พหุปัญญา


วันนั้นผมสอน ม.6/1 เรื่อง มิวเทชัน ก็ว่าไปเรื่อยตามเนื้อหาสาระ ที่นักเรียนชั้นนี้ควรจะรู้ มิวเทชันคืออะไร สาเหตุของมิวเทชัน มิวเทชันกับโรคมะเร็ง พูดถึงมะเร็งให้นักเรียนฟังครั้งใด รู้สึกแปล๊บๆขึ้นมาทุกครั้ง คิดถึงแม่ซึ่งจากไป เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วครับ 

มิวเทชันมีทั้งระดับยีนและโครโมโซม ระดับยีนอาจเพี้ยนเฉพาะที่(point mutation) เช่นกรณีการแทนที่คู่เบส(base-pair substitution) หรืออาจเพี้ยนยกแถบเลย(frameshift mutation) ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบมาก เช่นกรณีการเพิ่มขึ้น(insertion) หรือการขาดหายไป(deletion)ของนิวคลีโอไทด์  

ชั่วโมงแรกผมใช้ครูเป็นสำคัญ บรรยายให้นักเรียนฟังยาวเลย การสอนเช่นนี้ ถ้าชั่วโมงแรกพอไหว ความตั้งใจนักเรียนยังมีมาก ยังสดชื่นกันอยู่ แต่ถ้าเป็นชั่วโมงหลัง นักเรียนผมสมาธิไม่แก่กล้าขนาดนั้นครับ หมดความพยายามจะเรียนรู้เสียก่อน(ฮา) จึงวางแผนว่าชั่วโมงหลังหรือชั่วโมงถัดไป ซึ่งเรียนติดต่อกันนั้น จะใช้นักเรียนเป็นสำคัญบ้าง โดยการศึกษามิวเทชันระดับโครโมโซมด้วยตนเองจากหนังสือเรียน ซึ่งมีเนื้อหาสาระครบถ้วน สามารถเข้าใจเองได้  

เมื่อปีก่อนสอนเรื่องวิวัฒนาการ โดยให้เล่านิทานมาครั้งหนึ่งแล้ว นักเรียนทำได้ดีพอสมควรครับ ที่สำคัญทำให้ทราบว่าหลายคนเล่านิทานเก่ง รวมถึง นักเรียนส่วนใหญ่มีความสุขในการเรียน  

แล้วเนื้อหาสาระจะได้มั้ย จะพอเพียงต่อการนำไปใช้สอบเรียนต่อหรือเปล่า ผมก็เคยถามตัวเองเช่นนี้ครับ ถ้าคิดเฉพาะแง่สอบเรียนต่อ คำตอบที่ได้ คือ ได้น้อยและไม่เพียงพอ แต่ถ้าครูขืนเอาแต่บรรยาย นักเรียนขืนใจฟัง ก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี ประกอบกับนักเรียนผมน่าจะเป็นส่วนน้อยครับ ที่มุ่งหวังเรื่องสอบ สำหรับคนที่มุ่งหวังจริงๆ ปกติจะขวนขวายอ่านเพิ่มเติมเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะสอนด้วยวิธีใดก็ตาม   

แล้วนักเรียนจะได้อะไรกับการเรียนเสมือนเล่นเช่นนี้ นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ได้ทำงานร่วมกัน ฝึกแก้ปัญหา ได้นำเสนอผลการเรียนรู้ด้วยรูปแบบต่างไปจากเดิม รู้ว่างานจะสำเร็จได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆอย่าง รวมถึงศาสตร์ในสาขาวิชาอื่น ใช้แต่วิทยาศาสตร์ หรือชีววิทยาอย่างเดียวไม่พอ ได้บูรณาการการเรียนรู้ตามหลักสูตรนั่นเองครับ ชีวิตประจำวันของคนเราจริงๆ ก็เรียนรู้อย่างนี้มิใช่หรือ?    

 

ชั่วโมงหลังหรือชั่วโมงที่สอง จึงให้นักเรียนแต่งกลอนอะไรก็ได้ เกี่ยวกับอาการอันเนื่องมาจากความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งเป็นผลจากมิวเทชัน พยายามเน้นว่า กลอนอะไรก็ได้ สัมผัส ไม่สัมผัส ได้ทั้งนั้น นักเรียนทั้งห้องทำท่าแปลกใจ คงสงสัยว่าวันนี้ครูจะมาไม้ไหน คนหนึ่งถาม “กลอนไม่สัมผัสมีด้วยหรืออาจารย์” ผมรีบตอบเลย “มีสิ! กลอนเปล่าไง กลอนไฮคุของญี่ปุ่นก็ไม่มีสัมผัสนะ เขียนไปเถอะ” ในใจก็นึก “จะไหวไหมเนี่ย” เพราะเสียงบ่น รวมถึงหลายคนดูกังวล  

นักเรียนแต่งกลอนไป คุยเล่นหยอกล้อกันไป ยิ้มแย้มแจ่มใสดี ดูเหมือนจะร่าเริงกว่าปกติด้วยซ้ำ พยายามสังเกตอย่างไม่เข้าข้างตัวเองแล้วนะครับ(ฮา) ก็เมื่อครู่ยังบ่นเป็นหมีกินผึ้งอยู่เลย เปลี่ยนอารมณ์กันเร็วจัง แต่นักเรียนที่จัดว่าเรียนเก่งคนหนึ่ง ยังบ่นเหมือนเดิม บ่นไม่หยุดครับ “หนูแต่งไม่ได้ ไม่รู้จะแต่งอย่างไร”

อท้ายชั่วโมง เวลาใกล้หมด เสียงเริ่มเงียบ ทุกคนตั้งใจขึ้นมาก เพื่อให้งานเสร็จทันตามเวลาที่กำหนด ช่วงนี้ยังแหย่นักเรียนเล่นเลยครับ “บังคับให้แต่ง ทั้งที่ลูกศิษย์มีอารมณ์จะแต่งหรือเปล่าก็ไม่รู้ แถมให้เสร็จในชั่วโมงเดียวเสียด้วย เฮ้อ! ครูหนอครู”  

โดย น.ส.ดาริกา ใจช่วย   

โรคมาใหม่ กลุ่มอาการ คริดูชาต์                 โครโมโซม คู่ที่ห้า ขาดหายไป  

ลักษณะ ศรีษะเล็ก หน้ากลมใหญ่               ปัญญาอ่อน อาจอยู่ได้ เพียงไม่นาน   

โครโมโซม คู่ยี่สิบเอ็ด นั้นเกินมา                ลักษณะ หางตา ชี้ขึ้นคาน 

ปัญญาอ่อน เตี้ยแคระ คอสั้นบาน                กลุ่มอาการ นี้เรียกดาวน์ ซินโดรมเอย 

กลุ่มอาการ พาทัว ซินโดรมหนา                 โครโมโซม คู่สิบสาม มาเกินเลย 

ปากแหว่ง ตาเล็ก อยู่ไม่เฉย                     ปัญญาอ่อน ไปเลย หรืออาจตาย 

โรคที่สี่ กลุ่มอา-การเอ็ดเวิร์ด                     เด็กที่เกิด ใบหูผิด-รูปไปหลาย 

โครโมโซม คู่สิบแปด เพิ่มอันตราย              แถมยังท้าย-ทอยโหนก ดูไม่ดี 

เป็นเพศหญิง รูปร่างเตี้ย หน้าแก่ๆ               มันดูแย่ โครโมโซม Xไม่มี 

หายไปหนึ่ง เป็นหมัน ทั้งชีวี                      อาการนี้ เรียกเทอร์-เนอร์ซินโดรม 

เป็นผู้ชาย ตัวสูง กว่าคนอื่น                       ไม่ชื่นมื่น เพื่อนๆต้อง ปลอบประโลม 

อาการนี้ เรียกXY-Yซินโดรม                      โครโมโซม Yนั้น เพิ่มขึ้นมา 

กลุ่มอาการ ไคลน์เฟล-เทอร์ซินโดรม            โครโมโซม Xเพิ่ม มาหนักหนา 

เป็นเพศชาย สะโพกใหญ่ ไม่งามตา             แถมยังหน้า-อกใหญ่ คล้ายหญิงเอย 

โดย น.ส.กนกวรรณ ภาคภูมิ  

โครโมโซม คู่ที่ห้า ที่ผิดไป                       ก่อเกิดได้ โรคคริดูชาต์ 

หางตาชี้ ตาห่าง อ่อนปัญญา                     บอกได้ว่า เป็นอาการ ของโรคดาวน์ 

ปากแหว่ง ตาเล็ก หูไม่ได้ยิน                     เป็นพาทัวซินโดรม ดังที่กล่าว 

เอ็ดเวิร์ดซินโดรม มีคำบอกไม่ยาว                ดังจะกล่าว ท้ายทอยโหนก มือกำแน่ 

โรคต่อไป คือ เทอร์เนอร์ซินฯ                     เกิดเป็นหญิง รูปร่างเตี้ย หน้าแก่ 

เป็นชายสูง กว่าปกติ ไม่ดีแน่                      เพราะอาจแย่ XYY คงถามหา 

ต่อไปนี้ เป็นโรคอาการสุดท้าย                    จะบรรยาย ชายที่ยาว ทั้งแขนขา

หน้าอกใหญ่ สะโพกผาย คล้ายมารดา           นี่แหละหนา ไคลน์เฟลเทอร์ซินโดรม  

หลังตรวจผลงาน ผมพบอย่างหนึ่งครับว่า นักเรียน 3-4 คน จากทั้งห้อง 22 คน ปกติพวกเธอจะเรียนอยู่ในระดับกลางๆหรือท้ายๆห้องเท่านั้น แต่การแต่งกลอนกลับจัดอยู่ในอันดับต้นๆเลยทีเดียว ขณะที่นักเรียนคนหนึ่งแต่งไปบ่นไป(ฮา) ปกติแล้วเธอเรียนดีเป็นอันดับต้นๆของห้องครับ แต่เธอกลับเขียนกลอนได้ไม่ดี แสดงสาระสำคัญไม่ครบ แต่งไม่จบ ไม่สามารถทำให้ทันในเวลาที่กำหนด หากจัดอันดับก็ต้องท้ายๆ  

ไม่เก่งอย่างหนึ่ง แต่อาจจะเก่งอีกอย่างหนึ่ง เก่งอย่างหนึ่ง แต่อาจจะไม่เก่งอีกอย่างหนึ่งก็ได้ เป็นธรรมชาติของคน ที่สำคัญเป็นงานของครู ซึ่งต้องเร่งสังเกตลูกศิษย์ตัวเองให้พบ   

นักการศึกษาเรียกพหุปัญญาครับ

(ขอบคุณเว็บไซต์และบล็อกที่เกี่ยวข้อง) 

หมายเลขบันทึก: 399267เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)

สวัสดีค่ะอาจารย์ธนิตย์

นักเรียนสามารถสรุปความรู้จากการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นบทกลอน ทึ่งในความสามารถของเด็กๆค่ะ และแอบหัวเราะคิกๆที่อาจารย์ช่างคิดค้นวิธีแปลกๆที่จะให้ได้ผลงานออกมา มิน่า..เด็กๆถึงบ่นพึมพำ ก็มันยากจริงๆนี่คะ

สวัสดีค่ะคุณครูธนิตย์

โห สุดยอดสีสันในการเรียนการสอนเลยค่ะ ... เอาเนื้อหาวิทย์มาเล่นเป็นแนวศิลป์ ไม่ง่ายเลยนะคะเนี่ย แต่น้องๆ เก่งจัง เก่งคนละด้าน ผสานผสม แตกต่างตามแต่ละคน ก็ฝึกฝนเรียนรู้กันไป

สุขสันต์กับงานสอนและจุดประกาย ขอบคุณค่ะ ;) 

สวัสดีค่ะ...อ.ธนิตย์...

คนเราเกิดมามีความสามารถไม่เหมือนกันหรอกค่ะ...บางคนมีความสามารถมาก...บางคนมีความสามารถน้อย...(คนที่เรียนเก่ง ๆ ได้ที่ 1 ก็ไม่จำเป็นต้องเก่งเรื่องการแต่งกลอน...เขาอาจเก่งในเรื่องของภาษาอังกฤษ วิทย์ คณิต...อาจไม่เก่งด้านภาษาไทย...ซึ่งเขาเรียกว่า "Competency (สมรรถนะ"...ไงค่ะ...ซึ่งปัจจุบันรัฐได้จัดตำแหน่งของบุคลากรภาครัฐเป็นตำแหน่งชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในเรื่องความสามารถของบุคลากรในการทำงานไงค่ะ...ขอบคุณค่ะ...

ว่ากันว่า"เด็กวิทย์..จะไม่ชอบภาษา"

ท่านให้แต่งกลอนบังคับแบบนี้

น้องที่แต่งได้ดีๆ แสดงว่า ปัญญาเลิศค่ะ

ต้องให้เกรด 4 ไปเลย  ภาคเรียนนี้

คุณครูธนิตย์ครับ

เยี่ยมไปเลยครับ!! วิชาวิทยาศาสตร์หลายคนมองว่าเป็นวิชาที่ยากเเละค่อนข้างน่าเบื่อในที่สุด เมื่อครูมีกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างออกไปก็เป็นเรื่องที่ดีมาก เหมือนเรื่องราวที่ครูกำลังเขียนเล่า

เมื่อวานมีโอกาสนั่งทานข้าวกับพี่ชิว (ดร.ชิว) คุยกันเรื่อง เมฆ ผมก็มองว่า วิทยาศาสตร์รอบตัวโดยเฉพาะเรื่อง เมฆ ฟ้า ฝน เป็นเรื่องใกล้ตัวที่แสนจะธรรมดา เเต่พี่ชิวทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ของเมืองไทยขณะนี้

ที่ Facebook เรามีชมรมคนรักมวลเมฆกว่า ๑,๕๐๐ คน เเละทุกวันจะมีภาพเมฆสวยๆแปลกๆจากทุกมุมโลกมานำเสนอให้ชม เมฆเหล่านั้นไม่ได้นำมาเสนอด้วยภาพเเต่มีสาระที่เป็นความรู้แฝงมาด้วย ที่วิเศษมากไปกว่านั้นตอนนี้ชมรมคนรักมวลเมฆ ก็มีการเเลกเปลี่ยนความรู้กันและกัน เมื่อมีกรณีเมฆแปลกๆเเล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน เกิดการเรียนรู้ที่อยู่ในบรรยากาศของความสุข ความพึงพอใจ

กระบวนการเรียนรู้แบบนี้มีพลังมากครับ เช่นเดียวกับ กระบวนการเรียนรู้ที่ครูได้ออกแบบในบันทึกนี้ครับ

ขอบคุณครับบันทึกดีๆเช้านี้ครับ 

  • สวัสดีค่ะคุณครูธนิตย์
  • มาร่วมชื่นชมวิธีการพัฒนาเด็กๆ
  • ตามแนวทางของพหุปัญญา
  • ขอชื่นชมวิธีการสอนของครูค่ะ
  • ให้เด็กๆได้แต่งกลอนสรุปบทเรียน
  • คงต้องขออนุญาตใช้ไอเดียนี้
  • ไปพัฒนาเด็กของแป๋มบ้างค่ะ
  • ใช่แล้วค่ะ..
  • การพัฒนาพหุปัญญาของผู้เรียน
  • จะคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
  • และการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบพระคุณค่ะ
  • ฝากบันทึกนี้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยนะคะ.
  • http://gotoknow.org/blog/jrpkpp/245944
  • ขอบพระคุณค่ะ.
  • สวัสดีค่ะ
  • เห็นความตั้งใจของนักศึกษาแล้วต้องยอมรับในความสามารถกันจริง ๆ เป็นรูปแบบการสอนที่แตกต่าง ๆ ....แต่ก็ได้ใจนักศึกษากับความไม่จำเจ แต่เอ....ถ้าบุษราเรียนอยู่ด้วยคงแย่แน่ ๆ เพราะแต่งบทกลอนไม่เป็น ฮา......
  • ขอบคุณค่ะ

                               

ยิ่งเปิดช่องทางให้สื่อสารสองทางมากเท่าไหร่ การเรียนรู้สนุกสนานและมีชีวิตชีวาครับ

  • อาจารย์ครับ
  • เป็นการเรียนรู้ที่สนุกมาก
  • สมัยก่อนใครไม่ตั้งใจเรียนผมบอกนักเรียนว่าจะแช่งให้เป็นมิวเตชั่น
  • นักเรียนไปค้นใหญ่เลยว่าเป็นอย่างไร
  • รออ่านอีกครับ
  • คงเรียนเรื่อง จีโนไท ฟีโนไท ด้วยใช่ไหมครับ

วิธีการเรียนการสอนที่หลากหลายจะช่วยให้เด็กไม่เบื่อที่จะเรียนรู้

รวมทั้งช่วยดึงศักยภาพในตัวเด็กแต่ละคนให้ออกมา...

ทำให้ครูรู้จักเด็กแต่ละคนได้ดีขึ้น 

อย่างนี้เด็กคงมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้นนะคะ

โห..ทำได้ไงเนี้ย

สรุปได้ว่าทุกคนไม่ได้เก่งทุกอย่าง

ขอชื่นชมเด็ก ๆ ด้วยคนค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ลูกศิษย์อาจารย์แต่งกลอนเก่งจัง

ขอปรบมือชื่นชมดังๆ ค่ะ

แต่ละคนล้วนมีพรสวรรค์แตกต่างกันออกไป...ขึ้นอยู่กับว่าจะค้นพบหรือเปล่า

อาจารย์เองก็มีส่วนช่วยในการค้นหาพรสวรรค์นั้นนะคะ ;-)

ปล. อยากอ่านกลอนเปล่าบ้างจังค่ะ

ชื่นชมสุด ๆ ก็เป็นอาจารย์นี่แหละครับ

สอนสนุกจังเลย

สมัยเป็นนักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์กับครูดี ๆ แบบนี้สงสัยจะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ไปแล้วก็ไม่รู้

แวะมาทักทายด้วยความระลึกถึงครับ

สวัสดีค่ะ

  • เทคนิคการสอนแพรวพราวรอบตัวเลยจริงๆ
  • เด็กๆชอบเรียนวิทยาศาสตร์เพราะอาจารย์สอนเก่ง
  • ครูดาวเรืองแต่งกลอนไม่เป็น   ต่อไปใครว่าจะได้บอกเขาว่าเป็นกลอนไม่สัมผัส  กลอนเปล่า  อิๆๆ 
  • แต่เด็กประถม  ถ้าสอนวิทย์แล้วให้แต่งกลอน ด้วย คงต้องปล้นเวลาวิชาอื่น อิๆๆ
  • ส่วนใหญ่  ครูดาวเรืองเอาใจให้วาดรูป   กับพาเที่ยวรอบๆโรงเรียน
  • เขาชอบเรียนโดยไม่ต้องเรียน  อิๆๆ 
  • ขอบคุณที่นำวิธีการสอนมาแบ่งปันค่ะ 

สวัสดีค่ะ

 นำภาพสวยมาฝากค่ะ อาทิตย์ทรงกลด

แบบเส้นเซอร์ฮอร์ไรซัน ที่เชียงใหม่ค่ะ

*** พี่ว่าพันธุศาสตร์เป็นเรื่องน่าสนุก เคยแซวเพื่อนว่า...ยีนควบคุมระดับสติปัญญาบนโครโมโซมถ้ามี 9 คู่ แกก็มียีนด้อย 8 คู่ คู่ที่ 9 เป็นเด่นพันธุ์ทาง...พงศาวลีทรามหลบใน...เลยถูกเด็กหนองปลิงด่าว่า ยีนพวก พกต....... เรียนโง่...พูดเหน่อ...ปากจัด ...555

*** การถ่ายทอดด้วยการด่ากัน ถูกมั่งผิดมั่งแต่ทำให้จำได้ดีเหมือนกันนะ...มีเรื่องฮาๆในวิชาชีว เยอะมาก

*** ชักอยากไปแต่งกลอนกับลูกศิษย์ อ.ธนิตย์

*** ขอบคุณบันทึกที่สร้างสรรค์ และ บูรณาการ...นักเรียนที่แต่งกลอนได้แสดงว่า.....

ขอบคุณค่ะ เป็นวิธีกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ที่น่าสนใจมากค่ะ..สว.(สวยสมวัย) ได้รับทราบด้วยค่ะ..

สวัสดีค่ะอาจารย์มาเยี่ยมอ่านเทคนิคการสอนที่บูรณาการได้ยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ เพราะวัยนี้ชอบกลอนๆๆ ขยันจดจำ ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ นานๆเข้ามาแว็ป จะออกไปอีกแร่ะ อิอิ ระลึกถึงพี่ครูทั้งสองเสมอค่ะ

  • สวัสดีครับ ครูธนิตย์
  • มาชื่นชม และเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับวิธีการถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กๆ
  • เสียดายเกิดอยู่ไกล "เลยไม่ได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์ธนิตย์"
  • แต่วันนี้ดีใจ "ขอเป็นลูกศิษย์อาจารย์ธนิตย์นะครับ"
  • ขอให้คุณครูมีความสุข สุขภาพแข็งแรงครับ

สวัสดีค่ะคุณครู

  • อ่านบันทึกนี้แล้วมีความสุขจังค่ะ
  • สุขที่เห็นครูที่สอนวิทย์ แต่เห็นความสำคัญของภาษาไทย นำวิชาภาษาไทยไปบูรณาการได้อย่างลงตัว
  • สุขที่เห็นเด็ก ๆ แต่งกลอน  นับเป็นการอนุรักษ์ภาษาไทยมรดกไทยได้อย่างดี
  • สุขที่เห็นเด็ก ๆ แต่งกลอนได้ถูกต้องตามรูปแบบฉันทลักษณ์ ซึ่งปกติแล้วสมัยนี้มักจะเห็นเด็ก ๆ ส่วนใหญ่แต่กลอนเปล่ากันซะมากกว่า
  • ยอดเยี่ยมจริง ๆ ค่ะทั้งครูทั้งเด็ก  ข้าน้อยขอคารวะ

เข้ามาทักทายยามดึกค่ะ

            

                     นอนหลับฝันดีนะคะ

สวัสดีค่ะ

วันก่อนเข้ามาอ่านแล้ว กำลังเม้นท์แต่เน็ตล่มส่งไม่ได้  วันนี้กลับมาเยี่ยมอีกครั้ง  ตอนนี้พี่คิมอยู่บ้านเป็นคนว่างงานแล้วค่ะ

พี่คิมเคยพบความน่าทึ่งน่ารักจากเด็ก ๆ ที่ครูเขาไม่ต้องการ  อย่างไม่น่าเชื่อ  และมีความสุขมากกับที่ได้อยู่เด็กกลุ่มนี้ค่ะ  ไม่เห็นว่าจะโง่แบบครูคนอื่นเขาว่าเลยนะคะ

ไม่เก่งอย่างหนึ่ง แต่อาจจะเก่งอีกอย่างหนึ่ง เก่งอย่างหนึ่ง แต่อาจจะไม่เก่งอีกอย่างหนึ่งก็ได้ เป็นธรรมชาติของคน ที่สำคัญเป็นงานของครู ซึ่งต้องเร่งสังเกตลูกศิษย์ตัวเองให้พบ  ....เห็นด้วยค่ะ

หนูก็เป็นคนหนึ่งค่ะอาจารย์ ที่ระดับการแต่งกลอนจะอยู่ท้ายห้อง

ต้องชื่นชมยุทธวิธีในการสอนของอาจารย์ค่ะ

คิดถึง..มุมภาพสวยๆ..
ก็เลยแวะมาชื่นชมและเก็บเกี่ยวพลังให้กับตัวเอง..

....

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ ธนิตย์

สอนวิทย์สุขภาพ

นึกภาพมองออก

ยิ่งบอกยิ่งเล่า

เรื่องราวการสอน

สอนโดยไม่สอน

จึงค้นพบที่เค้นคิด

ผลงานที่ปรากฎ

วิทย์สุขภาพ..........

ด้วยคาระที่ทำให้การเรียนมีความสุขครับอาจารย์

              มีดอกไม้มาฝากให้เชื่อมโยงความคิดแบบพหุปัญญาค่ะ

การเรียนรู้ มีไว้ให้เราศึกษาเข้าใจ นำพาความรู้สู่การพัฒนาที่งดงามนะครับ

สวัสดีค่ะ มาเรียนหนังสือด้วยคนค่ะ

พี่งจะได้เข้ามาดูรูปตัวเองนะค่ะเนี่ย

ไม่น่าเชื่อเลยว่าอาจารย์จะเอากลอนของหนูมาขึ้นโพสด้วย

รูปไม่สวยเลยวันหลังถ้าอาจารย์จะถามบอกนะค่ะ

จะได้แอ็ปเต็มที่เลย

ขอบคุณคุณครูมากๆๆที่นำกลอนของหนูมาลง

ความจริงแล้วหนูชอบภาษาและการแต่งกลอนมาก

แม้จะคิดเลขไม่เก่งแต่แต่งกลอนพอใช้ได้รึป่าวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท