หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๕) เวทีชื่นชมผลงาน


แรงจูงใจ แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือของผมประการหนึ่งคือ การเห็นงานเขียนตัวเองปรากฏในสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ

   แรงจูงใจ แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือของผมประการหนึ่งคือ การเห็นงานเขียนตัวเองปรากฏในสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ

   งานเขียนแรกที่ปรากฏในสิ่งพิมพ์คือ ข่าว งานเขียนที่ผมได้รับการฝึกหักจากการเข้าอบรมกับพี่ดา – สุชาดา จักรพิสุทธิ์ และ พี่ตี๋ – สมโรจน์ สำราญชลารักษ์ ซึ่งลงในหนังสือพิมพ์รายเดือน “ผีปันน้ำ” ยอดพิมพ์เพียง ๑,๐๐๐ ฉบับ เป็นหนังสือพิมพ์ที่แจกจ่ายไปตามเครือข่ายภาคประชาสังคมในเขตภาคเหนือเป็นหลัก แต่เมื่อได้เห็นงานตัวเองปรากฏในนั้นก็สร้างความปลื้มปิติยินดีไม่น้อย ผมอ่านงานตัวเองในนั้นซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ และมีแรงที่จะเขียนสำหรับลงในฉบับต่อ ๆ ไป ในฉบับต่อ ๆ ไปความปลาบปลื้มก็มิได้ลดลง ผมทำเช่นเดียวกับฉบับแรกคืออ่านซ้ำอีกอย่างไม่รู้เบื่อ การเขียนอย่างต่อเนื่องราว ๑ ปี แม้จะเป็นเพียงการเขียนข่าว แต่ผมก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาก

   ผมเริ่มพัฒนางานเขียนข่าวมาสู่การเขียนเรื่องเล่า เมื่อมารับผิดชอบเป็นกองบรรณาธิการ (จำเป็น) “จุลสารโพธิยาลัย” และผมเองต้องเขียนเรื่องลงจุลสารอย่างน้อยเดือนละ ๒ เรื่องลงในนั้น แม้เป็นจุลสารที่ทำเองกับมือเกือบทุกขั้นตอน แต่เมื่อเข้าโรงพิมพ์ออกมา ผมก็ตื่นเต้นดีใจไม่น้อยเมื่อเห็นงานเขียนตัวเองในนั้น แน่นอนว่าผมอ่านซ้ำไปมาในแต่ละฉบับหลายตลบ และงานเขียนมรจุลสารนี้เอง เป็นเหตุที่ทำให้ผมได้พบและพัฒนาทักษะกับครูมาลา คำจันทร์

   ผมเล่าไว้ว่าหลังจากอบรมการเขียนสารคดีแล้ว ก็ฝึกหัดเขียนสารคดีเรื่อง “สามเณร : เด็กชายที่ชายขอบสังคมไทย” (อ่าน ตอนที่ ๑, , ) จากนั้นครูมาลา คำจันทร์ ก็นำไปเผยแพร่ในวารสารพลเมืองเหนือ ซึ่งเป็นวารสารรายเดือนที่ค่อนข้างขายดี มีวางจำหน่ายในเขตจังหวัดภาคเหนือ เมื่อเห็นงานตัวเองปรากฏ ซึ่งเรื่องราวของผมเป็นเรื่องเด่นประจำฉบับ มันทำหัวใจผมพองโตมากครับ มีกำลังใจที่จะเขียนอีกมากมายก่ายกอง งานนี้ผมได้รับคำชมและกำลังใจจากครูมาลา คำจันทร์ ยิ่งสร้างแรงบันดาลใจให้ผมอีกทับถมทวีคูณ

   ในเวลาไล่เรี่ยกัน ผมเขียนบทความวิจารณ์หนังเรื่องโอเคเบตง ชื่อ “โอเคเบตง...โนเคสวนดอก...” อาจารย์ผู้ชักชวนผมไปดูหนังด้วย ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนมากมาย ท่านได้ส่งงานของผมให้กับ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งได้รับการลัดคิวให้ลงทันทีในอีกสองวันถัดมา ผมเห็นงานเขียนในหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง ดีใจจนพูดไม่ออกบอกไม่ถูก เดินยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ทั้งวัน

   วันรุ่งขึ้นผมเอางานไปให้ครูมาลา คำจันทร์ อ่าน ครูช่วยอ่านให้และให้ข้อแนะนำเพิ่มเติม ซึ่งเป็นพื้นฐานให้ผมพัฒนาต่อยอด แล้วให้ผมปรับปรุงงานใหม่ และท่านนำไปลงเผยแพร่อีกครั้งในวารสารพลเมืองเหนือ

   งานเขียนที่ลงในวารสารพลเมืองเหนือ และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้สร้างแรงบันดาลใจอย่างมหาศาลแก่ผม และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการด้านการเขียนมาถึงทุกวันนี้

   หลังจากนั้นก็มีงานเขียนของผมไปรวมเล่ม พิมพ์ออกมาอีกสามเล่ม ทั้งสามเล่มแม้จะเป็นหนังสือแจกฟรี แต่ก็สร้างความภาคภูมิใจแก่ผมได้ไม่น้อยเช่นกัน เป็นกำลังใจให้ผมเขียนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่งานหลายต่อหลายชิ้นจะเขียนแล้วเก็บไว้มิได้เผยแพร่ที่ไหนก็ตาม

 

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

 ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๑) ที่มาและที่ไป

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๒) ขอเล่าเรื่องตัวเองสักหน่อย

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๓) การอ่านเป็นพื้นฐานที่สำคัญ

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๔) ก้าวแรกและก้าวต่อของการฝึกเขียน

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๕) เวทีชื่นชมผลงาน

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๖) การพัฒนาแบบก้าวกระโดดใน G2K

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๗) การเขียนแนวทางแบบผม

ถอดบทเรียนตัวเองเรื่องการเขียน : (๘) ส่งท้ายบทเรียน

 

หมายเลขบันทึก: 317697เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2009 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ตามอ่านวรรณกรรมรายวัน

ถ้ารวมเล่มเมื่อไหร่บอกด้วยจองไว้ก่อน

อือฮือ..ประสบการณ์เพียบ..มิน่าเป็นฉะนี้เอง..ที่เรื่องเล่าของคุณหนานเกียรติ จึงน่าอ่านมากทั้งสาระและลีลา..( อิ..อิ..เปล่ายกยอนะคะ)..รูปแทรกน้อยไปหน่อย..ยกเว้นเรื่องเกี่ยวกับน้องเฌวาค่ะ...

                 

 

อ้อ!น้องชายเป็นนักเขียน

มิน่า! ตัวแห้งๆ(เขาว่ากัน)

แหะ! แหะ!

นักเขียนต้องหาเวที ที่จะถ่ายทอด ถ้าผลงานได้รับการตีพิมพ์ เราก็แอบยิ้มอยู่ในใจ

เขาบอกว่านักเขียน เสียงดังกว่ากว่านักพูด และดังได้นานกว่า

แม้จะมีคนบอกว่าใส้แห้ง อย่างครู ป.1 เขาแซว

 

นมัสการพระอาจารย์ครับ (พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) [IP: 125.25.196.45])

ตามอ่านวรรณกรรมรายวัน
ถ้ารวมเล่มเมื่อไหร่บอกด้วยจองไว้ก่อน

ขอบพระคุณครับพระอาจารย์
แหะ แหะ คงไม่มีสำนักพิมพ์ไหนพิมพ์ให้ ยกเว้นรวมเล่มเองครับ
รับรองกับพระอาจารย์ครับ ถ้ามีผมจะถวายให้พระอาจารย์เป็นอันดับแรกเลยครับ

 

P สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นาง นงนาท สนธิสุวรรณ

อือฮือ..ประสบการณ์เพียบ..มิน่าเป็นฉะนี้เอง..ที่เรื่องเล่าของคุณหนานเกียรติ จึงน่าอ่านมากทั้งสาระและลีลา..( อิ..อิ..เปล่ายกยอนะคะ)..รูปแทรกน้อยไปหน่อย..ยกเว้นเรื่องเกี่ยวกับน้องเฌวาค่ะ...

ประสบการณ์ดูเหมือนยาวนานครับพี่ใหญ่
แต่จริง ๆ แล้วช่วงที่พัฒนาเป็นช่วงสั้น ๆ เพียงไม่กี่ปีเองครับ
ผมต้ังใจเขียนบทเรียนนี้เพื่อสร้างกำลังใจตน้อง ๆ ที่มีจุดเริ่มต้นคล้าย ๆ ผม

ส่วนเรื่องรูปนั้น จะพยายามปรับปรุงในบันทึกต่อ ๆ ไปครับ

ขอบคุณพี่ใหญ่มากครับที่ติดตามให้กำลังใจเรื่อยมา
นี่แหละครับที่ทำให้ผมฮึกเหิมอยากเขียนอยู่เรื่อย ๆ

 

 

P สวัสดีครับ พี่ ครู ป.1

อ้อ!น้องชายเป็นนักเขียน
มิน่า! ตัวแห้งๆ(เขาว่ากัน)
แหะ! แหะ!

แหะ แหะ พี่ยังไม่ถึงขั้นนักเขียนครับ
เป็นแค่นักอยากเขียนเท่านั้น
แต่เรื่องตัวแห้ง ๆ ตอนนี้ชักไม่แห้งแล้วครับ
น้ำหนักขึ้นมาบานเลย ตอนนั่งทำงานอยู่บ้านเนี่ย...

 

P สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ พรชัย

นักเขียนต้องหาเวที ที่จะถ่ายทอด ถ้าผลงานได้รับการตีพิมพ์ เราก็แอบยิ้มอยู่ในใจ
เขาบอกว่านักเขียน เสียงดังกว่ากว่านักพูด และดังได้นานกว่า
แม้จะมีคนบอกว่าใส้แห้ง อย่างครู ป.1 เขาแซว

เรื่องเวทีเป้นกำลังใจที่สำคัญมากครับ
ตอนอ่านงานตัวเองที่ลงหนังสือพิมพ์
โอ้โฮ...หัวใจมันพองโตมาก ทั้งปิติ ยินดี มีแรงใจขึ้นเยอะเลยครับ
ขอบคุณอาจารย์ที่แวะมาให้กำลังใจครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท