๒๒. การเรียนรู้ทางสังคมในเพลงและแนวดนตรี


"...เป็นตัวอย่างกลุ่มเพลงที่ให้การเรียนรู้ทางสังคม(Social learning) มีภาษากระทบใจระดับ deep dialogue สามารถให้แรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์ความงดงาม เกิดกำลังญาณทรรศนะที่จะฉุกคิด มองเข้าไปในตนเองด้วยจิตใจที่ละเอียดประณีตและได้ความซาบซึ้งออกมาจากภายในตนเองได้ ..."

เพลงของ แอ๊ด คาราบาว | เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ | พร ภิรมย์ | จรัล มโนเพชร | ศุ บุญเลี้ยง | คีตาญชลี : เหล่านี้ เป็นตัวอย่างกลุ่มเพลงที่ให้การเรียนรู้ทางสังคม(Social learning) ที่แสดงทรรศนะทางสังคมและมีภาษากระทบใจระดับ deep dialogue สามารถให้แรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์ความงดงาม เกิดกำลังญาณทรรศนะที่จะฉุกคิด มองเข้าไปในตนเองด้วยจิตใจที่ละเอียดประณีตและได้ความซาบซึ้งออกมาจากภายในตนเองได้

แอ๊ด คาราบาวนั้นเป็นเพลงและดนตรีแนวเล่าเรื่อง สื่อสารเรียนรู้ทางสังคม และ deep dialogue ของเขานำเสนอวิถีแห่งปัจเจกชนของเสรีนิยม เพลงแทบทุกเพลงของเขาเหมือนกับงานวิจัยเป็นเล่มๆ และบางเพลงต้องประมวลภาพทั้งหมดจากหนังสือและงานวรรณกรรมทั้งหิ้ง

ส่วนเต๋อ เรวัฒน์ พุทธินันท์นั้นเป็นแนวนำเสนอทรรศนะเชิงวิพากษ์และ deep dialogue เป็น enligthenment แนวพุทธมากๆเลยครับ ชวนให้มีวิถีปัญญาเพื่อเข้าใจโลกในมุมมองใหม่ๆแล้วชีวิต-สังคมจะดีขึ้น เช่น เพลงดอกไม้พลาสติกนั้น เป็นทรรศนะวิพากษ์สังคมมายาให้ได้ความเป็นจริงเกี่ยวกับสังคมในโลกปัจจุบันที่เราควรมีสติและกำหนดรู้ดีๆ

ขณะเดียวกันก็นำเสนอทรรศนะความงาม ดี จริง ระดับปรมัตถสัจจะเลยทีเดียว แต่เขาไม่ได้พูดอย่างตั้งตนเป็นผู้รู้ ทว่านำเสนอสถานการณ์และวิธีคิดให้คนรับฟัง สร้างขึ้นเองในใจ  ให้การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการทำในใจให้แยบคายด้วย จะว่าไปแล้วก็เรียกว่าล้ำยุค เพราะเป็นวิธีมองการทำให้รู้ในแนว Constuctivism ซึ่งเป็นที่สนใจหลังยุคของเต๋อด้วยซ้ำ

เพลงเจ้าสาวที่กลัวฝนก็บอกให้เลิกอยู่กับจินตนาการทั้งของตนเองและสิ่งที่สังคมวางประเพณีตีกรอบครอบงำปัจเจก เสนอแนะให้อยู่กับปัจจุบัน เน้นการพึ่งการกระทำด้วยความคิดและความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นหลักแห่งการพึ่งตน

เพลงสองเราเท่ากัน ก็เป็นทรรศนะวิพากษ์สังคมเศรษฐกิจที่แข่งขันเอาตัวรอด และนำเสนอวิถีคิดสังคมแบบภราดรภาพ แทบทุกเพลงจะเป็นปรัชญาสังคมที่นำเสนอผ่านปรากฏการณ์เชิงสัมผัสที่ทุกคนมี

พร ภิรมย์นี่เป็นเพลงเล่าเรื่องและสาธยายนิทานชาดกเพื่อให้การเรียนรู้ทางสังคมในการเข้าสู่หลักธรรมและแนวการดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา  deep dialogue คือความดีงามสร้างสังคมให้มีความสุข สันติ ยุติธรรม

จรัล มโนเพ็ชร เป็นเพลงบันทึกปรากฏการณ์และสื่อสารเรื่องราวทางสังคม  deep dialogue สำหรับผม ผมได้ยินเขาบอกว่า โลกนี้เรียบง่าย หลากหลาย งดงาม และน่ารื่นรมย์

ศุ บุญเลี้ยง ผมมักฟังและร้องเพลงเพลงอิ่มอุ่น นิทานหิ่งห้อย ผมชอบระบบและวิธีคิดที่เห็นในเพลงนี้ เพราะมันเป็นวิธีการแบบ analogy สร้างสัญญะ แล้วอ้างอิงไปหาหลักการทั่วไปเพื่อเข้าใจสรรพสิ่งและดำเนินชีวิตให้มีความสมดุลกับสังคมและสภาพแวดล้อม เป็นเพลงที่สะท้อนการใช้ประสบการณ์ต่อชีวิตและโลกรอบข้าง ให้เป็นหนทางในการดำเนินชีวิตที่ดี แล้วก็สะท้อนความมั่งคั่งในทางเลือกที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้มากขึ้นของคนยุค New age และหลังสมัยใหม่ deep dialogue ในเพลงคือ รอบข้างคือความงดงามและมีการเรียนรู้

คีตาญชลี เป็นแนวขยายโลกทัศน์และกล่อมเกลาทางสังคม deep dialogue ของเขานั้น ผมได้ยินคลื่นหัวใจของเขาถ่ายทอดผ่านอารมณ์เพลงและดนตรีว่า ชีวิตคือความงามและความสูงส่ง การรู้จักตนเอง เรียนรู้ชีวิตให้ถ่องแท้และเป็นนายตนเอง แม้เป็นคนตัวเล็กๆก็มีความยิ่งใหญ่และงดงาม.

หมายเลขบันทึก: 310777เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2009 05:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

                                                                       (ขอแชร์ในส่วนของ ศุ บุญเลี้ยงค่ะ)

พี่ศุ สมจุ้ย เจตนาสนุก กับวงเฉลียง

เมื่อพูดถึงวงดนตรีเฉลียง จะเริ่มรู้จักในยุคที่ ๒ ของวงที่เริ่มมีพี่จุ้ย พี่เกี้ยง พี่นก เพราะถ้าเป็นยุกคแรกนั้นจะรู้จักสมาชิกเฉลียงจากการแสดงของพวกเค้าเสียมากกว่า อย่าง ละครสถาปัตย์ จุฬา มากลุ่มซูโม่สำอางค์ ของรายการเพชรฆาตความเครียด ถ้าจำไม่ผิดในยุคนั้น กำลังเรียนประมาณมัธยมต้น มัธยมปลาย กลุ่มพี่ๆ เหล่านี้แทบจะเป็นกลุ่มคนต้นแบบของวัยรุ่นที่เรียนหนังสือเก่ง ทำกิจกรรมเด่น มากไปด้วยความสามารถแทบทุกคน บางคนในกลุ่มซูโม่หลังจากเรียนหนังสือจบ ไปทำรายการทีวี ไปทำเพลง ไปทำหนังสือ น้อยคนนักที่จบแล้วจะไปทำงานด้านสถาปัตย์อย่างที่เรียนมา แต่ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้เราอยากเก่ง อยากเป็นอย่างพี่ๆ เค้า ....

จะมีวงดนตรีวงไหนที่สามารถล้อเล่นกับสมเด็จพระเทพได้โดยไม่มีใครว่า ด้วยการร้องเพลงล้อพระองค์ท่านตอนเสด็จมาชมคอนเสิร์ต “..... พระเทพฯ ชอบกล้วยไข่ เพราะมันไม่มีกระดูก ลั้น ลัน ลา เด็กน้อยสารภี .....” สมเด็จพระเทพฯ ท่านก็ทรงหัวเราะแบบอารมณ์ดีหลังจากที่ได้ยิน .....

แต่ถ้าพูดถึงตัวบุคคลที่มีบุคลิกที่โดดเด่นในความรู้สึก และจุดประกายให้ได้ดีที่สุดน่าจะเป็นพี่สมจุ้ย นี่แหละ เริ่มจากคนอะไร ชื่อจริงก็มีพยางค์เดียว สั้นอยู่แล้ว (ศุ) ยังจะมีชื่อเล่นอีก (จุ้ย) และด้วยบุคคลิก การแต่งตัวดูธรรมดา มีผ้าข้าวม้า หรือผ้าพันคออยู่เสมอๆ การพูด การจาที่กวนๆ แต่ไม่หยาบคาย หู๊ยยยย น่าร๊ากกกก วัยรุ่นกรี๊ดกันสนั่น ในคำพูดของพี่แกแต่ละคำ ... ถึงจะดูเป็นอย่างนั้น แต่เวลาร้องเพลงในแต่ละครั้งก็ดูอบอุ่นเป็นที่สุด อย่างที่อาจารย์เอ่ยถึงบทเพลง นิทานหิ่งห้อย เพลงอิ่มอุ่น ซึ่งเป็นเพลงที่สามารถทั้งฟัง ทั้งร้องได้กันแทบทุกวัย และไม่เคยตกยุคสมัย ...

พี่จุ้ยนอกจากทำเพลง เขียนเพลง และร้องเพลงแล้ว พี่แกเรียนที่จุฬา มาทางด้านนิเทศศาสตร์ ไม่ใช่สถาปัตย์ เหมือนพี่ๆ ในวงคนอื่น เพราะว่าพี่แกอยากเขียนหนังสือ อยากทำหนังสือพิมพ์ ได้ติดตามบ้างกับผลงานของพี่จุ้ย ไม่ว่าจะวารสาร อย่างไปรยาลใหญ่, Pocket book หลายๆ เล่ม พี่สมจุ้ยบอกว่าคนที่อยากจะเป็นนักคิด นักเขียน จะต้องมีหนังสือติดมือ ติดกระเป๋ามาอย่างน้อย ๑ เล่ม เมื่ออ่านหนังสือแล้ว เราติดใจประโยคไหนก็ทำไฮ ไลท์ ให้เด่นๆ หรือมีประโยคไหนที่เราคิดขัดแย้ง ก็ขีดๆ แล้วเพิ่มเติมความคิดของเราลงไปเลย ไม่ต้องไปกลัว หนังสือเราเอง .... คนรักหนังสืออย่างเรา แค่จะเปิดอ่านแต่ละที ถนอมสุดฤทธิ์ นี่จะให้มาขีด เขียนบนหนังสือ โหหห .... แต่วิธีแบบนี้ทำให้เราได้เรียนรู้เค้า และเรียนรู้เราได้บ้างหล่ะนา เลยเริ่มลงมือขีดๆ เขียนๆ แบบที่พี่จุ้ยแนะนำบ้าง ....

การทำเพลง การทำหนังสือ และการดำเนินชีวิตของพี่จุ้ย(วงเฉลียง)ทำให้รู้สึกรักตัวเอง รักคนอื่น รักธรรมชาติ แบบไม่ต้องการอะไรตอบแทนจริงๆ .. และการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของชาวเกาะสมุยอย่างพี่แก ทำให้เริ่มคิดอยากเป็นนักเขียน ที่เดินทางเที่ยวท่อง และกลับมาพร้อมกับผลงาน ... ถึงมาตอนนี้ถ้าได้ยินคำว่า “วงเฉลียง” หรือ “ศุ บุญเลี้ยง” ก็ยังทำให้หู ตา ตื่น ขึ้นมาทุกครั้งสิน่า พ่อสมจุ้ย ....

 

เจอแฟนคลับเลยนะครับ งั้นพอดีเลยครับคุณณัฐพัชร เห็นคุณมณีวาจนำเอา เพลงหิ่งห้อย ของ ศุ บุญเลี้ยง : สมจุ้ย เจตนาสนุก มาเรียนรู้ แบ่งปัน และให้แง่คิดหลายเรื่องจากเพลงอยู่พอดี ก็เลยลิ๊งค์ไปให้ด้วยเลยนะครับ

อรุณสวัสดิ์ค่ะ อาจารย์ วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • ได้แวะเข้าไปฟังเพลง นิทานหิ่งห้อย ของคุณ มณีวาจ แล้วค่ะ ..
  • เมื่อเด็กๆ คนเมืองอย่างเราจะรู้จักหิ่งห้อยจากคำบอกเล่า เห็นตัวจากรูปภาพ จากหนังสารคดี มันช่างอัศจรรย์ใจจริงเลยที่เค้าสามารถปล่อยแสงได้ นอกจากมนุษย์ไฟฟ้าหลากหลายสีจากหนังการ์ตูนสายพันธ์ญี่ปุ่น ...
  • มีอยู่วันนึงมีน้องหิ่งห้อยหลงมาจากป่าลำพูที่ไหน เพราะแถวบ้านมีแต่ต้นไม้ดอก ไม้ผลทั่วๆ ไป แม้จะมีเพียง ๑ ตัว แต่ผู้คนที่มารอดูเค้านั้นมากันทั้งครอบครัว
  • ด้วยความไม่รู้อยากเห็นใกล้ๆ จับเค้ามาไว้ในกล่องไม้ขีด เค้าจะเปร่งแสงให้เราดู และจะอยู่กับเราตลอด ได้ยินมาว่าอย่างนั้น (อวิชชา)
  • เด็กๆ พลัดกันเปิดกลักไม้ขีดออกดูน้องหิ่งห้อยส่งแสงงดงามในค่ำคืนนั้นตลอดจนผล่อยหลับไป จะฝันดีหรือไม่ จำไม่ได้เสียด้วย ...
  • เช้าตื่นขึ้นมารีบเปิดกลักไม้ขีดหวังจะทักทายน้องหิ่งห้อยก่อนไปโรงเรียน
  • พบเพียงแค่หนอนน้อยนอนอยู่ในกลักไม้ขีดดั่งเพลง นิทานหิ่งห้อย แต่ ........
  • แต่ .... น้องหนอนน้อยนั้นได้จากเราไปเสียแล้ว ตอนนั้นทำให้เด็กๆ สงสัย ไหนว่าเค้าจะอยู่กับเรา ส่งแสงให้เราได้ดูตลอดไป
  • เสียใจค่ะ เหมือนฝันของเด็กน้อยนั้นจากไปเหมือนกับร่างของหนอนน้อย หลังจากนั้นน้องหิ่งห้อยไม่เคยมาส่งแสง ไม่มาปรากฏให้เด็กๆ ได้เห็นอีกเลย จนเติบโต ถึงได้พบหิ่งห้อยอีกครั้ง .... ความฝันของเด็กน้อยในสมัยนั้นคงกลับมาอีกครั้งเสียกระมัง ...
  • ขอบคุณค่ะที่ลิ๊งค์จนได้ฟังเพลง นิทานหิ่งห้อย อีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้ฟังเสียนาน ฟังวนไปวนมาจนเผลอหลับไปเลยค่ะ ^^

มาร่วมเรียนรู้และมาทักทายครับอาจารย์...

สวัสดีครับคุณณัฐพัชร์

คุณมณีวาจนี่เขียนหนังสือเชิงวิเคราะห์ พินิจพิจารณา หาความลึกซึ้งแยบคายจากเพลงในกรณีเพลงนี้ได้ดีมากจริงๆ อ่านแล้วเหมือนเป็นงานเขียนเพื่อการภาวนาเลยครับ ท่านอื่นลองเข้าไปอ่านช้าๆสิครับ 

ในหลักโยนิโสมนสิการ มีแนวการคิดเขียนและพูดแบบนี้ เรียกว่า วิภัชชวาทธรรม เป็นวิถีการพูดเชิงสะท้อนภาวะภายในและทำให้เป็นการพูด-เขียนถ่ายทอด เป็นวิถีแห่งสติ และเป็นกระบวนการทางปัญญาจากภายใน มีระเบียบ ต่อเนื่อง สงบ ลุ่มลึก และได้อารมณ์การภาวนา 

โดยทั่วไปแล้วการพูดกับการเขียนนั้นจัดเป็นวจีกรรมและการสื่อด้วยถ้อยภาษาที่มุ่งส่งพลังออกนอก เป็นกิจกรรมของปากกับสมอง แต่การพูดและการเขียนในแนวนี้มุ่งสะท้อนเข้าสู่ภาวะภายใน เป็นการกิจกรรมจากจิตใจและมโนกรรมที่แสดงออกทางการพูดและเขียน จึงจัดเป็นกระบวนการโยนิโสมนสิการหรือการทำในใจให้แยบคาย

ในแง่การจัดการความรู้ก็จะนับได้ว่าเป็นการเขียนที่ส่งความสงบในจิตใจและความมีระเบียบของกระบวนการคิดจากคนหนึ่งส่งไปสู่คนอื่นได้ ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งที่อยู่เหนือความหมายของสื่อภาษาและการเขียน

ดังนั้น เพลงหิ่งห้อย นั้น มองในแง่วิถีประชาศึกษาแล้ว เราจะสามารถจัดประเภทเพลงอย่างนี้ให้เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มเพลงและคีตกาลที่มีบทบาทหน้าที่ต่อการให้การเรียนรู้และกล่อมเกลาปัจเจกให้มีความลึกซึ้งต่อชีวิต ไม่ใช่สื่อเพื่อมุ่งสร้างความบันเทิงเริงรมย์แต่เพียงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นงานเชิงขับเคลื่อนการเรียนรู้ของปัจเจกและสังคมนั้น ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมต่อการส่งเสริม ป้องกัน และแก้ปัญหาของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่กว่ามนุษย์

ในแง่กระบวนการเรียนรู้และมองการสร้างเพลงให้เห็นผู้กระทำปรากฏการณ์ (Social actor) ขึ้นมานั้น เราก็จะเห็นพระเอกและผู้กระทำหลักของเรื่องที่เล่าถ่ายทอดในเพลง อันได้แก่บทบาทที่สำคัญของครอบครัวและสถาบันผู้อาวุโส การอยู่ร่วมกันของคน ๓ รุ่นวัยที่มีมิติการปฏิสัมพันธ์และเรียนรู้ เห็นกุศโลบายและความแยบคายในการอบรมสั่งสอนในหน่วยการเรียนรู้เล็กๆในวิถีชีวิตของประชาชนคือครอบครัว ที่ให้ประสบการณ์ชีวิตอันลึกซึ้ง

ในความเป็นเพลงและในด้านของนักร้อง ก็จะเห็นแนวการสะท้อนความสำนึกต่อสังคมและแนวการทำงานเพลงในเชิงอุดมคติ เป็นตัวอย่างหนึ่งของงานเชิงขับเคลื่อนสังคมของพลเมืองในยุคใหม่ครับ

เราสามารถเรียนรู้และเห็นแง่มุมดังกล่าวจากเพลงนี้ได้ว่า ปัจเจกรุ่นใหม่ ทั้งศุ บุญเลี้ยงและกลุ่มคนทำเพลง เฉลียงนั้น มีทั้งจินตนาการ ความสร้างสรรค์ ความเป็นตัวของตัวเอง จบมหาวิทยาลัย ความรู้ดี มีศิลปะ ทักษะการแสดงออกสูง รอบด้าน ภาวะผู้นำดี บูรณาการทั้งความก้าวหน้าและการอนุรักษ์ มุ่งความสมบูรณ์พร้อมแห่งตนพร้อมกับมีความสำนึกต่อส่วนรวม มีจิตสาธารณะ และสามารถจัดความสัมพันธ์ตนเองกับความเป็นส่วนรวมด้วยช่องทางที่ตนเองเป็นผู้นำการปฏิบัติ ซึ่งการเป็นสื่อเพลง ดนตรี และสร้างสรรค์สาระบันเทิง เป็นมรรควิถีหนึ่งที่สามารถรองรับความเป็นสาธารณะที่สร้างสรรค์จากภาคประชาชนพลเมืองได้ดี

ตัวอย่างอย่างนี้ ทำให้เราต้องมองเรื่องทำนองนี้ด้วยคุณค่าและความหมายใหม่ๆให้มากยิ่งๆขึ้น เพราะวิถีประชาอย่างนี้ จะมีบทบาทมากยิ่งๆขึ้นต่อสังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบันและอนาคตครับ

อ้าว สวัสดีครับว่าที่ ดร.ดิเรกครับ นี่ก็เป็นวิศวกรที่จะมาทำปริญญาเอกทางสังคมและประชากรศึกษานะครับ เป็นคนที่มี Integration Science และ Multi-disciplinary Training ซึ่งน่าสนใจมากเลยครับ

ผมมองอย่างเป็นโอกาสของประเทศกำลังพัฒนานะครับว่า แนวการสร้างคนและพัฒนาตนเองอย่างนี้สนองตอบต่อลักษณะความเปลี่ยนแปลงไปของสังคมความรู้กับวิถีปัญญาของโลกอย่างหนึ่งครับ

ในอดีตนั้น ความรอบรู้และความเชี่ยวชาญ รวมทั้งความรู้ ยิ่งเก็บสะสมไว้ในตัวคนหนึ่งคนได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้มีความสำคัญ ยิ่งทำให้ปัจเจกมีพลังสร้างสรรค์ เกิดภาวะผู้นำทางความรู้ได้ มีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นเลิศ และเป็นกำลังทางปัญญาให้กับสังคมได้มาก

แต่เดี๋ยวนี้การสะสมและสร้างความรู้ของโลกเปลี่ยนไปมากแล้วครับ ความรู้ทั้งที่มีปริมาณมหาศาลและการต่อยอดกันและกันนั้น กลายเป็นระบบที่สะสมร่วมกันและสามารถหยิบยืบใช้ด้วยกันทั้งโลก ไม่ใช่มุ่งสะสมไว้ในตัวคนอีกแล้ว อีกทั้งเข้าถึงจากที่ไหนก็ได้ ความรู้ที่สะสมในความเชี่ยวชาญเชิงลึกของตัวปัจเจก ต่อให้สุดยอดแค่ไหนก็กลายเป็นหมดความหมายไปได้ง่ายๆแทบจะวันต่อวัน

ลักษณะความรู้และวิถีภูมิปัญญาในบริบทใหม่ของโลกอย่างนี้ ความสร้างสรรค์กว่าใครและการมองเรื่องเดียวกันแต่เห็นตัวแปรในเรื่องนั้นที่รอบด้านและลึกซึ้งมากกว่าใคร ก็ย่อมมีหนทางสร้างและเข้าถึงความรู้ได้มากกว่าใคร จึงย่อมมีโอกาสบ่มสร้างความเป็นตัวของตัวเอง ได้มากขึ้น

ก็เลยคิดว่าเป็นหนทางที่ทำยาก แต่อยากเสริมกำลังใจว่าเป็นแนวทางที่ดีและเป็นแนวโน้มใหม่ๆที่สอดคล้องกับความจำเป็นของสังคมน่ะครับ

-สวัสดีค่ะอาจารย์ ดร.วิรัตน์ และอาจารย์ ณัฐพัชร์
-เพลงนี้ มณีวาจ ฟังตามพี่ที่นั่งโต๊ะข้างหลังจ่ะ แรกๆ ก็ฟังไปงั้นๆ พอฟังบ่อยๆ ก็เริ่มนำเนื้อเพลงมาขบคิดที่ สะดุดหูเพราะท่อน ยายยิ้มกินหมากหนึ่งคำไม่ตอบอะไร ส่ายหัว  คงเป็นเพราะสมัยเด็กๆ อยู่กะยายน่ะค่ะ

- ช่วงนี้ มณีฯ งานเข้าคือ โดนพี่ที่ทำงานโอนงานเกี่ยวกับ การประชุม "จริยธรรมทางการแพทย์" มาให้มณีฯ เป็นคนรับผิดชอบ ก็เลยต้องไปนั่ง ฟัง อาจารย์หมอ+ นศพ. เขาคุยกันเรื่อง "จริยธรรม" ทุกวันจันทร์ต้นเดือน (บางเดือนก็มีคุยกัน 2 ครั้ง/บางเดือนก็มีประชุมครั้งเดียว) นศพ. 3 ชั้นปี (ปี 4-5-6) ก็ประมาณ 70 คน (ไปนั่งฟังแต่ไม่ได้ร่วมเสนออะไร (เพราะด้อยคุณวุฒิ +วัยวุฒิ คิคิ) ก็เป็นประมาณว่า ถ้า นศพ. เจอเหตุการณ์แบบนี้ จะแก้ปัญหาอย่างไร ส่วนมากเป็นสถานการณ์บีบคั้นทางความรู้สึกค่ะ)  และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องจากคนไข้
- คราวที่แล้ว ที่ นศพ. ยกเอามาเป็น หัวข้อการประชุมก็คือ กรณี พ่อแม่(ญาติ)ของผู้ป่วยเด็ก เป็นห่วงผู้ป่วยมาก จะมาคอยถามโน่นถามนี่จาก นศพ. (นศพ.ก็ไม่กล้าตอบคำถามญาติเพราะกลัวจะตอบผิดๆ และถูกถามบ่อยๆ ซ้ำๆในหัวข้อเดิมๆ ก็อึดอัด) และญาติมีความคาดหวังจากการรักษา สูงมาก แต่สุดท้ายเด็กก็ dead  (ก็เลยนำมาคุยกันว่า ถ้า นศพ. คนอื่นๆ เจอสถานการณ์แบบนี้จะ ในคราวหน้า จะต้องทำอย่างไร หรือปฏิบัติอย่างไรกับญาติผผู้ป่วย) ไปนั่งฟังที่ อาจารย์หมอ+นศพ เขาคุยกันก็ได้ความรู้ดีค่ะ
-และช่วงที่ผ่านมา ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ บุญเกิด (ที่ รามา) ต้องการประเมิน บัณฑิตแพทย์ ว่า จบออกไปแล้วเป็นอย่างไร บ้าง (ตลอด 10 ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม รู้สึกว่าจะไม่มีการประเมินแบบ ที่เป็นกิจลักษณะ) ปีที่ผ่านมา ผอ. ก็เลยต้องไปเยี่ยมบัณฑิตแพทย์ทั้ง 4-5 รุ่นที่จบไปแล้ว และประจำการอยู่ ตาม รพ.ประจำจังหวัด /ประจำอำเภอ
-ก็ออกไปแจกแบบประเมิน/แบบสอบถาม
-ถามเพื่อนร่วมงานบัณฑิต/ถามผู้ป่วยที่มาใช้บริการ/ถามบัณฑิตแพทย์เอง
-พอถึงตอนวิเคราะห์ และประเมินผล เป็นจังหวะที่ พี่คนที่เก่งๆ เรื่องสถิติ ลาออกไปเลี้ยงลูก(ท้องแล้วลาคลอด ต่อมาก็ลาออก เพราะไม่มีคนเลี้ยงลูก) มณี เลยงานเข้าอีก คือโดนโยนงาน ปะเมินผลฯ บัณฑิต มาให้ทำ คิคิ
-ก็งงไปพักหนึ่ง เพราะไม่ได้ทำมาตั้งแต่ต้น แต่สุดท้ายไป ขอให้พี่พยาบาลที่เก่งเรื่อง สถิติ มาช่วยแนะนำ สุดท้ายก็พอถูๆ ไถๆ ค่ะ
-ช่วงนี้ (อาทิตย์หน้า) จะมีอาจารย์หมอ จาก มช. มาสอน/อบรมเรื่อง สถิติ วิจัย มณีไปเห็น หนังสือพอดี ที่ชั้น 6 (ศูนย์ประกันคุณภาพ รพ.) เขาเขียนขึ้นบนกระดานว่า 11-13 พ.ย. 52 มีอบรมการทำวิจัย มณี เลยไปถามเขาดู และเขียนใบสมัคร และยื่นมห้ ผอ. อนุมัติ ค่ะ
- ผอ. ก็อนุมัติ ให้ไปอบรม จะได้เก่งเรื่อง วิจัย กะเขาบ้าง
- อาทิตย์หน้า (11-13 พย.) จะถ่ายรูปการอบรมวิจัยมาฝาก นะคะ
- วันที่ 9 พ.ย. นี้ก็จะถ่ายภาพการ ประชุม(พูดคุย) เกี่ยวกับ จริยธรรม ทางการแพทย์ มาฝากด้วยค่ะ
-ช่วงนี้มณี เป็น นักกิจกรรม ตัวยง ไปแล้วค่ะ งานเข้าจริงๆ
-ตอนเย็นก็ไปช่วย รอง ผอ. ทำคลินิก ค่ะ (เพราะรอง ผอ. แกชวนไปทำ เพราะ ลูกจ้างที่ร้าน ลาคลอดไม่มีคนทำ) ช่วงนี้ก็รับทรัพย์เยอะคะ เก็บเงินไว้ เรียนโท (รัฐศาสตร์) ค่ะได้ หลายหมื่นแล้ว คิคิ
-สวัสดีค่ะ

  • ทำงานแบบ ๒๐ มืออย่างทศกัณฑ์เลยนะนั่น
  • มีความฝันและมีพลังมากมายดีจริงๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท