กฤษณพงศ์ กีรติกร : การปฏิรูปการศึกษา (๑๑)


 

ตอนที่ ๑   ตอนที่ ๒     ตอนที่ ๓
ตอนที่ ๔   ตอนที่ ๕    ตอนที่ ๖  ตอนที่ ๗   ตอนที่ ๘  ตอนที่ ๙  ตอนที่ ๑๐
         

          ผมขอบทความที่มองระบบการศึกษาไทยอย่างครอบคลุมรอบด้าน   และเห็นภาพเชิงประวัติศาสตร์ ของ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร นักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษาที่ดีและเก่งที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย   เอามาเผยแพร่ต่อดังต่อไปนี้   โดยที่บทความนี้ยาวกว่า ๕๐ หน้า    จึงทยอยลงหลายตอน
          ขอชักชวนให้ค่อยๆ อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จะได้ประโยชน์มาก
    

วิกฤติ    กระบวนทัศน์  มโนทัศน์  เพื่อการปฎิรูปการศึกษา
กฤษณพงศ์ กีรติกร

ต่อจากตอนที่ ๑๐

 

          ถ้าเข้าใจว่ามีกวางเขาแข็งหรือคนช่วงวัยทำงานมีจำนวนมาก  ประมาณกว่าสามสิบห้าล้านคน    คนเหล่านี้ต้องการการศึกษา   เราต้องปรับอุดมศึกษาให้คนเหล่านี้เรียนให้ได้   อุดมศึกษาต้องหันมาให้ความสนใจการศึกษาต่อเนื่องและการศึกษาตลอดชีวิต    ไม่ใช่อุดมศึกษากระแสหลักอย่างปัจจุบันที่จัดการเรียน 08.00-16.00 น.   อุดมศึกษาอนาคตต้องจัดเรียนสัปดาห์ละ 7 วัน  และเรียน 3 กะ   ใช้วิธีเรียนสำหรับผู้ใหญ่แตกต่างจากการเรียนแบบปกติของนักศึกษาช่วงวัยอุดมศึกษา
          จากไดอะแกรมที่แสดง   เวลานี้คนเกิดประมาณแปดแสนกว่าคนต่อปี   จบ ม.3 ประมาณ หกแสนคน   ออกไปทำงานระหว่างทางและเมื่อจบม. 3 สามแสนคน   จากหกแสนคนเรียนต่อ ม.6 และปวช.จนจบ    ออกไปทำงานสามแสนคน   เข้ามหาวิทยาลัยหรือเรียนต่อปวส.สามแสนคนต่อปี เราทุ่มเถียงเรื่อง O-Net, A-Net, Entrance, Admission กันจะเป็นจะตาย   เราพูดถึงคนเพียงประมาณสามแสนคนต่อปี     ถ้าคิดหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี   จะเป็นคน 1.2 ล้านคน  ถ้ารวมมหาวิทยาลัยเปิดอีกประมาณ 1-2  ล้านคน   รวมแล้วไม่เกิน 3 ล้านคน 
          ผมมิได้หมายความว่าให้อุดมศึกษาเลิกการให้การศึกษาแก่คนในวัยอุดมศึกษา 3 ล้านคน  แต่อยากให้ปรับกระบวนทัศน์และมโนทัศน์ใหม่   ขณะนี้เราใช้ทรัพยากรอุดมศึกษาส่วนมากเพื่อคน 3 ล้านคน   ขณะที่มีคนอีก 35 ล้านคนต้องการการศึกษา   ต้องการพัฒนา  คนวัยอุดมศึกษาจำนวนมากมีสติปัญญา   แต่ขาดโอกาสเพราะเกิดผิดที่   จึงจบการศึกษาเพียงมัธยมต้นหรือมัธยมปลาย    คนเหล่านี้ส่วนใหญ่พ้นวัยอุดมศึกษาไปแล้ว  ในจำนวนสามสิบห้าล้านคนนี้  ประมาณสองในสามหรือยี่สิบกว่าล้านคนเป็นเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน   อีกประมาณสิบกว่าล้านคนอยู่ภาคการผลิตจริงทั้งธุรกิจอุตสาหกรรม   จากสิบกว่าล้านคน    คาดว่าประมาณห้าล้านคนมีกระดาษหรือวุฒิ (ปวช.  ปวส.  ปริญญา)  และอีกจำนวนพอๆกันหรือมากกว่าไม่มีความรู้วิชาการไม่มีวุฒิวิชาชีพ    มีเพียงการศึกษาระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย    คนเหล่านี้ทำงานอยู่หน้างาน  ดังนั้นกระบวนทัศน์อุดมศึกษาคงต้องเปลี่ยน   ในอนาคตเราไม่ควรออกแบบอุดมศึกษาเพื่อให้คน 2-3 ล้านคนเรียน   แต่ต้องออกแบบให้คน 30-35  ล้านคนเรียน    ทั้งนี้มหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้เป็นกลไกหลักในการดูแลแรงงานภาคการเกษตรและผู้ใช้แรงงาน  แต่มหาวิทยาลัยก็ควรดูแลคนในภาคการผลิตจริงประมาณกว่า 10 ล้านคน
          โจทย์ของอุดมศึกษาในอนาคตจะเปลี่ยนไป  อุดมศึกษาจะต้องเพิ่มผลิตภาพ(Productivity) ของประเทศด้วยการให้การศึกษาคนทำงาน  ไม่ใช่ผลิตคนใหม่เข้าสู่ระบบงานเท่านั้น     คนที่ทำงานแล้วต้องการฝึกต่อเนื่อง(retool, retrain) เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน  งานเปลี่ยน  เปลี่ยนงาน  เปลี่ยนอาชีพ  นอกจากนั้นวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังประสพต้องแก้ด้วยคนที่ทำงานแล้ว   ไม่ใช่คนใหม่ที่เข้าสู่ระบบ    การสร้างความเข้มแข็งภาคการผลิต  การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ   ต้องทำกับคนที่ทำงานแล้ว  เป็นหลัก  ไม่ใช่คนที่กำลังจะเรียนหนังสือ  
          การให้การศึกษาแก่คนวัยทำงานจะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยโดยสิ้นเชิง   ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ  และเปลี่ยนมหาวิทยาลัย   มหาวิทยาลัยจะไม่อยู่ในสภาพลอยตัวจากสังคม  มิติทางการใช้ประโยชน์  ทางปัญญา  ทางจิตวิญญานและสังคม  แห่งอุดมศึกษาควรจะดีขึ้น  ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษา  ผู้เรียนจะมีวุฒิภาวะสูงขึ้น  รู้ถึงคุณค่าและเป้าหมายของการศึกษา  การเชื่อมการศึกษากับอาชีพ   มากกว่าการสร้างฐานานุภาพ  ในส่วนของอาจารย์  การเรียนแบบแปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น (8-16) คงต้องเปลี่ยนไป   สถาบันการศึกษาต้องให้การศึกษาทุกวันและตลอดวัน(7/24)   การจัดการศึกษาจะยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ(Learner-centered learning)   มากกว่ายึดถือความสะดวกของสถานศึกษาและผู้สอน 
          สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดครอบคลุมถึงระบบอาชีวศึกษาด้วย   กล่าวคือระบบอาชีวศึกษาต้อง retool, retrain คนทำงาน   ไม่ใช่คนวัยเรียน   ทั้งนี้อาชีวศึกษาจะส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพของประเทศมาก    ภาคการผลิตจริงต้องการคนระดับกลางคือผู้จบอาชีวศึกษามากกว่าผู้จบปริญญา  เป็นความต้องการจริงของสังคม   คนในวัยอุดมศึกษาถ้าจะได้รับการศึกษา   ควรเรียนสายอาชีวศึกษามากกว่าสายมหาวิทยาลัย    ได้รับการอุดหนุนจากสังคมมากขึ้น   การจัดทรัพยากรของประเทศเพื่อการศึกษาจะต้องสะท้อนความจำเป็นและความต้องการสังคม(public interest)   มากกว่าความต้องการส่วนบุคคล( personal interest) ที่ต้องการอุดมศึกษาเพื่อฐานานุภาพ

          บทความชุดนี้เป็น master piece ด้านให้ความลุ่มลึกในการทำความเข้าใจระบบการศึกษาไทย    ต้องอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์จึงจะได้รับประโยชน์เต็มที่

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ พ.ค. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 266922เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2009 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน อ วิจารณ์

ผมคิดว่า จะต้องมีระบบ การศึกษาต่อเนื่อง จาก มหาวิทยาลัย ให้บัณฑิต ในลักษณะทางไกล ราคาถูก เสริมจากการประชุมอบรม และ ทันต่อเหตุการณ์ มากกว่า ข้อมูลจาก บริษัท หรือ องค์กรที่ทำงานอย่างเดียว ตัวอย่างในวงการแพทย์ รร.แพทย์ น่าจะช่วยให้แนวคิดแนวทาง การจัดการ การดูแล โรคระบาดใหม่ ต่างๆ อย่างเหมาะสม ต่อ บัณฑิต ที่อยู่ในต่างจังหวัด

หรือให้ แนวคิด การสร้างเสริมสุขภาพ ที่ทันสมัย แนวคิดใหม่ๆของการดูแลสุขภาพ ของชุมชน ทาง cyber เป็น digital continue education.

เท่าที่ติดตามดู ยังพบน้อย

ขอแลกเปลี่ยนมุมมองครับ

เรียน ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์

  • นอกจากจะเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของมหาวิทยาลัย ในการรับผู้เรียนเข้าเรียนต่อ
  • ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางด้านรับคนมาเป็นอาจารย์ด้วยครับ
  • คงไม่ใช่รับแต่นักวิชาการที่เรียนมาอย่างเดียวมาเป็นอาจารย์
  • คงต้องรับผู้ที่มีทักษะประสบการณ์ตรงมาเป็นอาจารย์บ้าง แต่ไม่ต้องมีสัดส่วนมาก เน้นสร้างเครือข่าย
  • ให้เครือข่ายแต่ละแห่งเป็นศูนย์เรียนรู้ครับ ตั้งเป็น School ต่างๆ และรัฐให้การสนับสนุนทางด้าน เครดิตภาษี
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท