พลวัตของ GotoKnow


อ้างถึงบันทึก ขอรับรอง GotoKnow จะอยู่แน่ไม่ไปไหน และจะอยู่ตลอดไปคู่สังคมไทย ของอาจารย์ธวัชชัย ซึ่งให้ความกระจ่างในหลายเรื่อง และให้ความมั่นใจอย่างยิ่งแก่สมาชิก แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องค่อยๆ เรียบเรียงครับ

ที่นำเรื่องนี้มาเขียน เพราะรู้สึกกังวลว่าการได้รับข่าวสารในทางบวก จะทำให้เราหลงไปว่าปัญหาหมดไปแล้ว ซึ่งผมคิดต่างออกไปครับ

บันทึกของอาจารย์ธวัชชัยดังกล่าวเป็นคำยืนยัน และการให้ความเชื่อมั่นจากทีมงานต่อประชาคม GotoKnow (ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกเห็นและสัมผัสได้ตลอดสองปีครึ่งที่ผ่านมา คงไม่มีใครเห็นแตกต่างออกไปนะครับ) แต่ว่านอกจากความรัก ความผูกพัน กำลังใจ (และภาร) ประชาคม GotoKnow ยังไม่ได้ให้อะไรแก่ทีมงาน เรื่องนี้จะว่าแค่นี้พอแล้ว ก็คงพอครับ แล้วแต่ผู้ให้ แต่ยังไม่ได้ตอบประเด็นต่างๆ ข้างล่าง

ความสัมพันธ์ที่แยกไม่ออกระหว่าง GotoKnow และ UsableLabs

GotoKnow ในฐานะบล๊อก มีตัวตนอยู่ได้ด้วยโปรแกรม KnowledgeVolution (KV) ซึ่งโปรแกรมนี้พัฒนาโดย UsableLabs หาก UsableLabs อยู่ไม่ได้ KV ก็จะไม่มีการพัฒนาต่อไป เรารับได้หรือไม่ -- (ประเด็นที่ 1)

นอกจากนั้น ทีม UsableLabs ยังเป็นทีมที่ดูแล เฝ้าระวัง GotoKnow ทั้งกลางวันและกลางคือ ทั้งวันทำงานและวันหยุด หาก UsableLabs อยู่ไม่ได้ ไม่ว่าง หรือทีมงานเจ็บป่วย ใครจะดูแล เฝ้าระวัง GotoKnow ครับ เครื่องจักรทำงานก็ยังต้องมีเวลาพักซ่อมบำรุง นี่คนนะครับ -- (ประเด็นที่ 2) 

ทั้งสองประเด็นนี้ ผมเชื่อว่าเราคงจะไม่ได้ยินเสียงบ่น หรือการแสดงความไม่มั่นใจใดๆ จากทีมงาน เพราะว่าสำหรับ UsableLabs แล้ว KV ไม่ใช่แค่งาน แต่เป็นความรัก ความทุ่มเท ความผูกพัน

แต่ผมต้องถามบรรดาท่านสมาชิกว่าท่านเชื่อจริงๆ หรือ ว่า GotoKnow อยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีปัญหา และสมาชิกไม่ต้องทำอะไร แค่เราตั้งใจดีแล้ว GotoKnow จะอยู่ได้เอง

คุณค่าของข้อความและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก

GotoKnow ตกเป็นเหยื่อความสำเร็จของตัวเองครับ ภาระที่เกิดขึ้นกับเครื่องแม่ข่ายนั้นประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณงานทั้งหมด มาจากการเรียกดูภายใน GotoKnow เอง ส่วนอีกร้อยละ 40 เกิดจากการที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (นอก GotoKnow) ค้น Google และเข้ามาอ่าน เรียกว่าเป็นโหลดขาจร ดังนั้น GotoKnow จึงไม่ได้รับปริมาณงานจากสมาชิกเท่านั้น หากแต่ยังรองรับปริมาณงานซึ่งมาจากนอก GotoKnow ด้วย 

อัตราการเติบโตของการใช้งานของสมาชิกน้อยกว่าอัตราการเติบโตของโหลดที่มาจากภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

แม้ว่าจะมีการปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง แต่กำลังของเครื่องแม่ข่ายที่มีอยู่ถือเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การคั้นน้ำส้มเมื่อได้หยดสุดท้ายแล้ว ก็ไม่มีหยดถัดไปครับ หมดคือหมด ต้องใช้ส้มลูกใหม่ที่ยังไม่ได้คั้น 

ดังนั้นในการใช้งาน GotoKnow จะต้องใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด ทั้งอ่านและเขียน ประหยัดกำลังไว้รองรับปริมาณงานที่ควบคุมไม่ได้ หากสมาชิกใช้กำลังของเครื่องแม่ข่ายกันตามสบาย อยากให้คิดก่อนใช้ครับ เมื่อกำลังของเครื่องแม่ข่ายหมดลงในที่สุด ก็จะกระทบทั้งสมาชิกและผู้ใช้ขาจร

ในวันนี้ ไม่ใช่ความคิดที่ดีที่เราจะใช้ GotoKnow กันตามสบาย แม้ว่าจะ(ยัง)ไม่มีปัญหาเรื่องกำลังของเครื่องแม่ข่าย(อีก) สมาชิกควรจะพยายามสร้างสุขนิสัยในการใช้งาน เข้าใจประโยชน์ของการประหยัด เข้าใจคุณค่าของ GotoKnow และใช้ GotoKnow อย่างคุ้มค่าที่สุด การประหยัดไม่ใช่การไม่ใช้ครับ -- (ประเด็นที่ 3)

ก่อนการประชุม GotoKnow ที่ มสธ. GotoKnow Monitor มีการใช้งานอยู่ที่ร้อยละ 0.1 หลังจากได้ชี้แจงความจำเป็น เลื่อนขึ้นมาเป็นร้อยละ 0.2 ถ้าจะให้ปลอดภัย น่าจะอยู่ที่ระดับสักร้อยละ 5 จากการเรียกชมทั้งหมดครับ เรื่องนี้ สมาชิกเท่านั้นที่ช่วยพร้อมใจกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้งาน GotoKnow ได้

ความหมายของ Owned and Operated by Users 

อุดมคตินี้สวยงามครับ แต่จนถึงปัจจุบันนี้ มีกิจกรรมที่จะช่วยระดมทุนสำหรับ GotoKnow แต่ยังไม่มีข้อเสนอ หรือข้อสรุปใดๆ (ยกเว้นข้อเสนอเกี่ยวกับโครงสร้างจัดตั้งเป็นมูลนิธิจากการประชุมที่ มสธ.ซึ่งก็ยังไม่มีการขอฉันทามติจากสมาชิกทั้งหมด) เกี่ยวกับความยั่งยืน ความรับผิดชอบของสมาชิก ทิศทาง เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ หรือแม้แต่การใช้งานที่เหมาะสม/จรรยาบรรณ ภาระทั้งหมดตกอยู่กับทีม UsableLabs ซึ่งทั้งทีมก็ได้ทุ่มเทเพื่อ GotoKnow อย่างหนักตลอดมา

น่าสงสัยเหมือนกันว่า GotoKnow จะ owned and operated by users ได้อย่างไร ในเมื่อมีคนรัก GotoKnow มากมาย แต่ไม่(ค่อย)มีใครอาสาทำอะไรเพื่อ GotoKnow ได้ยินข้อจำกัดเยอะแยะเลยครับ แต่ไม่ค่อยได้ยิน offer -- (ประเด็นที่ 4)

ตัวอย่าง offer เช่น

  • ส่งอีเมลไปยังผู้ดูแลระบบเพื่อแนะนำบันทึกแนะนำ ซึ่งตอนนี้มะปรางทำอยู่คนเดียวนะครับ น้องจะไหวหรือ
  • อาสาเป็น editor/subeditor เพื่อรวบรวมสุดยอดบันทึกในแต่ละหมวดหมู่

ปัญหาโลกแตก: GotoKnow คืออะไร

เมื่อถามสมาชิกว่าทำไมถึงใช้ GotoKnow เป็นประจำ ถามหลายคน ก็คงได้หลายคำตอบ แต่ GotoKnow จะเป็นทุกอย่างสำหรับทุกคนในเวลาเดียวกันได้อย่างไร

ผมก็ถามไปอย่างนั้นล่ะครับ ในขณะนี้ GotoKnow ก็เป็นอย่างที่เป็นอยู่แล้ว และเป็นหลายอย่างสำหรับหลายคนด้วย 

ที่จริงคำถามที่อยากถามคือ GotoKnow คืออะไร คำตอบนี้สำคัญเพราะถ้าไม่รู้ว่า GotoKnow คืออะไร ทำไมจึงมีค่าต่อมวลสมาชิก ก็จะพัฒนาต่อได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าทำแล้วจะมีค่าต่อสมาชิกหรือไม่ -- (ประเด็นที่ 5)

ทรัพยากรสำหรับการพัฒนามีน้อยมาก การลองไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดหมาย ไม่น่าจะเป็นวิธีที่ดีครับ

"ปัญหา" ยังเป็นปัญหาเดิม และอยู่ที่เดิมตลอดมา โดยยังไม่มีคำตอบ

ผมขออภัยหากท่านใดคิดว่าผมล่วงเกินท่านไปนะครับ ผมเพียงแต่พยายามอธิบายความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างต้นเหตุอันซับซ้อนของปัญหาอันซับซ้อน คงไม่มีคำตอบมหัศจรรย์ ที่คำตอบเดียวแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง

ผมเชื่อเหมือนอาจารย์ธวัชชัยครับ แต่อยากฝากสมาชิกไตร่ตรองว่าท่านเชื่อหรือท่านดีใจ (ซึ่งไม่ผิดทั้งสองอย่าง)

เราเดินไปเดินมา บางทีอาจพบทางออกเข้าได้โดยบังเอิญ; แต่ถ้าอยากพบขุมทรัพย์ก็ต้องแสวงหาครับ ขุมทรัพย์จะไม่ลอยมาอยู่ตรงหน้า

คำสำคัญ (Tags): #gotoknow.org#อนาคต
หมายเลขบันทึก: 153989เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2007 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)
  • ตามมาอ่านก่อน
  • แล้วจะมาให้ความคิดเห็นครับ

สวัสดีค่ะ...คุณ conductor

.....

นอกจากเราจะมี "ใจ"... ต่อ GotoKnow ...สิ่งสำคัญที่เพิ่มเข้ามา คือ  "ปัญญา"... ที่ต้องมาร่วม..มารับ...ทั้งผิดและชอบร่วมกัน...

อยากบอกว่ารู้สึกขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ ที่เป็นเรื่องแห่งสภาวะของความจริงที่ไม่ใช่ฝันๆ ลอยๆ... หากแต่สิ่งที่ปรากฏ...

เมื่ออ่านบันทึกนี้จบ ก็หยุดถามตัวเองชั่วอึดใจว่า..ตนเองนั้น...สามารถอาสาได้ในส่วนใด ซึ่งคงต้อง...ทบทวนอีกครั้ง...แต่สิ่งใดใดก็ตามที่อยู่ภายใต้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่...ยินดีให้ความร่วมมือ...เสมอค่ะ...

ขอบคุณค่ะ

(^_____^)

กะปุ๋ม

สวัสดีค่ะคุณconductor

     ได้อ่านบทความนี้แล้ว พวกเราหลายๆคนที่กำลังดีอกดีใจ กับG2K และทีมงานที่ดูแล เพิ่งจะให้ความเชื่อมั่นไปไม่เกิน 24 ชั่วโมง ต้องบอกว่า ต้องฉุกคิดทันที

     รู้สึกเห็นใจ ในงานเฉพาะเหล่านี้ ที่คุณconductor คงได้ทำกันจนเหนื่อยอ่อน ในขณะที่ชาวบล็อก แทบจะไม่มีส่วนรู้เห็นเลย ไหนจะต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่สังคมควรเหลียวแลต่อผู้เสียสละ ทำงานเช่นนี้อีก

 ในฐานะสมาชิก ก็ต้องขอร้องคุณconductor ได้โปรดชี้แจงให้พวกเราได้ทราบด้วย ว่า ที่ผ่านมาท่าน ได้ทำอะไรเพื่อG2K บ้าง และการทำงานแบบทุ่มเทและเสียสละนี้ กระทบกระเทือนชีวิต และหน้าที่การงานของท่านเพียงใด ถ้าพวกเราได้รับทราบ เชื่อเหลือเกินว่า ไม่มีใครใจจืดใจดำ ทนดูคนเสียสละเพื่อสังคม ต้องตายไปต่อหน้าแน่นอน อาจตั้งกองทุนช่วยเหลือได้ทันเวลา

  เราคิดว่า ถ้าได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริงทั้งหมด จากคุณconductor และต้องการให้เราช่วยเหลือแบบไหน เรื่องอะไร (ขอบอกให้ชัดหน่อย) โดยเฉพาะด้านเทคนิก ระบบ ซึ่งส่วนตัว อาจจะแทบไม่รู้เลย ทำให้ไม่รู้จะช่วยตรงไหนดี ครั้นจะไปร่ำเรียนกันใหม่ก็ใช่ที่ แต่อย่ากังวลค่ะ การเสาะหาคนเก่งมาช่วยเหลือ ก็เป็นอีกวิธีที่เราทำได้ อย่างไรวันนี้ คงได้คำตอบนะคะ อยากแบ่งเบาภาระบ้าง

     อย่าแบกโลก gotoknow ไว้คนเดียวเลย

สวัสดีครับ

อ่านแล้วก็คิดว่า มีประเด็นต้องคิดต่อไม่น้อย ในเรื่อง "น่าสงสัยเหมือนกันว่า GotoKnow จะ owned and operated by users ได้อย่างไร"

ผมมีมุมมองเรื่องนี้อาจต่างจากท่านอื่น

คือเชื่อในแนวคิดว่า "จัดการระบบอย่างไร ให้ดำเนินไปเองได้" คือ ทำอย่างไร ให้คนทำน้อยที่สุด เพื่อให้คนเต็มใจช่วยที่สุด เพราะระบบที่ฝืด ก็ต้องใช้แรงคนเข็นมาก ระบบที่ลื่นไร้แรงเสียดทาน เข็นเบา ๆ ก็ไป

ทำอย่างไรให้ระบบไร้แรงเสียดทาน ?

ข้อนี้ ผมมองว่า คงไม่แคล้วต้องพึ่งการเขียนโปรแกรมครับ เพื่อเขียนระบบรองรับ...เหนื่อยหน่อย แต่เหนื่อยครั้งเดียว

...สมาชิกอ่านบันทึกไหน รู้สึกว่า แย่แน่ ! -เรียก 191 ด่วน ...ก็ ... "กาแจ้งลบ"

..สมาชิกอ่านบันทึกไหน รู้สึกว่า โอ้วว์...จอร์จ ! มันเยี่ยมมาก ก็ "กาแนะนำบันทึก"  แล้วให้ระบบประมวลผล ผลักกระทู้ดี ๆ ออกมาแบบอัตโนมัติ โดยอาจมีโควต้าว่า วันหนึ่ง ๆ ใช้สิทธิแนะนำได้กี่ครั้ง ซึ่งไม่น่าเขียนโปรแกรมยาก(มั้ง ?) โดยสิทธิแนะนำ อาจมีระบบสูงต่ำลดหลั่นตามระดับการใช้งานหรือไม่ ก็ตามแต่

แบบนี้ สมาชิกที่ไม่รู้เรื่องเทคนิคเลย ก็จะสามารถเข้ามาช่วยงานได้ ก็จะทำให้การช่วยเหลือ ทำได้เต็มพิกัดมากขึ้น

ส่วนเรื่อง อาสาเป็น editor/subeditor เพื่อรวบรวมสุดยอดบันทึกในแต่ละหมวดหมู่ ผมยังเบลอ ๆ ว่า จะทำอย่างไร อ่านที่คุณ conductor เสนอคราวก่อน ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังไม่มีข้อสรุปเรื่องรูปแบบ เช่น อย่างที่น้องเม้งทำอยู่ ไม่รู้เข้าข่ายไหมครับ หรือจะใช้วิธีพรวนบทความตัวเองอย่างที่ท่านอัยการชาวเกาะเคยทำ ?

 

สวัสดีค่ะคุณ Conductor

เบิร์ดเห็นด้วยกับ อ.วิบุลว่าการทำให้ระบบเื้อื้อต่อการทำงานน่าจะเป็นทางหนึ่งที่สำคัญ เพราะการผลักภาระงานไปที่ UsableLab ดูจะไม่เหมาะสม

อย่างการเป็น editor เพื่อรวบรวมเบิร์ดก็มองไม่ออกน่ะค่ะว่าต้องทำอย่างไร ต้องนั่งอ่านทุกบันทึกมั้ยหรือ ระบบสามารถจัดการให้เรียกดูบันทึกขึ้นมาเป็นหมวดหมู่ได้เลย แล้วจัดเรตติ้งดาวให้ด้วยจะได้ง่ายต่อการคัดเลือกแบบนี้ระบบพอทำได้มั้ยน่ะค่ะ

ในการอ่านบันทึกเราจะมีช่องให้สมาชิกโหวตดาวให้ด้วยมั้ยเพื่อจะได้สะดวกทั้งการเป็นบันทึกแนะนำและการรวบรวม

หรือเปิดช่องให้มีโปรแกรมเมอร์อาสาในการพัฒนาโปรแกรมของโก ฯ เพื่อทุ่นแรงอ.ธวัชชัยและทีมงาน

มีลานบ้านเพื่อต้อนรับแขกในรูปของเว็ปบอร์ด หรือเป็นหน้าแรกของบันทึก

มีการบอกว่าบันทึกไหนที่เรายังไม่ได้อ่านในวันนี้ ฯลฯ

ตอนนี้คิดได้เท่านี้แหละค่ะ..ถ้าคิดออกมากกว่านี้จะเข้ามาคุยด้วยใหม่นะคะ

อ.ขจิต: ผมจะไม่ตามไปทวงเหมือน อ.ขจิตทวงขนมผมหรอกนะครับ ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ 

คุณกะปุ๋ม: สิ่งใดที่ฉุกคิดได้ ก็เป็นไปโดยปัญญาของสมาชิกแต่ละท่านเอง ขอบคุณครับ 

หมอรุ่ง: บันทึกนี้เป็นเรื่องของ GotoKnow ล้วนๆ นะครับ สิ่งที่สมาชิกอาจช่วยได้คือ

  • ไม่ก๊อบปี้รูปเวลาจะตอบความคิดเห็น
  • ตอบความคิดเห็นรวมๆ กันไปจะดีกว่าครับ โดยทั่วไปจะประหยัดเนื้อที่กว่า (เรื่องเทคนิค) แต่ถึงแม้ว่าใช้เนื้อที่เท่ากัน ก็ประหยัดกำลังฐานข้อมูล
  • เอาเพลงและสิ่งละเมิดลิขสิทธิ์ออกไป 
  • ช่วยกันเฝ้าระวังเป็นหูเป็นตาแทนผู้ดูแลระบบด้วย
  • ภาพที่เอามาประกอบ ขอให้จัดขนาดให้เหมาะสมก่อนเอาขึ้นระบบครับ อย่าใช้วิธีย่อด้วย HTML tag <img>
  • เห็นบันทึกไหนที่ชอบ เอาความคิดมาจากไหน ลิงก์กลับไปต้นทางด้วยครับ เป็นการพรวนบันทึกโดยอัตโนมัติ

ผมขอรับรองว่าผมเป็นคนไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่มีสิ่งใดใน GotoKnow นี้ที่ผมทำโดยไม่ยินดีทำ หรือทำแล้วเดือดร้อนกับตัวเอง คงไม่จำเป็นต้องแสดงรายการให้เปลืองเนื้อที่หรอกนะครับ ผมมีงานประจำ แล้วมาเป็นอาสาสมัครที่ GotoKnow นี้นอกเวลาว่าง ผมไม่ได้อยู่ใน UsableLabs และยังไม่เคยไปเยี่ยม Lab เลยครับ (รูป)

อ.วิบุล/คุณเบิร์ด: เรื่อง "ให้คนทำน้อยที่สุด เพื่อให้คนเต็มใจช่วยที่สุด" นี้ผมเห็นด้วยครับ แต่ผมไม่ได้เป็นคนเขียนโปรแกรม! ที่จริงได้คุยกันมาหลายเดือนแล้ว ซึ่งตลอดมา ก็มีเรื่องที่ต้องทำก่อนเรื่องนี้เสมอครับ 

ส่วนเรื่อง editor/subeditor การพรวนบันทึกการศึกษาอย่างที่ อ.เม้ง/ท่านสิทธิรักษ์ทำ (ไม่นับรูป)  เป็นอย่างที่ผมเสนอครับ 

กล่าวโดยคร่าวๆ คือเป็นการเลือกเฟ้นบันทึก/ข้อความอันทรงคุณค่า ซึ่งจมอยู่ในความหลากหลายของข้อความใน GotoKnow ให้ปรากฏขึ้นมาอีก เผื่อว่าใครพลาดไปครับ 

แต่เรื่องนี้มีอีกสองประเด็นย่อย คือคุณภาพของการเลือกขึ้นกับคนเลือก และประโยชน์ที่เกิดขึ้น ขึ้นกับความเข้าใจและความสามารถในการประยุกต์ใช้ของผู้อ่าน

แล้วจะเลือกอย่างไร -- นั่นแหละคำถามครับ ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมคิดว่าน่าจะมีคนอาสาลงแรงก่อนนะครับ first who, then what นั่นคือที่ผมเสนอว่าเป็น editor/subeditor ครับ 

  • ที่เสนอแบบกึ่ง manual นี้ ทั้งๆ ที่เขียนโปรแกรมเอาน่าจะ practical กว่า ก็เป็นเพราะได้เสนอไปนานแล้ว (ไม่ได้กดดันนะครับ) อันเป็นประเด็นที่ 1 และ 2 ในบันทึก
  • ส่วนเรื่องแจ้งลบ การลบเป็นสิทธิของเจ้าของบันทึกครับ ซึ่งแจ้งได้ผ่านอีเมล ดูไปก็ถึกดีครับ เป็นประเด็น 1 และ 2 เช่นเคย
  • บันทึกแนะนำก็คล้ายๆ กัน น่าจะมีฐานข้อมูลบันทึกแนะนำเพื่อจะไม่ให้ซ้ำ ตอนนี้ยังออกแบบอยู่ การออกแบบจะไม่จบสิ้นถ้าไม่ได้ข้อสรุปสำหรับ process การแนะนำบันทึก ซึ่งสมาชิกควรหาข้อสรุปร่วมกันในประเด็น 4

ขอบคุณทุกความเห็นนะครับ เราไม่ต้องเห็นเหมือนกัน ตราบใดที่ข้อเสนอเป็นไปเพื่อให้ GotoKnow ดีขึ้น ผมโอเคทั้งนั้น ถึงไม่ค่อยว่าง ก็จะหาเวลามาคุยครับ

ในห้องๆ หนึ่ง  หากเรานั่งมองตากัน ผมอาจบอกว่าประตูอยู่ทางซ้าย ท่านก็บอกว่าประตูอยู่ขวา เถียงกันให้คอแตก ถูกทั้งคู่ ประตูอยู่ที่เดิมตรงทางออก ถ้าเราทั้งสองหันหน้าไปที่ประตู (จุดหมาย) ประตูจะอยู่ข้างหน้าเราทั้งสอง แม้จะมองไปใน vector ต่างกันครับ ไม่ต้องมาพูดเรื่องสมานฉันท์เลย

สวัสดีครับ Conductor

  • อ่านแล้วก็เข้าใจมากขึ้น เมื่อมาถึงตรงนี้ท่าน อ.
    ธวัชชัย กล่าวถึง เกี่ยวกับความยั่งยืน ความรับผิดชอบของสมาชิก ทิศทาง เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ หรือแม้แต่การใช้งานที่เหมาะสม/จรรยาบรรณ ภาระทั้งหมดตกอยู่กับทีม UsableLabs ซึ่งทั้งทีมก็ได้ทุ่มเทเพื่อ GotoKnow อย่างหนักตลอดมาผมคิดว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจมาก (แต่หลายแนวคิดทำได้ในต่างประเทศไม่ได้หมายควาว่าจะทำได้ในประเทศไทย ลักษณะสังคมต่างกัน ลักษณะอุปนิสัยต่างกัน โครงสร้างเบ้าหลอมสำนึกเรื่องสาธารณะของคนในชาติต่างกัน)  แต่น่าจะพยายามก่อนครับดีกว่าคิดทำไม่ได้เสียเลย ประโยคนั้นเป็นเพียงข้อเตือนใจเท่านั้นครับ  โดยหลักการผมเห็นด้วยและสนับสนุนให้เกิดเช่นนั้นครับ
  • ต่อเนื่องมาจากข้างบน ...."เกี่ยวกับความยั่งยืน ความรับผิดชอบของสมาชิก ทิศทาง เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ หรือแม้แต่การใช้งานที่เหมาะสม/จรรยาบรรณ ภาระทั้งหมดตกอยู่กับทีม UsableLabs ซึ่งทั้งทีมก็ได้ทุ่มเทเพื่อ GotoKnow อย่างหนักตลอดมา..."  ในทัศนผมคิดว่า การใช้เวลาเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังน้อยเกินไป อาจยังต้องการเวลามากกว่านี้สักหน่อย  โดยเฉพาะ การรับรู้สาระตรงนี้ของสมาชิกจำนวนมากนั้นยังไม่ทั่วถึง และการระดมสมองยังไม่เห็นที่ เพราะลักษณะสังคมนี้ หลวมมากเกินไป จึงเป็นเพียงผู้ที่ผ่านมาทิ้งข้อความและแวะเยี่ยมคนโน้นคนนี้ แล้วก็ไป ทำภารกิจส่วนตัว  แต่ถ้าทุกครั้งที่เข้ามาก็มาใช้เวลากับประเด็นเหล่านี้ทุกครั้งด้วยก็น่าที่จะได้อะไรมากกว่านี้
  • ผมเองมองเห็นว่า  นี่แหละตัวตนของ g2k ที่ชัดเจนมากขึ้น มากขึ้นว่ามีลักษณะ หลวมในแง่ของการกระโดดเข้ามาช่วยเสนอแนะและร่วมกันแก้ปัญหา แต่แน่นตึบในแง่ความผูกพันทางความรู้สึกร่วมทางจิตใจ  เวลาผ่านไป หน้าตา บุคลิค ลักษณะของ g2k ก็ชัดเจนมากชึ้น หากให้ช่วยกันระดม บอกบุลิคลักษณะชอง g2k ออกมาก็น่าสนใจนะครับว่าแต่ละคนจะเห็นอย่างไรบ้าง
  • เมื่อเป็นเช่นนี้   ผมสรุปด้วยตัวเอง ว่า องค์กรที่ไม่มี Leader หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่  ก็จะลอยฟ่องอยู่บนอุดมการณ์สวยๆ ที่จับต้องไม่ได้  ผมคิดว่าต้องสรรหาผู้แทนขึ้นมาช่วยทำหน้าที่ management ครับ  แต่ไม่ใช่องค์กรตายตัว  เมื่อถึงปีเด็นนี้ทำให้นึกถึงความคิดเห็นของท่านอ.ดร.ธวัชชัยที่จะขยายความเรื่อง Owned and Operated by Users ว่าท่านคงมีตัวอย่างดีดีมาเสนอเราน่ะครับ
  • สำหรับอาสาสมัครทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ แต่หาคนรับไม่ได้  ผมคิดว่ามันก็สะท้อนความเป็นจริงของ g2k ว่าตั้งอยู่บนสังคมที่ไม่ได้ผูกมัดความรับผิดชอบแบบสังกัดองค์กร   สมาชิกก็คือผู้มาเยือน แต่ยังไม่ได้พัฒนาจนถึงเป็นเจ้าของ หรือสมาชิกมีความเป็นเจ้าของอยู่เหมือนกัน แต่ระดับของการก้าวเข้ามารับผิดชอบนั้นยังไม่พัฒนาไปมากนัก  ประเด็นก็คือ จะเป็นแบบนี้อีกนานไหม แล้วจะทำอย่างไร  ผมนึกถึงภาพนี้ครับ UsableLabs ทีมคือสมองของ g2k หากท่านมีอะไรจะให้สมาชิกทำ ท่านอาจใช้วิธีหนึ่งคือ นำประเด็นนี้ไปมอบให้ลุงเอก ท่านครูบา คุยให้ท่านเข้าใจ แล้วท่านจะไปใช้วิธีของท่านเองในการหาคนมารับผิดชอบ  (นี่คือวิธีของสังคมไทยนะครับ)   เห็นไหมคนในรัฐบาล พูดอะไรไม่ค่อยมีใครฟังหรอก แต่พอมอบให้หลวงตามหาบัวเท่านั้นเอง เงินไหลมาเทมา  ...ทั้งๆที่พูดคำเดียวกัน.....นี่แหละครับสังคมไทย... ผมมิได้หมายความว่าทีมงานไม่มีความสามารถ แต่กำลังบอกว่า เมื่อใช้วิธีการหนึ่งไม่ได้ผล ก็ลองวิธีอื่นดูบ้าง นี่คือหลักของการบริหารเหมือนกันใช่ไหมครับ
  • ผมเข้าใจ ยอมรับ และเห็นอกเห็นใจทีมงานมากๆ และผมขออนุญาตใช้คำว่า G2k กำลังถึงช่วง "ระยะเวลาปรับตัว"  ไม่ใช่ปล่อยให้เวลาผ่านไปให้ปรับเอง คงไม่ใช่ แต่การปรับตัวต้องใช้เวลาในการปรึกษาหารือ ทดลอง ค้นหาทีละขั้นทีละตอน ปรับไปแล้วก็อาจจะปรับต่อ ผมค้นพบประเด็นนี้ในการพัฒนาองค์กรมามากกว่า 30 ปีครับ ผมคิดว่า g2k ก็คงไม่พ้นหลักการนี้ แต่ต้องมีทีมงานมาช่วยกันสรุปบทเรียน คิดค้น ผลักดัน สรุปอีก ปรับอีก -----> จนถึงระดับหนึ่งมีความนิ่งมากขึ้น  แต่ไม่ใช่นิ่งสนิท  เพราะองค์กรปรับตัวตลอดเวลาครับ
  • ส่วนตัวผมชื่นชมมากนะครับ ทีมงานครับ

คุณconductor คะ

 นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่รู้จะขยายตัวอักษร ข้อความที่อาจารย์ตอบมา สองบรรทัดสุดท้ายอย่างไร จะเดาก็ใช่ที่ ช่วยเพิ่มขนาดด้วยค่ะ

พี่ไพศาล: ข้อความผมเขียนเองครับ อาจแรงและมีเรื่องที่เข้าใจยาก ยังบ่นกับผู้ที่ผมนับถือบางท่านว่าต้องเขียน flamebait อีกแล้ว รู้อยู่แล้วว่าเขียนไปอาจมีผู้รู้สึกว่าถูกพาดพิง อาจมีคนรู้สึกว่ากระทบใครโดยตรง แต่เรื่องที่ต้องพูดก็ต้องพูดกันครับ ผมไม่ได้หมายถึงท่านผู้ใดเป็นการส่วนตัวทั้งสิ้น ผมพูดแต่เรื่อง GotoKnow และผลต่อสมาชิกทั้งมวล

เรารู้ว่้าเล่นไฟมีโอกาสเสี่ยงไฟไหม้บ้าน ถ้าเด็กเล่นไฟแล้วไฟไหม้บ้าน เมื่อไฟไหม้แล้ว จะบอกว่าไม่รู้ ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาครับ ... ตื่นเถิดชาวไทย อย่ามัวหลับไหลลุ่มหลง ...

ผมไม่เห็นว่าควรห้ามไปหมด ไม่ควรมีขาใหญ่ออกมาชี้นิ้วสั่งให้ใครทำอะไร แต่ต้องพูดกันจนเข้าใจว่าการกระทำทุกอย่างมีผลต่อ GotoKnow

หากเราไม่เคยทำอย่างที่เคยทำมา GotoKnow ก็ไม่เป็น GotoKnow อย่างในปัจจุบัน แต่ถ้ารู้ว่าทำแล้วเกิดผลเสียแต่ยังจะทำ ก็แล้วแต่ครับ ทุกอย่างเป็นความรับผิดชอบร่วมกันครับ

ผมชอบคำว่า "ระยะเวลาปรับตัว" ครับ แต่จะปรับอย่างไร ก็ควรเข้าใจทั้งเหตุและผลอย่างถ่องแท้ ปรับครั้งเดียวคงไม่พอ แม้แต่เครื่องแม่ข่าย ปีนี้ก็ปรับกันมาสามยกแล้ว -- น้ำหนักคงไม่ถึงกับ "ผีเสื้อขยับปีก เกิดพายุเฮอริเคน" แต่พี่คงเข้าใจอยู่แล้วว่ามันเป็นไปในทำนองเดียวกันครับ เป็นเหตุเป็นผลกัน ไม่ใช่เรื่องไสยศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องอารมณ์ของใคร

ส่วนสมาชิกจะตัดสินใจอย่างไร จะทำอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ ทุกคนมีอิสระ จะเขียนอะไร จะทำอะไรก็ไม่ต้องขออนุญาตใคร จะหายใจเข้า-หายใจออก เป็นไปโดยอิสระครับ

บันทึกนี้และทุกบันทึก คือความเห็นของเจ้าของบันทึก จะมีความหมายอะไร จะเกิดผลอะไร ขึ้นกับผู้อ่านพิจารณาเอาเองครับ 

หมอรุ่ง: ตรงนั้นที่เขียนตัวเล็กไว้เพราะเป็นเจตนาครับ ข้อความไม่สำคัญ

  • ถ้าอ่านไม่ได้แต่อยากอ่าน ลองกด Ctrl + สักสองสามครั้งซิครับ
  • หรือไม่ก็มุมบนขวา มี A เล็กกับ A ใหญ่ ลองกด A ใหญ่ดูนะครับ
  • ถ้าไม่เวิร์คจริงๆ ก็ select แล้ว copy แล้วไปปะในโปรแกรมอื่น เช่น notepad

เฮ้อ อธิบายนี่ยาวกว่าลอกมาให้อ่านอีก ลอกให้ก็ได้ครับ

"ผมขอรับรองว่าผมเป็นคนไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่มีสิ่งใดใน GotoKnow นี้ที่ผมทำโดยไม่ยินดีทำ หรือทำแล้วเดือดร้อนกับตัวเอง คงไม่จำเป็นต้องแสดงรายการให้เปลืองเนื้อที่หรอกนะครับ ผมมีงานประจำ แล้วมาเป็นอาสาสมัครที่ GotoKnow นี้นอกในเวลาว่าง ผมไม่ได้อยู่ใน UsableLabs และยังไม่เคยไปเยี่ยม Lab เลยครับ (รูป)"

สวัสดีครับพี่

    พอดีไปตอบไว้ที่บันทึกตัดหางปล่อยวัด

ของลุงเอกมาครับ เลยเอามาฝากไว้ตรงนี้อีกรอบครับ เพราะว่าเกี่ยวๆ กันครับ

สำหรับเรื่อง G2K นั้น ได้อ่านคำตอบของ อ.ธวัชชัย ก็ได้อิ่มไปพอสมควรครับ

ตั้งแต่ รวมกลุ่มประชุมกลุ่มออนไลน์ครั้งแรก...ผมว่าเหมือนว่ายังมีโจทย์หลายๆ ข้อที่ยังปลงไม่ตก หรือว่ายังไม่ได้ดำเนินการ.... และถัดจากนั้นมา ก็มีบันทึกรับอาสาจากคุณอำนวยอาสาของน้องมะปรางเปรี้ยว เพื่อหาคำตอบ ผมก็รู้สึกว่า ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนครับ

ผมไม่แน่ใจว่าเรากังวลใน เรื่องใดมากกว่ากันแน่ ระหว่าง เรื่องงบประมาณสนับสนุนปีละล้าน กับแก่นแท้ของคำว่า ความยั่งยืนของ G2K และ G2K เพื่อการเป็นเจ้าของและจัดการโดยผู้ใช้ ตลอดจนเ้ส้นทางสู่ความยั่งยืนของ G2K

สวัสดีปีใหม่ และสุขใจทุกๆ วันนะครับ

เม้งครับ

 

 

เราคงไม่ต้องมีกรอบมีกฎกันมาก  แต่มีข้อควรทำที่จะบรรเทาทุกข์  บรรเทาภัยต่างๆ

ลักษณะคนไทยไม่ค่อยอาสาสมัครส่วนใหญ่เอียงไปทางจัดตั้ง  คงต้องขอให้ช่วยกันดูและความปลอดภัยใน gotoknow  พบสิ่งผิดปรกติ  ก็รายงานไปหลานมะปรางเปรี้ยวโดยตรง

อย่างที่เคยเสนอยาม gotoknow  หรือแมวมอง  หาบันทึกน่าสนใจมารายงาน  แต่หมามองคงไม่เอา  เพราะโดนพระไล่ให้ออกจากวัดแล้ว

อยากหาคนทำอะไรบอกมาได้ช่วยไม่ไหวจะกราบกรานคนมาช่วยเอง

อ.เม้ง: ตามความเข้าใจของผม 5 ประเด็นสำคัญทั้งนั้น และเกี่ยวพันกันหมดครับ 

ผมคิดว่าเงินเป็นเรื่องเล็กกว่า "แก่นแท้" ของความยั่งยืนของ GotoKnow แก่นที่ไม่สำคัญก็คงไม่ใช่แก่นนะครับ 

คืนนี้หลังจากแนะว่าไม่ควรลอกรูปลงมาปะในการตอบความคิดเห็น ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทันทีครับแรกๆ ก็อาจจะไม่คุ้นเคย แต่เมื่อสมาชิกพิจารณาแล้วว่าทำแล้วดีต่อ GotoKnow (ประหยัดกำลัง database server, ประหยัดกำลัง application server, ประหยัดกำลัง web server, ประหยัดหน่วยความจำของ memcached server, ประหยัดการเคลื่อนไหวของหัวอ่านดิสก์) แล้วทำ ผลก็ตกกับ GotoKnow

ส่วนถ้ายังไม่ได้อ่าน หรืออ่านแล้วไม่สนใจ/ไม่เข้าใจ/ไม่เห็นด้วย/ไม่ทำ ก็แล้วแต่ครับ ผลก็ตกกับ GotoKnow เช่นกัน

บันทึกเขียนแล้ว วางอยู่เฉยๆ ผลดีจะเกิดหรือไม่ อยู่ที่สมาชิกคิดไตร่ตรองแล้วปฏิบัติหรือไม่นะครับ 

ลุงเอก: ขอบพระคุณลุงเอกมากนะครับ ถ้าเปลี่ยน GotoKnow เป็นสังคมแห่งการปฏิบัติได้ก็คงดี

ผมเห็นว่าสิ่งใดที่เราเชื่อว่าดีต่อ GotoKnow ควรจะเขียนเป็นบันทึกข้อเสนอ แล้วเปิดให้สมาชิกวิจารณ์/ปรับปรุง มันอาจจะทำให้ชีวิตยุ่งยากขึ้น สรุปยากขึ้น แต่ถ้า GotoKnow จะ owned and operated by users จริง ก็คงจะไม่มีทางเลือกอื่นมากนักใช่ไหมครับ

  • พวกเราส่วนใหญ่อ่อนด้อยเรื่องเทคนิคและข้อมูลในทางปฏิบัติ พอรู้วิธีเข้าบล็อกได้ก็ก้มหน้าก้มตาบรรเลงกันอย่างสนุก ว่ากันระเบิดเทิดเทิง ไม่รู้ไม่ชี้ว่าไปกระทบกับกลไกของการทำงาน
  • การที่มะปรางเปรี้ยว หรือ คอนดอกเตอร์ เตือนปากเปียกปากแฉะเป็นเรื่องจำเป็นมาก
  • เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นการเรียนรู้ระหว่างทาง  ของคนร้อยพ่อพันแม่ ที่อภิมหาความหลากหลาย คงจะปวดหัวกับกรณีนี้ไปอีกนาน เพราะยังไม่มีวิธีที่รวบรัดได้เลย แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้นะ  เพิ่งไปเห็นตัวอย่างเรื่องห้องสุขที่ไปชะแง้ทัว์คราวนี้ แอบจำที่ท่านคอนดอกเตอร์เขียน เรื่องชะโงกทัวร์
  • ไปเห็นห้องน้ำวัดที่สะอาดที่สุดในประเทศไทย เป็นสถานที่สาธารณะ  เป็นงานที่ยุ่งและยาก แต่เขาก็จัดการได้อย่างน่าทึ่ง ทำให้นึกถึงที่ท่านกำชับเตือน ก็เห็นว่า เป็นไปได้ ถ้าเราเกาถูกที่คัน และวางระบบให้ดี
  •  เข้าใจและเห็นใจมาก คงต้องช่วยกันคิดต่อ นะครับ

สวัสดีค่ะ

  • ป้าแดง ไม่เข้าใจในระบบการจัดการค่ะ
  • ทำได้ก็ในฐานะ ผู้ใช้ค่ะ
  • จะตอบความคิดเห็นแบบรวมและไม่ก๊อปรูป เจอบันทึกที่คิดว่าดีมีประโยชน์ก็จะส่งเมล์ไปถึงน้องมะปราง
  • น่าจะมีอะไรที่มากกว่านี้อีกนะคะ
  • ยินดีปฏิบัติค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะ
  • เข้ามาอ่านค่ะ
  • เหมือนจะเข้าใจ แต่สุดท้ายก็ไม่ค่อยเข้าใจ
  • อาจจะเพราะมีความคิดแบบง่ายๆเกินไปว่า คนเราทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย  ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ดังนั้นระหว่างมีชีวิตอยู่ เราก็น่าจะทำในสิ่งที่อยากจะทำและทำให้ดีที่สุดไม่ดีกว่าหรือ
  • แม้กระทั่งโลกที่เราอาศัยอยู่ สักวันมันก็ต้องแตกดับ ทุกวันนี้ปัญหาต่างๆของโลกเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน สงคราม โรคระบาด ทรัพยากรร่อยหรอ อันเกิดมาจากประชากรที่มีมากขึ้น เราไม่สามารถช่วยโลกไม่ให้แตกดับ แต่เราก็ยังคงสามารถช่วยยืดเวลาออกไป โดยการจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้า ช่วยกันป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น  วางมาตรการที่ให้คนปฏิบัติเพื่อลดการทำลายโลกและผลาญทรัพยากร
  • จำได้ว่าคอนเซปของที่นี่คือการเป็นเวทีสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นกัน ไม่ทราบว่าทุกวันนี้ คอนเซปของ G2k เพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนไปหรือยัง หากว่ายังเหมือนเดิม ก็ยึดคอปเซปนี้เป็นหลักไว้ต่อไป  แล้วก็ "ทำเท่าที่ได้ ใช้เท่าที่มี" น่าจะดีที่สุด
  • พูดไปพูดมา ดูเหมือนว่าตัวเองน่าจะคิดแบบง่ายๆตื้นๆเกินไป  สรุปก็คือคงยังไม่ค่อยเข้าใจสถานการณ์อะไรสักเท่าใดนัก
  • ขอโทษนะคะ หากความคิดเห็นนี้ไม่ค่อยเหมาะสม  ไม่มีเจตนาล่วงเกินใดใดจริงๆ แค่พูดไปตามความรู้สึกเท่านั้น ^^'

สวัสดีค่ะคุณ Conductor

เข้ามาตอบ ปัญหาโลกแตก: GotoKnow คืออะไร ค่ะ

สำหรับเบิร์ด    GotoKnow คือ ระบบ ที่เื้อื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ  เป็นช่องทางหนึ่งบนโลกไซเบอร์ที่เข้ามา Learn  Care  Share  Shine แล้วแต่ว่าใครจะได้อะไรไปบ้างน่ะค่ะ

ส่วนสายใยของ GotoKnow  เกิดจากทีมงานและเหล่าบล็อกเกอร์สานต่อในช่องทางอื่นๆนอกเหนือจากบันทึกค่ะ  สายใยนี้สามารถอธิบายได้เนื่องเพราะ GotoKnow มีการสกรีนคนที่เข้ามาในระดับหนึ่งด้วยคำว่า " คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "  เมื่อมีการสกรีนก็ย่อมมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าสังคมนี้สีขาว ..และยืนอยู่บนเหตุผล 

เบิร์ดประทับใจ กับความตั้งใจในการนำเสนอของผู้คนในชุมชนแห่งนี้นะคะ..ประทับใจ กับความตั้งใจอธิบาย และใช้เหตุผลความรู้สึกกำกับให้เข้าใจ มากกว่าการระเบิดอารมณ์ทิ้งขว้าง ซึ่งถือเป็นความน่ารักอย่างยิ่งของผู้คนในชุมชนแห่งนี้เลยล่ะค่ะ

เมื่อ GotoKnow เป็นระบบที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  สิ่งที่เบิร์ดอยากเห็นในอนาคตของ G2K คือการจัดการกับข้อมูลต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพน่ะค่ะ

เบิร์ดไม่ทราบศัพท์ทางระบบนะคะ แต่ขอมองแบบที่เบิร์ดเห็น..ปัจจุบัน G2K อยู่ในระดับของการจัดเก็บบันทึกต่างๆไว้เป็นข้อมูลเหมือนการเก็บแบบที่เรียกว่า Data น่ะค่ะ เป็นไปได้มั้ยคะที่จะไปถึงจุดที่เราเรียกว่า  Information  ในอนาคตอันใกล้ ?

เบิร์ดเริ่มมึนเองแล้วค่ะ ถ้าเบิร์ดหายมึนแล้วจะมาตอบประเด็นอื่นๆอีกนะคะ

 

 

 

ครูบาสุทธินันท์: ขอบพระคุณพ่อครูบาครับ ผมเชื่อว่าสมาชิกของเราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาครับ สิ่งที่เขียนในบล๊อกนี้ เป็นเรื่องของ GotoKnow ทั้งนั้น

ผมไม่ได้อยากให้สมาชิกคิด/ทำเหมือนกันไปหมด อยู่ร่วมกันในสังคมก็จะมีความแตกต่างเป็นธรรมดา แต่ผมอยากให้สมาชิกคิดก่อนทำครับ ถ้าเห็นด้วยก็ทำแบบเห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร อย่าทำไปโดยความคุ้นเคยแบบไม่ได้คิดพิจารณาก่อน

ถ้าห้องน้ำวัดยังจัดการจนดีได้ ทำไม GotoKnow ของเราจึงจะทำไม่ได้ล่ะครับ ขอเพียงแต่เราอย่าชื่นชม GotoKnow มากนักจนหลงไปว่าทุกอย่างดีอยู่แล้วและจะดีตลอดไป  ยืนอยู่กับความเป็นจริงดีกว่าครับ

ขอแสดงความยินดีกับรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำด้วยนะครับ 

ป้าแดง: ขอบคุณที่พิจารณาครับ

ข้อเสนอต่างๆ ควรจะช่วยกันคิดครับ เราอาจจะช่วย GotoKnow ในทุกเรื่องไม่ได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ แต่ก็น่าจะมีบางอย่างที่สามารถทำได้โดยไม่ขึ้นกับข้อจำกัดนั้น

จะช่วย GotoKnow ไม่เห็นต้องเป็นเหมือนคนอื่นที่เขาช่วยในเรื่องที่เขาชำนาญอยู่แล้วเลยใช่ไหมครับ เราช่วยในส่วนที่เราช่วยได้โดยไม่เดือดร้อนตัวเอง (และคนรอบข้าง) ดีกว่าครับ

คุณจูน: เรื่องนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากครับ ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องเทคนิคซึ่งเราไม่รู้เรื่อง ก็จะรู้สึกว่ายากโดยยังไม่ต้องพิจารณาอะไรเลยครับ 

ประเด็นทั้ง 5 นี้ ถ้าไม่ดูให้ละเอียด ก็จะมองไม่เห็น เพราะว่า GotoKnow ตอนนี้อาการดีไม่เห็นมีปัญหาอะไร 

แต่ข้อเท็จจริงคือทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดครับ คุณจูนอยู่มานานคงผ่านสถานการณ์ของ GotoKnow มาหลายครั้ง

  • เริ่มต้นตอนอยู่อเมริกาก็ใช้ได้ GotoKnow เริ่มสร้างตัวและได้รับความนิยม
  • ต่อมาเครื่องเริ่มช้าลง เพราะการใช้งานแพร่หลายขึ้น มีการอบรมมากขึ้น มีบล๊อกเกอร์มากขึ้น มีบันทึกมากขึ้น มีความคิดเห็นมากขึ้น
  • ปลายปี 2549 ย้ายกลับเมืองไทย สคส.เช่าเครื่องแม่ข่าย 3 เครื่องอยู่ที่ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตขนาดยักษ์ซึ่งให้ความเร็วไม่จำกัด GotoKnow เร็วกระฉูด (ย้ายเครื่องแม่ข่ายกลับประเทศเป็นที่เรียบร้อย)
  • ต้นมิถุนายน 2550 เครื่องแม่ข่ายทำงานไม่ไหว สปอนเซอร์เอาเครื่องมาให้ฟรีอีกสี่เครื่อง GotoKnow ก็เร็วขึ้นมาอีก (ตกใจสุดขีด GotoKnow โตขึ้นอีกเท่าตัวในห้าเดือน หลังย้ายกลับเมืองไทย) -- สมาชิกแฮบปี้ ทีมงานมั่นใจว่ามีกำลังเครื่องพอ
  • ปลายสิงหาคมช้าอีกแล้ว ต้องปรับปรุงรีดไขมัน (สถานการณ์ชั่วคราวของ GotoKnow -- 27 ส.ค. 2550) แล้ว GotoKnow ก็กลับมาเร็วเหมือนเก่า -- สมาชิกแฮบปี้ ทีมงานก็มั่นใจว่ามีกำลังเครื่องพออีกครั้งหนึ่ง
  • ผ่านไปอีกสองเดือน ก็เป็นอีก (การปรับปรุง GotoKnow เดือนพฤศจิกายน 2550) คราวนี้มีผู้บริจาคเครื่องแม่ข่ายความเร็วสูงปรี๊ดสองเครื่อง -- สมาชิกแฮบปี้ ทีมงานมั่นใจว่ามีกำลังเครื่องพออีกแล้ว
  • มาจนปัจจุบันนี้อาการยังดีอยู่ แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดอาการอีก

เมื่อไหร่เราถึงจะหลุดจากวงจรนี้ครับ พวกเราตระหนักหรือไม่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา (หรือว่าปัญหาเป็นเรื่องของคนอื่นต่างหาก)

เครื่องแม่ข่ายยังดีอยู่ เป็นเหมือนความคิดที่ว่าน้ำมันไม่มีวันหมดไปจากโลก ขุดแล้วสูบขึ้นมาได้เรื่อยๆ ใช้ล้างผลาญได้ตามสบายนั่นแหละครับ

คงต้องทำไปเรียนรู้ไปตลอดกระมั๊งครับ  โจทย์ใหม่ๆจะเกิดขึ้น และเข้ามา เพราะนี่เป็นการเรียนที่มีชีวิต ชีวาแห่งการเรียนรู้ก็จะนำพาไปสู่ปัญหา และวิธีแก้ไข เอาใจช่วยครับ

คุณเบิร์ด: เขียนบันทึกใหม่เลยดีไหมครับ เป็นประเด็นที่น่าสนใจ และต้องการการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่สุดเลย เหมาะกับ ของขวัญจากวันวาน มากเลยนะครับ

ครูบาสุทธินันท์: ใช่เลยครับ เพราะ GotoKnow มีชีวิต 

สวัสดีค่ะ

ก่อนหน้านี้ ได้ติดตามบันทึกต่างๆที่เกี่ยวกับGotoKnow ด้วยความรู้สึกค่อนข้างอึดอัดมาพอควร  เพราะ ยังมองเห็นอะไรไม่ชัดเจนค่ะ

แต่มาถึงตอนนี้ รู้สึกใจสบายขึ้น บ้าง  จากบันทึก ขอรับรอง GotoKnow จะอยู่แน่ไม่ไปไหน และจะอยู่ตลอดไปคู่สังคมไทย

 แต่ก็ยังไม่ชัดเจน อย่างที่หวังค่ะ เพราะอยากเห็นระบบที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างแน่ชัด พร้อมแผนงาน ที่เป็นขั้นเป็นตอน ทั้งระยะใกล้ และระยะกลาง(แค่นี้ก่อนก็พอค่ะ) พร้อมทีมงาน ในการบริหาร ในบางแห่ง เรียกว่า คณะจัดการ ที่น่าจะมีมากกว่าที่มีอยู่ ตามความจำเป็นเท่านั้น

ดิฉันเคย เห็น web site  คล้ายๆกับGotoKnow นี้มาบ้าง แต่ไม่ดี หรือมีศักยภาพเท่านี้ค่ะ

ที่นี่ เป็นที่ๆทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ อย่างดีมาก

  แต่จะดีขึ้นอีก ถ้าเราจะช่วยกันเร่งส่งเสริมให้มีการพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้   และการจัดให้มีการทำฐานข้อมูลในด้านต่างๆให้เป็นระบบระเบียบและสะดวกมากขึ้นอีกค่ะ

 digital archive ของภูมิปัญญาไทยในปัจจุบันเพื่อลูกหลานในอนาคต

 ดิฉันเชื่อในศักยภาพของสมาชิกในโกทูโนค่ะ 

 แต่คงต้องจัดระบบในภาพรวมให้เหมาะสมขึ้นค่ะ หมายถึงทุกด้านค่ะ ที่จำเป็น

จริงๆ  ส่วนตัวดิฉันเองจริงๆ คิดว่า เรื่องนี้ ไม่น่าเป็นเรื่องซับซ้อนเท่าใดค่ะ น่าจะช่วยกันจัดการดูแลได้

ตามที่หลานเบิร์ดกล่าวไว้ว่า 

ปัจจุบัน G2K อยู่ในระดับของการจัดเก็บบันทึกต่างๆไว้เป็นข้อมูลเหมือนการเก็บแบบที่เรียกว่า Data น่ะค่ะ เป็นไปได้มั้ยคะที่จะไปถึงจุดที่เราเรียกว่า  Information  ในอนาคตอันใกล้   ลุงเอกเห็นไปไกลว่า  จาก Data ไป จาก Information จะพัฒนากลายเป็น  Intelligence  ที่มีประโยชน์หลากหลาย

มีท่านสมาชิกที่ผมนับถือกระซิบถามมาว่า "การลบบันทึกเก่าหรือ comment เก่าๆ จะช่วยลดภาระของ G2K ไหมครับ อิอิ"

ผมตอบท่านไปแล้ว แต่อยากมาขยายอีกครั้งหนึ่ง ว่าการลบบันทึก/ความคิดเห็นเก่า จะไม่ช่วยลดภาระ GotoKnow เลยครับ สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ก็ผ่านไปแล้ว ที่น่าห่วงคือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นต่างหาก

ไม่มีใครไล่แจกใบแดง-ใบเหลืองนะครับ สมาชิกเขียนอะไรก็เป็นเรื่องที่สมาชิกตัดสินใจเอง ประเด็นที่ 3 ในบันทึกเพียงแต่ชี้ว่าเครื่องแม่ข่ายมีกำลังจำกัด แม้ตอนนี้ยังมีเหลือและทำงานได้ดี แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีกำลังพอไปอีกนานเท่าไหร่ 

เมื่อเครื่องแม่ข่ายทำงานไม่ไหวในครั้งหน้า การแก้ไขคงจะไม่ "ง่าย+ราคาถูก" เหมือน 3 ครั้งที่ผ่านมาซึ่งใช้ความรู้แก้ไข คราวหน้ามีความเสี่ยง+ความไม่แน่นอนสูงครับ ขอบอก -- เรื่องนี้ได้มีการศึกษาเบื้องต้นไว้ล่วงหน้า จึงเข้าใจความเสี่ยงดี แต่ยังไม่มีข้อมูลพอที่จะทำนายว่าเมื่อไหร่ [จุดเฝ้าระวังอยู่ระหว่างการแสดงผล 5-6 ล้านหน้าต่อเดือน]

ดังนั้นหากรักษากำลังของเครื่องแม่ข่ายไว้ให้นานที่สุด ใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ให้คุ้มค่า ก็จะดีกว่าเร่งให้ไปถึงจุดนั้นโดยเร็วโดยไม่คุ้มค่านะครับ

พี่ศศินันท์: ผมคิดว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรมการเกรงใจครับ เลยไม่มีใครฟันธง

ถึงฟันธงได้ ก็ไม่แน่ว่าจะทำได้เช่นกันเพราะมีข้อจำกัดเยอะ แต่ทว่าไม่มีปัญหาใดที่แก้ไขได้โดยการเริ่มพิจารณาข้อจำกัด เพราะข้อจำกัดไม่ใช่สาเหตุ (สะกดคนละอย่าง อ่านคนละแบบ)

แต่หาสาเหตุไม่ได้ถ้าไม่กล้าพูดถึงสิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา 

พูดตรงก็เกรงใจครับ นี่เราเดินครบ loop แล้ว

ลุงเอก: ผมดีใจที่ท่านไม่ปล่อยผ่านครับ อย่างนี้จึงเป็นกัลยาณมิตรของ GotoKnow

คุณ Conductor และสมาชิกทุกท่าน 

  • อ่านดูแล้วก็เหมือนจะเครียดๆ กันนะครับ แต่ก็มีการแลกเปลี่ยนกันในทางที่ดีมาก ซึ่งผมเชื่อว่าสุดท้ายจะได้ข้อสรุปที่ดี
  • หลายคนที่เป็นสมาชิก gotoknow อาจจะมีความรู้ในทางเทคนิคไม่มากนัก รวมถึงผมด้วย แต่ต้องการเวทีที่สามารถแสดงความคิดในกรอบความรู้ของตัวเองเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่ด้วยความจำกัดส่วนตัว อาจจะมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของร่วมได้ไม่มากนัก ซึ่งผมว่าไม่แปลก ถ้าหากมองย้อนไปดู webboard หรือ กระดานความคิดเห็นอื่นๆ โดยเฉพาะที่มีการสนับสนุนโดยภาคธุรกิจ
  • นั่นก็แสดงให้เห็นแล้วว่า gotoknow ไม่เหมือนที่อื่น เพราะเกิด "กระบวนการเรียนรู้" จริงๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างในกรณีของบันทึกนี้
  • ดังนั้น ในการกระตุ้นเตือนสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในบางเรื่องของสมาชิกจึงมีความเป็นไปได้สูง
  • ขอเป็นอีกแรง ซึ่งจะช่วยเท่าที่ทำได้ครับ

ด้วยความเคารพรัก

 ความกังวลในขณะนี้ ที่คุณConductorพยายามจะชี้ให้เห็นคือ:-

ในบันทึกเพียงแต่ชี้ว่าเครื่องแม่ข่ายมีกำลังจำกัด แม้ตอนนี้ยังมีเหลือและทำงานได้ดี แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีกำลังพอไปอีกนานเท่าไหร่ 

เมื่อเครื่องแม่ข่ายทำงานไม่ไหวในครั้งหน้า การแก้ไขคงจะไม่ "ง่าย+ราคาถูก" เหมือน 3 ครั้งที่ผ่านมาซึ่งใช้ความรู้แก้ไข

ซึ่งสมาชิกทุกท่านก็คงทราบและเข้าใจดีอยู่แล้วและพร้อมจะให้ความร่วมมือในทุกๆประเด็นค่ะ

ตอนนี้ เราเดินวนไปวนมาจนครบloopแล้วนะคะ แต่ก็ยังไม่กระจ่างใส เท่าที่ควร

แต่ถ้าเรามุ่งมั่นจะเห็นความยั่งยืนของ G2K  พี่ขออนุญาติ พูดว่า

เราน่าจะสำรวจ เ้ส้นทางไปสู่ความยั่งยืนของ G2Kกัน และทำแผนงาน ทำประมาณการออกมาดูกัน ว่าจะต้องทำอะไร อย่างไรกัน  เมื่อใด บ้างค่ะ 

 การจะทำเท่าที่ได้ ใช้เท่าที่มี  ดูมันจะลอยๆยังไงชอบกลค่ะ

ขอโทษค่ะ ถ้าความเห็นอาจไม่ค่อยได้เรื่อง เพราะก็ไม่รู้เรื่องทางเทคนิคเหมือนกัน

 ในยุค knowledge-based economy

ปัญหาของคนทำงานวันนี้หลายๆครั้งไม่ใช่หาความรู้ไม่ได้

เพราะความรู้มีอยู่มากเหลือเกิน กระจัดกระจายไปทั่ว

ถ้ากว่าจะหาได้อาจต้องใช้เวลา ค้นนาน ซึ่งคงไม่ค่อยwork ไม่ทันการ

เพราะโลกของการแข่งขันวันนี้เราแข่งกันที่ความ รวดเร็วหรือ speed ไม่ว่าจะเป็น speed of service, speed of production, speed of innovation etc.

บางทีเราไปค้นใน google แล้ว เราพบว่ามีอยู่เป็นหลายล้าน website ซึ่งต้องนั่งหากันเป็นวันๆ จึงจะได้ความรู้หรือข้อมูลที่ต้องการ

ดังนั้น ถ้าเรามีการจัดระบบดี เครื่อแม่ข่ายทำงานเร็ว

G2K ก็จะรวดเร็วมาก ผู้ที่จะใช้ความรู้จะทราบว่าความรู้ใดมีความสำคัญต่องานที่ทำมากน้อยแตกต่างกัน  อยู่ตรงไหน  จะเข้าไปหาได้ในหมวดใด ที่ใด

เมื่อหาพบแล้ว  จะเกิดการต่อยอดความคิดจากความรู้ที่ได้จากการแบ่งปันความรู้มา

 เกิด การเรียนรู้มากขึ้น 

บุคลากรนำไปใช้ในการทำงาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพงาน  หรือต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆได้ไม่ยาก   

 ซึ่งก็จะเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์ ของการทำKM ที่GotoKnowนี้ค่ะ

ทั้งสมาชิกและไม่ใช่สมาชิก แต่มาsearchพบ  จะตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ตนจะได้ รับจากGotoKnowนี้ อย่างเอนกอนันต์

GotoKnow จะมีชื่อเสียงแพร่หลายขจรขจายไปอย่างรวดเร็ว ใครๆที่อยากได้ความรู้ จะเข้ามาที่นี่ กลายเป็นขุมความรู้อันยิ่งใหญ่และยั่งยืน   เป็นSuper GotoKnow เลย

ดิฉันคิดว่า การจัดการความรู้ของGotoKnow  น่าจะอยู่ในรูปแบบของความสะดวกรวดเร็ว (มีกำลังเครื่องดี)  สะดวกใช้   แยกแยะหมวดหมู่และความสำคัญ  หาbest practice  และมุ่งผลทั้งองค์กรและผู้บริโภคทั่วไป

ความเห็นของดิฉัน อาจไม่เข้าท่าซักเท่าใด และเป็นความเห็นส่วนตัวค่ะ โดยคิดว่า ถ้าเป็นเราๆจะทำอย่างไรค่ะ


 

คุณConductorคะ

ขอขยายความอีกนิด ทั้งหมดที่เขียนไป เป็นแค่จุดเริ่มต้น โดยเราไม่มองไปที่ข้อจำกัดก่อน แต่มองอะไรที่เป็นpositive เอากำลังใจ ให้เกิดความฮึกเหิม มัวจ้องแต่อุปสรรค คงไปไม่ถึงดวงดาว

และในฐานะที่เคยทำการตลาด ขายของมาพอควร ประเภท ไม่ได้ลูกค้า ตามเป้า ไม่เลิกขาย

เลยมองไปที่ การประชาสัมพันธ์ ซึ่งอาจถูกนำมาใช้เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มากขึ้น(สมาชิกที่active)

พวกสถิติต่างๆ เห็นควรนำมาเผยแพร่  รวมถึงสถิติของการเข้ามานำความรู้ที่นี่ไปใช้แล้ว   ได้เกิดผลสัมฤทธิในงานอย่างไรบ้าง ซึ่งคงต้องขอความร่วมมือจากผู้ใช้ ที่จะให้ข้อมูลค่ะ

 คือเมื่อเกิดการเรียนรู้แล้วบุคลากรนำไปใช้ในการทำงาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพงานได้อย่างไร แค่ไหนบ้าง

 ให้มีการสื่อสาร ให้เห็นถึงประโยชน์ของGotoKnow ที่จะมีต่อตัวผู้ใช้เป็นหลักสำคัญ  จะทำให้เกิดความแพร่หลายมากขึ้นๆ   สมาชิกจะมากขึ้นเป็นลำดับค่ะ เมื่อถึงตอนนั้น อะไรๆก้ไม่ยากมั๊งคะ GotoKnow จะยืนได้ด้วยตัวของตัวเองสบายค่ะ

ที่พูดนี่ เป็นมุมมองทางด้านการตลาด ที่ตัวเองมีประสบการณ์ และเคยใช้ได้ผลค่ะ

ฮี่ฮี่... ดูอายุจากสมาชิกผู้ให้ความเห็นในบันทึกนี้ ก็น่าจะมากกว่าค่าเฉลี่ยของอายุผู้ที่ให้ความเห็นในบันทึกอื่นๆ นะครับ อาจจะทำให้ดูเครียด

  • ผมคิดว่าทุกความเห็นน่าอ่าน น่าคิดมากครับ
  • ถ้า GotoKnow เป็นประชาคมที่ยั่งยืนจริง น่าจะมีการมีส่วนร่วมมากกว่านี้นะครับ
  • ข้อมูลต่างๆ ก็ได้พยายามสื่อสารตลอดมา; ข้อมูลทางเทคนิคเป็นเพียงข้อมูลประกอบ และไม่ได้เป็นกำแพงขวางกั้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกครับ
  • ผมเชื่อว่าปัญหาอันซับซ้อน ไม่น่าจะมีคำตอบเดียว ที่ไขปริศนาได้ทุกมุม; เราไม่ได้กำลังตอบข้อสอบปรนัยนะครับ
  • ในเมื่อไม่มีคำตอบวิเศษที่ครอบคลุมทุกด้าน และอาจจะต้องหาหลายคำตอบ ก็คงไม่มีผู้วิเศษคนเดียวที่มาแก้ปัญหาให้ได้ทุกอย่างเช่นกัน 
  • จึงต้องการการร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกทุกท่านครับ ความรู้ความชำนาญ ประสบการณ์ ความเห็นของสมาชิกมีค่าต่อทุกคนในประชาคมนี้
  • คำว่า "ต้อง" แปลว่า "ควร" ไม่มีใครสั่งใคร
  • บริษัทหรือองค์กรใดๆ ไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยคนลักษณะเดียว เช่นต่อให้เป็นบริษัททางวิศวกรรมชั้นเลิศ ก็ยังต้องอาศัยคนขาย นักบัญชี เจ้าหน้าที่สนับสนุนอื่นๆ ทุกคนมีส่วนร่วมในความสำเร็จ ไม่ว่าความสำเร็จจะแปลว่าอะไรก็ตาม; GotoKnow ก็เช่นกันครับ
  • ดังนั้น ต่อไปนี้ไม่ต้องเขียนว่าไม่เข้าใจเรื่องเทคนิคแล้วครับ ประหยัดเนื้อที่ เหอเหอ
  • ถ้าไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี ก็(แยกย้ายกันไป)ตั้งคำถามซิครับ

สวัสดีครับ ... คุณ Conductor

เห็นบันทึกฉบับนี้เมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.50) ... แต่ขอใช้เวลาในการอ่านให้ดีก่อนครับ แล้วจึงเขียนในกรอบแสดงความคิดเห็น

สิ่งผมพบ (เหมือนท่านอื่น และไม่เหมือนท่านอื่น)

  1. การคงอยู่ของ Gotoknow ... ปัญหาที่มาจากการเลี้ยงตัวเอง (เหมือนมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ) หลังจากการปล่อยอิสระ ของ สสส. และการปรับเปลี่ยนตัวเองของ สคส. หลังวันที่ 31 มกราคม 2551
  2. ภาระการทำงานของผู้ดูแลระบบ Gotoknow ... เนื่องจากจำนวนบุคลากรน้อย ดูแลไม่ทั่วถึง ทำให้ปริมาณโหลดมากเกินไป จึงได้มีแนวความคิดจิตอาสาที่ช่วยเหลือผู้ดูแลระบบในเรื่องราวต่าง ๆ เช่น บันทึกแนะนำ หรือ แจ้งลบบันทึกที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ
  3. ภาระหนักของเครื่องแม่ข่าย ... อันเกิดจากการขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนของสมาชิกว่า สิ่งใดควรปฏิบัติ หรือ สิ่งใดไม่ควรปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายเดียวกันว่า จะไม่เป็นภาระกับเครื่องแม่ข่ายมากเกินไป (เรื่องนี้ผมว่า ทุกคนเต็มใจทำ ถ้ามีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน)
  4. การขาดระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจน ... คำที่ว่า  Owned and Operated by Users .. ถ้าต้องการให้สมาชิกผู้มีความสามารถเฉพาะด้าน หรือผู้ที่จิตอาสาประเมินตนเองได้แล้ว ตนเองมีความถนัดและสามารถช่วยได้ในงานเฉพาะด้านเหล่านี้ ผมก็คิดว่า มีสมาชิกแสดงตนมากมาย .. ความสำคัญของเรื่องนี้ อยู่ที่การเข้าใจ "หน้าที่" และ "บทบาท" ของตนเองว่า สามารถทำอะไรได้ และไม่ควรทำอะไรบ้าง ... สังคมอุดมคติ ล่ะมั้ง
  5. การบริหารข้อมูลที่เป็นเรื่อง Information Science ทำได้ดีหรือยัง ... ผมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ... เราไม่ได้พูดถึง Hardware แต่เรากำลังพูดถึง Information ที่เป็นผลที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิก Gotoknow ... เหมือนกับบรรณารักษ์จัดหมวดหมู่หนังสือ กฤตภาค จัดแล้วหาได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ค้นเมื่อไหร่ก็เจอ
  6. สภาพสังคม Gotoknow เป็นสังคมที่ให้ "ความรู้" มากกว่า "ความเห็น" หรือยัง ... ทิ้งไว้ให้อ่านครับ สังคมไทยชอบ "ให้ความเห็น" มากกว่า "ให้ความรู้" จริงหรือไม่ ? ... ไม่มีความเห็นมากกว่านี้ครับ

เขียนมาสงสัยจะเป็นแต่ "ความเห็น" ไม่มี "ความรู้" ครับ

ขอบคุณมากครับที่ "คิดแล้วเขียน" :)

ขอบคุณอาจารย์วสวัตดีมารมากนะครับ อาจารย์สรุปไว้ดีแล้ว ผมไม่มีอะไรเพิ่มเติม ยกเว้นข้อ 5 ครับ 

เมื่อครบรอบวันเครื่องบินชนตึก (11 กันยายน) ผมเสนอเรื่องการสกัดความรู้ใน GotoKnow ไว้หลายทางครับ คงอ่านกันงงๆ เหมือนกัน; ก่อนหน้านั้นพูดถึงการกลั่นคุณค่าของบันทึก แยกแยะ รวบรวมไว้ในบันทึก อาสาสมัคร GotoKnow ?!?!

ความคิดทั้งสอง เป็นความพยายามที่จะหาอาสาสมัคร มาย่อยและกรองแก่นความรู้ที่ปรากฏตามบันทึกและความคิดเห็นต่างๆ

ที่เสนอไว้อย่างนั้น ก็เพราะรู้สึกว่าในช่วงนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเขียนโปรแกรมเพิ่มเติม แต่ผมคิดผิดครับ หลังจากนั้นในคืนวันที่ 23 กันยายน เกิดมี "หมวดหมู่" ขึ้นมาใน GotoKnow ซึ่งดีที่ว่าสมาชิกจัดหมวดหมู่แยกแยะบันทึกได้เอง แต่ละบันทึกในแต่ละหมวดหมู่ ต่างก็สนุกแตกต่างกันไป

กลับไปไล่อ่านบันทึกเก่าๆ พบว่าผมผิดอีกแล้วครับ

หนึ่งปีบน GotoKnow เขียนเมื่อกลางเดือนตุลาคมด้วยความเชื่อมั่นว่าระบบมีเสถียรภาพสูง ไม่มีวี่แววอะไรเลยว่าจะมีปัญหา

แต่ผ่านไปเพียงสองอาทิตย์ก็เริ่มช้าลงเป็นอย่างมาก และอาการหนักขึ้นเรื่อยๆครับ การปรับปรุง GotoKnow เดือนพฤศจิกายน 2550 หมดกำลังแบบไม่มีทางแก้ไขเลย ต้องซื้อเครื่องใหม่ทันที

อาการอย่างนี้น่ากลัว  คาดการณ์ล่วงหน้าได้ยากครับ เตรียมการล่วงหน้าก็ลำบาก แถมเมื่อเกิดปัญหาแล้ว การแก้ไขก็แพงด้วย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท