KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 617. แนะนำหนังสือ KM ในภาคการศึกษา (๗.๒)


นานาทัศนะ : การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ในภาคการศึกษา

ตอนที่ ๑ , ตอนที่ ๒ , ตอนที่ ๓ , ตอนที่ ๔, ตอนที่ ๕.๑, ตอนที่ ๕.๒,

 ตอนที่ ๖.๑, ตอนที่ ๖.๒, ตอนที่ ๗.๑

แนวปฏิบัติของการจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น

ปัจจุบัน การทำงานทุกเรื่องมักนำการจัดการความรู้ไปใช้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการปฏิบัติงานที่ว่า เมื่อทำงานอะไรก็ตาม ต้องมีการเก็บข้อมูล มีการระดมสมอง มีการวางแผน และมีการประเมิน แต่หากนำการจัดการความรู้มาใช้พัฒนางาน จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการทบทวนหลังปฏิบัติการและนำผลการทบทวนไปปรับหรือประยุกต์หรือไปพัฒนางานต่อไป และสิ่งสำคัญคือ ต้องมีการบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ไว้เป็นความรู้ เป็นตำราให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษาตามได้

การจัดการความรู้ด้วยการสร้างกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น คือการสร้างพลังเชื่อมโยงจากหน่วยที่เล็กสุด ที่เกิดจากความศรัทธา มิตรภาพ ความรักของคนในชุมชน  ทั้งชาวบ้าน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พี่เลี้ยงผู้ประสานงานพื้นที่ ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา รวมทั้งทุกฝ่ายที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ที่ร่วมสร้างสรรค์พลังแห่งปัญญา ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จผล ทั้งพัฒนาตน พัฒนางาน และพัฒนาชุมชน

การจัดการความรู้เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ โดยแนวปฏิบัติของการนำการจัดการความรู้เข้าไปสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างสรรค์ชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ยึดหลักปฏิบัติ 3 ประการ คือ 1) ทำให้เป็นกระบวนการที่ง่ายที่สุด 2) ทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นภาระของชาวบ้าน และ 3) ทำให้เขาได้สัมผัสผลที่เกิดขึ้นและผลการเรียนรู้

สิ่งที่ค้นพบจากการจัดการความรู้คือ ความถนัดในการเรียนรู้ (learning style) หรือ วัฒนธรรมการเรียนรู้ (learning culture) ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น ชาวบ้านคงมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ไม่เหมือนกับนักวิชาการหรือครู เขาต้องเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติในวิถีชีวิตของเขา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ชุมชนในแต่ละภูมิภาคมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี และฤดูกาลของแต่ละชุมชน ทั้งนี้ ในแต่ละชุมชน จะเห็นว่ากระบวนการทำงาน กระบวนการเล่น กระบวนการศิลปะ ประเพณีต่างๆ จะผสานเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของเขาที่ค่อนข้างสมดุล

ตามความเป็นจริงแล้ว ชุมชนท้องถิ่นในอดีตก็มีเรื่องการจัดการความรู้อยู่ในชุมชน เพราะถ้าเขาไม่จัดการความรู้ เขาก็เอาตัวไม่รอด ฉะนั้น จึงสามารถกลับไปดูได้จากภูมิปัญญาในชุมชน ในเรื่องปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย สมุนไพร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งจะเห็นว่ามีภูมิปัญญามากมาย ไม่ว่าจะในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีสิ่งเหล่านี้แฝงอยู่ในภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งสิ้น อาทิ เรื่อง ผ้าทอ มีวิธีการทอลายผ้าต่างๆ รวมทั้งเครื่องใช้สอยต่างๆ แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านต้องมีการจัดการความรู้ในเรื่องนั้นๆ

หากมองในเรื่องระบบการศึกษา ปัจจุบันมีการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาที่ต้องทำทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย สิ่งที่พบคือ ขณะนี้มีการกล่าวถึงกันมากเรื่องการแก้ไขความยากจน และหากโยงกับการปฏิรูปการศึกษา ทำให้ต้องหันกลับไปพิจารณาภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะความเชื่อที่ว่าการศึกษามีอยู่รอบตัวเรา ทุกหนทุกแห่งตลอดเวลา และถ้ามองภาพที่เกิดในอดีตและปัจจุบัน ยืนยันได้ว่าในอดีตมีอะไรให้ศึกษาอย่างมากและมีคุณค่า หากทว่าปัจจุบัน เมื่อเข้าไปสัมผัสกับชุมชนท้องถิ่น สิ่งที่เห็นชัดเจนมากและสวนทางกัน คือชาวบ้านเอาตัวไม่รอดจากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวบ้านต้องการเรียนรู้อีกมากตั้งแต่ในระดับครัวเรือน ระดับชุมชนสังคม

ขณะนี้ชาวบ้านมีหนี้สินมากเนื่องจากการทำมาหากิน เพราะไม่รู้จักจัดการชีวิตของตนเอง มีปัญหาครอบครัว พ่อแม่ลูกพูดกันไม่รู้เรื่อง เด็กเล็กก็สอนยากขึ้น ปัญหาเด็กเยาวชนในชุมชนท้องถิ่นก็มีมากขึ้นทุกวัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าพ่อแม่ลูกหรือคนในชุมชนต้องการการเรียนรู้อีกหลายๆ เรื่อง เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองและเรื่องของชุมชน นับตั้งแต่เรื่องโภชนาการ การกินการอยู่ เรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องอาชีพ เรื่องกองทุน เป็นต้น

หากไม่มีการเรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชนของตน ก็จะตามไม่ทันถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น ถ้ามีกองทุนหมู่บ้าน ๆ ละ 1 ล้านบาท มีเงินไหลเข้ามาในชุมชน แต่คนในชุมชนไม่มีความรู้ ไม่ได้จัดการความรู้เรื่องนี้ ท้ายที่สุด แทนที่กองทุน 1 ล้านบาท จะเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาสร้างสรรค์ชุมชนได้ กลับกลายเป็นพอกพูนหนี้สินไป เป็นต้น จึงเห็นว่าเมื่อความรู้ไม่มา ชาวบ้านก็ไม่ได้จัดการความรู้ ซึ่งจะเกิดลักษณะเช่นนี้ขึ้นในอีกหลายๆ เรื่อง อาทิ เรื่องสุขภาพ ครอบครัว กองทุน วัฒนธรรมประเพณี ฯลฯ จึงมีผลต่อชุมชนที่ขาดความรู้ รู้ไม่เท่าทันสิ่งต่างๆ และไม่เกิดการเรียนรู้ตนเอง จึงไม่ได้รับผลประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ต่อชุมชน

สถานการณ์ที่เป็นอยู่เช่นนี้ในชุมชนท้องถิ่น เกิดจากการศึกษาและการจัดการความรู้ของชุมชนมีไม่เพียงพอ แต่เดิมชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งได้ด้วยองค์ประกอบหลัก คือ บ้าน วัด และโรงเรียน ที่ผนึกกำลังเป็นแหล่งปัญญาแหล่งเรียนรู้ ชุมชนมีปราชญ์ชาวบ้าน มีภูมิปัญญา โรงเรียนและวัดมีผู้รู้ มีผู้นำเป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านได้ แต่ปัจจุบันเกิดความไม่แน่ใจ เกิดคำถามว่าโรงเรียน วัด เป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านได้จริงหรือ ทั้งนี้ เมื่อพูดคุยสอบถามจากหลายๆ คนในชุมชน มักได้คำตอบว่า ปัญหาหนูมากมาย ตัวหนูไม่มีความสุขเลย หนูยังเอาตัวไม่รอด...แล้วหนูจะไปสร้างไปพัฒนาชุมชนได้อย่างไร

คำตอบเหล่านี้สะท้อนว่า คนในชุมชนจะพึ่งพาโรงเรียน พึ่งพาวัด ได้มากน้อยแค่ไหน โรงเรียนอาจจะสอนในระบบการศึกษา แต่ชาวบ้านก็ยังต้องการการเรียนรู้ ต้องการคุณธรรมที่จับต้องได้ ต้องการความรู้ที่ตอบปัญหาแก้ปัญหาของเขาได้ ในอดีตชาวบ้านจัดการความรู้บนฐานความต้องการความรู้ของเขา แต่ทุกวันนี้ถ้าระบบการศึกษาจัดการศึกษาแล้วชาวบ้านยากจนมากขึ้น หรือชาวบ้านพูดกับลูกไม่รู้เรื่อง หรือมีกองทุนหมู่บ้านเข้ามา แต่ชาวบ้านจัดการกองทุนไม่ได้ หรือเรื่องสุขภาพก็เช่นกัน ชาวบ้านก็ยังป่วย เป็นความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นโรคเบาหวานมากขึ้น เป็นต้น เหล่านี้เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดคำถามว่า จะมีกลไกสำคัญอะไรของสังคมที่จะช่วยชาวบ้านในระดับครัวเรือนให้เขากินดีอยู่ดีมีสุขได้ตามสโลแกนของรัฐที่พยายามผลักดัน

สิ่งที่จะช่วยได้ คือ ชาวบ้านจำต้องเรียนรู้เพื่อรู้จักตนเองให้มากขึ้น จึงต้องมีเครื่องมือบางตัวที่จะให้ชาวบ้านได้หยิบยกขึ้นมาเพื่อที่จะได้รู้จักตนเองมากขึ้น พบว่า การสร้างกระบวนการจัดการความรู้ของชุมชนจะช่วยให้คนในชุมชนได้เรียนรู้และพัฒนาในหลายๆ เรื่อง ซึ่งคนในชุมชนต้องเกิดความเข้าใจกระบวนการและการใช้กระบวนการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เพราะหากขาดความเข้าใจการใช้การจัดการความรู้ สิ่งที่พบต่อมาคือ ชาวบ้านไม่ทำ ไม่ร่วมมือ หรือหากทำก็ไม่มีความหมายต่อพฤติกรรมของเขา

การจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่นมีจุดมุ่งหมายสร้างกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการทางปัญญาให้กับชาวบ้านเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง โดยให้ชาวบ้านได้เรียนรู้จักชุมชนตนเอง เรียนรู้วัฒนธรรม อาชีพ สุขภาวะ ภาวะผู้นำ รวมทั้งการสื่อสารในชุมชนผ่านหอกระจายข่าว วิทยุชุมชน เป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้ของชาวบ้าน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ ชาวบ้านจะต้องเรียนรู้โลกอีกมาก ต้องรู้จักทั้งตนเอง รู้จักชุมชน รู้จักโลก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกชุมชน จากกระแสโลกาภิวัตน์ที่เข้ามาและมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต เพราะไม่เช่นนั้น ชาวบ้านก็จะเกิดความสับสนระหว่างกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เข้ามาในรูปแบบต่างๆ

ปัจจุบันสิ่งต่างๆ ยากที่จะชี้ชัดลงไปว่าอะไรถูก อะไรผิด ซึ่งไม่เหมือนสมัยก่อน ระบบการศึกษาสมัยก่อนไม่เชื่อมโยงกับโลกมากเท่าปัจจุบันนี้ จึงมีข้อมูลน้อย เรียนรู้ด้วยความจำได้ หากปัจจุบัน แน่นอนที่สุดข้อมูลเกิดใหม่ทุกวินาที ดังนั้น ความสามารถในการตีความข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล หรือที่เรียกว่า คิดเป็น ทำเป็น จึงกลายเป็นทักษะที่สำคัญมากกว่าความจำ ทำอย่างไรจึงจะสอนให้เด็กคิดเป็นทำเป็น เพราะโลกยุคโลกาภิวัฒน์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ขณะนี้ค่าเงินบาทผันผวนเปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 28 บาท อาจเกิดวิกฤติอีกรอบ หรือรัฐบาลลงนามสัญญา FTA ขึ้นมา ผลกระทบในระดับโลกก็ส่งต่อชุมชนได้ หากเราปรับตัวไม่ทัน เราจัดการความรู้ได้ไม่ดี ตามกระแสข้อมูลไม่ทัน ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราต่อไป โดยเฉพาะบางเรื่อง คนในเมืองหลวงยังตามกระแสข้อมูลไม่ทัน ฉะนั้น ชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ห่างไกล ยิ่งไม่สามารถที่จะตามข้อมูลทันได้

ทำอย่างไรจึงจะให้เขารู้ทันข้อมูล หรือเกิดการเตรียมตัวปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้มีสัญญาณอันตรายในชุมชน นั่นคือชาวนามีหนี้สินมาก ไม่มีความสุข แล้วทำไมเขาจึงไม่เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ซึ่งคงไม่ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ คงต้องมีกระบวนการฝึกฝน เตรียมตัว และปรับตัวให้ได้ ซึ่งก็คือ การสร้างกระบวนการจัดการความรู้ของชุมชน แต่ถ้าชุมชนขาดกลไกจากการเรียนรู้ ที่โรงเรียนหรือวัดหรือชุมชนเอง ชาวบ้านก็ไม่สามารถจัดการความรู้เพื่อให้สามารถปรับตัวได้แน่นอน ตรงนี้จึงมีคำถามว่า โรงเรียนสามารถเป็นที่พึ่งทำให้เกิดการจัดการศึกษาระดับฐานรากได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี ชุมชนจะเป็นสุขได้ ชุมชนต้องจัดการความรู้หลายระดับ จึงจะทำให้ฐานรากเข้มแข็งได้ สภาพชุมชนในแต่ละพื้นที่มีองค์ประกอบไม่เหมือนกัน และคนในชุมชนมักมีปัญหามากขึ้นๆ ภายใต้สภาพที่มีปัญหาของชุมชน ต้องพิจารณาดูโครงสร้างของชุมชนทั้งหมดทั้งตัวคนและองค์กรในชุมชน เปรียบเหมือนดูแบบช้างทั้งตัว ต้องมองให้เห็นว่ามีการยึดโยงกันอย่างไร

ในชุมชนท้องถิ่นจะเห็นตัวบุคคลและองค์กรหลากหลาย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ประชาคมหมู่บ้าน และโยงมาถึงกระทรวงมหาดไทย แต่มักพบว่า ชาวบ้านไม่ค่อยทราบว่าบุคคลที่กล่าวมา มีบทบาทหน้าที่แท้จริงคืออะไร เพราะมักพบคำถามของชาวบ้านว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบลกับกำนัน ใครใหญ่กว่ากัน อีกทั้งไม่แน่ใจว่าแต่ละบุคคลที่กล่าวถึงเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนมากน้อยเพียงใด ซึ่งในหลายๆ พื้นที่ที่ไม่รู้บทบาทหน้าที่ของตน สิ่งที่กล่าวมาสะท้อนว่าชาวบ้านต้องมีการเรียนรู้อีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชน

เมื่อมีโครงการหรือสิ่งใหม่ๆ ลงไปสู่ชุมชน ถึงแม้โครงการนั้นจะส่งผลดีต่อชุมชนเพียงใด แต่ถ้าขาดการเตรียมคนในชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่มีทางประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้ เพราะแนวปฏิบัติจะเปลี่ยนไปจากแนวคิดเดิมอย่างชนิดที่คาดไม่ถึง ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปจากวัฒนธรรมเดิมหรือทุนเดิมของชุมชนก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะชุมชนมีทุนเชิงวิชาการ ทุนเชิงวัฒนธรรม ทุกพื้นที่มีดินน้ำป่า มีทรัพยากรเป็นทุนธรรมชาติที่สำคัญ มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นเครื่องยึดโยงความสามัคคี ความเอื้ออาทร ความผูกพัน ความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจและสังคมอย่างมาก ถ้าสามารถถอดบทเรียนไว้ได้ว่าวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนทำหน้าที่ทางสังคมในเรื่องอะไรบ้างในอดีต นั่นคือชุมชนได้จัดการความรู้สิ่งที่มีคุณค่าและนำมาพัฒนาพร้อมอนุรักษ์ไว้เป็นลักษณะเฉพาะของชุมชน เพราะนับวันวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนมีแต่จะเปลี่ยนไปจากเดิม จนไม่เหลือร่องรอยให้เห็นการทำหน้าที่ทางสังคมของวัฒนธรรมประเพณีในชุมชน

เช่นเดียวกัน ในหมู่บ้านมีสัจจะออมทรัพย์ มีกองทุนหมู่บ้าน และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย แต่ถ้าชุมชนไม่สามารถจัดการความรู้เรื่องนั้นๆ นำความรู้มาพัฒนาหมู่บ้านและตำบลตนเองไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นจำต้องให้คนในชุมชนรู้จัก เข้าใจ และสามารถสร้างกระบวนการจัดการความรู้ของชุมชน โดยคนในชุมชนซึ่งมีผู้รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ดี ต้องหันหน้าพูดคุยและรับฟังกัน เปิดรับและยอมรับจุดเด่นของแต่ละคนที่มีความหลากหลาย และรวมพลังปัญญาของคนในชุมชน นำความรู้หรือวิธีการต่างๆ ไปพัฒนาและสร้างสรรค์ชุมชน นั่นก็คือให้ชุมชนร่วมกันจัดการความรู้ที่มีและเป็นประโยชน์ พร้อมนำไปพัฒนาชุมชน

สรุปแล้ว การสร้างสังคมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้จริง สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาหรือสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นที่ฐานรากหรือชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งกระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากการจัดการความรู้ของคนในชุมชน และจะประสบผลสำเร็จได้นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือชาวบ้านต้องรู้จัก เข้าใจ ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันกับสภาพสังคมและปัญหาที่ต้องเผชิญอย่างคาดไม่ถึง ทุกวันนี้สังคมถามหาการจัดการความรู้เพราะขาดการจัดการทางสังคม เนื่องจากสังคมเปลี่ยนแปลงและชาวบ้านก็อยู่ไปตามกระแสสังคม โครงสร้างเดิมทางสังคมไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและปัญหาปัจจุบัน จำต้องมีการจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่นอย่างเร่งด่วน ทุกคนในชุมชนต้องร่วมกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และจัดการโครงสร้างทางสังคมใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทใหม่ สถานการณ์ใหม่ โดยผ่านการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและนำสิ่งที่เรียนรู้ไปพัฒนาสร้างสรรค์ชุมชน

ปัจจุบันและที่ผ่านมา รัฐทุ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเป็นจำนวนหลายล้านบาท แต่เป็น 10 ๆ ปี มาแล้ว ก็ยังต้องพูดถึงความยากจน ไม่ใช่เพราะไม่มีโครงการลงสู่ชุมชน มีโครงการมากมาย แต่โครงการนั้นไม่ถูกทำให้เกิดความรู้กับชาวบ้าน ไม่ได้สร้างจิตสำนึกให้เกิดกับชาวบ้าน เป็นกิจกรรมที่เหมือนไฟไหม้ฟาง ขณะนี้ ระดับตำบลเคยวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจสังคมของตำบลหรือไม่ เศรษฐกิจของตำบลกำลังล่มจมใช่ไหม ปัญหาสังคมของตำบลจะพัฒนากันได้อย่างไร ถ้าตำบลไม่มีการเตรียมคน ก็จะไม่เหลือคนรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาตำบลเลย คนจะไหลออกหมด เรียนจบก็ออกไปหางานทำข้างนอกหมด หากสภาพเป็นเช่นที่กล่าวมา ตำบลอย่างนี้จะพัฒนาไปได้หรือ เช่นเดียวกัน หากมองในระดับหมู่บ้าน กรรมการหมู่บ้านไม่รู้บทบาทหน้าที่ ไม่มีการเตรียมและสร้างคนในชุมชนให้มีความรู้ มีจิตสำนึกต่อชุมชน ก็ไม่เห็นหนทางที่จะพัฒนาไปได้

ขณะนี้สิ่งที่พบจากโครงสร้างทางสังคมของชุมชน คือ ชาวบ้านไม่รู้บทบาทหน้าที่ ไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของชีวิตตัวเอง ทั้งๆ ที่มีผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านอยู่ในชุมชน ความอดทนอดกลั้นที่จะฟังกัน ความสามัคคีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมีน้อย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพราะกระแสของทุนนิยมทำให้คนในชุมชนไม่ทำงานข้างนอกกันหมด ความสัมพันธ์ไม่แน่นแฟ้นเหมือนก่อน ฉะนั้น ทำอย่างไรชาวบ้านจะรู้บทบาทหน้าที่และลุกขึ้นมา เกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาสร้างสรรค์ชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี นั่นคือ ต้องมีกลไกที่จะสร้างคุณค่า สร้างความหมายในชีวิต สร้างแรงบันดาลใจ สร้างฉันทะ สร้างความรู้ให้เกิดกับคนในชุมชน การจัดการความรู้ของชุมชนจะช่วยเพิ่มคุณค่า เพิ่มความหมายในชีวิต เพิ่มแรงบันดาลใจให้ชุมชนร่วมกันคิดเป้าหมายของการพัฒนา ซึ่งต้องจัดการความรู้ให้เขาเห็นกระแสของทุนนิยมที่เข้าไปทำให้ชุมชนกลายเป็นเมือง คือ ต่างคนต่างอยู่ และสิ่งดีๆ มีคุณค่าจะหายไปตามที่เราเห็นในเมือง เพราะขาดกลไกจากกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับคนอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดความรู้ เกิดความใฝ่รู้ ด้วยการมาพูดคุย ร่วมกันคิด แบ่งปัน และรวมพลังปัญญาของทุกคน และนำความรู้ไปพัฒนาสร้างสรรค์ชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ และปรับตัวได้ทันกับสภาพของโลกปัจจุบัน กล่าวได้ว่า การจัดการความรู้เป็นระบบการเรียนรู้ ที่ได้บูรณาการ head heart และ hand นั่นคือ การเรียนรู้ของมนุษย์จะต้องมีเรื่องของปัญญา สุนทรียะ อารมณ์ ความรู้สึก และการลงมือกระทำ ซึ่งจะต้องมีความสมดุล  

นอกจากนี้ การจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่นจำต้องมีทีมงาน มีแกนนำในชุมชน มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง เปรียบเสมือนคนในชุมชนเป็นผู้เรียนตลอดชีวิตของเขา และที่สำคัญหากต้องการความยั่งยืน คือ จะต้องมีองค์กรในชุมชนเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงประสานกับเครือข่ายภายนอก ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างแกนนำในชุมชนให้มีความความรู้และทักษะในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องสุขภาพ อาชีพ การเลี้ยงดูเด็ก วัฒนธรรมประเพณีของชุมชน เป็นต้น ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเชิงความรู้ในชุมชน ดึงความรู้มาใช้ได้ และกำหนดเป้าหมายการทำงานได้ และอำนวยการจัดกิจกรรมที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชาวบ้านเกิดความรู้ ความใฝ่รู้ หรือถอดบทเรียนในเรื่องที่ชาวบ้านทำได้ดีที่สุด และตั้งเป้าหมายพัฒนาต่อ ทั้งนี้ถ้าสามารถลงไปให้ถึงทุกครัวเรือนได้ ชุมชนก็จะกลายเป็นฐานรากที่เข้มแข็ง ที่มีความรู้ ใฝ่รู้ มีฉันทะ มีแรงบันดาลใจและมีความมั่นใจตนเองที่จะพัฒนาสร้างสรรค์ชุมชน

วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ย. ๕๑

 

หมายเลขบันทึก: 224426เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2008 07:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท