การพัฒนาหลักสูตรและวิธีเป็นครูโรงเรียน อสม. : ๒.จิตวิญญาณความเป็นครูโรงเรียน อสม.


  ผลลัพธ์ของเวทีและภารกิจเมื่อกลับสู่ฐานปฏิบัติงานในชุมชน

เวทีนี้มีจุดหมายจำเพาะเพื่อขับเคลื่อนงานใน ๓ เรื่อง คือ (๑) เมื่อกลับไปชุมชนอีกครั้ง เครือข่าย อสม.ต้นแบบได้แนวคิดและวิธีการผสมผสานกับประสบการณ์ความสำเร็จของตนเอง ที่สามารถนำกลับไปค้นหา อสม.และครู อสม ได้ตามแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ของเครือข่ายโครงการนี้สัก ๑๐-๒๐ คน (๒) พัฒนาหลักสูตรวิธีเป็นครู อสม ในเครือข่ายโครงการนี้ เพื่อให้กลุ่มครู อสม.สามารถเรียนรู้เนื้อหาให้มีความเชื่อมโยงกับภารกิจที่ต้องการ พร้อมกับได้วิธีบริหารจัดการตนเองเสียใหม่ด้วยวิธีเป็นครู สร้างคนที่เลือกสรรขึ้นมาได้จากชุมชนให้ทำงานอย่างตนเองหรือครูอสม.ต้นแบบได้ซึ่งจะทำให้มีพลังมากขึ้น และ (๓) นำเอาหลักสูตรและโครงการที่ได้ร่วมกันพัฒนามาระยะหนึ่งก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นเนื้อหาการขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียน อสม.เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ไปปรับปรุงใช้ในชุมชน ซึ่งวิธีสอนและสร้างศักยภาพคนเป็น จะช่วยให้สามารถดำเนินการได้ดีขึ้น

  รูปแบบเวทีเป็นเวทีทำงานและประสานเครือข่ายระดับประเทศ

การออกแบบกระบวนการเวที มีลักษณะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ นำเอางานและความคืบหน้ามารายงานเวทีและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากนั้น ก็จะเป็นการพัฒนาศักยภาพ แล้วจึงสังเคราะห์บทเรียนสะท้อนไปสู่การวางแผนเพื่อกลับไปปฏิบัติการในชุมชน สรุปและถอดบทเรียนเวที เสร็จแล้วก็ประชุมปรึกษาหารือเพื่อดำเนินการและประสานงานทางด้านต่างๆกันในระหว่างดำเนินกิจกรรม

  กลุ่มผู้ร่วมเวทีเป็นตัวแบบความสำเร็จจากทั่วประเทศ

กลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้กว่า ๓๐ คนมาจาก ๙ จังหวัดจาก ๔ ภูมิภาคของประเทศ แต่ละจังหวัดมีทีม ๓- ๖ คนประกอบไปด้วย ๒ กลุ่ม คือ กลุ่ม อสม.ต้นแบบของชุมชนในพื้นที่ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็น อสม.ดีเด่นสาขาต่างๆของประเทศ และอีกกลุ่มเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งเป็นนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการและหมออนามัยที่ดีเด่นด้วยเช่นกัน

การนำเอาความคืบหน้าของงานโดยเฉพาะการนำเอาแผนที่ยุทธศาสตร์ไปใช้ทำงานมาแบ่งปันกันในเวทีนั้นได้เตรียมข้อมูลและนำเสนอโดยหมออนามัยและเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นทีมสนับสนุนทางวิชาการให้กับอสม.และชุมชน

  มุ่งผลลัพธ์ที่การออกไปใช้หลักสูตรแล้วจะพัฒนาวิธีการเป็นครูและแผนการสอน

กำหนดการเดิมของเวทีนั้น เมื่อนำเสนอข้อมูลความคืบหน้าของการทำงานตามแผนที่ยุทธศาสตร์แล้ว ก็จะเรียนรู้วิธีทำแผนที่ผลลัพธ์และเรียนรู้วิธีเป็นครูเพื่อไปค้นหาคนและนำเอาหลักสูตรไปใช้ ทั้งสองเรื่องนี้เป็นงานใหญ่และต้องแปรไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผลจริง จึงไม่ใช่วิชาที่จะสามารถเรียนรู้กันได้ด้วยการสอนความรู้ความจำ

แผนที่ผลลัพธ์นั้นต้องสามารถนำไปออกแบบกระบวนการถอดบทเรียนได้บ้างโดยเฉพาะการกลับไปเป็นครู อสม.และการนำเอาหลักสูตรไปสร้างคนว่าทำแล้วควรจะได้ผลออกมาอย่างไร ส่วนวิธีเป็นครูก็ต้องรู้ศาสตร์และศิลป์ของการสอนคนและพาคนเรียนรู้ ผมฟังเสียงเวทีดูแล้ว โดยมากก็อยากได้วิธีปฏิบัติการพูด ถ่ายทอด และนำเสนอประสบการณ์ให้ได้ผลต่อกลุ่มคนในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การพูดและฟัง การใช้ไมโครโฟน การใช้สื่อ และการวางแผนการสอนเพื่อนำเอาหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นบ้างแล้วไปใช้ จากนั้นก็ทดลองหาประสบการณ์จากการปฏิบัติและเรียนรู้จากบทบาทสมมติ

กิจกรรมแรกซึ่งเป็นการบอกเล่าและแบ่งปันข้อมูลความคืบหน้าของโครงการ ดำเนินการอย่างสบายๆแต่ก็ใช้เวลาของครึ่งวันแรกไปหมดแล้ว ในวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันอาทิตย์ก็จะต้องเลิกภายในเที่ยงวันหรือไม่เกินบ่ายโมง เนื่องจากกลุ่มผู้มาจากหลายจังหวัดในภาคใต้จะต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯและเดินทางกลับโดยเครื่องบินให้ทันภายในก่อน ๖ โมงเย็น ผมจึงเหลือเวลาจัดกระบวนการให้แก่กลุ่มได้เพียงประมาณ ๒๐ ชั่วโมงและคร่อม ๓ วัน ครึ่งวันของวันศุกร์ วันเสาร์เต็มวัน และวันอาทิตย์อีกครึ่งวัน มีเวลากลางคืนสำรองไว้สำหรับการทำงานด้วย แต่ช่วงนี้มีการถ่ายทอดฟุตบอลโลกเสียอีก ก็เลยเผื่อใจว่าไม่ควรจัดกิจกรรมกลางคืนให้กับกลุ่ม

  ขอจัดวางใหม่ : ความเป็นกระบวนการเรียนรู้ จิตวิญญาณความเป็นครูอสม. และโรงเรียนอสม.

ผมขอระดมความคิดและพยายามทำให้เวทีเข้าใจหลักคิดของแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ รวมทั้งการออกแบบกระบวนการแผนที่ประเมินผลลัพธ์ จากนั้น ก็ทำแผนผังยุทธศาสตร์การเดินและการบริหารจัดการเวทีด้วยกันใน ๒ วันให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ แล้วก็นำเสนอให้ทุกคนในเวทีได้ทราบ ก่อนที่จะหารือกับทั้งเวทีและทีมดำเนินการเพื่อวางวิธีคิดและจัดกระบวนการเสียใหม่

จำเพาะการวางแผนที่ผลลัพธ์เพื่อเป็นแนวตามกำกับและถอดบทเรียน กับการเรียนรู้วิธีวางแผนการสอนพร้อมกับฝึกประสบการณ์ต่างๆนั้น นอกจากในระยะเวลาที่มีวันสองวันอย่างนี้จะไม่เพียงพอแล้ว ก็เชื่อว่าจะทำให้สับสนและเสียความมั่นใจในตนเองของอสม.ต้นแบบไปเปล่าๆ พลังการปฏิบัติและความเป็นนายตนเองของอสม.นั้นอยู่ที่ความรู้ในการปฏิบัติ หากยิ่งดึงกระบวนการให้มาสู่การทำงานบนเอกสารและวิธีการแบบเจ้าหน้าที่กับงานที่มีแบบฟอร์มเป็นทางการมากเท่าใด ก็จะเป็นการกดทับศักยภาพของอสม.ลงไปอย่างไม่เจตนา ให้สูญเสียพลังความเป็นคนทำงานด้วยจิตวิญญาณอาสาสมัครและความเป็นพลเมืองผู้มีจิตสาธารณะลงไปมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็จะหดกลับเข้าหาการทำงานเอกสารมากขึ้น แทนที่จะเดินออกไปนอกสำนักงานและปรับบทบาทไปสู่การเป็นผู้สนับสนุนทางวิชาการให้แก่เครือข่ายอสม.ต้นแบบและกลุ่มครูอสม.ที่จะสร้างขึ้น ผมเองนั้นชอบและถนัดแน่นอนเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวิชาของผมอย่างเข้ากระดูก แต่ผมต้องการให้อสม.กับเจ้าหน้าที่เข้มแข็งขึ้นจากสิ่งที่เขาเป็น ผมยินดีเรียนรู้ที่จะปรับกระบวนการให้เป็นฝ่ายสนับสนุนเชิงวิชาการที่เชื่อมโยงไปกับบทเรียนภาคปฏิบัติของเวที

ยิ่งไปกว่านั้น การวางแผนการสอนและเทคนิควิธีการต่างๆนั้น เป็นกิจกรรมเพียงเสี้ยวหนึ่งของวิธีทำบทบาทหน้าที่เป็นครูเท่านั้น ครูอสม.และคนสร้างคนด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูหากเรียนรู้และทำสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะทำหน้าที่ได้ดีขึ้น แต่การทำสิ่งเหล่านี้ได้ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเป็นครู วิธีการเป็นครูอาจไม่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้เลยก็ได้

ในมุมมองผมนั้น การที่อสม.ต้นแบบสามารถนำชุมชนระดับต่างๆเรียนรู้ให้ทำเรื่องสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนงานสาธารณสุขมูลฐานให้สำเร็จอย่างมากมายในระยะที่ผ่านมากระทั่งได้รับการเลือกสรรเป็นอสม.ดีเด่นสาขาต่างๆนั้น อสม.ต้นแบบและเจ้าหน้าที่ดีเด่นที่มาจากจังหวัดต่างๆย่อมมีวิชาความเป็นครูที่พาผู้คนเรียนรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงจากของจริงมามากมาย มีภารกิจความเป็นครูโดยจิตวิญญาณและเนื้อหางานในวิถีชีวิตอยู่แล้ว ต้องเรียนรู้เพื่อต่อยอดจากฐานชีวิตและประสบการณ์ดั้งเดิมของตนเอง

หากจะไม่ปรับแต่งแต่ใช้วิชาและความรู้เชิงทฤษฎีภายนอกอย่างเดียวเป็นตัวตั้ง ก็จะเหมือนกับอสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องเริ่มต้นเรียนรู้วิธีการเป็นครูเป็นศูนย์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือจะเป็นวิธีเรียนรู้ที่ทำให้อสม.กับคนทำงานในพื้นที่สูญเสียพลังความเชื่อมั่นในการพึ่งการปฏิบัติของตนพร้อมกับขึ้นต่อความรู้ภายนอกอย่างเสียสมดุล ซึ่งในระยะยาวก็จะทำให้งานชุมชนไม่สนองตอบต่อบริบทของพื้นที่ ก่อเกิดช่องว่าง ความแปลกแยก และสร้างความขัดแย้งในวิถีปฏิบัติต่อความเป็นส่วนรวมของภาคส่วนและกลุ่มผู้อยู่บนพื้นที่เดียวกันไปในที่สุด

  ออกแบบแผนที่ผลลัพธ์เวทีและวางแผนการเรียนการสอนให้เป็นกระบวนการ

ผมขอออกแบบกระบวนการและทำความตกลงเพื่อทำงานในเวทีอย่างเข้มข้นให้บรรลุภารกิจที่ต้องการด้วยกันให้ดีที่สุด หลายคนอยากให้ทีมผู้ดำเนินโครงการมอบงานให้ชัดเจนว่าจะต้องกลับไปทำอะไรและขอให้เป็นกิจกรรมในโครงการเดิม ไม่ต้องการมีงานใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนผมเองนั้น ผู้เข้าร่วมเวทีก็มึนงงสับสนเนื่องจากเมื่อผมขอระดมความคิดเพื่อปรับกระบวนการเสียใหม่แล้วก็ไม่ทราบว่าจะร่วมสะท้อนความคิดให้อย่างไรได้นอกเสียจากบอกแก่ผมว่า ผมจะสอนและพาเขาทำอย่างไรก็ได้ขอให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหัวข้อประชุมคือ การพัฒนาหลักสูตรและวิธีการเป็นครู โดยผมมีเวลาประมาณ ๒๐ กว่าชั่วโมง 

เราเลิกเวทีในวันแรกเกือบ ๑ ทุ่ม หลังรับประทานอาหารมื้อเย็นด้วยกันแล้ว ผมกลับไปนอนแผ่หลังให้หายเมื่อยล้าพร้อมกับหลับตานอนทำงานความคิดในหัว กะว่าสัก ๓ ทุ่มก็จะลุกขึ้นมาทำงานต่อ ออกแบบกระบวนการและวางแผนจัดกิจกรรมเสียใหม่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของผู้เข้าอบรมกลุ่มนี้ซึ่งล้วนเป็นอสม.ต้นแบบระดับชาติและเป็นตำรามีชีวิตอย่างดี

ผมมารู้สึกตัวอีกที เหลือบดูนาฬิกาก็ปาเข้าไปตี ๓ ผมนั่งวิเคราะห์วัตถุประสงค์ ศึกษาเอกสาร ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผู้เข้าอบรมและความเป็นมาเป็นรายบุคคล หลายคนผมเคยเห็นชื่อและผลงานจากสื่อ จากนั้นก็วางกรอบกระบวนการเชิงยุทธศาสตร์ซ้อนการเรียนรู้แผนที่ยุทธศาสตร์และแผนที่ผลลัพธ์บนกระบวนการเรียนรู้วิธีเป็นครู การพัฒนาหลักสูตรจากประสบการณ์ของอสม.และชุมชน และการกลับไปขับเคลื่อนนวัตกรรมโรงเรียนอสม. กระทั่งถึงเช้า ก็เขียนลงเป็นกรอบสรุปเป็นกระดาษฟลิปชาร์ตแผ่นเดียว

ผมจะใช้แผนที่ยุทธศาสตร์การเดินกิจกรรมบนเวทีนี้อย่างเป็นจังหวะและมีเหตุผล กำกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานต่างๆที่จะนำกลับไปใช้จริงๆและใช้เป็นแนวพาทุกคนทำงานนับแต่วันแรกจนเสร็จสิ้นเวที.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 คลิ๊กลงไปบนชื่อเรื่อง  เพื่ออ่านเนื้อหาทั้งหมด ๑๒ ตอน   ท่านกำลังอ่าน ตอนที่ ๒  

ตอนที่ ๑    ขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียน อสม.               ตอนที่ ๒   จิตวิญญาณความเป็นครูโรงเรียน อสม.
ตอนที่ ๓    ความเป็นครูโรงเรียน อสม.                        ตอนที่ ๔   ร่วมกันสร้างกรอบตัวแบบค้นหาครูโรงเรียน อสม.
ตอนที่ ๕    มิติทักษะความเป็นครูของอสม                   ตอนที่ ๖   วิธีค้นหาครูขับเคลื่อนโรงเรียนอสม.ของชุมชน
ตอนที่ ๗    ฐานชีวิตของครูโรงเรียนอสม.                     ตอนที่ ๘   เงื่อนไขสังคมของครูโรงเรียนอสม.
ตอนที่ ๙    การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ครูโรงเรียนอสม.   ตอนที่ ๑๐ เครื่องมือ สื่อ เทคโนโลยี สิ่งสนับสนุนครูโรงเรียนอสม.
ตอนที่ ๑๑  การนำเสนอแผนการสอนและสาธิตกระบวนการเรียนรู้ของครูโรงเรียนอสม. 
ตอนที่ ๑๒  เพิ่มลูกเล่นและใส่ศิลปะเพื่อเรียนรู้การนำเสนอให้สร้างสรรค์.

หมายเลขบันทึก: 368719เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2010 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อดีตหมอชาวบ้านในชุมชนมีจิตวิญาณสูงที่เห็นมาไม่เน้นผลประโยชน์ตอบแทนเป็นตัวเงินทองอะไร เน้นรักษาโรคภัยเป็นใหญ่ มีแต่ความเป็นญาติ มีเมตตาเต็มใจช่วยเหลือผู้คน มาดูแลคนไข้ถึงที่บ้าน เสร็จภารกิจเจ้าของบ้านก็เลี้ยงข้าวปลาอาหาร เป็นไปด้วยมิตรภาพอันดีงาม ด้วยการปฏิบัติเช่นนี้หมอชาวบ้านจึงเป็นที่เคารพนับถือแก่คนในชุมชนดุจดังพระสงฆ์องค์เจ้าก็ไม่ปาน

เคยได้ยินชาวบ้านและคนในชุมชน แสดงทรรศนะว่าอยากได้สถานพยาบาลดีๆและมีมากๆ(แสดงว่าคนเจ็บป่วยมีมาก-ไม่น่าจะดี) อันที่จริงน่าจะปรารถนาให้สุขาภาพตัวดีไร้โรคาพาธ มาก่อนสิ่งอื่น

เจริญพร

พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน ญาติมิตร และคนในชุมชนที่ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกันของทุกคน เป็นหมอและพยาบาลที่ดูแลกันได้จนถึงจิตวิญญาณเลยนะครับ 

เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็จะหดกลับเข้าหาการทำงานเอกสารมากขึ้น แทนที่จะเดินออกไปนอกสำนักงานและปรับบทบาทไปสู่การเป็นผู้สนับสนุนทางวิชาการให้แก่เครือข่ายอสม.

....เห็นด้วยกับอาจารย์มากครับ

  • สวัสดีครับคุณหมอสีอิฐครับ
  • ขอให้ได้ความบันดาลใจและเป็นกำลังสร้างสรรค์ในทุกๆแห่งได้อยู่เสมอครับ
  • มีความสุขครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท