ถอดบทเรียน : บทบาทวิทยากรโรงเรียนแห่งความสุข


เมื่อครูมีความสุข โรงเรียนและเด็กนักเรียนก็มีความสุขไปโดยปริยาย ถัดจากนั้นก็เป็นการประเมินความคาดหวัง ยึดโยงไปสู่สาระทางวิชาการ ผ่านโยงไปสู่การแชร์ประสบการณ์ตรงจากความเป็น “ครูใน (ฤดู) ชั้นเรียน” และ “ครูนอกฤดู” ก่อนจะปิดท้ายด้วยภาพยนตร์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในความเป็นครู และตอกย้ำให้ผู้เรียนได้กล้าคิดที่จะนิยามความเป็นครูที่ดีงามด้วยตนเอง

 

ถอดบทเรียน

บทบาทวิทยากร ใน workshop

“โรงเรียนแห่งความสุข” 

 

 

พนัส  ปรีวาสนา และ จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

------------------------

“...ตั้งแต่โบราณมา มีคนบางคนมีจิตใจที่สงบ

พิจารณาเห็นจิตของตนเอง เข้าถึงความจริง หลุดพ้นจากมายาคติ

เกิดความเป็นอิสระ ประสบความงามอันเป็นทิพย์ เกิดความสุข

อันลึกล้ำ มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด

เรียกว่า “ มีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน” ในตัวเอง

การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตัวเองนี้ มีวิธีการที่ทำให้เกิดขึ้นได้

บุคคลสามารถเรียนรู้หรือฝึกให้เกิดขึ้นได้

มีครูที่สามารถสอนให้คนอื่นสามารถเข้าถึงความจริงได้...

เมื่อครูมีวิธีการและมีผลได้จริง จึงถือว่าเป็นการศึกษาชนิดหนึ่ง

เรียกว่า “จิตตปัญญาศึกษา” หรือเรียกในชื่ออื่นๆอีกมาก

เช่น การศึกษาเพื่อการเรียนรู้,การเรียนรู้เพื่อจิตสำนึกใหม่...”

ประเวศ วะสี

 


 

สองเดือนก่อนหน้านี้ “โครงการโรงเรียนแห่งความสุข : School of happiness”  ที่ทางทีมงานวิทยากรได้รับการติดต่อ ให้ช่วยเป็นผู้นำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งราวครึ่งพัน นักศึกษากลุ่มนี้เป็นนักศึกษาที่เรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ดังนั้นพื้นฐานร่วมของผู้เข้าร่วมเวทีจึงมี “การศึกษา” เป็นบริบทร่วม

ความไม่ชัดเจนของวัตถุประสงค์ของโครงการ หากมองอีกมุมที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ ผู้ออกแบบกระบวนการสามารถออกแบบได้อย่างเสรีและเขียนเป้าหมายไว้ไกลถึงคำใหญ่ๆ ว่า การก้าวไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ “Becoming more fully human”  ในส่วนรายละเอียดการทำ Workshop ภายใน ๑ วันก็ต้องนั่งออกแบบกันอย่างเข้าใจ ทั้งนี้ workshop เป็นเพียงส่วนเล็กๆของกระบวนการเรียนการสอนทั้งหมดที่ผ่านมา ดังนั้นการก้าวไปสู่คำว่า “การพัฒนาสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” จึงดูเหมือนจะคาดหวังมากเกินไปสำหรับเวลาและกระบวนการเล็กๆ

ดังนั้นสิ่งที่ผู้นำกระบวนการเรียนรู้ต้องสร้างให้เกิดขึ้นก็คือ สร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การตกผลึกความคิดผ่านกระบวนการที่ออกแบบไว้ ถือว่าเป็นการรวบยอดความคิด และสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักศึกษา

Conceptual Framwork ของ Workshop ที่ทางทีมงานคิดไว้ 

วิธีคิดเริ่มต้นของ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 

  • โรงเรียนแห่งความสุข  เป็นภาพสะท้อนที่ยืนยันได้ว่าเป็นวิธีคิดของ “ครูเพื่อศิษย์”โดยแท้  เพราะเห็นได้ชัดว่า “ทีมงาน” ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนไม่ “ดูดาย” ต่อการสรรหากระบวนการ  หรือวิธีการใหม่ๆ  หรือวิธีการอันเป็น “เชิงรุก” มาเติมเติมให้กับ “ผู้เรียน” (ลูกศิษย์)  ด้วยหวังว่ากระบวนการทั้งปวงนั้นจะเป็นการ “ติดอาวุธทางปัญญา”  และนำพาไปสู่การสร้างเจตคติที่ดีต่อการก้าวออกไปเป็น “ครู”  (แม่พิมพ์ของชาติ)
  • โรงเรียนแห่งความสุข  เป็นภาพสะท้อนวิธีคิดของ “ทีมงาน” จาก มรภ.เชียงใหม่ที่แจ่มชัดในเรื่ององค์รวมของการเรียนรู้ หรือ “ชั้นเชิงของการผลิตครู” ที่น่าทึ่งไม่ใช่ย่อย  ดังจะเห็นได้จากมี “ยุทธศาสตร์หรือเป้าหมาย”  ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการบ่มเพาะ “ความเป็นครู”  ผ่านการเรียนรู้ที่หลากหลาย  ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  มีการจัดวางกลยุทธโดยสร้างวาทกรรมนำการเรียนรู้ว่า “ความสุข”  (โครงการแนวทางการพัฒนาโรงเรียนแห่งความสุข) คล้ายกับเชื่อและศรัทธาว่า “ความสุข”  จะเป็นกุญแจไขปริศนาของการนำพาไปสู่ความเป็นครูที่ดีได้ โดยไม่ละเลยที่จะผูก “ความสุข” ผ่านความเป็น “คุณธรรม จริยธรรม”  (โครงการ เกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมความเป็นครู)และปิดประเด็นด้วยการจัดมหกรรมทางความคิด  (โครงการการนำความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดมานำเสนอเป็นนิทรรศการ)  หรือจะเรียกว่า “มหกรรมของความสุข”  ก็คงไม่ผิดนัก  และกลยุทธหลังนั้น ยังเป็นการตอกย้ำว่าผู้เรียนมีเวทีของการนำเสนอตัวตนของตนเองเสมอ และผู้เรียนก็มีเวทีสำหรับการแสดง “ความสุข”  ที่เกิดจากการเรียนรู้สู่ความเป็น “ครู”  ด้วยเช่นกัน
  • โรงเรียนแห่งความสุข  เป็นภาพสะท้อนการเรียนการสอนนอกกรอบเล็กๆ ได้เป็นอย่างดีคล้าย “วิชาสุดท้ายที่ไม่ได้เรียนในห้อง เป็นวิชาที่ครูไม่ได้สอน”  เนื่องเพราะแทนที่ผู้สอนจะปิดคอร์สด้วยตนเอง แต่กลับนำพาวิทยากรจากภายนอกมาจัดการเรียนการสอนแบบ “นอกกรอบ” แทน  เป็นการเสริมพลังและเพิ่มทักษะการคิดไปพร้อมๆ กับการเสริมสร้างแรงบันดาลใจอันเป็นโลกทัศน์และชีวิทัศน์เชิงบวกที่ผู้เรียนมีต่อการเรียน การใช้ชีวิตและหมุดหมายของการเป็น “ครู”  ซึ่งนั่นยังแฝงเร้นแนวคิดของการให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตรงผ่านประสบการณ์ของวิทยากรด้วยนั่นเอง

กระบวนการของวิทยากรกระบวนการ

การออกแบบกระบวนการมีทั้งการถ่ายทอดความรู้เชิงประเด็น เกี่ยวกับการพัฒนาสมอง และการสะท้อนตัวเองผ่านประสบการณ์ของตนเอง(Human experience) การพูดคุยถ่ายทอดประสบการณ์ของคุณครูปฏิบัติการ(ที่เราเชิญมาร่วมเวทีแลกเปลี่ยน) ในเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาตลอดจนกระบวนการที่ทำให้นักศึกษาเห็นคุณค่าแห่งตน (Self Esteem)  ภายใต้บรรยากาศของการเรียนรู้แบบกลุ่ม รวมถึงการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของกันและกัน (respecting human dignity) สลายบรรยากาศของวัฒนธรรมเชิงอำนาจระหว่างกันและกัน  ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในเวที เกิดจาก

  • ทีมที่ลงตัว :  ถือเป็นหัวใจหลักของการสร้างความสำเร็จในเวทีของโรงเรียนแห่งความสุข วิทยากรคือ “บทเรียน” ที่หลากรูปแบบ มีศักยภาพหลากหลาย มีความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ในแต่ละด้าน  ถึงจะไม่ยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นความสำเร็จที่แตะต้องสัมผัสได้  ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ผู้เรียนจะรู้สึกได้เลยว่า “เขาเองก็ทำได้” 
  • เติมเต็มกันและกัน :   เป็นการทำงานแบบ “มองตารู้ใจ” ใช้ประสบการณ์ตรงของแต่ละคนเข้าเสริมแรงกันและกันในทุกสถานการณ์  เป็นการเติมเต็มที่ไหลรื่นเป็นธรรมชาติ  อันเป็นผลพวงจากทักษะที่มีในแต่ละคน  และนั่นก็ยังรวมถึงผลพวงของการ “เลือกทีม” และการ “มอบหมายงาน”  ที่เป็นรูปธรรม  ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้หัวหน้าทีมด้วยเหมือนกัน เพราะนั่นคือวิสัยทัศน์ของการ “เลือกคนและใช้คน”
  • สนธิพลังกับภาคี :  ความสำเร็จของกระบวนการ  มีการเสริมแรงด้วยการเปิดเวทีร่วมทางความคิดอย่างลงตัวและเป็นกันเองของทีมวิทยากรกับทีมเจ้าของงาน   ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดในกระบวนงานที่เน้นการมี “ส่วนร่วม” อย่างแจ่มชัด คล้ายการร่วมวางยุทธศาสตร์ เป้าหมายและกลยุทธร่วมกันนั่นเอง  เมื่อทุกคนรู้สึกว่ามี “ส่วนร่วม”  ทุกคนก็ขยับเข้าหางานอย่างมีพลัง ไม่มีใคร “เงียบนิ่ง กอดอก ดูดาย”  กระบวนการทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากตรงนั้น งานทั้งงานจึงไหลรื่นมีชีวิต และนำไปไปสู่ “ความสุข” ของแต่ละภาคฝ่าย

 เวที  workshop "โรงเรียนแห่งความสุข"

การจัดวางลำดับเนื้อหาของการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถือเป็นหัวใจหลักของการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย  โดยครั้งนี้มีการวางลำดับการเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เรียบง่าย หลากรูปแบบและหลากรสชาติ หลากบรรยากาศ แต่มีพลัง  มีจังหวะบีบ จังหวะคลาย และที่สำคัญคือเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ผ่าน “วาทกรรมและสื่อสร้างสรรค์”  ที่วิทยากรได้นำมาประกอบเป็น “บทเรียน”  ดังจะเห็นได้จากการเปิดเวทีด้วยวาทกรรม “ความสุข”  ซึ่งเหมือนการปักธงไว้ชัดเจนว่า “วันนี้คือความสุข”  หรือ “เมื่อครูมีความสุข โรงเรียนและเด็กนักเรียนก็มีความสุข” ไปโดยปริยาย 

ถัดจากนั้นก็เป็นการประเมินความคาดหวัง ยึดโยงไปสู่สาระทางวิชาการ  ผ่านโยงไปสู่การแชร์ประสบการณ์ตรงจากความเป็น “ครูใน (ฤดู) ชั้นเรียน”  และ “ครูนอกฤดู” ก่อนจะปิดท้ายด้วยภาพยนตร์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในความเป็นครู และตอกย้ำให้ผู้เรียนได้กล้าคิดที่จะนิยามความเป็นครูที่ดีงามด้วยตนเอง

 

การประเมินผล 

กระบวนการที่เกิดขึ้นในเวทีแห่งความสุข สามารถประเมินผลเชิงประจักษ์ได้อย่างชัดแจ้งจากพฤติกรรมมีส่วนร่วมของผู้เรียน  ปฏิกิริยาอันหลากหลาย เช่น รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ การแลกเปลี่ยนแนวคิดร่วมกัน  การเขียนภาพและเรื่องเล่า การสะท้อนความคาดหวังและสิ่งที่ได้รับ คือ “ความสุข” ที่ฉายเด่นและปฏิเสธไม่ได้ว่า ห้องประชุมที่ว่านั้นก็เป็น “โรงเรียนแห่งความสุข” ด้วยเช่นกัน

 

ข้อเสนอแนะ 

  • การผลิตครู จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเน้นการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  มีกระบวนการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างการเรียนรู้ในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน
  • การผลิตครู จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสรรค์เวทีให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองในทุกระบบ และวิธีหนึ่งที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือการเรียนรู้ผ่านต้นแบบที่ดี ทั้งจากภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัย
  • การผลิตครู  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างทักษะควบคู่ไปกับการสร้างแรงบันดาลใจ อันเป็นแนวคิดของความเป็น “ศาสตร์และศิลป์”
  • การผลิตครู  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยึดมั่นในกลยุทธของความเป็นไทยที่ร่วมสมัย มีความเป็น “สุ จิ ปุ ลิ”  ที่เป็นรูปธรรม

 


ขอบคุณ :

คณะคุรุศาสตร์ - มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่,ทีมงานเบื้องหลัง,เพื่อนร่วมทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการ เเละ นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพครูทุกท่าน ที่ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามเหล่านี้ิ ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ร่วมกัน

 

บันทึกที่เกี่ยวข้อง ...(อ้างอิงสำหรับการถอดบทเรียนครั้งนี้) :

 

บันทึก โดย จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร 

 

บันทึก โดย  พนัส ปรีวาสนา - แผ่นดิน 

 

บันทึก โดย Wasawat Deemarn 

 

 


หมายเลขบันทึก: 435012เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2011 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

ไม่มีความคิดเห็นใด ๆ สำหรับบันทึกที่ถูกวิทยากร "ถอด" บทเรียนออกมาอย่างหมดจด

ไม่ว่าใครจะจัดสรรงานนี้ แต่ความสุขเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า

ความทุกข์ในใจไม่สามารถทลายความสุขของงานชิ้นนี้ได้เลย

ขอบคุณ และ ขอบคุณมาก ๆ ครับ ;)

 

ผู้ประสานงานโครงการ

ณ มหาวิทยาลัยผลิตครูแห่งเชียงใหม่

๑๑ เมษายน ๒๕๕๔

๒๑.๒๐ น.

    ครูเพื่อศิษย์  คือ ครูที่มีกระบวนทัศน์ใหม่  ครูไม่ได้มี Knowledge มากกว่าศิษย์  เพราะฉะนั้นสิ่งที่ครูทำ ไม่ใช่ "สอน" แต่เป็นการออกแบบ "สร้างกระบวนการเรียนรู้" กับศิษย์

   และเมื่อครูเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับศิษย์เรียนรู้  การพัฒนาทักษะไปสู่ครู และศิษย์ ในศตวรรษที่ 21 (21 st Century skills) ก็จะเกิดขึ้นค่าาาา  ^_^

เข้ามาติดตามอ่านและขอให้กำลังใจครับ  ขอบพระคุณที่นำความรู้มาสู่มวลชน 

แวะมาติดตาม

มาเรียนรู้การถอดบทเรียนค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณทุกท่านครับที่เข้ามาร่วมให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม รวมถึงกำลังใจ

 

บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม "ถอดบทเรียนกลุ่ม" อันเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์โดย Gotoknow ที่ต้องการรวบรวมประเด็นที่มีผลต่อการขับเคลื่อนสังคมด้วยความรู้ สังเคราะห์เเละถอดบทเรียนออกมาเป็นชุดความรู้

ต้องขอบคุณ น้องมะปราง สุนทรี  ที่เป็นผู้ประสานงานอันมีคุณค่านี้ ได้สำเร็จตามความตั้งใจ

ขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องครับ

 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

กระบวนการเรียนรู้แบบนอกกรอบนี้สำคัญมากจริงๆนะคะ การติดกรอบวิธีคิดวิธีทำแบบที่ทำเป็นประจำอาจลดทอนความสุขคนทำงาน(ไม่ว่าจะอาชีพใด)โดยไม่รู้ตัว วิทยากรที่เข้าใจมิติแห่งจิตตปัญญาจะช่วยเปิดโลกทัศน์ มุมมองใหม่ๆ หรือรดน้ำเมล็ดพันธุ์เล็กๆที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีอยู่ในตัวอยู่แล้วให้งอกงาม ผลิบาน

ยอดเยี่ยมทั้งทีมค่ะ

สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณจตุพร

                 

เขียนข้อเสนอแนะได้ถูกใจมากเลย เพราะการศึกษาไทยในปัจจุบันไม่เคยได้หันกลับมามองรากเหง้าของตนเองเลยว่าคืออะไร มีแต่ความฝันว่าฉันอยากจะเป็น...

ขอบคุณที่มีงานดีๆ อย่างนี้มาแบ่งปันนะคะ

ขอแจ้งแก้ไขชื่อโครงการย่อยหน่อยครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ;)...

ความเป็น “คุณธรรม จริยธรรม”  (โครงการ เกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมความเป็นครู) >> ขอแก้ไขเป็น (โครงการครูดี...เป็นได้ง่ายนิดเดียว)

และปิดประเด็นด้วยการจัดมหกรรมทางความคิด  (โครงการการนำความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดมานำเสนอเป็นนิทรรศการ)  >> ขอแก้ไขเป็น (โครงการศึกษาแลกเปลี่ยน บทเรียน บทรู้ การเป็นครูเพื่อศิษย์สู่สังคม)

แก้ไขชื่อ 2 โครงการหลังครับผม ;)...

ขอบคุณมากครับ

เป็นบันทึกที่มีคุณค่า..ในการพัฒนาคน..และเห็นคุณค่าล้นของการจัดการความรู้ครับ น้องเอก

น้องจตุพรครับ

  • เป็นบทสรุปที่สามารถช่วยให้นักพัฒนาคุณภาพ  ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียนนำแนวคิดนี้ไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาโรงเรียนได้เป็นอย่างดี
  • จริงๆอยากให้วิทยากรลงลึกไปถึงห้องเรียน เพื่อช่วยครูพัฒนาห้องเรียนเพื่อให้เป็นห้องเรียนแห่งความสุขได้จะยิ่งดี
  • ขอแสดงความชื่นชม และจะเป็นกำลังใจให้ ครับ
  • ขอบคุณครับ

     สงกรานต์ เล่นน้ำที่ไหนค่ะ

ได้แง่คิดมุมมองดีๆมากครับ และ ขอติดตามงานโดยขอเป้นผู้ศึกษาเรียนรู้กระบวนการพัฒนาเพื่อเป็นแนวทางศึกษา ไปก่อนนะครับ

ขอบคุณครับ

งดงาม  ลื่นไหล ได้ใจ  เต็มความ.....จริงๆ

อ่านอนุทินแล้วกินใจไม่อยากเฉย อย่ากระไรเลยขอมาต่อไว้ที่นี้

(ไม่ได้ anti-social เเต่เห็นรายชื่อ สว.สรรหา บางคนเเล้ว เกิดอาการสงสารเมืองไทย )

"เห็นรายชื่อ สว. ส่อแวว แม่นแล้วหล่าว

คนในเค้าคนในก๊วนล้นคนในสี

ช่างสรรหามาตามโผที่นายชี้

แล้วอย่างนี้จะสอนประชาธิปไตยทำไมกัน"

  • แวะมาชื่นชมผู้กล้าทั้งทีมค่ะ
  • ทำให้นึกถึงเพลงศรัทธาของวงหิน เหล็ก ไฟ และทีมคุณเอก อาจารย์แผ่นดิน และอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ ค่ะ
  • ระลึกถึงเสมอและรอเวลาว่าง ๆ ไปเที่ยวกันค่ะ

เพิ่งเข้ามาอ่านงานแบบ "คู่หู"...
ในยามถอดใจทำ (เทใจให้)  ผลลัพธ์ก็คือความสุข...
ทุกวันนี้ เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรม ผมจะถามทีมงานเสมอว่า "มีความสุขมั๊ย"  ถ้าเขาตอบว่า "มีความสุข"  ผม็จะถามต่อว่า "อะไรล่ะ ที่ทำให้มีความสุข"  เพราะนั่นคือการนำเข้าสู่การค้นหา "กระบวนการของความสุข" ไปในตัว

และนั่นก็คือ สิ่งที่ผมเรียกว่ากระบวนการของการถอดบทเรียนในสไตล์ของผมเอง

 

...ขอบคุณครับ...

ชื่นชมมากๆค่ะ...นับเป็นบทเรียนที่สมควรนำไปต่อยอดขยายผลต่อไปค่ะ..

..ว่างๆเชิญน้องเอกและเพื่อนๆไปให้กำลังใจเยาวชนจิตอาสาที่งานนี้นะคะ

http://gotoknow.org/blog/nongnarts/436503

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท