การปฏิเสธคือภูมิคุ้มกัน


ในสังคมไทย การปฏิเสธดูจะเป็นเรื่องในด้านลบ ส่วนในด้านวัฒนธรรม ก็ดูว่าจะขัดกับความเป็นผู้มีอัฌชาสัย แต่การปฏิเสธนั้นเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการตกลงตะบี้ตะบัน เห็นด้วยกับทุกข้อเสนอ เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ

ปฏิสัมพันธ์ของคนเป็นเรื่องซับซ้อน [หากสนใจในทางทฤษฎีปรัชญา ขอเชิญที่บันทึก ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๑. ลัทธิคานต์กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๑. จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๑. หรืออ่านสรุปที่อ่านง่ายกว่าที่บันทึก บ่อน, เกณฑ์ตัดสินจริยธรรม และกฎหมาย]

ตัวอย่างเช่นบันทึก ระวัง "มันฝรั่งบนเก้าอี้" (Couch Potato) เป็นการใช้ตัวตน (ไม่ว่าสร้างขึ้นหรือมีอยู่จริงก็ตาม) ล่อสาวให้ปลงใจ เพื่อหาคนรับใช้ ซึ่งหาได้ยากในสังคมของตน -- เป็นไปตามแนวประโยชน์(ส่วนตน)นิยม

จากความตอนหนึ่งในบันทึก ตกหลุม..รัก..

ความโรแมนติกที่สุดของช่วงนี้ก็คือการฝันถึงการแต่งงานหรือการได้ครองคู่ อยู่ด้วยกัน ..น่าเสียดายนะคะที่ประสบการณ์ของการตกหลุมรักนี้จะคงอยู่ไม่นาน ดร.โดโรธี เทนนัฟ ( นักจิตวิทยา ; Dorothy tennuff ) ได้ทำการวิจัยและพบว่าความคลุ้มคลั่งแบบกะติกสุดๆนี้จะคงอยู่อย่างมากที่สุดก็ประมาณ  2 ปีเท่านั้นแหละค่ะ..

หลังจากนั้น เมื่อกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง ก็จะพบความแตกต่างที่เคยมองข้ามไปหมด ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าความรักไม่ดี แต่ชีวิตคู่นั้นอยู่กับความเป็นจริง ไม่ใช่ความหลงครับ [ปีหน้านี้ คุณพ่อคุณแม่ผมจะแต่งงานครบรอบห้าสิบปี ไชโย!]

เรื่องของบ่อน หรือจะเรียกอย่างหรูว่าคาสิโนก็แล้วแต่ ทั้งๆที่เห็นว่าบ่อนรวยขึ้นตลอดเวลา ซึ่งก็หมายความว่า ผู้เล่นเสียเงินไปเรื่อยๆ แต่คนก็เข้าบ่อน บทความ The Parameters of General Gambling บอกว่าเป็นลักษณะของมนุษย์(บางประเภท)ที่ชอบเสี่ยง

แต่ในบริบทของสังคมไทยนั้น ยังมีเรื่องความทุกข์ยากที่หาทางออกไม่ได้ จึงหวังลมๆแล้งๆ ว่าจะมีปาฏิหารย์เ้กิดขึ้นกับตนโดยที่ไม่ต้องทำอะไรมากนัก เป็นที่มาของการถูต้นไม้ขอเลข ไหว้สัตว์สองหัว จ่าย-รับอามิสสินจ้าง หรือแม้แต่นโยบายประชานิยมที่ผลักภาระไปไว้ในอนาคต

มีภาษิตไทยว่า "สิบเบี้ยใกล้มือ" หมายความว่า ของที่ควรได้เมื่อมาถึงตนก็รับเอาไว้ก่อน ฝรั่งมีภาษิตว่า Better an egg today than a hen tomorrow มีปัญหาอยู่นิดเดียวครับ ชีวิตคนไม่ใช่เบี้ย ไม่ใช่ไข่ หรือแม่ไก่

ในเมื่อชีวิตเราไม่มีป้ายบอกทางเหมือนกับถนนหนทาง แถมบางทีก็ไม่มีกติกากำกับด้วยซ้ำไป จะรู้ได้อย่างไรว่าควรจะตัดสินใจอย่างไรจึงจะ "ถูกต้อง"

เรื่องนี้ ไม่มีคำตอบครอบจักรวาลเหมือนกับที่บรรดากูรูเขียนในหนังสือ How-to หรอกครับ แต่ว่า สติและการพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง จะช่วยให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้กระจ่างขึ้น

ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร

  • ชีวิตเรา ต้องตัดสินใจครับ มองเรื่องราวจากมุมต่างๆ พิจารณาให้รอบคอบ
  • ฟังคำแนะนำไว้ แต่ไม่ต้องเชื่อ นำมาพิจารณาไตร่ตรองให้ดี อย่ามองเฉพาะมุมบวกมุมเดียว [ที่ปรึกษา]
  • คำว่า "ถูกต้อง" นั้น มีความหมายไม่เหมือนกันสำหรับแต่ละคน เพราะมนุษย์มีความคิด ความต้องการ ข้อจำกัดที่แตกต่างกัน แต่ละประสบการณ์ ก็จะมีบริบทของประสบการณ์ที่แตกต่างกัน นำมาใช้ตรงๆ ไม่ได้
  • คำว่า "ไม่น่าเลย" ไม่มีประโยชน์ครับ แต่ถ้าเกิดสถานการณ์อย่างนั้นขึ้น ต้องเรียนรู้ถึงสาเหตุให้ได้ และไม่ผิดซ้ำสอง
  • คำว่า "เห็นไหม บอกแล้วไม่เชื่อ" ก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน
  • การปฏิเสธ แปลว่า(ยัง)ไม่ตกลง และการปฏิเสธ ไม่ได้เปลี่ยนมิตรเป็นศัตรู
  • ประสบการณ์ของผมบอกว่าอะไรที่ดูดีจนเกินเหตุ มีอาการรวบรัด ร้อนรน ต้องรีบตัดสินใจ มักจะไม่ดีจริงครับ ถ้าดีจริง ทำไมถึงเหลือมาถึงเราคนธรรมดา กรณีอย่างนี้ น่าจะระแวงไว้ก่อน และต้องรอบคอบให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโอกาสนั้นผ่านใครต่อใครมามากมายแล้วแต่ไม่มีใครฉวยไว้

การตัดสินใจปฏิเสธนั้น เกี่ยวเนื่องกับความเสียดายซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์เช่นกัน ถึงแม้การปฏิเสธวันนี้ อาจจะทำให้เราพลาดสิ่งที่คิดว่าจะ "ได้" ในอนาคต จริงๆ แล้ว เรายังไม่ได้เสียอะไรเลยยกเว้นเสียดาย เมื่อโอกาสผ่านเข้ามาครั้งหนึ่งได้ ก็อาจจะมีโอกาสอื่นผ่านเข้ามาอีกได้เช่นกัน (ถ้าหากไม่รีับตาย) เพียงแต่ว่าเมื่อโอกาสผ่านมา เราเข้าใจโอกาสนั้นอย่างถ่องแท้แค่ไหน

ไม่ว่าจะตอบรับ ปฏิเสธ หรือไม่ตัดสินใจ ก็เป็นการตัดสินใจแบบหนึ่ง สำหรับเรื่องใหญ่ในชีวิต ต้องรอบคอบ ดูหลายๆ มุมครับ

นี่เขียนมาจนถึงตรงนี้ ยังไม่มีคำว่าภูมิคุ้มกันเลยนะเนี่ย แตะซะหน่อยก็แล้วกัน ภูมิคุ้มกันต้องสร้างเอาเองซิครับ จะไปหวังให้ใครมาปกป้องชีวิตเราอยู่ตลอดเวลาได้

หมายเลขบันทึก: 169175เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2008 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

P

Conductor

 

อ่านๆ ไปก็นึกถึง คาถาในชาดกเรื่องหนึ่ง (ในหิโตปเทศก็มีเรื่องนี้)  โดยมีเรื่องเริ่มต้นว่า พญาแร้งติดบ่วงของนายพราน เมื่อนายพรานจับพญาแร้งได้ จึงถามว่า

  • เค้าลือกันว่า แร้งมีสายตาดี สามารถมองเห็นได้ไกลเกินร้อยโยชน์ แต่ทำไม วันนี้ ท่านจึงติดบ่วง...

พญาแร้งจึงตอบว่า

  • จริงอยู่ว่า แร้งมองเห็นได้เกินร้อยโยชน์ แต่เมื่อความโลภเข้าครอบงำ  ก็มองไม่เห็นบ่วง มองเห็นแต่เหยื่อ...

..........

ในชีวิตจริง เราทุกคน ก็คล้ายๆ กับแร้ง กล่าวคือ มีความคิดรอบคอบสามารถป้องกันตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยได้ (สายตาไกล)... แต่บางครั้ง เราก็มองเห็นแต่เหยื่อเท่านั่น ไม่อาจเห็นบ่วงได้ เพราะถูกความละโมบโลภมากเข้ามาครอบงำ (เห็นแต่เหยื่อ ไม่เห็นบ่วง)....

  • หนุ่มหลอกสาว สาวหลอกหนุ่ม
  • นักปกครอง หลอกลวงประชาชน
  • กรณีแชร์ลูกโซ่
  • ฯลฯ

ตัวอย่างเหล่านี้ คงมีอยู่ให้เห็น... และคิดว่า คงจะมีให้เห็นต่อไป ทั้งๆ ที่เรื่องราวทำนองนี้ น่าจะเกิดขึ้นหลังจากมนุษยชาติเกิดขึ้นไม่นานนัก

เจริญพร

การตัดสินใจผิดพลาดของมนุษย์ในเรื่องต่างๆมีให้เห็นกันเป็นประจำค่ะ

ในธุรกิจก็เช่นเดียวกัน การตัดสินใจผิดพลาดเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะมนุษย์โดยแท้จริงแล้วไม่เก่งกาจในการจัดการเกี่ยวกับความไม่แน่นอนสักเท่าใด  บางครั้งก็ประเมินความเสี่ยงไว้ต่ำเกินไป บางครั้งก็สูงเกินไป

ตัวเอง แม้จะมีลักษณะเป็นคนว่องไวรวดเร็ว แต่ถ้าเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆแล้ว มักคิดแล้ว คิดอีก คิดหลายๆรอบค่ะ ไม่อยากพลาด แม้กระนั้น บางที ก็พลาดนะคะ

สังเกตดู คนที่พฤติกรรมที่มีเหตุมีผล มีวิธีการคิด และมีวิธีปฏิบัติดีๆหลายลักษณะ แต่ก็ยังตัดสินใจผิดพลาด ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจาก...

1.มองโลกในแง่ดีเกินไป (over-optimism) เพราะมักจะเชื่อมั่นในตนเองมากไป

2.ด่วนสรุปตัดสินบุคลิกลักษณะของคน ที่เพิ่งพบโดยใช้ความประทับใจ จากการพบกันครั้งแรก  จนอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้

3.ความดื้อรั้น" (Stubbornness) ธรรมชาติของมนุษย์คือ การไม่ยอมละทิ้งความเชื่อที่ตนเองยึดถือไว้

4".เชื่อในประสบการณ์ของตนเอง" ซึ่งอาจไม่นำไปสู่การตัดสินใจ ที่ถูกต้องเสมอ เพราะ สิ่งใหม่ ไม่เหมือนสิ่งเก่า ประสบการณ์เก่า มีปัจจัยใหม่ๆที่เรายังไม่เคยพบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ

5."ลำดับความสำคัญผิด" บางทีคนเราไปดูสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่เป็นส่วนประกอบมากกว่าแก่นของเรื่อง เช่น ให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาสวยๆ มากกว่าด้านจิตใจ หรือเรื่องอื่นๆที่มีความสำคัญมากกว่า

ชีวิตของคนเราสำคัญมากค่ะ ทั้งที่สำคัญสำหรับตัวเอง  ครอบครัว การงาน และเพื่อนฝูง  การตัดสินใจที่ผิดพลาด ไม่ใช่จะก่อให้เกิดความความเสียหายส่วนตัวเท่านั้น   แต่ยังมีผลกระทบกว้างไกลต่อผู้อื่นมากนัก

ดังนั้น การจะตัดสินใจสิ่งใดที่เป็นเรื่องสำคัญๆ ไม่จำเป็นต้องรีบ ให้เวลาตัวเองมากๆ คิดให้ดี ให้รอบคอบมากที่สุด บางครั้ง ต้องปรึกษาผู้ที่เราไว้ใจและหวังดีต่อเราอย่างจริงใจด้วย  เพื่อขอความเห็น   จะได้ไม่เสียใจภายหลัง

พระอาจารย์ชัยวุธ: พญาแร้งต้องรับผลของการตัดสินใจของตัวเองครับ [คิชฌชาดก]

พี่ศศินันท์: ขอบคุณพี่มากนะครับ ที่รวบรวมประเด็นให้อ่านง่ายขึ้นเยอะ

สวัสดีค่ะคุณ Conductor

เบิร์ดเข้ามาหลายรอบเพราะเล็งหาช่องไม่เจอ เดินวนเวียนอยู่นานตั้งแต่บ่ายแล้วล่ะค่ะ เพราะเห็นด้วยว่าการรู้จักปฏิเสธเป็นภูมิคุ้มกันชีวิตอย่างหนึ่ง

การปฏิเสธให้เป็นนี่ถือเป็นศาสตร์และศิลป์เชียวนะคะ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ท่าทีที่นุ่มนวล รู้ทั้งเขา และรู้ทั้งเราถึงจะประสบความสำเร็จในการปฏิเสธได้ ( ไม่เสียทั้ง 2 ฝ่าย )

ทางจิตวิทยาจะเรียกว่า Assertion ค่ะ เป็นการแสดงออกที่เหมาะสมโดยแสดงสิทธิที่พึงมีของเราอย่างถูกต้องโดยไม่ล่วงเกินสิทธิของผู้อื่น ถือเป็นทักษะที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคลและสร้างความเชื่อมั่นในตนเองค่ะ

ทำไมการปฏิเสธจึงเป็นภูมิคุ้มกันตัวเอง เพราะเมื่อเราลุกขึ้นปฏิเสธอย่างมีเหตุผล  เราจะได้สิ่งเหล่านี้ค่ะ

  • ลดการพึ่งพาความคิดเห็นของคนอื่น 
  • กล้าเผชิญหน้าและจัดการกับความขัดแย้งอย่างเปิดเผย
  • ได้รับผลและความพึงพอใจตามที่ต้องการได้มากกว่า
  • ยอมรับในเรื่องสิทธิส่วนบุคคล
  • ลดความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคงลงได้
  • เพิ่มการควบคุมตนเองและมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองขึ้นเยอะเลยล่ะค่ะ
  • เพิ่มการยอมรับนับถือตนเอง + มีความเชื่อมัี่นในตนเองมากขึ้น
  • สามารถสื่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆได้อย่างเหมาะสม

ดูๆแล้วคนไทยเรามักจะมีการแสดงออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆค่ะคือ ไม่กล้าแสดงออกตามความรู้สึกที่แท้จริงและก้าวร้าว แต่ลักษณะที่ 3 คือการแสดงออกอย่างเหมาะสมแบบที่เรียกว่า Assertive นี้มีน้อยมากๆค่ะ  ทำให้เราไม่ค่อยกล้าปฏิเสธอะไร  ใครให้ไปทางไหนก็ไป..ว่าง่าย น่าเอ็นดู แถมเฮตามๆกันก็ง้ายง่าย.. ทั้งๆที่ต้องใช้วิจารณญาณในการชมแท้ๆ

ขอบพระคุณมากค่ะที่พูดเรื่องนี้ และเก่งจริงๆที่โยงเอาหลายๆเรื่องมาทำเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างน่าทึ่งเชียวล่ะค่ะ ^ ^

 

 

ขอบคุณคุณเบิร์ดครับ เรื่องนี้เป็นการจับแพะชนแกะ จนออกมาเป็น "แก๊ะ"

ผู้ที่ปฏิเสธได้ จะต้องมีความจริงใจต่อตัวเองด้วย การปฏิเสธเหมือนปลูกฝี บางทีอาจเป็นแผลคีลอยด์ แต่ก็เป็นไปเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะร้ายแรงกว่า เมืองไทยมีสิ่งที่ไม่ดีอยู่มากมาย ซึ่งเราเลือกที่จะไม่ข้องแวะได้ครับ

ทั้งหมดเป็นเรื่องของการเลือก ซึ่งเราก็ควรเลือกอย่างฉลาดใช่ไหมครับ ก่อนจะเลือก น่าจะเข้าใจก่อนว่าทางเลือกต่างๆ มีอะไรบ้าง แต่ละทางเลือกดีหรือไม่ดีอย่างไร ที่สำคัญคือเราไม่ได้กำลังทำข้อสอบปรนัยภายในเวลาที่กำหนด ดังนั้นหากไม่พร้อม เรายังมีสิทธิ์ที่จะไม่ตัดสินใจครับ

สำหรับผู้ที่กำลังเครียดกับทางเลือก (ซึ่งผมโทรไปคุยแล้ว) อยากย้ำว่าท่านเลือกไม่เครียดก็ได้ครับ (ท่านบอกผมว่าไม่เครียดแต่เสียงท่านเครียดนะครับ)

555 "แก๊ะ" นี่เข้าข่ายตัดต่อพันธุกรรมนี่นา อืมม์ มีนัยยะแฝงเยอะนิคะบันทึกนี้ พูดถึงแกะก็อยากกินแล็มช้อป ไม่ชอบกินแพะ นอกจากเอาไปทำแกงจิ้มกินกับนาน แต่อะไรก็ได้ยกเว้นนั่งกินพิซซ่ากับเบียร์บนเก้าอี้นวม ดูรายการช้อปปิ้งสั่งสินค้าทางทีวีจนหลับไป ไม่อยากกลายเป็น couch potato ค่ะ

ปล. ฝากแสดงความยินดีกับคุณพ่อคุณแม่ล่วงหน้าด้วยนะคะ ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรอย่างที่คนโบราณเขาอวยพรจริงๆ ไม่ง่ายนะคะ 50 ปีทีเดียว

คุณซูซานไม่ยอมนอน แล้วยังมาพูดเรื่องอาหารดึกๆ อีก

นัย [ไน, ไนยะ] น. ข้อสำคัญ เช่น นัยแห่งเรื่องนี้; ความ, ความหมาย, เช่น หลายนัย; แนว, ทาง, เช่น ตีความได้หลายนัย; แง่ เช่น อีกนัยหนึ่ง. (ป. นย). นัยว่า [ไน-] ว. มีเค้าว่า.

สรุปว่าเรื่องนี้มีหลายมุมจริงๆ เพราะเป็นแง่คิดครับ

สวัสดีค่ะคุณ Conductor

อมยิ้มกับอันนี้ค่ะ

สำหรับผู้ที่กำลังเครียดกับทางเลือก (ซึ่งผมโทรไปคุยแล้ว) อยากย้ำว่าท่านเลือกไม่เครียดก็ได้ครับ (ท่านบอกผมว่าไม่เครียดแต่เสียงท่านเครียดนะครับ)

การปฏิเสธเป็นสิ่งที่เรียกว่า antistress แต่ทำไมการปฏิเสธจึงก่อเกิดความเครียดตามมา.. ก็เพราะในการตัดสินใจที่จะปฏิเสธไม่ได้ประกอบไปแค่่เหตุและผลเท่านั้นน่ะสิคะ...ยังมีความรู้สึก มีความสัมพันธ์  มีความต้องการ  มีความปรารถนา ฯลฯ ที่เป็นประเด็นซ่อนอยู่มากมาย เจ้าประเด็นแอบแฝงเหล่านี้แหละค่ะที่เป็นตัวการทำให้เราเครียดเวลาที่ต้องเลือกทางหนึ่งและปฏิเสธทางอื่นๆไป

เมื่อเราทราบว่าสิ่งที่ทำให้เราตึงและกำลังจะเริ่มเครียดนั้นคือประเด็นแฝงเหล่านี้ สิ่งที่ควรจัดการจึงเป็นประเด็นแฝงค่ะไม่ใช่การตัดสินใจที่เลือกแล้ว

เมื่อเราจัดการกับประเด็นแฝงต่างๆได้ในระดับหนึ่งแล้ว เราถึึงจะ้ทราบว่า..การปฏิเสธทำำให้เราเกิดความกล้าที่จะเผชิญหน้าและจัดการกับความขัดแย้งอย่างเปิดเผยได้อย่างไรและทำให้เราเติบโตจากภายในได้อย่างไรเนาะคะ ^ ^

 

 

ยืนอยู่บนความเป็นจริง น่าจะเครียดน้อยกว่าครับ (อาจมีไม่ชอบบ้าง อาจมีเสียใจบ้างเป็นธรรมดา)

แต่ปัญหาใหญ่คือไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท