หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ (๓๗) : ยุทธการปอกหัวหอม


เอาใจ เขามาใส่ใจเรา ไม่ลืมความจริง คิดถึงความเท่าเทียมกัน คุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุุษย์ ใช้วิกฤตช่วยหาทางออก คือ เครื่องมือที่ใช้นำพาสันติมาสู่สังคม

เรื่องที่ป้าแจ๋เล่าบอกให้รู้ ว่าสถานการณ์ของภาคใต้มีปัญหาแฝงอยู่หลายชั้น   เมื่อย้อนกลับไปทวนความรู้ที่อาจารย์หมอวันชัยเคยแบ่งปัน ฉันจึงอ้อกับข้อสรุปที่ป้าแจ๋บอกว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในภาคใต้เห็นปัญหา เป็น ๓ ชั้นเข้าไปแล้ว (กฏหมาย โครงสร้าง วัฒนธรรม)

ป้าแจ๋แลกเปลี่ยนว่ามิติวัฒนธรรมให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรู้สึก ความคิด อารมณ์ของคน มีเรื่องสำคัญที่ฉันว่าป้าแจ๋เจตนาย้ำให้นักเรียนโข่งได้ยินและให้ความสำคัญ ในการเตรียมตัวเองก่อนลงพื้นที่

ประเด็นที่ว่าคือ การรับรู้สะสมมาก่อนของผู้คนที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก อยากทำ แล้วทำให้ด่วนสรุป

ฟังป้าแจ๋แล้วอ้อกับตัวเองว่า นี่คือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมที่องค์กรของฉันก็ให้ความสำคัญกับมันอยู่เช่นกัน

ป้าแจ๋ยกตัวอย่างความรู้สึกของคนเขมรต่อเหตุการณ์เผาสถานทูตและธุรกิจคนไทยให้ฟัง คำพูดที่ป้าแจ๋นำมาเล่าประกอบกระตุกความคิดให้เห็นเงาแห่งศักดิ์ศรีไม่เบาเลย 

“คนไทยชอบดูถูก เอาเปรียบคนที่ด้อยกว่าดีนัก”  ท่านได้ยินคำพูดนี้แล้ว ท่านรู้สึกอย่างไร คิดอย่างไรบ้างค่ะ

ฉันรู้สึกขอบคุณที่ป้าแจ๋ทำความเข้าใจเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติปี ๕๐-๕๔ ให้กระจ่างขึ้นในแง่ความต่างจากนโยบายเดิม ป้าแจ๋เล่าเรื่องนี้ว่านโยบายเดิมเชื่อว่าอำนาจรัฐจะสามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่ของใหม่นี้ต่างไปตรงที่ “เน้นการรักษาอำนาจรัฐ”

ป้าแจ๋ขยายความเล่าส่วนที่เกี่ยวกับสันติวิธีที่เติมลงในนโยบายด้วยค่ะ  ป้าแจ๋บอกว่านโยบายใหม่แทรกแนวคิดสันติวิธีไว้รักษาอำนาจของประชาชน บรรจุประเด็นความขัดแย้งในประเทศ ให้ความสำคัญกับการเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นประโยชน์ของชาติเอาไว้

ที่มาของเรื่องที่สรุปและนำไปแทรกไว้นั้น นโยบายเดิมได้จากการประเมินสถานการณ์ที่หน่วยงานรัฐนำมาทำนโยบายแหล่งเดียว แต่ของใหม่ได้มาจากองค์กรภาคประชาชนด้วย

ป้าแจ๋เพิ่มมุมมองให้พินิจว่า การเคารพอัตลักษณ์ของทุกชาติพันธุ์ที่อาศัยในผืนถิ่นไทย เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ดีต่อกัน เมื่อดีต่อกันก็ไม่เกิดการทำร้ายทำลายกัน แล้วก็ให้ข้อมูลเพิ่ม

ข้อมูลที่ป้าแจ๋เพิ่มให้คดีความมั่นคงในภาคใต้มีอยู่ราว ๒๐%  ที่เหลือเป็นคดีทั่วๆไป ฉันเชื่อว่าท่านได้เห็นแง่มุมอะไรบางอย่างในสายตาท่านแล้ว และเริ่มเข้าใจมุมมองที่ป้าแจ๋ชวนพินิจนะคะ

มีมุมมองด้านภาษาที่ป้าแจ๋แลกเปลี่ยนไว้ด้วย น่าสนใจไม่เบา ป้าแจ๋เล่าว่าในเรื่องของภาษา ราชบัณฑิตยสถานคิดออกมาก่อน แล้วส่งสัญญาณเรื่องนโยบายแห่งชาติแต่ยังลังเลกับกระแสสังคม เมื่อกระแสสังคมช่วยหนุน ก็มีกำเนิดของการทดลองสอนภาษา ๒ ภาษาเกิดขึ้นในวงการศึกษา

เรื่องราวอย่างนี้น่าสนใจนะคะว่าสามารถนำไปช่วยแก้ปัญหาของภาคใต้ในบางเรื่องราวได้หรือเปล่่า

ป้าแจ๋ทำความเข้าใจต่อว่าสันติวิธีให้ความสำคัญกับคนเล็กคนน้อย ไม่มองข้ามปัญหาของคนเล็กคนน้อย เห็นคนเล็กคนน้อยแล้วก็เน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะและลำดับความสำคัญ  ในนโยบายความมั่นคงแห่งชาติปี ๕๐-๕๔  จึงมีคนเล็กคนน้อยที่บรรจุไว้ ได้แก่ คนชายแดนภาคใต้ คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

ในการกำหนดนโยบายด้านสันติวิธี ป้าแจ๋บอกให้รู้ว่าต้องสนใจเรียนรู้ความคิดของรัฐประเทศเพื่อนบ้านด้วย  อย่างเช่นการกระทำกับพม่าที่ไทยพูดอย่างทำอย่างในขณะที่พม่ามองไทยเป็นมิตรแท้ที่ยั่งยืน  หรือเวียดนามมองไทยเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายที่เป็นแบบอย่างเรียนรู้การพัฒนาที่ไม่สำเร็จ

แล้วป้าแจ๋ก็ทิ้งโจทย์ไว้ เพื่อนๆบางคนคงนำไปบอกต่อแล้ว โจทย์นี้ชวนหาตอบว่า ผลประโยชน์ของประชาชนมีอะไรบ้าง เวลานี้รัฐบาลไทยควรมีจุดยืนชัดเจนที่อธิบายคนอื่นได้ เพื่อนบ้านและคนอื่นจะได้ไม่สับสน

การแบ่งปันของป้าแจ๋จบลงที่ทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ว่าใช้ ๖ ข้อหลัก ๓ ข้อรอง นำไปสู่การปฏิบัติ  มีเป้าหมายนำพาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสันติภาพของโลก

มาช่วยกันลงมือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สันติภาพด้วยเครื่องมือที่ป้าแจ๋แบ่งปันความรู้เหล่านี้มั๊ยค่ะ 

ฉันว่าเวลานำมันไปใช้ต้องใช้สติเหมือนการปอกหัวหอมเลยนา  ฝึกกับตัวเราในประเด็นการรับรู้สะสมแล้วด่วนสรุปนี่แหละดีนัก ใครแย้งว่าการฝึกตัวเราไม่เหมือนการปอกหัวหอมยกมือได้

มารู้จักเครื่องมือเหล่านี้กันค่ะ

เอาใจ เขามาใส่ใจเรา ไม่ลืมความจริง คิดถึงความเท่าเทียมกัน คุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุุษย์ ใช้วิกฤตช่วยหาทางออก

แบ่งปันเวลา แบ่งปันความคิด แรงกาย แรงใจชวนกันทำช่วยกันทำ ฝึกตัวเองในทุกโอกาสไปพร้อมกับการร่วมสร้างสันติภาพในพื้นที่รอบตัวเรากันนะคะ

อ้อ ลืมเล่าไปว่าป้าแจ๋แนะนำให้รู้จักองค์กรหนึ่งในภาคใต้ที่ทำงานกันอยู่เงียบๆ องค์กรนั้นชื่อว่า “Deep South Watch”   องค์กรนี้ทำงานในรูปแบบ virtual peace network ชวนไปรู้จักเขาไปเยี่ยมพวกเขาด้วยตัวเอง ไม่เล่าให้ฟังนะคะ

ก่อนแยกย้ายกันไปตามอัธยาศัย  พี่ยืนหยัด ใจสมุทรก็ช่วยเติมความรู้ว่า ที่มาเลเซียมีชนเผ่าต่อคนพื้นเมือง ๖๐ ต่อ ๔๐ มีที่พึ่งตามอัตราส่วนทุกชนเผ่า มาเลเซียเริ่มจากคนที่มีความรู้ระดับปริญญาตรี ๒ คน ก็ทำให้เกิดการขยายผลพัฒนาประเทศนำหน้าไทย ๑๐ ปี

และพี่หยัดก็บอกว่าเห็นด้วยว่าการแก้ปัญหาหรือปรองดองต้องมีความจริงใจอย่างแท้จริง สิ่งที่ไม่ไว้วางใจเกิดจากความรู้สะสม ความเกลียดชังกันทำให้เกิดวิชามาร

ระหว่างที่เขียนบันทึกนี้ฉันเกิดอยากรู้ว่ารุ่นพี่ สสสส.๑ เขาได้เรียนอะไรบ้างจากป้าแจ๋ เลยตามไปอ่านที่น้องฑูรเขียนเล่าไว้ อ่านแล้วก็เข้าใจมุมมองบางอย่างชัดขึ้นจากตัวอย่างที่ 4ส.๑ ได้ฟัง   มีเรื่องราวเขียนไว้ ๓ ตอน ขอโยงมาแบ่งปัน ตอน ๑ ตอน ๒ ตอน ๓ สำหรับคนที่สนใจทำความเข้าใจค่ะ

หมายเลขบันทึก: 373511เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2010 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท