำตอบที่ทางกองทันตฯต้องการ  ประสบการณ์ของผมอีกประเด็นหนึ่งที่อยากถ่ายทอดให้กับผู้อ่านทุกท่านก็คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในทีมทำงานผ่านทางอีเมล เพื่อให้ได้คำตอบในระดับหนึ่งก่อนที่ทีมงานจะคุยกันเป็น BAR ก่อนที่จะทำงานจริงๆแบบพบหน้าค่าตายังที่ประชุมเลย กระบวนการทำงานของกลุ่ม FA ที่ทำการถอดบทเรียนแบบนี้สามารถย่นระยะทางในการทำความเข้าใจได้ดี ประเด็นไม่ตกหล่น

Dentkm1

สองวันที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ เราแบ่งทันตแพทย์ออกเป็น ๔ กลุ่ม รายภาค  ที่แบ่งแบบนี้เพราะแต่ละภาคได้รับ Input ที่เหมือนกัน แต่กระบวนการนำไปดำเนินการรายภาคนั้น ได้จัดกระบวนการเรียนรู้โดยอิสระ สิ่งที่กองทันตฯ อยากเรียนรู้ด้วยก็คือ บทเรียนและประสบการณ์การพัฒนาทันตแพทย์ผู้ระดับอำเภอนั้นเป็นอย่างไร,กระบวนการเรียนรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการพัฒนา รวมไปถึงรูปแบบและแนวทางในการบริหารจัดการ ซึ่งแต่ละภาคน่าสนใจแตกต่างกัน ข้อมูลที่ถอดบทเรียนทั้งหมดจะถูกนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการทำแผนต่อเนื่องต่อไป

ทางทีมขอขอบคุณไปยัง ทพญ.บุญเอื้อ ยงวานิชากร ที่ให้โอกาส “ทีมถอดบทเรียน” ครั้งนี้เราใช้ทีมใหญ่เลยทีเดียว เป็นการทำงานครั้งแรกของผมที่ใช้ทีมงาน FA ทั้งหมด ๘ ท่าน  ตลอดทั้งกระบวนการที่เราออกแบบทั้งสองวัน เน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการพูดคุยแบบธรรมชาติ เสวนากาแฟ แล้วแต่จะเรียกครับ ...แต่ผมเน้นความสบายๆ ไร้รูปแบบ พูดคุยแบบฉันท์มิตร...

ทันตแพทย์ทุกท่านได้ผ่านกระบวนการนี้มาแล้ว การพูดคุยเราสนุกสนาน ตามสไตล์แต่ละภาค ภาคเหนือพูดคุยช้าๆเบาๆมีความสุข ภาคอีสานครื้นเครง เสียงหัวเราะครืนๆ ภาคใต้ กระฉับกระเฉง พูดตรงๆ ภาคกลางก็มีสไตล์การแลกเปลี่ยนที่เป็นเอกลักษณ์ 

ความหลากหลายที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของผู้คนของแต่ละภาคโดยแท้ การแบ่งทันตแพทย์รายภาคมีข้อดีในส่วนของการประเมินผ่านการถอดบทเรียนที่สอดคล้องกับบริบทภูมิสังคม และธรรมชาติ

ทีมงานเราสัมผัสความสุข ผ่านกระบวนการทำงานผ่านเรื่องเล่าที่เร้าพลัง และสายตาที่มุ่งมั่นของทันตแพทย์ พลังที่ทุกท่านมีอยู่ในตัวเองนั้น คือ การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทำงานในบริบทของความสุขจากข้างใน ตรงนี้เองทำให้ผมสัมผัสถึงความสำเร็จของโครงการที่กองทันตฯได้วางแผนไว้...หากประเมินจากคนที่เคยทำงานชุมชนเหมือนกัน ผมมองว่า ความยั่งยืนอยู่ตรงนี้เอง ความยั่งยืนอยู่ที่ใจที่เข้มแข็งมีภูมิคุ้มกันของคนทำงาน

 

กลุ่มทันตแพทย์ ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีพลังปัญญาสูง เมื่อได้เรียนรู้กระบวนการ KM ที่ถูกเหมาะสม สอดคล้องกับจังหวะการพัฒนามนุษย์ เริ่มจากข้างใน เป็นหลักสูตรที่ สคส.ได้จัดให้เป็นหลักสูตรกลาง ตรงนี้ขอปรบมือให้กับ สคส.ที่มี อ.อ้อม เป็นคุณครูที่ช่วยเปิดกระบวนการดีๆเป็น input ให้กับโครงการ

เมื่อเป็นกลุ่มที่มีพลังทางปัญญาสูง ได้รับกระบวนการเรียนรู้ที่มีพลัง การนำไปใช้ต่อ การนำไปทำกระบวนการต่อในแต่ละภาคก็มีพลังที่น่าทึ่ง

 Slide6

ผมขอสะท้อนทางภาคเหนือ ด้วยผมเป็น FA ในกลุ่มภาคเหนือ โดยสรุป ภาคเหนือเป็นภาคที่เคลื่อนตัวอย่างช้าๆแต่มีพลังมาก ที่ผมบอกแบบนี้คือ ภาคเหนือเลือกเฟ้นการขยายผลกับคนมี “ใจ” ต่อมาก็นำเข้ามาสู่กระบวนการเรียนรู้โดยใช้ KM  

กระบวนการจัดการความรัก กระบวนการจัดการความรู้สึก ก่อน จัดการความรู้ ผมเห็นความยั่งยืนในตรงนี้เอง ในเรื่องการทำงานส่งเสริมสุขภาพในระดับพื้นที่นั้น ผมคิดว่าเป็นปลายทางของการกระบวนการเรียนรู้ สำคัญที่สุดก็คือ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่หนุนเสริม จากการเป็นชุมชนแห่งการปฏิบัติ เครือข่ายที่เกิดขึ้นจากใจรวมใจแบบนี้ มีพลังอย่างมากจะเสริมในเรื่องความรู้โดยเฉพาะความรู้แฝง เกิด invisible KM เกิดนวัตกรรมหลายๆอย่างขึ้นในเนื้อหางานส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่....

Slide8

ภาพพื้นหลังจาก www.pixpro.com

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นที่ภาคเหนือ มาถูกทางและเน้นความสุขของคนทำงาน

ขอชื่นชมทีมงาน กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ที่เปิดพื้นที่มณฑลแห่งพลังให้กับเครือข่ายทันตแพทย์ได้อย่างงดงาม ชื่นชม สคส. ที่นำโดย อ.อ้อม ในการเปิดประตู KM ที่เป็นต้นเรื่องความงามเหล่านี้ ชื่นชมทีมงานถอดบทเรียนของผมเองทั้ง ๘ ท่าน ที่ทำงานอย่างมีชีวิตชีวา และมีความสุข จนสัมผัสได้ทั้งสองวัน

ทั้งหมดนี้เป็นความดี ความงาม และพลังในการส่งเสริมสุขภาพในสังคมไทยในวันนี้และอนาคต โดยกลุ่มทันตแพทย์ของเมืองไทย ดอกไม้ที่กำลังเบ่งบาน ส่งกลิ่นหอมหวล ทุกภาคของประเทศไทย

*** ขอบคุณ ทพญ.นนทลี เพื่อนร่วมทาง   ที่ได้เปิดโอกาสให้ ทีมทำงาน ได้เรียนรู้ร่วมกับ กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ครับ

 

 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ศาลายา

๖ พย.๕๒

ขอเพิ่มเติม ข้อความยาวๆที่ได้จากการอ่านหนังสือในเช้าวันนี้ จากวารสารจัดการความรู้เพื่อพัฒนาครอบครัวไทย ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๙ เมษายน - พฤษภาคม ๒๕๕๐

...กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ เคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน จึงให้ความสำคัญกับความละเอียดอ่อนของเครื่องมือ วิธีการ ซึ่งล้วนได้มาจากการใช้ "ใจ" ลงไปทำ ความสัมพันธ์ในทุกระดับของเครือข่ายจึงเป็นไปในแนวราบ ใช้ความเป็นมิตร การเป็นหุ้นส่วนคิดและทำร่วมกัน ร่วมเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และคอยประคับประคองกันในยามที่มีปัญหา...

หมายเลขบันทึก: 311278เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2009 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (33)

บทเรียนและประสบการณ์การดำเนินงานภาคเหนือ

                                                     โดย เกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร (หนานเกียรติ)

การพัฒนาทันตแพทย์ผู้นำรุ่นพี่เลี้ยง (รุ่น ๑)

            กลุ่มเป้าหมายจากภาคเหนือ ประกอบด้วยทันตแพทย์ จำนวน ๗ ท่าน มีทั้งผู้ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนและสำรักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่ได้รับการทาบทามจากกองฯ ให้มาเข้าร่วมประชุมรับทราบและเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการ

            ทันตแพทย์ทั้ง ๗ ท่าน ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประกอบด้วย ทพ.ไพฑูรย์ สายสงวนสัตย์ รพ.สมเด็จพระญาณสังวร จ.เชียงราย, ทพญ.มยุเรศ เกษตรสินสมบัติ รพ.ปัว จ.น่าน, ทพญ.จุฑารัตน์ รัศมีเหลืองอ่อน รพ.เถิน จ.ลำปาง,      ทพ.วีระ อิสระธานันท์ รพ.แม่จัน จ.เชียงราย, ทพ.สุริยา รักเจริญ รพ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์,          ทพ.สงกรานต์ ภู่โฉม รพ.ศรีนคร จ.สุโขทัย และ ทพญ.ขวัญหทัย อินทรรุจิกุล สสจ.แพร่

            ทั้งหมดเข้ารับการอบรมการจัดการความรู้ (KM) จากโครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้นำด้านส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ปี ๒๕๕๒ ดำเนินการโดยกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย จำนวน ๒ ครั้ง เนื้อหาการอบรมทั้งสองครั้ง เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ที่มุ่งให้ผู้เข้าร่วมได้รับทั้งความรู้ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ และทักษะที่จำเป็นบางประการสำหรับการขับเคลื่อนงานต่อในระดับพื้นที่

            เนื้อหาความรู้ ได้แก่ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้

            การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ดำเนินการผ่านกิจกรรม/เกมต่าง ๆ มุ่งให้เข้าใจและใส่ใจกับการเข้าใจตนเองและผู้อื่นให้มากขึ้น รวมทั้งการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน

            การเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็น ได้แก่ การฟัง เล่าเล่า ฝึกการเป็น Facilitator และ Note taker ฝึกการใช้เทคนิคต่าง ๆ (OM,EE,CoPs ฯลฯ)

            วิทยากรผู้ดำเนินการอบรมทั้งสองครั้ง คุณอรพิน ชูเกาะทวด จาก สถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ซึ่งผู้เข้าร่วมหลายท่านสะท้อนว่า สามารถจัดกระบวนการฝึกอบรมได้อย่างน่าสนใจ สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจ ความตระหนัก และทักษะต่าง ๆ ได้อย่างดี ถ่ายทอดเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย เป็นผลให้ผู้เข้าร่วมมีทัศนคติที่ดีต่อ KM รวมทั้งเทคนิคอื่น เช่น OM ที่แต่เดิมมีทัศนคติที่ไม่สู้จะดี และหลายคนบอกเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่น่าสนใจ

            “...เคยรู้จักและผ่านการอบรม OM มาหลายครั้งแล้ว เดิมคิดว่า OM แม้จะเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจ แต่ก็เป็นเรื่องยุ่งยาก พอได้มาอบรมกับ อ.อ้อม รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องง่าย ๆ...”

กระบวนการ การพัฒนาทันตแพทย์ผู้นำ รุ่น ๒

            ภารกิจของทันตแพทย์ผู้นำรุ่นพี่เลี้ยง (รุ่น ๑) คือ การพัฒนาทันตแพทย์ผู้นำ (รุ่น ๒) ในภาคของตนเอง เนื่องจากทีมงานทั้ง ๗ ซึ่งอยู่กระจัดกระจาย การพบปะเจอหน้าค่าตาเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก การเตรียมการจึงเริ่มต้นทันทีหลังจากการอบรมทันตแพทย์ผู้นำรุ่นพี่เลี้ยง (รุ่น ๑) ครั้งที่ ๒ ที่ จ.สระบุรี

            ในการเตรียมการคราวนั้น ทีมงานทั้ง ๗ ได้หารือแนวทางไว้เพียงคร่าว ๆ ซึ่งหลังจากนั้นเป็นการเตรียมการผ่านทางโทรศัพท์ และอีเมล ซึ่ง ทพญ.ขวัญหทัย อินทรรุจิกุล น้องสุดท้องในกลุ่ม รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน

            แม้ทีมงานแต่ละท่าน จะอยู่กันกระจัดกระจายในหลายจังหวัด แต่ก็มิใช่อุปสรรคสำหรับการเตรียมการดังกล่าว ด้วยความเอาใจใส่และทุ่มเทของผู้ประสานงาน ที่ดำเนินการผ่านเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ การเตรียมการจึงถูกเกิดขึ้นอย่างประณีต

            ในขณะที่ภาคอื่น ๆ ได้ดำเนินการอบรมทันตแพทย์ผู้นำ รุ่นที่ ๒ ไปก่อนหน้าบ้างแล้ว ผู้ประสานงานจึงได้ประสานงานหยิบยืมแผนการดำเนินงานจากภาคอื่น ๆ มาผสมผสานเข้ากับเนื้อหาและรูปแบบจากการอบรมทันตแพทย์ผู้นำรุ่นพี่เลี้ยง (รุ่น ๑) ปรับเป็นแบบฉบับที่คาดว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของภาคเหนือ

            การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทันตแพทย์ผู้นำ รุ่น ๒ กำหนดไว้ ๒ ครั้ง ครั้งแรกดำเนินการไปแล้วที่ จ.น่าน เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมทั้งรุ่น ๑ และรุ่น ๒ ควบคู่ไปกับการเพิ่มพูนความรู้เนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการความรู้และทักษะบางประการสำหรับการทำงานในระดับพื้นที่ รวมทั้งการคิดค้นแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในระดับภาค

            ทีมวิทยากร (Facilitator) เป็นทันตแพทย์ผู้นำรุ่นพี่เลี้ยง (รุ่น ๑) แต่ละคนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเนื้อหาต่าง ๆ ซึ่งรับรู้บทบาทภารกิจของตนเองจากการประสานงานของ ทพญ.ขวัญหทัย อินทรรุจิกุล และได้เตรียมการในส่วนของตนเองอย่างดี

            ที่มาของทันตแพทย์ผู้นำรุ่น ๒ มาจากการเสนอชื่อของทันตแพทย์ผู้นำรุ่นพี่เลี้ยง (รุ่น ๑)

            “...ทำอย่างไรจะให้มีทีมงานมากกว่า ๗ คน เห็นรายชื่อทันตแพทย์แล้ว ก็รู้ว่าใครจะมาช่วยเราได้ ใครบ้างที่น่าจะมาร่วมงานกับเรา การชักชวนและเลือกมาเข้าร่วม ไม่ได้พิจารณาว่าเก่งหรือไม่เก่ง แต่พิจารณาจากความสนใจ มีใจให้...”

ทันตแพทย์ในภาคเหนือแม้มิได้จบมาจากสถาบันเดียวกัน แต่ทั้งหมดก็เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากการเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษาทันตแพทย์ที่มาฝึกงาน เหตุดังกล่าวจึงเป็นการโยงใยทันตแพทย์ในภาคเหนือที่อยู่อย่างกระจัดกระจายเข้าด้วยกัน และสิ่งนี้เป็นต้นทุนสำคัญสำหรับการเฟ้นหาตัวทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการพัฒนาในรุ่นที่ ๒    

            ทันตแพทย์หลายท่านที่ถูกเชื้อเชิญให้เข้ามาร่วม บางท่านยังมีข้อสงสัย และยังไม่สนิทใจกับการเข้าร่วมโครงการมากนัก เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาการเข้าร่วมโครงการฯ ต่าง ๆ มักมีวาระแอบแฝงติดมาด้วย แต่พอเข้าร่วมเวที เห็นความทุ่มเทของกองฯ/ทีมงาน จึงเปิดใจเข้าร่วม และที่สุดก็เป็นที่มาของผลลัพธ์ดี ๆ หลายประการ

            แม้การเตรียมงานจะมีความประณีตและพิถีพิถัน แต่ทีมงานมือใหม่หลายคนก็มีความกังวลไม่น้อย ไม่รู้ว่าบุคคลที่เชิญชวนเข้าร่วมจะมาร่วมไหม ผู้เข้าร่วมเกือบ ๓๐ คน ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ทั้งทันตแพทย์อาวุโส มีประสบการณ์ทำงานยาวนาน ทันตแพทย์จบใหม่ทำงานได้ไม่ถึงปี และที่สำคัญเป็นการร่วมงานกันครั้งแรก การเตรียมงานครั้งสุดท้านในวันอาทิตย์ก่อนการอบรมจะเริ่มต้นในวันรุ่งขึ้น ทีมงานทุกคนยังมีสีหน้ากังวล

            แต่เมื่อผ่านช่วงเช้าของวันแรกไปได้แล้ว สีหน้าของทีมงานคลายกังวลไปจนหมดสิ้น เนื่องจากทันตแพทย์ที่เข้าร่วมทั้งผู้นำรุ่น ๑ และรุ่น ๒ เข้ากันได้อย่างสนิทสนม มีความสัมพันธ์กันในระดับดี มีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะดำเนินกิจกรรมที่กำหนดไว้

            สิ่งที่ทำให้การดำเนินการเวทีในช่วงเช้าวันแรก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญประสบความสำเร็จ มาจากหลายองค์ประกอบ เช่น

            -    การจัดรูปแบบของห้องประชุมให้ไม่เป็นทางการ ให้ทุกคนนั่งกับพื้นอย่างเท่าเทียมกัน กระทั่งนายแพทย์สาธารณสุข จ.น่าน ที่มาร่วม ก็นั่งกับพื้นล้อมวงเช่นเดียวกับผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่น ๆ

            -    ทีมงานทันตแพทย์รุ่น ๑ บางท่านเป็นผู้อาวุโส เป็นที่ยอมรับ/นับถือของบรรดาผู้เข้าร่วม ได้ให้ความสนิทสนมและเป็นกันเองกับทุกคน

            -    ความตั้งใจ ความจริงใจ ของทีมงาน ซึ่งความรู้สึกนี้ถูกส่งผ่านไปยังผู้เข้าร่วม และรับรู้ได้ถึงความรู้สึกนั้น ก็ทำให้บรรยากาศในวงผ่อนคลาย พร้อมที่จะเปิดใจยอมรับ/รับฟัง

            เนื้อหาที่พูดคุยในที่ประชุม คือ KM สำหรับในบ่ายวันแรก และ OM ในวันถัดมา

ผลการพัฒนาทันตแพทย์ผู้นำรุ่นพี่เลี้ยง (รุ่น ๑) และทันตแพทย์ผู้นำ (รุ่น ๒)

            ๑.  การ Input เครื่องมือ/เทคนิคต่าง ๆ (อาทิ KM,OM,EE,CoPs) ซึ่งอยู่ในกระแสความสนใจ และดูเหมือนว่ามีการถูกนำไปใช้และกล่าวถึงอย่างพร่ำเพื่อ จน (อาจ) ทำให้คุณค่าของเครื่องมือลดลง นอกจากนั้นผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ผ่านประสบการณ์การรับรู้มาบ้าง และเป็นการรับรู้ด้านของความยากและซับซ้อน จึงพบว่าการประยุกต์ใช้เครื่องมือ/เทคนิคนั้นค่อนข้างน้อยและไม่แพร่หลายมากนัก แต่การอบรมของโครงการฯ ทั้งรุ่น ๑ และรุ่น ๒ ที่ทำให้การรับรู้/เรียนรู้ ถึงความง่ายและการปฏิบัติได้จริงของเครื่องมือเหล่านั้น ก็ทำให้ผู้เข้าร่วมจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนทัศนคติ นำเครื่องมือ/เทคนิคเหล่านั้นมาปรับใช้ในการทำงานของตนเอง เป็นทางหนึ่งในการพัฒนางานในระดับพื้นที่ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

            ๒.  แม้ว่าทันตแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการทั้งรุ่น ๑ และ รุ่น ๒ จะได้รับความรู้ความเข้าใจ ได้รับการฝึกทักษะเครื่องมือการทำงานต่าง ๆ จนเรียกได้ว่าทำได้และมีทัศนคติที่ดี แต่ก็มิใช่ผลลัพธ์ที่มีความสำคัญไปกว่า “การกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ” ในการทำงาน รวมทั้ง “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน” ผ่าน “เรื่องเล่า” ของแต่ละคน ผลลัพธ์ประการนี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เวทีการอบรมครั้งที่ ๒ สำหรับทันตแพทย์รุ่นที่ ๑ เกิดขึ้น ทำให้การอบรมทันตแพทย์รุ่นที่ ๒ เกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งแนวโน้มของการจัดเวทีอบรมต่อเนื่องครั้งที่ ๒ ที่จะดำเนินการในเร็ววันนี้

            ๓.  เกิดเครือข่ายทันตแพทย์ในภาคเหนือ (COP) ที่เป็นเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ทำให้ทันตแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้มีมีโอกาสแลกเปลี่ยน แบ่งปัน ได้รับกำลังใจระหว่างกัน ทั้งหมดทั้งสิ้นช่วยเสริมพลังการทำงานของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเครือข่ายฯ/COP ดังกล่าว หากมีการกระตุ้นและเสริมแรงอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพอีกกลไกหนึ่ง

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน

            ๑.  องค์ประกอบของทันตแพทย์ผู้นำพี่เลี้ยง (รุ่น ๑) ที่ลงตัว ประกอบด้วยบุคคลที่หลายหลายทั้งวัยวุฒิและประสบการณ์ มีรุ่นพี่อาวุโสมาก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับนับถือกับบุคลากรในวงการ มีทันตแพทย์รุ่นใหม่ ที่มีความคิดมุมมองใหม่ ๆ และทั้งหมดล้วนเป็น “ตัวจริง เสียงจริง” เป็นบุคคลที่ “ใจ” มาก่อน สามารถทำงานได้อย่าง “เข้าขา” กันอย่างแนบเนียน

            ๒.  เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ทันตแพทย์ในภาคเหนือที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงอยู่กับคณะ       ทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่มาของการเฟ้นหาผู้เข้าร่วมในการอบรมทันตแพทย์ผู้นำ (รุ่น ๒)

            ๓.  พื้นฐานความรู้ความเข้าใจของผู้เข้าร่วม ที่ผ่านการรับรู้/เรียนรู้ เครื่องมือและทักษะต่าง ๆ มาบ้างแล้ว การอบรมจึงเป็นการต่อยอดความรู้

            ๔.  บรรดาเครื่องมือและเทคนิคต่าง ๆ (KM,OM,CoPs, EE ฯลฯ) ซึ่งเป็น Input ในการอบรม ทั้งทันตแพทย์ผู้นำพี่เลี้ยง (รุ่น ๑) และทันตแพทย์ผู้นำ (รุ่น ๒) เป็นกุศโลบายในการฝึกอบรมที่ช่วยกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ผู้เข้าร่วมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

            ๕.  “เรื่องเล่า” เป็นเครื่องมือที่ทำให้การอบรม ทั้งทันตแพทย์ผู้นำพี่เลี้ยง (รุ่น ๑) และทันตแพทย์ผู้นำ (รุ่น ๒) ลื่นไหลและประสบความสำเร็จ เนื่องจากสามารถทำให้แต่ละคนได้มีโอกาสบอกเล่า/แชร์ประสบการณ์ ความคิด ความสำเร็จของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ได้รับฟังเรื่องราวจากเพื่อน ๆ ทำให้ได้รับมุมมอง แง่คิด ประสบการณ์ที่หลากหลาย

            ๖.  ความไม่เป็นทางการมากนักของเวทีการอบรม ทำให้บรรยากาศของการอบรมผ่อนคลาย คนเข้าร่วมเปิดใจยอมรับและรับฟัง

            ๗. การเริ่มต้นของโครงการฯ ที่ดูเหมือนคลุมเครือไม่ชัดเจน และดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหานั้น กลายเป็นจุดแข็งของโครงการฯ เนื่องจากได้เปิดโอกาสให้แต่ละภูมิภาคได้คิดค้น/ออกแบบ กระบวนการ (ทั้งรูปแบบและเนื้อหา) ที่เหมาะสม/สอดคล้องกับศักยภาพของตนเอง กับบริบทพื้นที่

 

จุดแข็งของภาคเหนือที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนความรู้ 

            ๑.  ทันตแพทย์ที่ถูกคัดเลือกมาครั้งที่ ๑ เป็นผู้ที่มี “ทุน”  คือ มีความสามารถ มีประสบการณ์ และมีบุคลิกในการนำกระบวนการได้

            ๒.  มีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิม เช่น เครือข่ายทันตแพทย์ในพื้นที่,เครือ่ายทันตภูธร ทำให้การก่อเกิดเครือข่ายง่ายมากขึ้น

            ๓.  การให้โอกาสในการคิดรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ พร้อมทั้งให้มุ่งไปยังจุดเป้าหมาย คือ การพัฒนาเครือข่ายทันตแพทย์ให้เข้มแข็ง

            ๔.  ความตั้งใจและมุ่งมั่นของทีมทันตแพทย์พี่เลี้ยงรุ่น ๑

            ๕.  รูปแบบการแลกเปลี่ยนเน้น การตั้งวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นอิสระ เปิดมุมมองรุ่นน้อง โดยการแชร์ประสบการณ์ของรุ่นพี่

            ๖.  มุมมองต่อความหลากหลาย คือ ความเป็นธรรมชาติ “คล้ายกันในความคิด แตกต่างในกระบวนการ”

            ๗. จิตสำนึกในการเป็นเจ้าของโครงการร่วมกัน

            ๘. เน้นการให้ “ใจ” ก่อนการจัดการความรู้ และสร้างทัศนคติที่ดี ขับเคลื่อนการพัฒนาตน พัฒนางานบนพื้นฐานทัศนคติที่ดี

 

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการพัฒนาผู้นำฯ

            ๑.  เป็นโครงการที่ดีที่เปิดโอกาสให้ ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้กำหนดรูปแบบ วิธีการในการพัฒนาตนเอง ที่สอดคล้องกับความต้องการ และให้มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน ยึดความสุข และความ  พึงพอใจในกระบวนการเรียนรู้

            ๒.  ให้กองทันตฯ ดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และดำเนินการในระดับนโยบายควบคู่กันไปด้วย

 

ข้อเสนอแนะต่อการทำแผนฯ ปี ๒๕๕๓ (กลุ่มภาคเหนือ)

            ๑.  การสร้างพื้นที่ใหม่ๆ สำหรับเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแลกเปลี่ยนความรู้ เช่น การ Online Sharing (Blog,E-mail)

            ๒.  การจัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง เสริมทักษะในการทำงานส่งเสริมสุขภาพชุมชน

            ๓.  พัฒนา CoPs เดิมให้เข้มแข็ง และสร้างเครือข่ายเพิ่ม

            ๔.  จัดทำและพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาทันตแพทย์ผู้นำ และผลักดันรูปแบบการพัฒนาผู้นำการส่งเสริมสุขภาพเข้าไปในหลักสูตรในมหาวิทยาลัย

            ๕.  ท้าทายรูปแบบการเรียนรู้ของทันตแพทย์ด้วยวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้ KM ค้นหา Best practice ของการทำงานทันตแพทย์ในพื้นที่แล้วนำมาขยายผล นำเสนอสู่สาธารณะ

            ๖.  มีการแลกเปลี่ยนข้ามเครือข่าย CoPs วิชาชีพ ,การศึกษาดูงาน

            ๗. พัฒนาสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กระบวนการทำงานของทันตแพทย์ในพื้นที่ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ

 

                                                                  ถอดบทเรียนโดย

                                                                  นายเกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร

                                                                  นายจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

  • สวัสดียามสายครับ
  • ตามมาชื่นชมด้วยคนครับ
  • เพียงแต่เปิดโอกาสให้คนได้มาร่วมแชร์และแบ่งปันประสบการณ์ในการทำงาน
  • เท่านี้ก็เป็นมาตรวัดได้ว่าต้นน้ำ....ได้เดินมาถูกทางแล้ว
  • เห็นด้วยกับ....การจัดการความรู้สึก...ก่อนจัดการอย่างอื่น
  • เพราะทุกอย่างล้วนอยู่ที่ใจ...หากเปิดใจแล้วอย่างอื่นก็ไม่ยาก
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำประสบการณ์มาแบ่งปัน
  • ภาคอื่นติดตามอ่านได้ที่ไหนครับ....

พี่ยุทธครับ

กระบวนการทำงานของ Fa ถอดบทเรียนในสองวันนั้น เราสรุปกันเเบบ ช้อตต่อช้อตเลย แบบว่าเร่งรีบกันมากเพื่อให้เกิดการสะท้อนในเวทีมากที่สุด  ผมกับพี่หนานเกียรติรับผิดชอบภาคเหนือ ก็เลยได้มาเเต่ภาคเหนือ เเต่ทุกภาคที่เหลือก็ได้สรุปตามแนวทางที่เรากำหนดไว้ครับ...

ผมจะนำฉบับใหญ่ที่รวมทุกภาคลงในบันทึกอีกครั้งครับ

 

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากๆก็คือ

  • ใจ คือ ประธาน การทำงานพัฒนาคน ให้พัฒนาที่ "ใจ" ก่อน เมื่อใจมาทุกอย่างก็จะขับเคลื่อนไปได้
  • กระบวนการทำงานของ FA ที่ประสานสอดคล้อง การทำงานเร็วๆ เพื่อให้สะท้อนได้ทัน เป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนต่อเนื่อง สนุกสนาน มีสีสันมาก

ขอบคุณ Facilitator ร่วมทีมของผม ที่ เป็นทีมงานเปี่ยมสุข -

  • ดร.ยุวนุช
  • คุณธันยพร
  • คุณเกียรติศักดิ์
  • คุณศิลา ภูชยา และ กลุ่ม Fa จากสาธารณสุขอาเซียนมหิดล อีก ๓ ท่าน

มาเรียนรู้ด้วยขอรับ..

จะได้นำมาประยุกต์ใช้ตามสถานการณืนั้นได้..

สาธุๆๆ

นมัสการขอรับ ท่าน ธรรมฐิต 

ใจ มา ทุกอย่าง "ขับเคลื่อน" ครับ

เป็นบันทึกที่อ่านแล้วสร้างพลังในการทำงาน

และตอกย้ำถึงการทำงานผ่านกระบวนการให้ความรัก จัดการความรู้สึก นำไปสู่การจัดการความรู้ ว่า....เรามาถูกทาง และไม่ได้ดื้อยา...

ขอบคุณนะครับ

โอ...อาการ "ดื้อยา" นี่ น่ากลัวนะครับพี่ น้าอึ่งอ๊อบ คนสวย แซ่เฮ  แต่ กองทันตฯ รวมทั้ง ทันตแพทย์ ผู้นำทุกท่าน ได้ยาดีครับ สวยวัน สวยคืน

ฺBAR ผ่าน E- mail พี่เอกอธิบาย เหตุผล และ กระบวนการให้ฟังหน่อยครับ

....

พี่ครับ ผมกำลังจะย้ายงานไปทำหน้าที่ เจ้าหน้าที่การสื่อสารและจัดการความรู้ ที่ http://www.ngobiz.org/

คล้ายๆ สคส. ครับ แต่เป็นเอกชนเต็มตัว สนับสนุนโดย ADB.

มีหลายเรื่องที่ต้องให้พี่ช่วย ผมจะเริ่มงานกลางเดือนนี้ครับ

แล้วจะมาปรึกษาครับ

สวัสดีค่ะคุณเอก ขอบคุณที่เขียนเล่าเรื่องราวแทนทั้งทีมและไปชวนมาอ่าน

จากประสบการณ์ดีๆที่เกิดขึ้นทั้งในวง HEC (โรงเรียน) และ วงทันตแพทย์นี้ พี่ได้รับรู้ด้วยจิตของพี่ที่นิ่งขึ้น ปล่อยวางจากการไปยึดกรอบวิชาการมากอย่างสมัยก่อน ทำให้เห็นเลยค่ะว่า ทุกวงลปรร.ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ ความรู้สึกทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความเมตตา ความสุข ความกังวล ความมุ่งมั่น จะปรากฏชัดเจนเหมือนลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ เป็นสิ่งที่ Fa ต้องจับหรือสัมผัสให้ได้ก่อนจะไปช้อนเอาคำตอบที่เราอยากได้ Fa จึงต้องเปิดหัวใจตนเองที่จะซึมซับรับรู้ ให้เวลากับการค่อยๆปรากฏของความรู้สึกในใจของผู้อยู่ในวง

ในวงทันตแพทย์นี้เป็นอีกครั้งที่พี่ได้ฟังจากปากของคุณหมอมาลี ภาคกลาง ที่กล่าวถึงบรรยากาศที่ทำให้อยากบอกอยากเล่าแบบบอกหมดใจ คุณหมอพูดในวงว่า ในการประชุมเสวนาที่เคยเข้าร่วมนั้นก็เคยเล่าถึงงานของตน แต่พอเล่าๆไปแล้วก็ไม่อยากเล่า ทั้งด้วยรู้สึกว่าคนก้ไม่ได้สนใจจริงจังในเรื่องที่เล่า และ ทั้งความรู้สึกว่ามีการแข่งขันทำให้อยาก "กั๊ก" สิ่งที่ตนมี แต่ในวงที่รู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่ไว้ใจกัน อยากแบ่งปันทั้งข้อดี ข้อเสีย ก็อยากบอกหมด ความรู้สึกนั้นเปลี่ยนไปจริงๆ

นึกถึงก็ยังมีความสุขอยู่เลยค่ะ โดยเฉพาะได้เห็นคุณหมอบุญเอื้อ ยิ้มหลายครั้งทีเดียว จากเดิมที่เห็นแต่ความกังวลของท่านค่ะ

  • ตามมาเชียร์
  • พบการทำงานที่มีพลังมากเลยครับน้องเอก
  • ชอบตรงนี้มาก
  • จัดการความรู้สึก จัดการความรัก...จัดการความรู้
  • รออ่านอีกครับ...

น้องปืนครับ

งานที่เราทำร่วมกันของ FA ที่หลากหลาย และมารวมกลุ่มกันทำงาน การพบปะเเบบเจอตัวไม่สะดวกเป็นอย่างยิ่ง เราก็ใช้ วิธีการโต้ตอบผ่านทางอีเมลครับ โดยผมเองรับเป็นผู้ตัดริ้บบิ้น BAR ก่อน โดยเขียนต้นเรื่องเป็นโจทย์โยนเข้ากองกลางให้ทุกท่านได้นำเสนอความคิดของตนเอง คิดอย่างไร ทำไม อะไร ทำนองนั้น ถกกันในอีเมลโดยใช้ Group email  ได้ผลดีครับ ผมเองก็คอยประมวลผลสรุปเรื่อยๆจนได้ BAR ที่สมบูรณ์ ทั้งโครงสร้าง โจทย์ และ แนวทางการทำงาน

พอมาเจอกันในวันงานเราก็เอา BAR ที่ทำกันนั้น มาคุยในซักซ้อมกันอีกที

ทำแบบนี้มาสองสามงาน ปรากฏว่าดีครับ ได้เนื้อได้น้ำดีมาก สรุปชัดเจน ครอบคลุม

ตัวอย่าง BAR online ลองดูจากตรงนี้ เตรียมงานประณีต สู่ "เวทีการพัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์"

พี่เอกยินดีด้วยนะครับ สำหรับงานใหม่ ที่เหมาะสม ท้าทายความสามารถของปืนมาก หากมีอะไรที่ผมพอจะปรึกษาได้ ยินดีนะ

ผมมีงานวิทยากรให้ พอช. ในเดือนหน้า กำลังวางแผนว่า ปืนน่าจะมาร่วมทีมงานครั้งนี้ ในฐานะคนทำสื่อ เเละช่วยกันสร้างแรงบันดาลใจให้คน พอช.

โทรศัพท์ถึงพี่ด้วย ให้เบอร์ไปทางอีเมลล์แล้วครับ

ขอบคุณครับ อ.ดร.ยุวนุช คุณนายดอกเตอร์

การทำงานที่หลากหลายมากขึ้นของ FA ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในผู้นำกระบวนการเเบบผมด้วยเช่นกันครับ นิ่งขึ้น ชัดเจนขึ้น รองรับอารมณ์ที่หลากหลายได้มาก จนน่าแปลกใจ

ขอบคุณครับอาจารย์สำหรับ บรรยากาศการทำงานที่มีความสุข ที่เราสร้างสรรค์ด้วยกัน

ขอบคุณมากครับ อ.ดร. ขจิต ฝอยทอง  ผมเองก็ต้องขอบคุณกลับไปยังทีมงานที่ได้ร่วมกันทำงานทุกท่านด้วย

เป็นการทำงานที่มีพลังมาก ผมก็รู้สึกเช่นนั้นครับ

แวะมาให้กำลังใจค่ะ

พี่ศิริวรรณ

สวัสดีครับ

ผมค้นพบว่า"การถอดบทเรียน" เป็นสิ่งที่น่าทึ่งสำหรับการทำงานของทีมงานของท่านมากเลย ดูเป็นอะไรที่ทำให้เราเกิดการเรียนรุ้อีกมากมายเลย

การเป็นFa นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ใช่ไหมครับ

ขอบคุณครับ

* เรื่องราวยาวนะครับ ;)

* pixpros.net มี s ด้วยครับ ;)

* ระวังคนไม่ศรัทธาต่อคำว่า "ถอดบทเรียน" นะครับ ;)

* ดังนั้น คนทำต้องศรัทธา และสามารถตอบปัญหาที่ถูกตีรวนได้ทั้งหมด ;)

ด้วยความห่วงใย ครับ ;)

สวัสดีครับท่านจตุพร

       ถึงจะสูงไปสักหน่อย แต่จะค่อยๆมาประยุกต์ น่าสนใจครับ.

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

เป็นการสรุปงานที่เราทำงานร่วมกันในเวทีเเลกเปลี่ยนที่ผ่านมาครับ อย่างน้อยก็เป็นความประทับใจ

การถอดบทเรียน หรือ จะเรียกแบบอื่นก็ได้ครับ ที่เรียกแบบนี้ก็คิดว่า อธิบายได้ตรงๆ ก็ไม่ต้องมาหาคำไหนมาขยายความอีก หากต้องการเรียนรู้เพิ่มก็มีบันทึกที่มีให้อ่านเยอะเเยะเลยครับ

สำหรับคนที่ไม่ศรัทธา หรือ ศรัทธา ต่อคำ หรือ ประโยค นั่น คือปัญหาของเขาเองครับ ไม่ใช่ปัญหาของผม หรือ ทีมงาน

หากศรัทธาก็เรียนรู้กันไป เเลกเปลี่ยนต่อเติมกันไป

ไม่ศรัทธา หรือไม่เห็นด้วย ก็มีข้อเเลกเปลี่ยนก็ถือว่า สร้างสรรค์ดี ต่อยอดกันเข้ามา

เชื่อในสิ่งที่ทำ และทำในสิ่งที่เชื่อ กันเถอะครับ

หากมีความสามารถเราก็ทำไป ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาตัวตนให้จิตใจสูงขึ้นไปด้วย สังคมขับเคลื่อนไปด้วยก็เป็นสิ่งที่ดี ที่ควร ก็ทำไป

ทำได้ และ ทำดี เอามาเขียน เอาต่อยอดเพื่อเเลกเปลี่ยนกันใน gotoknow ยิ่งดีไปใหญ่ครับ ความรู้ ชุดความรู้ กระบวนการ กลวิธี ทุกอย่างไม่มีคำว่าดีที่สุด เเล้วแต่จะใช้เเละเหมาะสมกับคนใช้ด้วย บริบทอื่นๆด้วย

จริงๆเราสามารถบัญญัติศัพท์อะไรก็ได้สำหรับเเทนการอธิบายกระบวนการที่เราทำ หากเข้าใจได้ เข้าใจตรงกันก็ไม่มีปัญหา จะเรียกอะไรก็ได้ก็เเล้วแต่ถนัด และพึงพอใจ

สรุปก็คือ ผมไม่ค่อยเข้าใจในข้อห่วงใยของอาจารย์ครับ :)

 

สวัสดีครับ ท่านหมอน้อย 447

แก่นแกนของเรื่อง ก็คือ การบริหารความรู้สึก ก่อนการจัดการความรู้  และการทำงานเเนวราบที่สอดประสานเชื่อมใจด้วยความรัก เอื้ออาทร เป็นบรรยากาศที่ดีสำหรับการพัฒนาคน พัฒนากระบวนการเรียนรู้

ศัพท์แสงของกระบวนการที่เราเรียกว่า KM นั้น เยอะไปหน่อย บางทีอาจเข้าใจยาก

ทักษะบางตัวที่ ทันตแพทย์ทั้งหลายได้เรียนรู้ บางตัวผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ

แต่การถอดบทเรียนครั้งนี้ ดูกระบวนการ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งนามธรรม และรูปธรรมครับ คล้ายๆการประเมินโครงการ

 

ความไม่ศรัทธา อาจเกิดจาก "ตัวคน" หรือ "ตัวงาน" ได้ทั้งสองอย่างเนาะ

หากความไม่ศรัทธา เกิดจาก "ตัวคน" ... ก็ปล่อยผ่าน ไม่ต้องสนใจ

หากความไม่ศรัทธา เกิดจาก "ตัวงาน" ... ก็น่าจะเก็บไว้ เพื่อมาปรับปรุงงานของเราให้ดียิ่งขึ้น

ผมห่วงใยในประเด็นนี้เท่านั้น ส่วนประเด็นอื่น ก็ Pixpro เติม s ด้วยครับ อิ อิ เดี๋ยวเข้าเว็บเขาไม่ได้นะครับ OK ไหมเนี่ย ;) ... หรือไม่ OK ;(

"จัดการความรู้สึก จัดการความรัก"

คำนี้ใช้ได้กับทุกเรื่องเลยนะคะ

เพราะถ้าจัดการกับความรู้สึกไม่ได้

ก็ยากที่จะจัดการความรักได้ค่ะ

 

  • มาตามเก็บเกี่ยวสิ่งดีดี จากคุณเอก และคณะค่ะ
  • ยืนยันว่า ทันตแพทย์ มีดีค่ะ ... อิอิ โม้เล็กน้อย
  • และดีใจด้วย ที่ได้รู้จักน้องๆ ก๊วนนี้มากขึ้น และก็เชื่อว่า น้องๆ จะไปขยายวง การทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปสู่วงอื่นๆ มากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น
  • ขอบคุณ คุณเอก และคณะ ที่มาร่วมช่วยเหลือกิจกรรม และเป็นผู้นำให้เกิดการเรียนรู้แก่กลุ่มทำงานมากขึ้นค่ะ
  • มีโอกาส จะขอรบกวนใหม่ได้ไหมคะ

ขอบคุณมากครับ ครูบินหลาดง อีกสักช่วงหนึ่งทางทีมของผมจะเดินทางไปโรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม ที่ระยองครับ ไปเเลกเปลี่ยนกับครูที่นั่น หากครูมีโอกาสก็มาร่วมพูดคุยกันได้

ต้องขอบคุณ กัลยาณมิตรที่น่ารัก อ. Wasawat Deemarn ก็ต่างจิต ต่างใจครับผม เรามาจากทุนต่างกัน คิดต่างกัน อย่างผมทำได้ก็คือ ต้องเข้าใจเขาในสิ่งที่เขาคิดเเละทำ

ช่วงนี้หนาวเเล้ว คิดการใดบ้างครับ เห็นครวญเพลงเหงาๆ นี่ก็เป็นห่วงเหมือนกันครับ

นกน้อย (ทำรังแต่พอตัว)

ใช่เเล้วครับ คุณนก ความรู้สึกต้องจัดการให้ได้ครับ จากนั้นก็มาจัดการความรู้ต่อ ใจไม่มา จัดการความรู้ก็ล้มเหลวนะครับ

เพื่อนร่วมทาง หมอครับ

ทันตแพทย์ท่านมุ่งมั่นจนเห็นได้ชัดครับ น่ารักกันมาก ทีมทำงาน(ผม) เองก็ประทับใจมาก

หากมีวาระดีๆข้างหน้า ประสานงานได้นะครับ

บีเวอร์ น้องปืนครับ

รับทราบ และปฏิบัติตามด้วยครับ :)

สวัสดีครับอาจารย์แวะมาอ่าน

ผมว่าตัวเองยังขาดกระบวนการเหล่านี้อีกมากเลย

ต้องฝากตัวเป็นศิษย์ ด้านการจัดการความรู้ ด้วยคน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท