การพัฒนาหลักสูตรและวิธีเป็นครูโรงเรียน อสม : ๓. ความเป็นครูโรงเรียน อสม.


ผมชวนกลุ่ม อสม.ต้นแบบและเจ้าหน้าที่หลายสาขาในระบบสุขภาพซึ่งมีบทบาทในระดับชุมชนให้ร่วมกันมองออกจากประสบการณ์ตนเองเพื่อให้เกิดความมั่นใจบางสิ่งในตนเองว่า ก้าวเข้ามาเป็น อสม.และทำสิ่งต่างๆจนประสบความสำเร็จมากมายอย่างเป็นตัวของตัวเอง กระทั่งกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มคนตัวจริงระดับปฏิบัติที่อยู่ใกล้ชุมชนและครอบครัว ที่ทำให้ภาคประชาชนและความมีส่วนร่วมของชุมชนระดับต่างๆ มีส่วนร่วมอย่างสำคัญต่อการพัฒนาสังคมไทยในระยะที่ผ่านมาเช่นนี้แล้ว จะเพียงเรียนทักษะวิธีใช้และพูดไมโครโฟนเพื่อยืนสอน รวมทั้งเขียนฟลิปชาร์ตอย่างผมเพื่อเป็นครู อสม.ไปทำไม

สิ่งต่างๆพิสูจน์ให้เห็นได้อยู่แล้วว่าทุกคนทำเป็นและทำงานได้อย่างดีอยู่แล้ว มาทำความลึกซึ้งให้เห็นจิตวิญญาณความเป็นครูอยู่ในตนเองก่อนดีกว่า จากนั้น จะปฏิบัติโดยเลือกใช้ปัจจัยและองค์ประกอบภายนอก ทั้งวิทยาการและเทคโนโลยี ตลอดจนหลักวิชาอันสลับซับซ้อนของโลกภายนอกอย่างไรก็ได้

เป็นครูจากข้างใน เห็นตนเองเพื่อใช้ตนเองให้เป็นเครื่องมืออุทิศตนเพื่อความเป็นครูอสม.ให้ดีที่สุดก่อน เทคนิคภายนอกเพื่อเสริมพลังการปฏิบัตินั้นมีอยู่มากมายเป็นพะเรอเกวียน เอาไว้เป็นภาคขยายในภายหลัง จะเก็บเกี่ยวระหว่างการทำงานจริงแบบครูพักลักจำหรืออาจจะเสริมกันไปในเวทีหลังๆก็ได้ สิ่งที่อสม.ทำอยู่นั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้ ฐานปฏิบัติการในชุมชนเป็นโรงเรียน และภารกิจของอสม.ก็ทำความเป็นครูอยู่โดยการปฏิบัติ งอกเงยออกจากวิธีคิดดังกล่าวนี้ความรู้อย่างอื่นก็จะเป็นตัวเสริมให้เดินออกไปจากความเป็นตัวของตัวเอง

ผมสอนให้ผู้เข้าอบรมได้รู้ทฤษฎีและวิชาครูเอาไว้สำหรับรู้จักไปประสานความร่วมมือ และแสวงหาการสนับสนุนจากทรัพยากรวิชาการที่มีในชุมชนของตนด้วยว่า การจัดระบบวิธีคิดอย่างที่ผมกำลังจัดกระบวนการให้ในเวทีนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมผู้เรียนในทุกด้าน ทั้งฐานประสบการณ์ ความสนใจ การสร้างความคุ้นเคย และการทราบที่มาที่ไปของสิ่งที่กำลังจะก้าวเข้าไปมีประสบการณ์ ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลป์แห่งวิชาครูกับการสอนที่เขาเรียกว่า ขั้นตอนการเตรียมพื้นฐานเพื่อนำเข้าสู่การเรียน หรือ Pre - Entery Learning Behavior ซึ่งมีแนวคิดและทฤษฎีสำหรับใส่ศิลปะการสอนลงไปได้มากมาย

     องค์ประกอบแห่งความเป็นครูอสม.และครูโรงเรียนอสม. ที่ควรค้นพบหรือสร้างให้เกิดขึ้นในตัวคนก่อน     

จุดหมายต่อหน้าที่การงานแห่งชีวิต

  • เป็นการงานแห่งชีวิตที่มิใช่ทำเพียงหน้าที่และตำแหน่ง ทว่า ต้องอุทิศตนต่อความมีอุดมการณ์
  • จุดหมายมิใช่ผลตอบแทนจำเพาะหน้า ทว่า เพื่อเป็นความดีงาม ความเป็นบุญกุศล 
  • สะท้อนจิตวิญญาณแห่งความเป็น อสม. กอปรด้วยความมีจิตสาธารณะ คุณธรรมเพื่อความเป็นส่วนรวม
  • ขันติ สันติ อดทน ทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม ขัดเกลาและพัฒนาตนเอง ดังวิถีทรรศนะของท่านพุทธทาสภิกขุ ครูแห่งจิตวิญญาณของสังคมไทยท่านหนึ่ง

การปฏิบัติและวางตน

  • ถือพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ ประกอบด้วย ความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ต่อประชาชน ชุมชน และผู้คนทั้งหลายในฐานะผู้เรียน ทั้งคนไทยและนานาชาติ
  • ความเป็นครู อสม. มีแหล่งทำงานในชุมชน ซึ่งประชาชนและคนในชุมชนต่างๆมีความแตกต่างหลากหลาย จึงต้องเปิดกว้างอย่างไม่จำกัดต่อผู้อื่นด้วยความรักและความปรารถนาให้ชุมชนและสังคมส่วนรวมมีความสุข สุขภาพดี ชุมชนมีสุขภาวะ

ความรู้และทักษะเพื่อการปฏิบัติอุทิศตนเป็นครู อสม และครูโรงเรียน อสม. ที่สำคัญ

  • ความรู้และภูมิปัญญาในการปฏิบัติ รู้ เข้าใจ ซาบซึ้งคุณค่าและความหมาย และทำได้จริง
  • มุ่งประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ที่ต้องการความจำเป็นในการพัฒนาตนเองก่อน และมุ่งวิถีชุมชน เรียนรู้และสร้างสุขภาวะที่ดำเนินไปกับชุมชนอย่างพอเพียงและเหมาะสม สมดุลกับการพัฒนาเพื่อบรรลุจุดหมายของปัจเจก
  • พัฒนาตนเองให้มีเทคนิคและศิลปะการสอน ศาสตร์และศิลป์ในการช่วยให้คนได้เรียนรู้เพื่อบรรลุจุดหมายแห่งชีวิตที่ต้องการตามศักยภาพให้ดีที่สุด
  • ใช้เทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆอย่างรอบด้าน ผสมผสาน 
  • รักวิถีแห่งปัญญา
  • ดำเนินชีวิตเป็นครูและเป็นสื่อ ไม่ต้องกังวลกับรูปแบบการสอนและวิธีสอนเชิงเทคนิคที่ผิวเผิน เป็นทางการ เพราะครู อสม.นั้นเป็นครูด้วยวิถีชีวิต ร่วมทุกข์สุขกับผู้อื่นในชุมชนและชีวิตจริง สิ่งที่อสม.ทำหรือสิ่งที่ปฏิบัตินั้นมีพลังการเป็นสื่อและแหล่งให้การเรียนรู้อยู่ในตนเอง พลังอำนาจและความเชื่อมั่นอยู่ที่กระบวนการปฏิบัติ หากทำให้เป็นกระบวนการที่ไกลจากฐานการปฏิบัติ อสม.จะกลายเป็นผู้ขาดความรู้ความเข้าใจและสูญเสียจิตวิญญาณความเป็นผู้นำปฏิบัติในชุมชน

จากความมัวซัว รอคอยจดตามคำบอกและเกิดอาการผิดหวังเมื่อผมไม่มีความรู้และทฤษฎีขรึมขลังสำแดงให้ดู หลายคนในเวทีก็ดูแววตาเป็นประกายและเห็นพลังสะท้อนการมีความหวังจากภายในตนเองขึ้นมาโดยพลัน.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 คลิ๊กลงไปบนชื่อเรื่อง  เพื่ออ่านเนื้อหาทั้งหมด ๑๒ ตอน   ท่านกำลังอ่าน ตอนที่ ๓  

ตอนที่ ๑    ขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียน อสม.               ตอนที่ ๒   จิตวิญญาณความเป็นครูโรงเรียน อสม.
ตอนที่ ๓    ความเป็นครูโรงเรียน อสม.                        ตอนที่ ๔   ร่วมกันสร้างกรอบตัวแบบค้นหาครูโรงเรียน อสม.
ตอนที่ ๕    มิติทักษะความเป็นครูของอสม                   ตอนที่ ๖   วิธีค้นหาครูขับเคลื่อนโรงเรียนอสม.ของชุมชน
ตอนที่ ๗    ฐานชีวิตของครูโรงเรียนอสม.                     ตอนที่ ๘   เงื่อนไขสังคมของครูโรงเรียนอสม.
ตอนที่ ๙    การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ครูโรงเรียนอสม.   ตอนที่ ๑๐ เครื่องมือ สื่อ เทคโนโลยี สิ่งสนับสนุนครูโรงเรียนอสม.
ตอนที่ ๑๑  การนำเสนอแผนการสอนและสาธิตกระบวนการเรียนรู้ของครูโรงเรียนอสม. 
ตอนที่ ๑๒  เพิ่มลูกเล่นและใส่ศิลปะเพื่อเรียนรู้การนำเสนอให้สร้างสรรค์.

หมายเลขบันทึก: 368733เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2010 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

แวะมาติดตามกิจกรรมดี ๆ

เป็นแนวคิดที่ยอดเยี่ยมมากค่ะ

กำลังคิดจะทำในพื้นที่เช่นกัน

คงได้มีโอกาศขอคำชี้แนะ

สวัสดีครับคุณหมออนามัยครับ

  • ดีใจมากเลยละครับ บทเรียนและเรื่องราวในบันทึกนี้ พระเอกนางเอกคือ อสม.และหมออนามัยเลยทีเดียวเชียวครับ
  • แนวคิดอย่างที่เห็นจากเวทีนี้ ผมเองก็ว่าเป็นแนวคิดที่จะเปิดไปสู่บทบาทอีกด้านหนึ่งของ อสม.และหมออนามัยมาก ที่สำคัญมากเลยนะครับ
  • มีงานวิจัยและสรุปบทเรียนเกี่ยวกับ อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายชิ้น ทั้งงานของหมอโกมาตร งานของกลุ่มศาลายาฟอรั่มของกลุ่มนักวิชาการในมหิดลในยุคที่ศึกษาบทบาทของการทำงานแบบอาสาสมัครและงานแนวประชาสังคม รายงานผลสอดคล้องกันว่า งานให้การศึกษาเรียนรู้และสื่อสารสุขภาพในชุมชนนั้น อสม.กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำได้ผลดีที่สุด รวมทั้งเป็นบทบาทที่เด่นที่สุด สอดคล้องและกลมกลืนกับการดำเนินชีวิตมากที่สุดครับ
  • แต่ความสนใจในแนวทางอย่างนี้ก็เป็นเพียงความเคลื่อนไหวในแนวแนวทางหนึ่งน่ะครับ ที่ตากก็มีเครือข่ายที่ทำงานแนวนี้เก่งๆเยอะนะครับ นำบทเรียนในพื้นที่ดีๆมาแบ่งปันกันบ่อยๆในเวทีนี้นะครับ อาจารย์กลม อาจารย์แดง อาจารย์กุ้ง อาจารย์เมย์ อาจารย์ต้น อาจารย์อ๋า อาจารย์จี๊ด และหลายท่านคงยินดีมากเลยนะครับ ถือเป็นเวทีกันเองของคนทำงานด้วยกัน นำข้อมูลและบทเรียนมาแบ่งปันกันนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท