การพัฒนาหลักสูตรและวิธีเป็นครูโรงเรียน อสม : ๔.ร่วมกันสร้างกรอบตัวแบบค้นหาครูโรงเรียน อสม.


 

ผมจัดกระบวนการให้กลุ่มอสม.ต้นแบบกับกลุ่มเจ้าหน้าที่และนักวิชาการสาธารณสุขที่มีประสบการณ์เป็นตัวอย่างของประเทศจาก ๙ จังหวัดในภูมิภาคต่างๆของประเทศที่เข้ามาร่วมเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้พูดคุย สนทนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสะท้อนทรรศนะอย่างรอบด้าน เพื่อนั่งทบทวนให้ลึกซึ้งและพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับครูอสม.ทั้งเพื่อถอดบทเรียนตนเองและสร้างกรอบแนวคิดสำหรับนำกลับไปค้นหาคนทำงานในพื้นที่

   คำถาม   : จากประสบการณ์ในทุกด้าน ทั้งจากการทำบทบาทหน้าที่เป็นอสม.ต้องสร้างคน สร้างเครือข่าย พัฒนาทักษะชีวิตชาวบ้านและให้การเรียนรู้แก่สังคม รวมทั้งการได้รับการสอน การเรียนรู้จากผู้อื่นนั้น ทุกท่านเห็นว่า ครู อสม.ที่พึงประสงค์ในสถานการณ์และเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ต้องเป็นผู้มีลักษณะและองค์ประกอบต่างๆอย่างไร จึงจะสามารถค้นหาและสร้างความเป็นครู อสม. ขับเคลื่อนโรงเรียนอสม.ดังที่ต้องการได้ ?

  เครื่องมือและวิธีการ   : ผมเกลาวัตถุประสงค์และงานของเครือข่ายโครงการที่กลุ่มอสม.และเครือข่ายศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชนทำกันอยู่แล้วนำมาทำเป็นประเด็นคำถาม ใช้วิธีวาดรูปให้เห็นความเป็นระบบคิดที่เชื่อมโยงกันแผ่ออกไปรอบด้านบนประเด็นหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกในการคิดและสื่อสารให้ผู้ร่วมเวทีทั้งหมดเห็นประเด็นความสนใจร่วมกันและสามารถมีส่วนร่วมในการเทกองประสบการณ์ช่วยกันได้ง่ายขึ้น

  กระบวนการและรูปแบบ   : นั่งสนทนาและอภิปราย ต่อความคิด ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของตน ทุกคนพูดและอภิปรายได้อย่างอิสระ เมื่อต้องการมีส่วนร่วมก็แสดงความต้องการพูดอภิปราย และสามารถพูดได้หลายครั้งโดยเมื่อพูดแล้วก็ให้ผู้อื่นได้พูดอภิปรายก่อนแล้วจึงกลับมาพูดอภิปรายอีกครั้ง ผมและเวทีใช้เวลาในขั้นตอนนี้อย่างช้าๆจากประมาณ ๑๐ โมงเช้าของวันศุกร์จนถึงกว่าบ่าย ๒ โมง

 วิทยากรกระบวนการและการบันทึก   :  ผมเป็นคนเดินประเด็นคำถามและคอยสนับสนุนให้เวทีได้คิดและมีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็น พูดอภิปราย และเล่าประสบการณ์ของตนเอง ตัวผมเองนั้นใช้บอร์ดขาตั้งและกระดาษฟลิปชาร์ตเขียนสิ่งที่เวทีพูดคุยให้ค่อยๆสานขึ้นเป็นประเด็นเหมือนกับเป็นการใช้แผนที่ความคิดสังเคราะห์ประเด็นเนื้อหาต่างๆขึ้นจากเวที ซึ่งมุ่งให้มีบทบาทการบริหารจัดการความเป็นกลุ่มความรู้ในตัวคนและจัดการความรู้ในแง่มุมต่างๆที่สำคัญ คือ.... 

  • ทำประเด็นของเวทีให้ทุกคนมองเห็นเพื่อได้เครื่องมือในการสานความคิด[๑]
  • ทำให้สิ่งที่คิดเป็นข้อมูลและสื่อกลางจัดวางปฏิสัมพันธ์ให้ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเวทีพ้นจากการปะทะตัวคนโดยตรง[๒]
  • ทำให้ความคิดและสิ่งที่สะท้อนบทเรียนอันหลากหลายของทุกคน ให้สามารถเห็นความเชื่อมโยงและเป็นระบบ สรุปและสร้างกรอบแนวคิดขึ้นได้จากการผสมผสานบทเรียนและแนวคิดของคนในเวที[๓]

กระบวนการดังกล่าว จึงช่วยดึงประสบการณ์ชีวิตของทุกคนออกมาเรียบเรียงเพื่อนำกลับไปใช้ทำงาน ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดกระบวนการส่งผ่านและถ่ายทอดบทเรียนให้สิ่งต่างๆสะท้อนกลับเข้าไปเป็นความงอกเงยทางประสบการณ์และการเรียนรู้ของทุกคน จาก Tacit Knowledge ซึ่งอสม.และเจ้าหน้าที่สะสมมาจากการทำงานชุมชนในสังคมไทยอย่างช่ำชองสู่ความรู้ส่วนรวม Explicit Knowledge และจาก Tacit Knowledge ของส่วนรวมเข้าไปเป็น Tacit Knowledge ของแต่ละคนซึ่งสอดคล้องกลมกลืนและหลากหลายไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ตอบคำถามและสร้างความถ่องแท้แก่ตนเองทุกคนว่า ครูอสม.ที่จะสามารถขับเคลื่อนโรงเรียนอสม.ที่ต้องการนั้นเป็นอย่างไร  สามารถค้นหาและพัฒนาวิธีการเป็นครูให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

นอกจากผมเองซึ่งเคลื่อนประเด็นการพูดคุย ถอดบทเรียน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันของเวทีแล้ว ก็มีทีมช่วยทำหน้าที่ร่วมสังเกตและตามบันทึกด้วยคอมพิวเตอร์โน็ตบุ๊คอีก ๓ คน

  กรอบตัวแบบครูโรงเรียน อสม. 

กรอบแนวคิดเพื่อกลับไปค้นหาคน รวมทั้งแนวคิดวิธีการเป็นครู อสม ที่สามารถดำเนินการโรงเรียน อสม ให้เป็นนวัตกรรม ขับเคลื่อนเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคได้นั้น มีแนวเพื่อนำกลับไปพิจารณาค้นหาคนครอบคลุมประเด็นต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สอดคล้องต่อการสร้างกลุ่มคนที่ค้นหาได้ให้เป็นครู อสม และเป็นเครือข่ายร่วมดำเนินการโรงเรียน อสม ในชุมชนเป้าหมายต่างๆ มีความครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญหลายด้าน คือ .....

  • ความรู้และทักษะสำหรับพัฒนาความเป็นครูของ อสม
  • วิธีการค้นหา
  • การดำเนินชีวิตและฐานชีวิต
  • เงื่อนไขสังคม
  • กระบวนการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้
  • เครื่องมือ สื่อ สิ่งสนับสนุน

ทั้งเวทีได้ศึกษาเรียนรู้องค์ประกอบการทำบทบาทหน้าที่ความเป็นครูอสม.และเห็นด้วยตนเองจากประสบการณ์ทั้งของตนเองและผู้อื่นได้อย่างดีในการสะท้อนแนวคิดและจิตวิญญาณความเป็นอสม.ไปสู่การทำงานด้วยจิตวิญญาณอาสาสมัคร

เมื่อเกิดประเด็นที่สามารถเสริมความรู้ผมก็ถือเอาประเด็นดังกล่าวดึงหัวข้อการอภิปรายตามหลักวิชาสมัยใหม่เสริมให้กับอสม. กระบวนการเวทีจึงเป็นทั้งการตกผลึกประสบการณ์ รวมรวบบทเรียนและสร้างแนวคิดที่ทุกคนสามารถเข้าใจ นำกลับไปสื่อสารและถ่ายทอดได้ด้วยตนเอง พร้อมกับได้เรียนรู้วิธีการเป็นครูตามที่ต้องการทุกประการ

เป็นทั้งเวทีทำงานและเรียนรู้ให้เกิดทักษะที่เหมาะสมเพียงพอต่อการกลับไปทำงานให้คืบหน้าทีละก้าวตามฐานความเข้มแข็งที่มีอยู่ในประสบการณ์ของทุกคน.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

  หมายเหตุและเชิงอรรถเสริมความรู้   :

[๑] การจัดเวทีประชาคมเรียนรู้จากการทำงานและเวทีสนทนาปรึกษาหารือเพื่อสร้างพลังแห่งสติและนำปัญหาต่างๆมาระดมความคิดหาทางออกร่วมกันด้วยวิธีการที่ใช้ปัญญา ความมีเหตุมีผล ความมีสติและรับฟังกัน เดินไปด้วยกันด้วยฉันทามติที่ดีที่สุดในสถานการณ์หนึ่งๆนั้น นัยสำคัญของการสานความคิด ต้องทำความเข้าใจด้วยแนวคิดทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge) และทฤษฎีว่าด้วยการเข้าถึงความจริง การเข้าไปมีประสบการณ์ การเข้าไปรู้ (Theory of Knowing and Learning) ความเห็นแจ้ง (Enligthenment) ในอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งในทรรศนะผู้เขียนนั้น อยากเสนอแนะวิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตาและวิธีโยนิโสมนสิการ กับแนวทฤษฎีแนวการประกอบสร้างความรู้ (Constructivism) (๑) วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตาและวิธีโยนิโสมนสิการ วางอยู่บนพื้นฐานการอธิบายความเป็นจริงของสรรพสิ่งด้วยชุดของเหตุปัจจัยและเงื่อนไขที่ถึงพร้อมของชุดความเป็นจริงนั้นๆ ไม่ได้มุ่งเพียงสิ่งที่ปรากฏระดับผิวหน้า อีกทั้งไม่ได้มีมิติเดียวและมิใช่ความจริงเชิงเดี่ยว ต้องเรียนรู้ที่จะเห็นให้ทั่ว ทั้งความรอบด้านและความลึกซึ้งแยบคายให้มากที่สุด ด้วยวิธีคิดอย่างนี้ ก็จะทำให้เราเห็นได้ว่าเหตุผลและความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าเป็นการสานความรู้และถักทอประสบการณ์จากความหลากหลายของผู้คน ก็อยู่ตรงที่มุ่งสนองตอบต่อเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ดังนั้น ก็จะเป็นการให้ความสำคัญต่อชุมชนและปัจเจกทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับวิธีคิดของคนทำงานบนเวทีชุมชนที่มักถือหลักว่าความคิดของทุกคนมีคุณค่าและความสำคัญนั่นเอง (๒) วิธีโยนิโสมนสิการ วางอยู่บนพื้นฐานที่ว่า การศึกษาเรียนรู้ให้ได้ความลึกซึ้งแยบคายนั้น ต้องอาศัยทั้งองค์ประกอบของปัจจัยแวดล้อมที่เป็นกัลยาณมิตร และกระบวนการทางสติปัญญาภายในตัวเราที่ต้องฝึกหัดและศึกษาอบรมอยู่ตลอดไป การเข้าถึงความรู้ชุดหนึ่งๆจึงต้องอาศัยทั้งองค์ประกอบภายนอกและกระบวนการภายใน ความรู้จึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกถ่ายทอดอยู่ภายนอกมิติเดียว ทว่า ต้องผสมผสานเข้ากับกระบวนการทำให้แยบคายในกระบวนคิดเชิงระบบด้วย ในแนวทฤษฎีการเรียนรู้แบบประกอบสร้างก็เช่นกัน วางอยู่บนทรรศนะที่ว่า ความรู้ความเข้าใจนั้น เป็นกระบวนการชีวิตที่ไม่ใช่สิ่งที่สังคมสะสมไว้ในโลกภายนอกและสิ่งที่สื่อสารเรียนรู้กันดังที่เห็นภายนอกมิติเดียวอย่างเป็นภาพนิ่งตัดขวางตายตัว(Snap shot)เท่านั้น เช่น บนบอร์ดและการบันทึก ทว่า เป็นสิ่งที่ผู้เรียนและปัจเจกใส่ใจ สร้างคุณค่าและความหมายขึ้นจำเพาะตนขึ้นภายในตนเอง ดังนั้น ความรู้ที่ถ่ายทอดและการบันทึกดังที่ปรากฏภายนอกนั้น จึงทำหน้าที่เพียงเป็นสภาพแวดล้อมและเครื่องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทุกคนในสถานการณ์หนึ่งๆเท่านั้น ไม่ใช่มีบทบาทเป็นความรู้ขั้นสุดท้าย แต่เป็นองค์ประกอบของกระบวนการชีวิต เมื่อรวมกลุ่มสร้างความเป็นส่วนรวมด้วยกันอีกก็ต้องทำให้มีขึ้นอีกซึ่งอาจจะเหมือนเดิมและเปลี่ยนแปลงไปก็ได้  วิธีคิดดังกล่าวนี้มีความสำคัญมากต่อการเป็นวิทยากรกระบวนการและการมุ่งยืนบันทึกเพื่อโยนประเด็นให้กลุ่มคนสานและต่อความคิดกัน ด้วยทรรศนะเชิงทฤษฎีในแนวทางนี้ สิ่งที่เห็นบนบอร์ดและการบันทึกจึงมิใช่ความรู้ทั้งหมดดังที่คนทั่วไปมักกังวล แต่จะเป็นเพียงอดีตพัฒนาการของการคิดและความรู้ และวิธีบริหารจัดการกระบวนการสร้างความรู้เพื่อนำออกไปสร้างความเป็นจริงของปัจเจก ชุมชน และสังคม ซึ่งจะมีความจำเพาะตนและทุกคนต้องเข้าถึงด้วยการปฏิบัติของตนเท่านั้น การนำไปปฏิบัติและแก้ปัญหาได้จริงในชีวิต ทำให้สามารถพ้นทุกข์และก่อเกิดสุขภาวะอันปราณีตมากขึ้นเป็นลำดับได้ จัดว่าเป็นความจริงและการเรียนรู้ให้รู้จริงที่แนวทรรศนะนี้ให้ความสำคัญ 

[๒] การใช้สื่อบันทึกประเด็น ส่งเสริมการระดมความคิดและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในลักษณะนี้ วางอยู่บนทรรศนะความเชื่อต่ออัตวิสัยของความรู้และการสร้างทฤษฎีที่ว่า ในปรากฏการณ์ทางสังคมนั้น (Social Phoenimena) ล้วนมีสังคมและมนุษย์เป็นองค์ประกอบอันสำคัญอยู่อย่างแน่นอน เราจึงไม่สามารถทำให้ความเป็นมนุษย์และองค์ประกอบทางสังคมของมนุษย์หลุดไปอย่างเป็นเอกเทศจากความรู้ที่สร้างขึ้นได้อย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ความรู้ ความคิด และทฤษฎีต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้นจึงมีความเป็นอัตวิสัย มีตัวตน มีความติดยึด เป็นความจริงสมมติที่มีบริบท มีจุดยืนและโลกทรรศน์ของผู้สร้างผสมผสานอยู่ด้วยเสมอ จึงอาจเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งและเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการทางปัญญาสำหรับคิดและสร้างความเป็นส่วนรวมด้วยวิธีการแห่งสัมมาสติและวิธีการทางปัญญา การมีสื่อกลางและตัวกรอง ให้สิ่งที่พูดและนำเสนอกลายเป็นของส่วนรวมและหลุดจากความเป็นตัวคนให้มากที่สุดจำเพาะเงื่อนไขแวดล้อมหนึ่งๆและยุคสมัยหนึ่งๆ จึงเป็นหลักคิดสำคัญ และเป็นวิธีจัดการความรู้เพื่อส่งผ่านความคิดความเข้าใจอันซาบซึ้งของผู้คนที่แตกต่างกัน จากแหล่งหนึ่งให้ไปสู่อีกแหล่งหนึ่ง ให้ได้ผลดีกว่าการติดกรอบและปะทะความแตกต่างที่ผิวเผิน วิถีทรรศนะดังกล่าวนี้ จัดว่าเป็นทรรศนะหนึ่งที่มีความเหมาะสมสำหรับทำงานเชิงปฏิบัติการสังคมบนความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งมุ่งสู่ความเป็นจริงไปที่การปรากฏผลบนการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นบั้นปลาย ดังนั้น ความรู้และการใช้เหตุผลจึงอยู่ในฐานะการเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถนำไปสู่จุดหมายร่วมกันดังกล่าวได้เท่านั้น

[๓] การเรียนรู้ความเชื่อมโยง เป็นการเรียนรู้จากกระบวนการ ไม่สามารถเห็นและสัมผัสได้อย่างซาบซึ้งจากถ้อยคำ ตัวอักษร และการบันทึก แต่จะเข้าถึงและสัมผัสได้ผ่านการร่วมเหตุการณ์ การจัดการกลุ่มและเวทีเพื่อให้เกิดมิติดังกล่าว จึงต้องมีวิธีแสดงลำดับพัฒนาการ เห็นการเติบโต งอกงาม ปฏิสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงที่ค่อยๆซับซ้อนขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมเวทีสามารถสร้างบทสรุปเป็นความเข้าใจบนฐานประสบการณ์ตนเองได้ และนำไปใช้กำกับการคิดและการปฏิบัติได้ดีกว่าเดิม

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 คลิ๊กลงไปบนชื่อเรื่อง  เพื่ออ่านเนื้อหาทั้งหมด ๑๒ ตอน   ท่านกำลังอ่าน ตอนที่ ๔  

ตอนที่ ๑    ขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียน อสม.               ตอนที่ ๒   จิตวิญญาณความเป็นครูโรงเรียน อสม.
ตอนที่ ๓    ความเป็นครูโรงเรียน อสม.                        ตอนที่ ๔   ร่วมกันสร้างกรอบตัวแบบค้นหาครูโรงเรียน อสม.
ตอนที่ ๕    มิติทักษะความเป็นครูของอสม                   ตอนที่ ๖   วิธีค้นหาครูขับเคลื่อนโรงเรียนอสม.ของชุมชน
ตอนที่ ๗    ฐานชีวิตของครูโรงเรียนอสม.                     ตอนที่ ๘   เงื่อนไขสังคมของครูโรงเรียนอสม.
ตอนที่ ๙    การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ครูโรงเรียนอสม.   ตอนที่ ๑๐ เครื่องมือ สื่อ เทคโนโลยี สิ่งสนับสนุนครูโรงเรียนอสม.
ตอนที่ ๑๑  การนำเสนอแผนการสอนและสาธิตกระบวนการเรียนรู้ของครูโรงเรียนอสม. 
ตอนที่ ๑๒  เพิ่มลูกเล่นและใส่ศิลปะเพื่อเรียนรู้การนำเสนอให้สร้างสรรค์.

หมายเลขบันทึก: 369334เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2010 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท