กร่อนคำ..ถอดความ จากหนังสือ "กัมพูชากับสงครามล้างเผ่าพันธุ์ฯ" ... ( 6 )


บันทึกที่ 6 ... ความโหดร้ายของเขมรแดง 

กร่อนคำ..ถอดความ ดังต่อไปนี้ครับ 

 

๖. 

 

ขุมนรกกลางทุ่งนาพระตะบอง

 

ทุ่งนาจังหวัดพระตะบองด้านทิศใต้ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 5 ประชาชนตาดำ ๆ ผู้เคราะห์ร้าย ต้องถูกแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อทำงานอย่างหนัก แต่ละกลุ่มประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยคน และแต่ละกลุ่มจะมีผู้คุมหน้าตาโหดเหี้ยมถือปืนหรือท่อนไม้ยืนสั่งงานตามลำดับขั้น ที่นี่ไม่มีเสรีภาพใด ๆ ทั้งสิ้น ห้ามพูดจากัน ห้ามถามกัน ทำงานตามคำสั่งอย่างเดียว ทุกคนมีหน้าที่อย่างเดียว "คือทำงาน" หากมีผู้ใดขัดขืนคำสั่งหรือสงสัยว่าเคยเป็นข้าราชการหรือนายทุน จะถูกจับไปสอบสวน เขาจะหายสาบสูญไปและจะไม่เห็นหน้าเขาอีกเลย เพียงแต่นำไปป่าก็เอาขวานทุบหัวเท่านั้น

 

 

 

เหลียวหลังไปที่กรุงพนมเปญ

 

การทารุณกรรม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ตะแลงแกงโทลแสลง และเชิงแอก (Genocidal Centre) และที่อื่น ๆ ยังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง

เมื่อเขมรแดงเข้ายึดกรุงพนมเปญได้แล้ว ก็จัดกำลังเป็นกลุ่ม ๆ แบ่งหน้าที่ คือ บางกลุ่มควบคุมประชาชน และขับไล่ประชาชนออกนอกกรุงพนมเปญ อีกกลุ่มหนึ่งเข้าตามจับกุมบรรดาประชาชน นายทหาร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ยังเหลืออยู่ และแม้แต่ครอบครัวลูกหลานของชนชั้นปกครอง และเขาเหล่านั้นถูกไล่ต้อนเข้าไปอัดยัดเยียดอยู่ในโบสถ์ ปิดประตูโบสถ์สุมไฟพ่นควันในวัด พระสงฆ์ในวัดถูกบังคับให้สึกหรือส่งไปทำงานหนักร่วมกับประชาชนในท้องนา รูปใดไม่ยอมก็ถูกสังหาร นายทหารกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และชาวต่างประเทศบางคน ก็ถูกต้อนไปขังไว้ที่วิทยาลัยโทวแสลง (เขมรแดงเรียก มณเฑียรสันติสุข 21) ... (ที่เรียกภายหลังว่า แหล่งทารุณกรรม หรือคุกโทลแสลงที่เชิงแอก)

อนึ่ง การปฏิบัติการที่เรียกว่า "เพื่อจัดแจงรัฐธานีให้มีอิสรภาพ" นั้น ก็คือ การขับไล่ประชาชนออกจากเคหะสถานบ้านที่เป็นที่อยู่อาศัยหรือตัวเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรุงพนมเปญ และในตัวเมืองน้อยใหญ่ต่าง ๆ การปฏิบัติการครั้งนี้เขมรแดงทำพร้อมกัน คือ วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2518 (เขมรแดงเรียกประชาชนที่ถูกขับออกจากตัวเมืองสู่ทุ่งนาว่า พวกฎอบปรัมปีร = พวก 17 เมษา) ทุกหัวเมืองเขมรใช้ศัพท์นี้ว่า "จันเลีส = Evacuation"

เมื่อเขมรแดงยึดครองกัมพูชา ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2518 ดังกล่าวแล้ว ด้านประเทศเวียดนามใต้ ก็ถูกกองทัพเวียดกง หรือเวียดนามเหนือเข้ายึดครองในวันที่ 30 เมษายน ในปีเดียวกัน พระราชอาณาจักรลาวก็ถูกยึดครองโดยพรรคประเทศลาวของท้าวสว่างวัฒนา โดยการสนับสนุนของเวียดนามเหนือเช่นกัน ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2518 ลาวประกาศเปลี่ยนแปลงประเทศจาก "พระราชอาณาจักรลาว" เป็น "สาธารณรัฐประชามานิสต์ลาว"

 

ส่วนกัมพูชานั้น เขมรแดงก็ยังปฏิบัติการฆ่าทำลายล้างเผ่าพันธุ์อย่างไม่หยุดยั้ง ผู้คนหายสาบสูญล้มตายไปไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน ทุกหัวระแหง ภูเขา ลำเนาไพร ในบ่อน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง แม้แต่วัดวาอาราม ก็มีแต่กระดูกคน หรือหัวกระโหลก (มีคลองแห่งหนึ่งที่อำเภอสัมโลด จังหวัดพระตะบอง เรียกว่า โอรขะมอจ (คลองผี) ประชาชนผู้เคราะห์ร้ายหลายพันคนถูกเขมรแดงตามล่าหนี เพื่อจะข้ามไปยังฝั่งไทย แต่ถูกเขมรแดงฆ่าตายที่นี่ ... บางข้อมูลก็ว่าทหารเวียดนามฆ่า)

 

สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) เป็นแผนการของใคร ฆ่าเพื่ออะไร ใครอยู่เบื้องหลัง ใครเป็นผู้บงการ เรื่องนี้เป็นเรื่องสลับซับซ้อนมาก เพราะการเดินหมากทางการเมืองของบางประเทศที่ต้องการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ และยึดครองกัมพูชานั้นยังมีอยู่ นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ จะต้องช่วยกันคิดค้นวิจัยเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อออกมาสู่สายตาของชาวโลกว่าทำไมคนเขมรจึงล้างเผ่าพันธุ์กันเอง

การกระทำทารุณกรรมต่าง ๆ นั้น มันน่าสยดสยองยิ่งนัก มนุษย์กับมนุษย์ทำทารุณกันได้ถึงขนาดนี้ได้อย่างไร เมืองเขมรเป็นเมืองพุทธ พุทธธรรมไม่สามารถซึมซับเข้าสู่หัวใจของพวกเขาบ้างหรืออย่างไร

ทำไมเขมร และประชาชนทั้งประเทศ จึงยอมให้เขมรแดงกดขี่ข่มเหง และสังหารโหดเช่นนั้น ไฉนจึงไม่มีใครลุกขึ้นต่อต้าน หรือว่าเขมรส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษา โง่เขลาเบาปัญญา หรือเพราะเหตุใด

 

......................................................................................................................................

 

ความคิดเห็นส่วนตัว...

 

เมืองใหม่ของเขมรแดง คือ ฆ่ากลุ่มอำนาจเก่าให้หมดสิ้น ... แต่การล้างสมองเขมรแดงให้ฆ่าคนของตัวเอง เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า มาจากสาเหตุใดกันแน่ บ้างก็ว่าเขมรแดงเป็นคนเมืองอื่นที่แล้งแค้น ทุรกันดาร ไม่มีกินมากเท่ากับคนในเมืองหลวงพนมเปญ ทำให้การปลุกปั่นทำได้ง่ายกว่า

พล พต เป็นอดีตครู เป็นผู้คิดวิธีการชั่วร้ายนี้หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน หรือจะมีใครเป็นที่ปรึกษากันแน่ ???

แต่ที่แน่ ๆ เขมรมีสี่ฝ่าย แล้วประเทศไทยล่ะมีกี่ฝ่าย และใครจะทำลายชาติของตัวเองก่อนกัน

โปรดคิดตรองถึงสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนดีไหม ...

 

โปรดติดตามรายละเอียดของ "โทลแสลง" ในบันทึกต่อไปครับ

ขอบคุณครับ :)  

 

...................................................................................................................................

 

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

แหล่งอ้างอิง

ปะแดง มหาบุญเรือง คัชมาย์.  บันทึกความทรงจำ กัมพูชากับสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และศูนย์อพยพในประเทศไทย.  สุรินทร์: โรงพิมพ์รุ่งธนเกียรติออฟเซ็ท, 2543.

 

หมายเลขบันทึก: 313556เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2009 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มีคนไทยหลายคนที่ควรอ่าน

น่าสงสารแบ่งสีที่ไม่รู้

ยังสำรอกสำรากถากมึงกู

ตนคือผู้โง่เขลาเผาชาติตน

ใครอ่านแล้วยังไม่ปรับตนเสียใหม่

ก็เรียกว่าอ่านไปไม่มีผล

ควรเชิญชวนสัมมนาเสียทุกคน

ส่งไปสนตะพายในกัมพูชา

ขอบคุณบทกวีจากท่านสอิ้งทอง ... แรง แต่ตรงไปตรงมา ;)

สวัสดีค่ะอาจารย์ Wasawat Deemarn

กำลังเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยให้นักเรียนฟังเลยค่ะ

เสียกรุงฯครั้งที่หนึ่งและสอง เพราะฝีมือคนไทยเองทั้งนั้น

สุดท้ายก็ต้องตายเพราะความละโมบโลภมาก

แผลเป็น ที่สะกิดครั้งใดเราก็เจ็บทุกที

แต่ทุกครั้งพระมหากษัตริย์ก็ทรงทำให้ไทยมีเอกราชมาจนถึงบัดนี้

เดี๋ยวจะไปหาซื้อหนังสือเก็บไว้อ่านบ้าง

แต่ตอนนี้ขออนุญาตปริ๊นเรื่องราวของเขมรไปเล่าให้เด็กๆฟังต่อนะคะ

ไม่ได้ชุบมือเปิบใช่ไหมคะ  เหอๆๆๆๆๆๆๆ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณครูจุฑารัตน์ NU 11  ;)

รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ ที่คุณครูได้นำเรื่องราวเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้เด็ก ๆ เขาได้เรียนรู้กัน เพราะเป็นเรื่องที่เราจะต้องใช้นำมาเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ของชาติไทย

หนังสือ ... ผมว่า หายากครับ ขอให้ติดตามบันทึกชุดนี้ไปเรื่อย ๆ นะครับ

วันนี้อาจจะมีต่ออีกบันทึกครับ

ขอบคุณมากครับ ;)

อ่านบันทึกนี้แล้วต้องย้อนกลับไปอ่านบันทึกที่ 1-4 ด้วยความอยากรู้ประวัติศาสตร์ของกัมพูชา จะติดตามอ่านตอนต่อไปอีกค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

เป็นเรื่องราวที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับชาติพันธ์มนุษย์เลย น่าสลดใจยิ่งนัก

ขอบคุณครับ คุณ rattanajan ที่ได้มาเยี่ยมเยือนบันทึกนี้ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท