กฎหมายลิขสิทธิ์ : ข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ต ที่มีการดาวน์โหลดฟรี เราจะสามารถนำข้อมูลมาแปลและจัดเรียงใหม่ได้หรือไม่ ?


กรณีศึกษา :

ข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตมีการระบุไว้ในเว็บว่า ดาวน์โหลดฟรี เราจะสามารถนำข้อมูลมาแปลและจัดเรียงใหม่ได้หรือไม่

 

ประเด็นนี้ รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ทัศนะไว้ว่า

ถ้อยคำที่ว่า "ดาวน์โหลดฟรี" นั้น หมายถึงแต่เพียงว่า เราสามารถได้ข้อมูลนั้นมาศึกษา (อ่าน) ได้โดยไม่ต้องเสียเงินค่าตอบแทน การนำข้อมูลนั้นมาแปลและจัดเรียงใหม่จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

ต้องพิจารณาเริ่มตั้งแต่ว่า ข้อมูลนั้นมีลักษณะเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์หรือไม่ ถ้าข้อมูลนั้นไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลมาแปลและจัดเรียงใหม่ย่อม ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

แต่ถ้าข้อมูลนั้นมีการสร้างสรรค์ อันเป็นลักษณะของงานอันมีลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลมาแปลและจัดเรียงใหม่โดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมเป็น การละเมิดลิขสิทธิ์

ถ้อยคำแต่เพียงว่า "ดาวน์โหลดฟรี" ยังไม่อาจตีความได้ว่า เจ้าของข้อมูลได้สละลิขสิทธิ์เป็นการทั่วไป นอกจากนี้ แม้การนำมาแปลและเรียบเรียงนั้นจะมีการระบุแหล่งที่มาก็ยังถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเป็นการกระทบสิทธิของเจ้าของสิทธิ์ในการใช้สิทธิ์แสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น

ข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตที่ให้ดาวน์โหลดฟรี ที่นักวิชาการมักพบได้บ่อย ๆ ได้แก่

  • ไฟล์เอกสารภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษ นามสกุล DOC (Microsoft Word)
  • ไฟล์เอกสารภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษ นามสกุล PDF (Adobe Acrobat)
  • ไฟล์การนำเสนองาน นามสกุล PPT (Microsoft Power Point)
  • ไฟล์โปรแกรมต่าง ๆ เช่น นามสกุล EXE  (ผ่านการ Compile จากภาษาคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ)
  • เป็นต้น

ท่านสามารถนำไปใช้อ่าน หรือ ศึกษาได้ แต่คงไม่สามารถนำไปแปล แปลง ปรับแก้ เป็นของตนเองได้ อันเนื่องจากไฟล์เขามีเจ้าของลิขสิทธิ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอยู่แล้ว

หากต้องการจริง ๆ ควรติดต่อโดยตรงกับเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อขออนุญาตเป็นครั้ง ๆ ไป ครับ

กฎหมายเขาว่ากันอย่างนี้ครับ :)

นักวิชาการผู้มีจรรยาบรรณเพียงพอ ควรมีความซื่อสัตย์ตั้งแต่แรกเริ่ม ครับ

..................................................................................................................................... 

บันทึกที่เกี่ยวข้อง

ภายในสมุดบันทึก ชื่อ "เทคโนโลยีการศึกษา..เท่าหางอึ่ง"

บันทึกของบล็อกเกอร์ท่านอื่น

 

....................................................................................................................................... 

แหล่งอ้างอิง

มานิตย์ จุมปา.  เขียนผลงานวิชาการอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537.  http://www.thnic.co.th/docs/copyright-law.pdf (12 มกราคม 2552).

 

หมายเลขบันทึก: 234826เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2009 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • ตามมาเก็บรายละเอียดอีกครั้งค่ะ
  • ต้องไปหาหนังสือของ อาจารย์มานิตย์ จุมปา  มาอ่านบ้างแล้วค่ะ
  • ขอบคุณนะคะอาจารย์
  • มีความสุขทุกๆวันค่ะ  ^_^

ขอบคุณมากครับ อาจารย์ครับ ได้ความรู้เพื่อป้องกันการทำผิดพลาดนะครับ ส่วนเอกสารที่ สามารถ download มาฟรีนั้น ผมคิดว่า หากจะนำมาใช้ก็ควร อ้างอิง เหมือนงานวิจัยในบทที่เรา review นะครับอย่างนี้ไม่น่าจะผิด ส่วนที่ผิดก็คือ ลอกมาเลยเสมือนเป็นความคิดตัวเอง ลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า โจรกรรมทางวิชาการ  (Plagiarism) อ่านเพิ่มเติมที่ "การโจรกรรมทางวรรณกรรม" (Plagiarism) เป็นจรรยาบรรณของนักวิชาการที่ต้องพึงระวัง

อ.ดร.ธวัชชัย ได้เขียนเรื่องราวกรณีที่คล้ายกันนี้ที่

 

 

ส่วนผมเองก็คงต้องพิจารณาบันทึกตัวเองครับ เพราะบางบันทึกมีเพลงที่นำ code เพลงมาประกอบบันทึกอยู่บ้าง..สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่มากครับ

 

สวัสดีครับ น้องคุณครู เทียนน้อย :)

หนังสือของอาจารย์มานิตย์ จุมปา มีที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ครับ หรือร้านหนังสือใหญ่ ๆ หน่อยครับ :)

ไม่แพง แต่ได้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่คนที่มีอาชีพยุ่ง ๆ ด้านวิชาการ ควรทราบครับ

ขอบคุณนะครับ เข้ามาให้กำลังใจทุกบันทึกเลย :)

สวัสดีครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร :)

การเปิดให้ "ดาวน์โหลดฟรี !" ขึ้นอยู่กับเจตนาของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยครับ คุณเอก ...

ผมเชื่อว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่ต้องการเผยแพร่ความคิดของตนเองออกไป เพื่อยังประโยชน์แก่สาธารณชน และในวงการวิชาชีพนั้น ๆ

แต่มีเอกสารหลายชิ้นที่เปิดดาวน์โหลดฟรี แต่เจ้าของจะเขียนจำกัดสิทธิ์การใช้เอาไว้ด้วยครับ เราต้องอ่านดี ๆ โดยเฉพาะงานของคนต่างประเทศ ค่อนข้างจะเคร่งเครียดเรื่องนี้มากพอสมควรครับ

ดังนั้น หากมีความหวาดระแวงถึงความไม่แน่ใจในลิขสิทธิ์ของงาน ควรขออนุญาตโดยตรงจะดีที่สุดครับ

แต่ในกรณีนี้ คือ หากดาวน์โหลดแล้วนำไปปรับหรือแก้ไขงาน แบบนี้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทันทีครับ

ส่วนเรื่อง โจรกรรมทางวิชาการ  (Plagiarism) ... เคยได้อ่านบันทึกใน Gotoknow มาบ้างครับผม และมีกรณีศึกษา คือ เพื่อนของผมได้ด้วยใช่ไหมครับ :)

ก็คิดจะค้นคว้าเรื่องนี้อยู่เหมือนกันครับ ... เห็นตัวอย่างไม่ดีมาเยอะ

มหาวิทยาลัยท้องถิ่นไม่ได้มีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่า อยู่ที่นโยบายและการเห็นความสำคัญของผู้บริหารเป็นปัจจัยหนึ่งด้วยครับ

ทำให้ผลงานวิชาการไม่เป็นที่ยอมรับ (แม้แต่ผมยังไม่อยากจะยอมรับงานที่มีการคัดลอกพวกนี้เลย โดยเฉพาะแค่เอกสารในบทที่ 2)

บันทึกของผมหลายบันทึก ก็ต้องสำรองข้อมูลไว้ล่วงหน้าเหมือนกันครับ เพราะคิดว่า เจตนาเราดีแค่ไหน หากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่เห็นด้วย ก็ถือว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นกันครับ

เรื่องนี้ เราคงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ Plagiarism กันนะครับ

ประเด็นที่หาเรื่องลงไว้ในบันทึก คงทำให้เกิดการตื่นตัวกันมากขึ้น ในหลาย ๆ กรณี นะครับ

ขอบคุณมากครับ :)

มาอ่านเช้านี้อีกครั้ง..

และมาขอบคุณอีกครั้งผม

ทำให้เราตระหนักกันมากขึ้น เรื่อง การละเมิดลิขสิทธิ์ คำเตือนที่ว่า "ต้องอ่านดูดีๆ" นั้นใช่เลยครับ เจตนาของผู้เผยแพร่อาจมีข้อจำกัดบางอย่าง หรือหมายเหตุไว้ ตรงนั้นควรพิจารณา

ผมอยู่ในแวดวงวิชาการมาพอสมควร งานของผมหลายชิ้นมากที่ถูกนำไปเสนอในที่อื่น บางครั้งก็มีการอ้างอิงถึง บางครั้งก็ไม่มี ...ในกรณีที่สมอ้างว่าเสมือนเป็นบุคคลที่เขียน ยังรู้สึกตะขวิดตะขวงใจเล็กน้อย แต่ในส่วนตัวก็รับได้นะครับ ในความเป็นจริงไม่ควรทำอย่างยิ่งและก็มีผลทางกฏหมายหากจะเอาผิด ผมก็เห็นว่าเจตนาของผู็นำเสนอเองก็ไม่ได้ทำเพื่ออะไร ก็เพื่อการพัฒนาสังคมทั้งนั้น เพียงแต่ว่า การได้มาและนำออก ไม่ค่อยถูกต้องเท่านั้นเอง

และมาเรื่องเพลงประกอบบันทึก ทาง Oknation ก็ได้เตือนมาบ้างแล้ว gotoknow ก็ได้เตือนทางบันทึกก็คงให้ทุกท่านที่เป็นผู้เขียนได้เป็นแนวทางการปฏิบัติ เพื่อป้องกันความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ขอบคุณครับ :)

 

สวัสดีตอนเช้าครับ...

สวัสดีครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร :)

ผู้ที่ทำงานด้านวิชาการก็คาดหวังว่า งานของตนสามารถช่วยเหลือ จุดประกายให้กับสังคม จึงค่อยได้คิดถึงการละเมิดหรือไม่ละเมิดเท่าไหร่ครับ โดยเฉพาะนักวิชาการชาวไทย

แต่ในขณะที่เมืองนอกเมืองนานี่ ไม่ได้เลยครับ ฟ้องอย่างเดียว

ในภาวะโลกที่แคบลงด้วยเทคโนโลยีต้องพึงระมัดระวังอย่างหนัก

พร้อมสร้างจิตสำนึกให้กับพวกเราทุกคนที่ยุ่ง ๆ อยู่กับงานเขียนต่าง ๆ งานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ครับ

เราแค่อยากได้ "การให้เกียรติ" กันเท่านั้นน่ะครับ แต่ส่วนใหญ่เวลาทำวิจัย วิทยานิพนธ์ ปริญญานิพนธ์ ก็ลอกของเราไป โดยไม่คิดถึงเจ้าของผลงานกันเลย แบบนี้เสียความรู้สึกกันครับ ถึงแม้เราจะไม่อยากจะว่าอะไรก็ตามครับ

Plagiarism ... มีโทษร้ายแรงในวงการมหาวิทยาลัยนะครับ

จับได้ว่าคัดลอก ... ถ้าเป็นอาจารย์มีโอกาสถูกออก ถ้าเป็นนักศึกษาบัณฑิตศึกษา ริบปริญญาคืน

แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบโทษเหล่านี้ ก็ไม่ทราบนะครับ

ด้วยความไม่จริงจังของคนบริหารมหาวิทยาลัย และครูบาอาจารย์เรานั่นแหละครับ

ขอบคุณครับ :)

เปิดเพลง ในเว็บของโรงเรียน บางครั้งก็เปิด วีดีโอ ออนไลน์ เช่น หนังการ์ตูน เป็นเว็บของโรงเรียนโดยเฉพาะครับ ไม่แสวงหากำไรใดๆทั้งสิ้นครับ ไม่ทราบว่ากฎหมายมีข้อยกเว้นรึเปล่าครับ

ขอบคุณมากค่ะ

แล้วถ้าหนูว่างจะมาอ่านต่อค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท