กินกลางศาลาวัด : km แบบ งู ๆ ปลา ๆ กับห้องเรียนชุมชนคนรักษ์ท้องถิ่น


เพื่อให้คนอื่น ๆ ได้มาเก็บเกี่ยวความรู้ในทางภูมิปัญญาท้องถิ่น และการเพียรพยายามที่จะสะท้อนภาพคุณค่าของชุมชนให้คนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของตัวเอง

บันทึกที่แล้วผมเล่าถึงการนำนิสิตไปสัมผัสเรียนรู้ ลำพังชู  ลำห้วยแห่งชีวิตของชาวบ้านเม็กดำ   โดยให้ทุกคน กินกลางดิน ...เดินดิ้นไปตามห้วย   จากนั้นก็ติดปีกทะยานขึ้นบกไปเรียนรู้ภูมิปัญญาในวัดอันเป็นที่ตั้งของ ธรรมาสน์เสาเดียว.. 

 

ผมนำเข้าสู่บทเรียน  เพื่อให้นิสิตได้รับรู้ว่าธรรมาสน์เสาเดียวนั้น   เป็นแรงบันดาลใจให้ผมได้คิดไอเดียโครงการ ห้องเรียนชุมชนคนรักษ์ท้องถิ่น  ขึ้นมา  เพื่อต่อยอดสถานีแห่งการเรียนรู้ของชุมชนให้ดูหนักแน่นขึ้น  ทั้งการมานั่งสกัดความเป็นมาร่วมกับชาวบ้าน,  ศึกษาคติชนของชุมชนที่มีต่อธรรมาสน์  ศึกษาบทบาทของธรรมาสน์ที่มีต่อชุมชนทั้งในด้านจิตใจและสังคม  สนับสนุนงบประมาณเพื่อการบูรณะในส่วนที่ผุพัง  รวมถึงการบันทึกไว้ในรูปของหนังสือเล่มงาม  แล้วเผยแพร่ไปยังส่วนผู้นำชุมชน, โรงเรียน, องค์กรชุมชมและหน่วยราชการต่าง ๆ  อย่างมากมาย

ส่วนบนของธรรมาสน์ที่บูรณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

นอกจากนี้  ผมและทีมงานยังบรรจุเนื้อเรื่องลงในนิทรรศการเคลื่อนที่มอบให้กับชุมชน  เพื่อให้ชุมชนได้ใช้เป็นสื่อในการจัดแสดงให้คนอื่น ๆ ได้มาเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน  และอาจคาดหวังเป็นการส่วนตัวว่า  ในอนาคตอันใกล้นี้   เรื่องราวของธรรมาสน์เสาเดียวของชุมชนเม็กดำจะมีความแจ่มชัดในทางประวัติศาสตร์ความเป็นมามากกว่าที่เป็นอยู่

 

กรณีนิทรรศการเคลื่อนที่นั้น  คงต้องพูดแบบตรงไปตรงมาว่า  นิทรรศการที่ผมและทีมงานได้ทำขึ้นนั้นดู สวยงาม  และ  คลาสสิค  ไม่ใช่ย่อย  และนั่นยังหมายรวมถึงว่า  ในอนาคตอันใกล้นี้   เราจะยังร่วมใจกับชาวบ้านขับเคลื่อนให้ห้องเรียนบนศาลาการเปรียญนี้ดูมีชีวิตและเป็นสถานีแห่งการเรียนรู้ที่ทรงคุณค่าสืบต่อไป  ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า...  ชาวบ้านจะให้ความร่วมมือและร่วมใจเปิดเผยข้อมูลในครัวเรือนกี่มากน้อย  เพื่อนำมาสู่การจัดทำ  แผนที่การเรียนรู้ชุมชน   อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

การมาเยือนครั้งนี้ไม่เพียงพบเจอธรรมาสน์เสาเดียวที่ได้รับการบูรณะอย่างสวยงามเท่านั้น  แต่ยังโชคดีมหาศาลเมื่อชาวบ้านได้นำบันไดที่หายสาปสูญไปแสนนานมาแสดงให้ได้ดูชมอย่างอิ่มตา  ซึ่งจากสภาพที่เหลือให้เห็นนั้น  ก็น่าจะยืนยันได้ว่า   ลวดลายการแกะสลักบันไดธรรมาสน์ดูจะงดงามและงามล้ำในทางศิลปะไม่แพ้ที่อื่น ๆ อย่างแน่นอน

 

 

ภายหลังการนำเข้าสู่บทเรียนและพูดคุยให้ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับธรรมาสน์ทั้งในด้านประวัติความเป็นมาและบทบาทที่ถูกใช้ใน ฮีตคอง ของชาวบ้านแล้ว  ผมก็ไม่ลืมที่จะโยนให้พ่อผู้ใหญ่และผู้เฒ่าผู้แก่  ตลอดจนนิสิตที่เคยมาฝังตัวศึกษาเรื่องนี้ได้แสดง ภูมิรู้  ต่อยอดให้ผู้นำนิสิตได้รับฟังเพิ่มเติม  ซึ่งหลายคนก็แสดงออกชัดเจนว่า ...สนใจ  ไม่แพ้การเรียนรู้ที่ ลำพังชู  และปล่อยวางให้ทุกคนได้เดินเข้าสู่การเรียนรู้ในห้องเรียนนี้ด้วยตนเอง .. จากนั้นผมก็ถอยห่างออกมาสังเกตพฤติกรรมของนิสิตอยู่ห่าง ๆ ว่า  ...  บัดนี้พวกเขาได้ขยับเข้าหาขุมทรัพย์ทางปัญญาด้วยกลยุทธ์ใดบ้าง ?

 

พ่อใหญ่ดากำลังให้ความรู้เพิ่มเติมกับนิสิต

เราใช้เวลาในการร่วมเรียนรู้ในเรื่องธรรมาสน์เสาเดียวอยู่ไม่นานนัก  จากนั้นก็ล้อมวงทานอาหารเย็นกันบนศาลาวัดอย่างอิ่มท้อง  และล่วงเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการนำวงโปงลางมาแสดงให้ชาวบ้านได้ดูชม  อันเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการ ห้องเรียนชุมชนคนรักษ์ท้องถิ่น ...  พร้อมด้วยการส่งมอบนิทรรศการเคลื่อนที่ให้กับชุมชน  เพื่อให้ชุมชนได้ใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ร่วมกับคนต่างถิ่น,  ... 

และที่สำคัญคือการเป็นสื่อแห่งการที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ต่อยอดร่วมกันระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเองสืบต่อไปอย่างไม่รู้จบ    ซึ่งผมก็ยืนยันว่า  นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ... เรายังจะต่อยอดสร้างสื่อการเรียนรู้ให้มากกว่านี้...  (ขึ้นอยู่กับว่าชุมชนพร้อมแค่ไหน ..ทั้งในแง่ของการให้ข้อมูลและการให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้)

 

วงแคนตั้งวงเล่นกับพื้นลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องเวทีและเพื่อความใกล้ชิดกับผู้ชม

 

ค่ำคืนนั้น (23  กุมภาพันธ์ 2551)  บรรยากาศคึกคัก สนุกและเป็นกันเอง  ถึงแม้วงแคน  จะมาเพียงน้อยนิด  เพราะส่วนหนึ่งเดินสายไปช่วยงานที่จังหวัดสุรินทร์  แต่ก็มากล้นด้วยสปิริตที่จะโชว์การแสดงของตนเองอย่างเต็มกำลัง ..แถมพ่วงด้วยการร้องลำอย่างสนุก  เรียกได้ว่าไม่เลิกก็ไม่กลับบ้านเลยทีเดียว   จากนั้นเราทั้งหลายก็กลับเข้าที่พัก ณ  โรงเรียนบ้านเม็กดำ  โดยก่อนนอนก็มีการสรุปบทเรียนประจำวันกันอีกรอบ ...

 

 

ผมใช้เวลาสักพักเล่าความเป็นมาว่าทำไมผมถึงพยายามเหลือเกินกับการพานิสิตมาทำกิจกรรมที่นี่อย่างต่อเนื่อง  และส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่มาเพื่อการเรียนรู้อย่างเดียวแต่มาเพื่อการต่อยอดเพื่อให้ชุมชนได้มีต้นทุนในการเรียนรู้ตัวเองไปพร้อม ๆ กับเรา  และยังพยายามที่จะสร้างสื่อการเรียนรู้ให้เป็นรูปธรรม  ทั้งเพื่อให้คนอื่น ๆ ได้มาเก็บเกี่ยวความรู้ในทางภูมิปัญญาท้องถิ่น  และการเพียรพยายามที่จะสะท้อนภาพ "คุณค่าของชุมชน"  ให้ "คนในชุมชน" ได้เห็น "คุณค่าของตัวเอง"   และพร้อมที่จะลุกขึ้นมามาเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลชุมชนตนเองด้วยหัวใจอันกล้าแกร่ง  ดังกรอบคิดที่ผมเรียกว่า ห้องเรียนชุมชน :  คนรักษ์ท้องถิ่น  ซึ่งหมายถึง คนในท้องถิ่น "รัก"  ที่จะดูแล (รักษ์)  ท้องถิ่นด้วยตนเอง, เป็นสำคัญ

 

 

                       บันไดที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นาน

ส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่ตั้งอยู่อีกมุมหนึ่งของสถานที่แสดงวงโปงลางของ "วงแคน"

เหนือสิ่งอื่นใด ...
ผมก็ยังไม่ลืมที่จะลากเข้าสู่บทเรียนของตนเองในทำนองว่า  ห้องเรียนชุมชน ฯ ที่ผมคิดขึ้นนั้น  คือแนวคิดที่กำลังจะบอกกับชาวค่ายทั้งหลายว่า  เราไม่เพียงมาในฐานะผู้เรียนรู้จากชาวบ้านเท่านั้น  แต่ยังหมายถึงการตอบแทนชาวบ้านอย่างมีเหตุผล   ไม่ใช่มา (เอา)  แล้วก็จากไป .. สร้างแล้วก็จากจรโดยไม่คืนย้อนกลับมาดู   ...  และที่สำคัญ  เราต้องไม่ทำตัวเป็นรัฐบาลในฝันหว่านเงินสร้างกระแสนิยมอย่างเปล่าเปลือง    โดยไม่สนใจว่าวิธีเช่นนั้นจะยั่งยืนแค่ไหน ?    ช่วยให้ชุมชนตระหนักในความเป็นตัวตนของตนเองบ้างหรือเปล่า ?   ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้ให้จนทำให้ผู้รับรู้สึกราวกับว่าปราศจากศักดิ์ศรีและคุณค่าในตัวเอง

 

 

และท้ายที่สุด..
ผมก็ทิ้งปมไว้สั้น ๆ  ว่า ... การไปออกค่ายในแต่ละครั้ง
  ถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้แบ่งเวรกันไปตักบาตรที่วัดบ้าง   เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของผู้คน  ศาลาวัดก็เป็นประหนึ่งศาลาประชาคมของหมู่บ้าน  ใครมีอะไรก็จะมานั่งเล่าให้กันฟัง  นิสิตไม่เพียงได้เรียนรู้วิถีของชาวพุทธ (ที่อาจคุ้นเคยอยู่แล้ว)  เท่านั้น  แต่ยังจะได้พบพานผู้คนต่างวัยและเรื่องราวหลากรสจากเวทีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย   รวมถึงฝากการบ้านให้คิดว่า  จากอดีตถึงปัจจุบันศาลาวัดได้ทำหน้าที่อะไรบ้าง   ... การมาของศาลาประชาคม  และหอกระจายข่าวอันทันสมัยได้ลดบทบาทของศาลาวัดลงบ้างหรือไม่  ...  รวมถึงเจ้าอาวาสยังอยู่ในฐานะของผู้นำชุมชนเหมือนอดีตหรือเปล่า ? 

 

เป็นคำถามที่ผมไม่ต้องการคำตอบ ... แต่ก็ขอให้นิสิตได้ตอบตัวเองในใจกันทุกคน !

 

 

นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ผมและทีมงานพานิสิตเรียนรู้ด้วยกระบวนการ KM .. แบบ งู ๆ  ปลา ๆ  (ของตนเอง) ...

 



...................................................................

 

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม :  บันทึกอันเป็นที่มาที่ไปก่อนถึงวันนี้

 

 

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/92060 
เม็กดำ ภาคสอง (1) : อนุรักษ์ใบลาน ..ขอเพียงชุมชนพร้อม ผมก็พร้อม !

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/92248
เม็กดำ ภาคสอง (2) : ธรรมาสน์เสาเดียว ความฝันที่มีชีวิตของชาวบ้านที่รอการบูรณะและสร้างใหม่

 

http://gotoknow.org/blog/pandin/79357
เม็กดำ (จบ) : สู่สถานีชีวิต ห้องเรียนชีวิต ห้องเรียนธรรมชาตินอกรั้วโรงเรียน

 

http://gotoknow.org/blog/thaiphon/130571

ธรรมาสน์เสาเดียว หนึ่งในเครื่องมือวัดความเข้มแข็งของชุมชน  (ออต)



 

หมายเลขบันทึก: 169265เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2008 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

- สงสัยจะไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้แบบ งู ๆ ปลา ๆ เสียแล้วค่ะ เพราะคุณค่าที่เกิดเหนือความคาดหมายหรือเปล่าค่ะ

- ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมกันต่อด้วยคนค่ะอาจารย์

คิดถึงสมัยก่อนค่ะ ไปกินกลางบ้าน คุยกับคนเฒ่าคนแก่ได้อะไรกว่าที่คิดเยอะ นอกเหนือจากตำรา ควรค่าแก่การรักษา

เป็นคำถามที่ผมไม่ต้องการคำตอบ ... แต่ก็ขอให้นิสิตได้ตอบตัวเองในใจกันทุกคน !

 

  • สวัสดีค่ะ
  • การตั้งคำถามเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้นี่ ต้องอาศัยประสบการณ์และความเข้าใจความเชื่อมโยงต่างๆ มากเลยนะคะ
  • ขอชื่นชมในกิจกรรมดีๆ ค่ะ

สวัสดีครับ   เพชรน้อย

ผมยังคงค่อยเป็นค่อยไปกับกิจกรรมในทำนองนี้  ซึ่งพยายามขับเคลื่อนโดยใช้ KM  เป็นเครื่องมือ   บนกรอบแนวคิดที่ย้ำเน้นให้นิสิตได้เห็นคุณค่าตนเอง และเชื่อมั่นในคุณค่าของคนอื่น  ซึ่งหมายถึงเพื่อน ๆ และชาวบ้าน

บทเรียนในห้องเรียนนี้  ผมและทีมงานไม่ได้เน้นมากเท่ากับลำพังชูและป่าใหญ่โคกจิก (ยังไม่ได้เขียน)   แต่อยากให้เขารู้ว่า  ในชุมชนนั้น  นอกเหนือจากวิถีการดำรงชีวิตในแบบพึ่งพาธรรมชาติแล้ว ..ความเป็นชุมชนยังต้องมีสถาบันที่เกี่ยวข้องในทางจิตใจอยู่เหมือนกัน นั่นคือวัด ..และวัดก็มีบทบาทอันหลากหลาย ...และความหลากหลายเหล่านั้นก็ยังมีตัวตน  หรือมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านอยู่วันยังค่ำ ...

ดังนั้น  จึงลากความเข้ามาแบบซื่อ ๆ  ว่า   "ไปค่าย..ก็อย่าลืมไปวัด  เพราะบางอย่างก็รอให้คุณได้ค้นพบอยู่เหมือนกัน.."

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์แผ่นดิน

      มาเยี่ยมห้องเรียนชุมชนคนรักษ์ถิ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีสู่วิถีชุมชนให้คนตระหนักในศักดิ์ศรี โดยมีการจัดการความรู้แบบงู ๆ ปลา ๆ เข้าท่าดีจังครับ   ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

ไม่พบกันนาน ยังขยันเหมือนเดิมนะครับ อ่านแล้วรู้สึกดีจังเลย ที่ยังมีคนรู้จักคุณค่าของชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มเข็ง รู้จักตนเองดีขึ้น อีกทั้งยังนำพาเยาชนรุ่นใหม่ ให้รู้จักวัฒนธรรมของชาวบ้าน เพื่อว่า อีกหน่อยที่เขาโตขึ้น ทำงานแล้ว เขาจะได้รู้จัก คุณค่าของตนเอง คุณค่าของชุมชน และ รักชุมชนนั้นมากขึ้น อีกทั้งไม่เป็นคนที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ อีกด้วย

เป็นกำลังใจ ให้อาจารย์นะครับ ตนเองเคยออกค่ายอาสามาก่อน รู้ซึ่งถึงประโยคที่ว่า "กินกลางดิน นอนกลางทราย ไม่อาบน้ำสามวัน" และ ยังประทับใจกับอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยลืมเลย ทั้งยังได้รู้จักที่จะเห็นใจ ในเพื่อนมนุษย์ที่ยังลำบากอีกด้วย

แต่ก็อย่าลืม คนที่บ้านนะครับ เดี๋ยวพวกเขาจะคิดถึง

คิดถึงนะครับ

มีความสุขในวันทำงาน และวันหยุดกับครอบครัวนะครับ

RAINALONE

สบายดีนะครับ

มาขออนุญาตนำข้อความดีๆไปรวมใน รวมตะกอน ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ  dd_L

ผมทิ้งคำถามไว้เช่นนั้น, ..เพราะที่ยกตัวอย่างให้เขาได้ฟังนั้น  ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับวิถีทางศาสนาเลย  เพราะมันตายตัวอยู่แล้ว  แต่ที่กล่าวถึงบ้างก็เช่น  การใช้ศาลาวัดเป็นที่ประชุมชาวบ้าน, รองรับเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการ,  เจรจาคดีความในหมู่บ้าน,  และอื่น ๆ  อีกพอสมควร   แต่ก็ไม่ได้ลากเข้าไปสู่การเป็นสถาบันการศึกษาดั้งเดิมของคนไทย

เสียดายที่ผมมีเวลาในกิจกรรมนี้ค่อนข้างน้อย, ...เพราะมีกิจกรรมภาคกลางคืนที่ต้องพานิสิตออกไปร่วม  และพยายามบ่มเชื้อการศึกษาเรื่องเหล่านี้ไว้กับพวกเขา  ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จย่อมมีชมรม ฯ กลับมาที่นี่อีกครั้งเป็นแน่  ดังที่ชมรมรักษ์ทางไทยก็ลงมาศึกษาแล้วครั้งหนึ่ง  และจะมาต่อยอดร่วมเรียนรู้ในเรื่องใบลานครั้งใหญ่ในอีกไม่กี่สัปดาห์นี่เอง

....

ขอบคุณครับ

 

มาแย้งว่า  KM งูๆปลาๆ  หมายถึง KM ธรรมชาติ แบบมีชีวิตและดิ้นได้  ไหลได้(ปรับได้)  ใช่ไหมน้อง...  อิอิ

ขอบใจที่ช่วยต่อชะตา ธรรมมาสน์ เสาเดียว สวยมาก

จะฉลองวันไหน จะไปร่วม อิอิ

  • สุดยอดอีหลีอ้าย
  • ออนซอน ชื่นชม สมอุรา
  • ป้าแดง ว่าอิสานบ้านเรา มีอะไรดีเยอะแยะเลยนะคะ การให้เด็กรุ่นใหม่ ได้รับรู้เรื่องเหล่านี้บ้าง เป็นคุณค่ามหาศาล
  • รุ่นป้าแดง หมายถึง คนที่ไม่ได้ถูกกล่อมเกลามาทางด้านนี้ จะไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลย
  • ขอบคุณค่ะ
  • ผมก็ทิ้งปมไว้สั้น ๆ  ว่า ... การไปออกค่ายในแต่ละครั้ง  ถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้แบ่งเวรกันไปตักบาตรที่วัดบ้าง   เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของผู้คน
  • ดีจังเลยครับ....อนุโมทนาสุธุ ค้าบ..

มาให้กำลังใจ ฅ ฅน ทำงาน ครับ

       จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง

       จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง

       จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา

          ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร

          ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา

          ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา

          ไม่เสียดาย ชีวา ถ้าสิ้นไป

สวัสดีครับ ท่าน ผอ. ดิศกุล เกษมสวัสดิ์

กิจกรรมนี้ยังไมสิ้นสุดหรอกนะครับ   ยังคงต้องลงไปร่วมใจกับชุมชนทำไปทีละนิดทีละหน่อย   จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับชุมชนเป็นที่ตั้ง

หลายเรื่องเราไปขอความรู้จากชาวบ้าน  แต่หลายเรื่องทั้งเราและชาวบ้านก็ร่วมเรียนรู้ด้วยกันอย่างน่าชื่นชม  โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทและสถานะของธรรมาสน์เสาเดียว,   แต่น่าเสียดายว่า  การลงพื้นที่ 4 - 5  ครั้งนั้น  ก็ยังไม่สามารถสืบค้นได้ว่าธรรมาสน์นี้เกิดมาอย่างไร ...และใครเป็นผู้สร้าง  ..มีการเปลี่ยนแปลงในทางโครงสร้างตอนไหน  เมื่อไหร่ ..  แต่ถึงแม้ไม่มีข้อมูลเหล่านี้  สิ่งที่ต้องเดินหน้าก็คือการต่อยอดความรู้เท่าที่มีอยู่  อนุรักษ์และสืบสาน  ตลอดจนจัดฐานความรู้ให้เป็นรูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่

และกระตุ้นให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมร่วมกัน, เห็นค่าและความสำคัญทั้งในมิติทางวัฒนธรรมและการศึกษา  เป็นต้น

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ  RAINALONE

นำพาเยาชนรุ่นใหม่ ให้รู้จักวัฒนธรรมของชาวบ้าน เพื่อว่า อีกหน่อยที่เขาโตขึ้น ทำงานแล้ว เขาจะได้รู้จัก คุณค่าของตนเอง คุณค่าของชุมชน และ รักชุมชนนั้นมากขึ้น อีกทั้งไม่เป็นคนที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ อีกด้วย

ในยุคสมัยที่สังคมเคลื่อนไหลไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้   ชนบทหลายแห่งยิ่งดูห่างไกลไปจากตัวเมือง,  บางแห่งถูกกลืนหายไปในทางวัฒนธรรม,  บางแห่งยังคงหยัดยืนเป็นตัวของตนเองอย่างน่ายกย่อง  ภายใต้การปรับตัวบูรณาการอย่างมีเหตุมีผล   ซึ่งหมายถึงการไม่ปฏิเสธสิ่งใหม่  และยังใส่ใจกับสิ่งเก่า ๆ อันมีคุณค่าของตนเอง   และพื้นที่ของชุมชนบ้านเม็กดำก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีความน่าสนใจ  เพราะสามารถหยัดยืนอยู่ในวิถีโลกภิวัตน์อย่างเข้าใจ  และไม่สูญเสียรากเหง้าในทางวัฒนธรรมของตนเองเสียทั้งหมด .

ขอบพระคุณครับ

 

 

สวัสดีครับ  . สิทธิรักษ์

สำหรับผมแล้ว  การมีโอกาสได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของ รวมตะกอน นั้นถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง  ราวกับการได้เข้าหอเกียรติยศทางความคิดเลยทีเดียว...

ที่สำคัญ รวมตะกอน  จะยังเป็นเสมือนการแนะนำให้ผู้คนได้เข้าไปสำรวจบันทึกต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว  เพราะอย่างน้อยก็มีคนคัดกรองไว้ให้แล้วในระดับหนึ่ง

เป็นแนวคิดที่ดีมาก ... และจึงไม่แปลกที่  รวมตะกอน  เป็นอีกบันทึกที่ได้รับความนิยมจากมิ่งมิตรอยู่อย่างล้นหลาม

ขอบคุณอย่างยิ่งครับ

 

มาเยี่ยม  คุณ

แผ่นดิน

มาเห็นปริศนาธรรมบนหลังคา...นาค 12 ตน  หมายถึง...?

และบันใด 3 ขั้น  หมายถึง...?

เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจมากครับ.

สวัสดีค่ะ..อาจารย์แผ่นดิน

ไม่ได้เข้ามาทักทายอาจารย์นานแล้ว..

เหมือนที่อาจารย์เคยพูดไว้ค่ะ..อ่อนแรงลงไปเยอะ

ดูอาจารย์แล้วพลังในตัวตนยังมีอีกเยอะอยู่นะคะ..ชื่นชมค่ะ

กับ Km แบบ งู ๆ ปลา ๆ ..แต่ทรงคุณค่ายิ่ง..การออกแรงของอาจารย์แผ่นดินอย่างมากมาย..ต่อเนื่อง..สม่ำเสมอ ดูคุ้มค่าจังค่ะ

อาจารย์ทำให้แนวพระราชดำริของในหลวงเป็นรูปธรรม..ในเรื่องความพอเพียงอย่างเพียงพอ..ของบ้านเมืองเราในยุคไอทีที่หมุนติ้วอย่างสุดเหวี่ยง

ส่งกำลังใจให้อาจารย์แผ่นดินในการทำงานค่ะ..

และแสดงความยินดีกับ ตำแหน่ง "ผู้ปกครองดีเด่น" ด้วยค่ะ..รางวัลชีวิต..ที่น่าภาคภูมิ

ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์แผ่นดินนะคะ  อยากบอกอาจารย์ว่าในแผ่นดินไทยของเรา มีอีกหลายคนที่กำลังเดินตามรอยเท้าพ่อของแผ่นดินอย่างไม่ย่อท้อ  ซักวันหนึ่งคงมีโอกาสให้คนเหล่านี้ได้มาเจอกันเพื่อรวมพลังแสดงให้เห็นว่า คำสอนของพ่อเป็นสิ่งที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับประเทศไทย

สวัสดีค่ะ

ตามมาให้กำลังใจในการทำสิ่งที่ดีๆ  ธรรมมาสน์ เสาเดียว  ช่างสวยงามเหลือเกิน ค่ะ

อนุรักษ์ไว้ครับ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ฝรั่งชอบมาขโมยไปใช้ แม้กระทั่งทับหลังนารายณ์ ไม่ใช่ไม้จิ้มฟันอันเล็ก ๆ ที่จะสามารถซ่อนในกระเป๋าได้

สวัสดีครับ เจ้ ( หนิง )

มาแย้งว่า  KM งูๆปลาๆ  หมายถึง KM ธรรมชาติ แบบมีชีวิตและดิ้นได้  ไหลได้(ปรับได้)  ใช่ไหมน้อง...  อิอิ

...

แน่นอนครับ  คำนิยามข้างต้นเป็นแบบลักษณ์ในทางกระบวนการที่ผมเข้าใจ  แต่ที่สำคัญอีกประการก็คือ  การสร้างกระบวนการในวิถีของเราเอง  ด้วยความเชื่อที่ว่า  ทุกคนและทุกสถานที่อุดมไปด้วยตำนานด้วยกันทั้งนั้น   และเมื่อต้องบอกเล่า หรือกระทำเพื่อกันและกัน  ..เรื่องของเรา  เราต้องเล่าด้วยวิธีของเราเอง

ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้, .. ก็พิสูจน์ให้นิสิตได้ตระหนักแล้วว่า  เรื่องของเรา เราต้องเล่าด้วยวิธีของเราเอง 

และที่สำคัญก็คือ ... จุดหมายปลายทางอันเดียวกัน  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปสู่จุดหมายนั้น ๆ ด้วยวิธีที่เหมือนกันเสมอไป

....

ขอบคุณครับ

พ่อครู ฯ  ครับ

 

ธรรมาสน์เสาเดียว  ยังไม่มีกำหนดฉลอง   แต่ถ้าถือว่าวงแคนได้แสดงโปงลางไปวันนั้น  ก็อาจเป็นหนึ่งในกระบวนการของการฉลองได้เช่นกัน

งานนี้ยังไม่จบ  เพราะคิดว่าคงต้องทำให้มีชีวิตมากขึ้นกว่าเดิม

...

สุขภาพแข็ง ๆ ...นะครับ

สวัสดีครับ ออต

ขอบคุณครับน้องออต  ยังไงเสีย  เราก็ยังจะต้องได้ร่วมกันในเวทีเหล่านี้อย่างแน่นอน ...

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท