BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

แนะนำการเรียนภาษาบาลี


แนะนำการเรียนภาษาบาลี

มีชาวบ้านผู้สนใจใคร่จะเรียนบาลีได้สอบถามมาเสมอ ซึ่งผู้เขียนก็ลำบากใจที่จะแนะนำ นอกจากว่าให้ไปสมัครเรียนตามมหาวิทยาลัยซึ่งบางแห่งก็เปิดสอนอยู่ หรือไม่ก็ไปสมัครเรียนตามสำนักเรียนในวัดต่างๆ ที่เปิดสอนกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย และเมื่อวานก็มีอีเมล์ถามมาอีก ดังนั้น บันทึกนี้ จึงถือโอกาสเล่าโครงสร้างของภาษาบาลีสำหรับผู้สนใจเพื่อจะเป็นแนวทางนำไปศึกษาต่อได้...

จะรู้ภาษาบาลีหรือแปลบาลีแต่งบาลีได้ ต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนไวยากรณ์ (ความหมายของคำว่า ไวยากรณ์ แปลว่า ทำเนื้อความให้แจ่มแจ้ง ผู้สนใจ คลิกที่นี้ ) ซึ่งจำแนกได้ ๔ หมวด กล่าวคือ

  • อักขรวิธี
  • วจีวิภาค
  • วากยสัมพันธ์
  • ฉันทลักษณ์

...........

อักขรวิธี ว่าด้วยระเบียบอักษร มี ๒ เรื่อง ได้แก่...

สมัญญาภิธาน ว่าด้วยลำดับของสระและพยัญชนะตามที่เข้าใจกัน ซึ่งในบาลีนั้น มีสระ ๘ ตัว พยัญชนะ ๓๓ ตัว... มีรายละเอียดเช่นเสียงสั้นเสียงยาว แหล่งที่เกิด หรือการซ้อนตัว ฯลฯ

สนธิ ว่าด้วยการเชื่อมต่ออักษร เช่น ลบสระข้างหน้าแล้วทำสระข้างหลังให้ยาวขึ้นมา แปลงตัวหนึ่งเป็นอีกตัวหนึ่งได้อย่างไรบ้าง ฯลฯ

อักขรวิธีนี้ไม่ยากนัก ผู้สนใจอาจไปซื้อหนังสือมาอ่านเล่นๆ ได้ ซึ่งมีส่วนสำคัญเยอะที่ต้องจำได้ขึ้นใจเพื่อนำไปใช้...

..............

วจีวิภาค ว่าด้วยการจำแนกถ้อยคำที่ใช้พูด มี ๕ เรื่อง ได้แก่...

นาม ว่าด้วยคำนามที่ใช้เป็นชื่อสิ่งต่างๆ ซึ่งจำแนกรายละเอียดออกไปหลายอย่าง เช่น นามนาม สรรพนาม คุณนาม... ซึ่งคำนามเหล่านี้ ก่อนนำไปใช้ต้องประกอบด้วย ลิงค์ วจนะ และ วิภัตติ... ลิงค์คือเพศ นั่นคือ คำนามในภาษาบาลีจะมีเพศ (ผู้รู้บอกว่าเหมือนภาษาฝรั่งเศษ) การกำหนดรู้เพศต้องดูที่ การันต์ ซึ่งหมายถึงสระที่สุดศัพท์...

เรื่องนามนี้ ปัญหาก็คือการนำไปแจกวิภัตติ ซึ่งต้องท่องแบบให้ได้ เช่น ปุริโส ปุริสา ปริสํ ปุริเส... ซึ่งผู้สนใจและมีเชาว์ปัญญาอยู่บ้าง อาจขอคำแนะนำจากผู้รู้แล้วไปฝึกท่องฝึกทำด้วยตนเองได้... แต่ถ้าไม่จำพวกนี้ ก็ไม่ต้องพูดถึงการเรียนบาลีอีกต่อไป...

อนึ่ง ยังมีจำนวนนับในภาษาบาลีซึ่งเรียกกันว่า สังขยา ก็สอดแทรกอยู่ในเรื่องนี้ ซึ่งต้องท่องจำ และนำไปแจกทำนองเดียวกับคำนามข้างต้น...

นอกนั้นก็ยังมีคำนามอีกหมวดหนึ่งซึ่งไม่ต้องนำมาแจกทำนองนี้ เรียกว่า อัพยยศัพท์ ได้แก่ อุปสัค นิบาต ปัจจัย ซึ่งอัพยยศัพท์ทั้งหมดนี้ ก็ต้องท่องจำเช่นเดียวกัน... 

 

 

อาขยาต ว่าด้วยคำกิริยาหลัก นั้นคือ ในหนึ่งประโยคจะมีคำที่เป็นกิริยาหลักอยู่ตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งเกือบทั้งหมดจะเป็นกิริยาอาขยาต โดยแต่ละตัวนั้นจะบ่งบอกองค์ประกอบ ๘ ประการเป็นอย่างน้อย เช่น พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ... คจฺฉามิ เป็นกิริยาอาขยาต แยกเป็น คม+อ+มิ = คจฺฉามิ ซึ่งมาจาก คมฺ ธาตุ(รากศัพท์) ในความหมายว่า ถึง., อ ปัจจัยบ่งบอกว่าเป็น กัตตุวาจก.,  มิ วิภัตติ บ่งบอกว่าเป็น อุตตมบุรุษ ปัจจุบันกาล เอกวจนะ และจัดเป็นปรัสสบท

เรื่องอาขยาตนี้ ระยะแรกค่อนข้างสับสน แต่ถ้าขยันค้นและหมั่นสังเกตก็ไม่ยาก... แต่ก็ต้องท่องพวกปัจจัยและวิภัตติให้ได้ดังใจ เพื่อจะนำไปใช้ได้คล่อง...

 

กิตก์ ว่าด้วยคำศัพท์ที่ลงด้วยปัจจัยกิต ซึ่งจำแนกเป็นสองส่วน กล่าวคือ ส่วนที่เป็นนามกิตก์ซึ่งนำไปใช้เป็นนาม และกิริยากิตก์ซึ่งนำไปใช้เป็นกิริยา...

นามกิตก์ เป็นการศึกษาถึงที่มาของคำนามทั่วไปจนถึงรากศัพท์ของคำนั้นๆ เช่น บาลี แปลว่า รักษาพระพุทธพจน์ (พุทธวจนํ ปาเลตีติ ปาลี เคยเล่าไว้ คลิกที่นี้ ) ซึ่งคำศัพท์ในเรื่องเล่าภาษาบาลีเกือบทั้งหมดที่ผู้เขียนตั้งวิเคราะห์ (หรือวจนัตถะ) ไว้นั้น ก็คือนามกิตก์นี้เอง

กิริยากิตก์ เป็นการนำรากศัพท์มาประกอบเป็นกิริยาขยายความในระหว่างประโยค แต่บางตัวก็สามารถเป็นกิริยาหลักได้...

นามกิตก์นั้น ระยะแรกค่อนข้างเข้าใจยากในระเบียบการแปลและการปรุงศัพท์ แต่เมื่อเข้าใจแล้วก็ทำให้สนุกเพลิดเพลินได้ ส่วนกิริยากิตก์นั้นไม่ยากท่องเฉพาะปัจจัยและที่แปลงนิดหน่อยก็ทำความเข้าใจได้แล้ว... สำหรับนักเรียนบาลี ถ้าเรียนจบเรื่องกิตก์แล้ว ก็อาจเริ่มหัดแปลบาลีผิดๆ ถูกๆ ได้แล้ว และหลักสูตรเร่งรัดโดยมาก เมื่อเรียนถึงเรื่องกิตก์ก็มักจะให้นักเรียนหัดแปลประโยคหรือนิทานเรื่องง่ายๆ ด้วย และเริ่มแนะนำหลักการแปลควบคู่ไปด้วย...

 

สมาส ว่าด้วยการผสมคำศัพทตั้งแต่สองศัพท์ขึ้นไปเป็นศัพท์เดียว เช่น พุทฺธสฺส วจนํ พุทฺธวจนํ (พระดำรัส ของพระพุทธเจ้า ชื่อว่า พุทธพจน์) นั้นคือ พุทธวจนํ เป็นคำสมาส เรียกว่า ฉัฎฐีตัปปุริสสมาส

เรื่องสมาสนี้ สามารถเรียนเองได้ จากหนังสือที่มีผู้เขียนอธิบายไว้หลายสำนวน แต่จะเรียนได้ดีก็ต้องจำชื่อของสมาสทั้งหมดและตัวอย่างของสมาสแต่ละอย่างไว้ เพราะศัพท์สมาสบางคำนั้นมีคำศัพท์ผสมกันหลายคำ เรียกกันว่าสมาสหลายชั้นหรือสมาสท้อง เช่น อหิวาตกโรค จัดเป็นสมาสท้อง แปลว่า โรคอันเกิดแต่ลมมีพิษเพียงดังพิษแห่งงู (เคยเล่าแล้ว คลิกที่นี้)

 

ตัทธิต ว่าด้วยการใช้ปัจจัยแทนคำศัพท์บางคำ เช่น นาวิโก (นาวา + อิก) แปลว่า ผู้ข้ามด้วยเรือ, ผู้อยู่ในเรือ, ผู้มีเรือ ฯลฯ... ซึ่ง นาวา แปลว่า เรือ ส่วน อิก เป็นปัจจัยใช้แทนข้อความอื่นได้ตามความเหมาะสม... โดย นาวิโก นี้ อาจแปลให้ตรงกับสำนวนไทยได้ว่า ชาวเรือ (คำว่า ชาว ในภาษาไทยนี้ มีผู้ให้ความเห็นว่าทำหน้าที่เหมือนปัจจัยในตัทธิต ดังเช่นในภาษาไทยว่า ชาวเรือ ชาวประมง ชาวสวน ชาวเมือง ชาวไทย ฯลฯ)

เรื่องตัทธิตนี้ อาจง่ายที่สุด เพราะถ้าเรียนมาถึงนี้แล้วก็จะทำความเข้าใจได้เอง แต่การต้องจำชนิดของตัทธิตและปัจจัยทั้งหมดก็ยังเป็นความสำคัญที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

............

วากยสัมพันธ์ ว่าด้วยโครงสร้างประโยคและความเชื่อมโยงของถ้อยคำทั้งหมด... ซึ่งเมื่อเริ่มหัดแปลก็จะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ เช่น

  • ธนํ เม อตฺถิ
  • ธนํ อันว่าทรัยพ์ เม ของฉัน อตฺถิ มีอยู่

ถ้าแปลอย่างนี้คำว่า เม เชื่อมโยงเข้ากับคำว่า ธนํ ซึ่งเรียกตามสัมพันธ์ว่า เม เป็นสามีสัมพันธะของ ธนํ

 

  • ธนํ เม อตฺถิ
  • ธนํ อันว่าทรัพย์ อตฺถิ มีอยู่ เม แก่ฉัน

ถ้าแปลอย่างนี้ คำว่า เ เชื่อมโยงเข้ากับคำว่า อตฺถิ ซึ่งเรียกตามสัมพันธ์ว่า เม เป็นสัมปทานะใน อตฺถิ

 

ผู้ที่สามารถแต่งแปลบาลีได้ดีในเบื้องต้นและอาจเรียนไปถึงชั้นสูงๆ ได้ไม่ยาก เพราะมีความเข้าใจเรื่องวากยสัมพันธ์นี้เอง ส่วนผู้ที่ไม่เข้าใจนั้น มักจะเรียนไปได้ไม่ไกลนัก... ซึ่งจะเข้าใจได้นอกจากค้นคว้าขบคิดแล้ว ต้องอาศัยชั่วโมงแปลเยอะๆ ด้วย นั่นคือ ถ้าเพียงแต่ค้นคว้าและขบคิด หรือเพียงแต่ขยันแปลอย่างเดียว ก็มิอาจชำนาญในเรื่องนี้ได้

...........

และสุดท้าย ฉันทลักษณ์ ว่าด้วยการแต่งร้อยกรองในภาษาบาลี ซึ่งเป็นเรื่องชั้นสูง ผู้ที่แปลคัมภีร์ได้แล้ว และสนใจเรื่องนี้ อาจทำความเข้าใจและฝึกหัดเองได้ไม่ยาก...

อย่างไรก็ตาม ภาษาบาลี เมื่อแปลงมาเป็นภาษาไทย ก็ย่อมมีการตัดต่อแต่งเติมหรือเพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งผู้สนใจก็ต้องหมั่นสังเกตพิจารณาเอาเอง...

ตามที่เล่ามา ก็ยังไม่รู้ว่า ผู้ที่สนใจใคร่จะเรียนบาลีนั้น สนใจแค่ไหน เพียงใด และอย่างไรกันแน่... อย่างไรก็ตาม บันทึกนี้อาจพอเป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจในเบื้องต้นได้บ้าง...

 

หมายเลขบันทึก: 217276เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2008 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2012 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

นมัสการ พระคุณเจ้า

ด้วยความกรุณาของพระคุณเจ้า แสดงมาเบื้องต้น ทำให้ผมเห็นความลึกซึ้งของภาษาบาลี

และจะพยายามศึกษาตามแนวทาง

ด้วยความเคารพ

นพดล

นมัสการครับ

  • ลืมหมดแล้วครับผม ไม่รู้ไปอยู่ส่วนไหนของสมองแล้ว :-)
  • นมัสการครับ

นมัสการ ท่านอาจารย์

กระผมทราบมาว่า พระเปรียญ ๗ - ๙ ประโยคนั้น เป็นเปรียญเอก ทรงความรู้เรื่องบาลีมาก อยากทราบว่า พระเปรียญเอก ในอำเภอเมืองสงขลานั้นมีกี่รูปครับ ที่รู้จัก ก็ท่านอาจารย์พระมหาชัยวุธ พระมหาบัณฑิต เจ้าคณะอำเภอ ซึ่งเป็นเปรียญ ๗ ประโยค ส่วนประโยค ๙ ก็อาจารย์พระมหาธีรวัฒน์ (อาจารย์นุ้ย) ท่านอาจารย์น้ยนี้ความรู้ท่านมากและคุยสนุกมากครับ ได้รับความรู้ดีกระผมชอบสนทนากับท่านมาก กระผมเห็นว่าท่านที่เรียนบาลีได้ประโยคสูง ๆ นั้น เก่งครับ มีความจำและความเข้าใจมาก ๆ ครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

Ppakorn

 

ก็คงจะมีเท่าที่อาจารย์รู้จักนั่นแหละ เพราะหลวงพี่ก็รู้จักแค่นั้นเหมือนกัน...

โดยส่วนตัว คิดว่า คนมีหัวปานกลางก็เรียนถึงเปรียญเอกหรือ ป.ธ. ๙ ได้ ถ้ามีความเพียร ได้ครูดี และอยู่ในสำนักมาตรฐาน... บางคนก็รู้แต่เพียงบาลี ไปเรียนอย่างอื่นไม่ค่อยได้ผล หรือไปได้ช้าเพราะโง่กว่าคนอืี่นในกลุ่ม...

แต่สำหรับผู้ที่ได้เปรียญเอก ต้องยอมรับในความเพียรพยายามเอาจริงเอาจัง เพราะถ้าไม่มุ่งมั่นพอสมควรก็ยากที่จะฝ่าไปยืนจุดนั้นได้... ส่วนจะเป็นคนดีมีคุณธรรมหรือไม่นั้น เป็นอีกกรณีหนึ่ง...

ที่เค้ายอมรับว่าเก่ง อาจเพราะรู้ในเรื่องที่ผู้อื่นไม่รู้เป็นสำคัญ... สำหรับความเห็นส่วนตัวก็คิดว่า เปรียญเอกมิได้วิเสสวิโสอะไรนัก โลกนี้มีแขนงอื่นๆ ที่เค้าเก่งและมีชื่อเสียงในแวดวงนั้นๆ อีกมากมาย...

เจริญพร

 

นมัสการค่ะ

คือว่าตอนนี้หนูเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่ค่ะ (คณะมนุษย์ศาสตร์) ใครๆก็ต้องรู้ว่าภาอังกฦษรามยากมากและแล้วหนู้ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยค่ะ แต่หนูอยุ่ปี2ค่ะ หนูเลยกะว่าจะไปเรียนบาลีแทนไม่ใช่หนูไม่คิอว่าอังกฦษไม่สำคัญนะค่ะ แต่ความจริงแล้วหนูอยากเรียนบาลี-สันกฦตค่ะ เพราะหนูชอบมากเลย แต่หนูไม่มีโอกาศจะได้เรียน เพราะในคณะไม่มีให้เรียนภาษาบาลี แต่คณะอื่นมีค่ะ ตอนแรกหนูตั้งใจเต็มที่ว่าจะเรียนแต่พอไม่มีก็เสียดายมากๆๆๆๆค่ะ ก็เลยไปเลยภาษาญี่ปุ่นแทนค่ะ แต่หนูอยากเรียนบาลี ทำไงดีค่ะ

กราบนมัสการค่ะ

ไม่มีรูปมณีรัตน์

 

  • การตัดสินใจครั้งสุดท้ายขึ้นอยู่กับเรา สามารถตัดสินใจเรื่องนี้เองได้...

เจริญพร

ผมอยากเรียนภาษาบาลีเนื่องจากชอบสวดมนต์ แต่ไม่เข้าใจวิธีการออกเสียงและความหมายของคำ อยากมีความเข้าใจภาษาบาลี เรียนถามพระอาจารย์ว่า มีสถาบันสอนภาษาบาลีที่ไหนบ้างครับ เข้าไปดูในหลายๆเวปไม่ค่อยอัพเดท กราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ปล.ไม่ได้เรียนเอานักธรรมหรือเปรียญนะครับ ขอเป็นหลักสูตรเบี้องต้นที่นำมาใช้อ่านบทสวดมนต์ครับ

-นมัสการพระคุณเจ้า

-มาเรียนรู้ภาษาบาลี เพราะชอบฟังเสียงสวดมนต์ และฟังธรรมเทศนาบางครั้งไม่เข้าใจ เหมือนบื้อๆ แต่ก็ชอบค่ะ

-แวะไปศึกษามาแล้วมีข้อสงสัย  ขอความเมตตาตอบด้วยค่ะ

ไม่มีรูป วสุ

 

ง่ายที่สุดก็ไปยังวัดใกล้ๆ บ้าน วัดไหนก็ได้ที่มีพระมหาเปรียญ แล้วก็ลองปรึกษาท่านดู น่าจะได้รับคำชี้แนะที่พอใจ...

........

Pkrutoi

 

  • อนุโมทนา

...........

เจริญพร

อาจารย์มีเว็ปไหนที่เขาสอนแปลภาษาบาลี

ไม่มีรูป นายโดม

 

  • ไม่เคยเห็น...

เจริญพร

พระคุณเจ้า

กระผมกำลังหาชื่อตั้งแก่หลานสาวที่เพิ่งเกิด

อยากได้คำที่เกี่ยวกับน้ำ จะใหญ่จะเล็ก ก็อยากให้เกี่ยวกับน้ำ

จะแม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร หรือเป็นหิมะ ก็ได้

ขอความเมตตาจากพระคุณเจ้าด้วย

ไม่มีรูป เจ๊กหลงหลาน


  • มโหทกา    =   ผู้มีน้ำมาก
  • อัปโปทกา  =   ผู้มีน้ำน้อย
  • สโมทกา    =   ผู้มีน้ำปานกลาง

ตรงประเด็นเลือกได้ตามความพอใจ...

เจริญพร

นมัสการพระอาจารย์ค่ะ

ฆารวาสเรียนบาลีมีประโยชน์รึป่าวคะ อยากบวชมั้งจัง

ไม่มีรูป อิ๊คคิว

 

  • ประโยชน์ขึ้นอยู่กับผู้ที่ต้องการจะเรียน...

เจริญพร

พระรัชชพงษ์ รตนโชโต

บาลีนี้เรียนสนุกดี แต่ยังสอบไม่ผ่าน ปธ๑-๒ มีวิธีใดบ้างทำให้ยากเป็นง่ายสอบได้ซักทีขอรับ

กราบนมัสการพระอาจารย์มาด้วยความเคารพ

อยากทราบว่าคาถาพระพุทธเจ้าชนะมาร ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ว่าดังนี้

               ปัญจะมาเร  ชิโนนาโถปัตโต  สัมโพธิมุตตะมัง  จะตุสัจจัง ปะกาเสติ
       ธัมมะจักกัง  ปะวัตตายิ  เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โหตุเม ชะยะมังคะลัง 

ตรงคำว่า"..ปะกาเสติ..." บางเล่มก็สะกดเป็น "..ปะกาเสสิ.." อย่างไหนสะกดถูกต้องคะ และ คาถาบทนี้มีคำแปลว่าอะไรคะ ค้นหาดูในอินเทอร์เน็ต ก็ไม่เจอค่ะ

กราบขอบพระคุณอย่างสูง


อยากให้ท่านมหา แต่ง แปล ประโยคบาลีสั้นๆ สักร้อยประโยคมาให้อ่านครับกระผม

วุฒิศักดิ์ (ศิษย์เก่าวัดทองเพลง)

กราบนมัสการ พระมหาชัยวุธ กระผมไม่ได้กราบนมัสการพระคุณเจ้ามานานนับ 10 ปีแล้วครับ วันนี้ผมมานั่งหาเวปอ่าน ทบทวนความรู้เก่าๆ ของไวยากรณ์ภาษาบาลี แล้วบังเอิญเข้ามาในเวปนี้ครับ ตอนแรกไม่ได้เอะใจอะไร อ่านเนื้อหาไปจนหมด แล้วมาคลิ๊กดูรูปของพระในหน้าเวป จึงได้รู้ว่าเป็นท่านมหาที่ผมได้รู้จักมานาน ผมจึงได้เข้ามาฝากข้อความนี้ไว้ให้ท่านได้มารับทราบ ปัจจุบันท่านจำวัดอยู่วัดไหนครับ เผื่อผมมีโอกาสได้ไปสงขลา จะได้แวะไปนมัสการท่านด้วย

กราบนมัสการครับ

ศิษย์เก่าวัดทองเพลง


ติวคอร์ส สอบSUPER INTENSIVE PAT 7บาลี

สรุปเนื้อหา สอนเนื้อหาจากไม่รู้อะไรเลยจนสามารถพิชิต80% เพราะที่นี่เป็นที่เดียวที่มีครูผู้สอน

มีประสบการณ์และรู้ลึกด้านภาษาบาลี ทางเลือกแทนฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ที่เรียนยังไงก็

สอบได้คะแนนน้อยแถมคู่แข่งเก่งๆยังเยอะอีกต่างหาก

คอร์สสอบPAT บาลี

รอบปิดเทอมใหญ่ เวลาเรียนทุกวันจันทร์ และ อังคาร เวลาเรียน 13.30-16.30 

คอร์สสอบสอบPAT บาลี รอบเปิดเทอม เวลาเรียน วันศุุกร์ และ เสาร์

เวลาเรียนทุกวันศุกร์ 17.30- 20.30 

เวลาเรียนทุกวันเสาร์ 13.30-16.30

สนใจติดต่อ 02 6111122 080 0705682 พี่ยู หรือ คลิ๊กไลค์แฟนเพจ.    http://www.facebook.com/pages/Utopia-institute/300788360022599?ref=ts&fref=ts

คลิ๊กไลค์แฟนเพจวันนี้ มีสิทธิลุ้นรับสิทธิทดลองเรียนฟรี 10ชั่วโมง

ติว,บาลี ,โครงการพิเศษ, รับตรง ,กวดวิชา,pat7,pat7.6,ภาษา,แอดมิชชั่น,สอบตรง


ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท