มัทนา
มัทนา (พฤกษาพงษ์) เกษตระทัต

10 กลยุทธในการดูแลผู้สูงอายุที่มีกลุ่มอาการสมองเสื่อม


  1. พยายามอธิบายใช้เหตุผล...อาจไม่ได้ผล เวลาเราเห็นคนที่ทำอะไรไม่มีเหตุผลเรามักจะพยายามเรียกเค้ามาคุย มาอธิบายไล่เรียงตรรกะให้เค้าคิดได้ แต่ในคนไข้ dementia ที่เป็นหนักๆนั้นเถียงไป อธิบายไปก็ไม่มีประโยชน์ พูดประโยคสั้นๆให้้ได้ใจความ อยู่กับปัจจุบันนั้นดีที่สุด ไม่ต้องต่อความยาวสาวความยืด

  2. ไม่ต้องไปดึงเค้าให้กลับมาอยู่ในโลกแห่งความจริงเสมอไป เช่น เค้าอาจจะลืมไปว่าแม่เค้าเสียชีวิตไปแล้ว การที่เราไปบอกเค้าว่าแม่คุณตายไปแล้ว อาจทำให้เค้าจำความรู้สึกสูญเสีย เสียใจขึ้นมาได้ หรือ การที่เค้าบอกว่าอยากกลับบ้าน แล้วคุณไปบอกว่า ก็นี่แหละบ้าน อยู่บ้านอยู่แล้วจะไปไหน ก็อาจทำให้เค้าอึดอีด สับสน อารมณ์ไม่ดีได้เช่นกัน ทางที่ดีคือให้ถามต่อ เช่น ให้เค้าเล่าว่าแม่เป็นคนยังไง จำอะไรเกี่ยวกับแม่ได้บ้าง หรือว่าบ้านที่ว่านั้นเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน มีต้นไม้อะไร หรือ มีกี่ชั้นก็ว่าไป (คุณยายของผู้เขียนเองก่อนเสียชีวิตก็หลงๆลืมๆ อยู่บ้านแต่บอกว่าจะกลับบ้าน ให้พากลับบ้าน พอถามๆคุยๆต่อ ถึงได้รู้ว่า บ้าน = บ้านหลังเก่าที่เคยอยู่่ บ้านใหม่นี่จำไม่ได้ว่าเป็นบ้านตัวเอง ก็เข็นรถพาไปวนสูดอากาศเล่นแล้วก็กลับมาที่บ้านใหม่นี่แหละ...ได้ผลค่ะ กลับมาบ้านแล้ว ลืมแล้วว่าอยากไปบ้านเก่า ต้องใจเย็นๆค่ะ แล้วก็ไม่ต้องเถียงกลับ)

  3. ไม่มีใครเป็นผู้ดูแลที่สมบูรณ์แบบ คุณมีสิทธิที่จะมีความรู้สึกต่างๆนาๆเกิดขึ้น เป็นธรรมดาที่คุณจะรู้สึกอึดอัด หงุดหงิด หรือ โกรธ ให้หัดที่จะให้อภัยคนที่คุณรักรวมทั้งตัวคุณเองด้วย ต้องรู้ตัวให้ทันว่าตัวเองคิดอะไรหรือรู้สึกอย่างไร มีสติไม่ปรุงแต่งอารมณ์เพิ่ม รับรู้แล้วก็เมตตาตัวเอง ให้อภัยตัวเอง การหัดให้อภัยนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากถึงมากที่สุดค่ะ

  4. ไม่ต้องพูดตรงไปตรงมาเป๊ะๆก็ได้  เช่น คุณบอกเค้าว่าจะพาไปกินข้าวเที่ยง แต่หลังทานข้าว"บังเอิญ"แวะพาเค้าไปหาหมอ แทนที่จะบอกเค้าแต่เช้าว่าวันนี้จะพาไปหาหมอเป็นต้น (บอกได้ถ้าคนไข้ไม่เครียด แต่ถ้าเค้าไม่อยากหาหมอก็ใช้วิธีนี้เอา) หรือหมอเอง ในบางครั้งก็บอกคนไข้ว่ายา anti-depressant คือยาช่วยความจำเป็นต้น

  5. ตกลงสัญญาอะไรไว้ ไม่เวิร์คหรอก ถ้าคุณขอเค้าให้สัญญาว่าอย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้อีก หรือ อย่าลืมทำนั่นทำนี่นะ....ไม่มีทางค่ะ เดี๋ยวเค้าก็ลืม สำหรับคนไข้ stage แรกๆนั้นเขียนเป็น post-it แปะเตือนไว้อาจได้ผล แต่เมื่ออาการรุนแรงขึ้นแล้วนั้น อย่าไปหวังอย่าไปขอให้เค้าสัญญาเลยค่ะ ให้เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมหรือของใช้รอบๆตัวดีกว่า เช่น แทนที่จะบอกเค้าว่าอย่าลืมปิดหม้อต้มน้ำร้อนนะ หรืออย่าต้มน้ำทั้งไว้นะเดี๋ยวเหือดหมดแล้วจะไหม้ ก็ให้ซื้อหม้อไฟฟ้าที่มันปิดอัตโนมัติมาใช้แทนไปเลย

  6. หมอก็ต้องเรียนรู้จากคุณ คุณต้องบอกหมอว่าคุณสังเกตเห็นพฤติกรรมอะไรที่บ้านบ้างที่คุณคิดว่าสำคัญ เช่น คืนก่อนวันมาหาหมอ คนไข้นอนไม่หลับกระสับกระส่ายทั้งคืน หมอไม่มีทางรู้ดีเท่าคนที่ดูแลอยู่ตลอด หมอจะช่วยคุณได้ต่อเมื่อคุณช่วยให้ข้อมูลหมอ แล้วก็ให้เล่าให้หมอฟังแบบครบถ้วน ไม่ใช่เล่าแต่เรื่องพฤติกรรมแย่ๆเพราะคุณกำลังโกรธผู้ป่วยอยู่ ถ้ามีเรื่องดีๆเกิดขึ้นก็ให้เล่าด้วย ถือเป็นการช่วยให้ข้อมูลหมอวิเคราะห์ด้วย ช่วยตัวเองให้มองอะไรบวกๆด้วย

  7. คุณทำเองหมดไม่ได้หรอก มันไม่ผิดที่จะให้คนช่วย หาคนช่วยซะก่อนที่คุณจะไม่ไหวขึ้นมาจริงๆ เวลามีคนหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ก็รับไว้ ทำรายการ (list) ไว้ว่ามีงานไหนให้คนช่วยได้บ้าง เช่น ทำอาหารมาส่งให้ที่บ้าน ออกไปซื้อยา ช่วยทำงานบ้าน (เจาะจงไปเลยเช่น รดน้ำต้นไม้ ไปซื้อกับข้าว) หรือ การมาอยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วยเป็นครั้งคราว คุณจะได้ไปทำอย่างอื่น ถ้าหน้าที่ที่ให้ช่วยมันชัด แยกย่อยๆ คนช่วยก็อยากช่วยมากขึ้นเรื่อยๆ โปรดอย่ารอจนคุณไม่ไหวแล้วต้องมีคนช่วยจริงๆค่อยหา แบบนี้ไม่ดีค่ะ มันสายไป...ให้เริ่มค่อยๆแบ่งงาน ใคร offer มาก็รับเลย เริ่มจากหน้าที่เล็กๆน้อยๆให้ถูกนิสัยถูกจริตแต่ละคนไป

  8. ประเมินสถานการณ์ว่าจะช่วยหรือปล่อยให้เค้าทำอะไรเองนั้นไม่หมูเลย  มันง่ายมากที่เราจะทำให้อะไรให้เค้าแทนที่จะให้เค้าพยายามทำเอง แต่ถ้าเราทำให้เค้าตลอดเวลา เค้าจะสูญเสียความสามารถและทักษะต่างๆในการดูแลตัวเองไปเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราไปคะยั้นคะยอมากๆให้เค้าพยายามทำในสิ่งๆนึงมากไปจนเค้าอารมณ์ไม่ดี มันก็ไม่ได้ทำให้เค้าคงทักษะนั้นๆไว้ได้ซักหน่อย ต้องหาจังหวะดีๆ เราเพียงแต่ต้องจำไว้ว่าเราต้องหาสมดุล ทำเองบ้างให้เค้าทำบ้างสลับกันไป แล้วก็จำไว้ว่าแต่ละวันก็ไม่เหมือนกัน วันนี้เค้าอารมณ์ไม่ดีแต่พรุ่งนี้เค้าอารมณ์ดีก็มีให้เห็นบ่อยๆค่ะ แต่โดยหลักๆแล้วคือพยายามมองในสิ่งที่เค้ายังเหลืออยู่ไม่ใช่สิ่งที่หายไป เค้าทำอะไรได้ให้เค้าทำ ถ้าเค้าอารมณ์ไม่ดีก็หยุด ไว้ลองใหม่วันหลัง ลองหลายๆทีไม่ได้ผลก็ค่อยพอ ไปเน้นกิจกรรมอื่นแทน วันหลังมาลองใหม่ (dementia/Alzheimer's นี่แปลกมากค่ะ บางคนพูดไม่รู้เรื่อง แต่ร้องเพลงได้ บางคนเดินไม่ได้ทานข้าวเองไม่ได้ แต่ยังเล่นเปียโนได้)

  9. บอก...อย่าถาม  เช่น เย็นนี้อยากกินอะไร ถ้าผู้ป่วยมีอาการหนักไม่สามารถเลือกใช้คำได้ถูกแล้วจะยิ่งทำให้เค้าสับสน ยิ่งถ้าเค้าตอบไม่ได้เค้าจะยิ่งอึดอัดที่ตัวเองเป็นแบบนี้ ให้บอกไปเลยว่า มากินข้าวกัน ชวนให้เค้าทานอาหารให้ได้เยอะๆ

  10. ถ้าอยู่ดีๆผู้ป่วยกลับมาเป็นคนเดิม พูดจารู้เรื่อง ให้ดีใจ ไม่ใช่ไปสงสัยว่า เอ หรือที่ผ่านมาแกล้งเวอร์ทำเป็นป่วย เรียกร้องความสนใจ ให้เข้าใจว่ามันเข้าๆออกๆได้จริงๆ เป็นโรคที่หมอเองก็ยังไม่เข้าใจเต็มที่เหมือนกัน แต่ถึงจะพูดจารู้เรื่อง (นานๆที) ไม่นานก็จะกลับไปมีอาการอีกค่ะ มันเข้าๆออกๆจริงๆ

แปลและเขียนเพิ่มเติมจาก: Ten real-life strategies for dementia caregiving


บันทึกต่างๆที่เกี่ยวข้อง

หมายเลขบันทึก: 201086เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2008 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 02:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มาอ่านและลงชื่อไว้ครับ ถ้าฝึก สติปัฏฐาน 4  
ก็น่าจะช่วยทำให้ไม่หลง(ลืม) ในตอนแก่ชราได้นะครับ แต่ ขันธ์ 5 (สัญญา สังขาร ฯ ไม่เที่ยง ตามหลักไตรลักษณ์ นะครับ) วกมาเรื่องศาสนาอีกและ

มัทก็เคยหวังเช่นนั้นค่ะ ถามอ.พิชัยแล้วด้วย อ.ตอบว่า

การฝึกเจริญสติ หมายถึงฝึกฝนให้เกิดการ"รับ" และ การ"รู้" ให้ถูกตามความเป็นจริง ไม่วิปริตไป จนรู้เห็น"ธรรมตามความเป็นจริง" เรียกว่าเกิดปัญญารู้แจ้ง

แต่...มิได้หมายว่าจะช่วย ให้สภาพกายหรือรูปนั้นไม่เสื่อม เพราะทุกสรรพสิ่ง(รูปและนาม) ย่อมมีสภาพเสื่อมไป(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เป็นธรรมดา

ผู้ เจริญสติ เมื่อแก่เฒ่าลง มีสภาพร่างกายเสื่อมลงตามธรรมดาโลก แต่ก็มีสภาพจิตที่ดี คือ รู้ทันอาการที่เป็นไปนั้น อย่างปล่อยวาง ไม่ยึดติดหรือยึดติดน้อยลง ขึ้นอยู่กับว่าสภาพของรูปใดเสื่อมไป เช่น แขน ขา หู ตา สมอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติธรรม ยังมีสภาพสติที่ดีกว่า ปุถุชนคนธรรมดา ถึงแม้จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่ในขณะจิตสุดท้ายก่อนจะดับ สติที่ฝึกมาดีแล้ว จะเข้ามาอุปถัมน์จิต จิตที่เกิดในวาระสุดท้าย จะเป็นจิตในระดับการรับรู้ในมโนทวาร คือเอาประจุกรรมสัญญาในภวังคจิตออกมา เป็นชนกกรรม (กรรมนำเกิด) ไปสู่สุคติภูมิแน่นอน

ดังนั้น จึงต่างกับผู้ที่ไม่เจริญสติ และไม่ประกอบกรรมดีเป็นทุนของชีวิตไว้ เมื่อในขณะสุดท้ายของจิตจึงเศร้างหมองเพราะ จิตรับอารมณ์จากกรรมที่มานำเกิด คือ อาจิณกรรม(กรรมที่ทำบ่อยๆ) นั่นเอง ขึ้นอยู่กับเคยทำกรรมอย่างไรไว้มากน้อยกว่ากัน

ฉะนั้น ผู้ที่เคยปฏิบัติธรรม เจริญสติ หรือประกอบกรรมดีมา แม้ว่า ในช่วงสุดท้ายของชีวิต สภาพทางกายอาจดูภายนอกย่ำแย่ ป้ำๆเป๋อๆ แต่เมื่อถึงวาระสุดท้าย ในขณะจิตสุดท้าย สติเจตสิกและกุศลเจตสิกจะเกิดขึ้นในจิตดวงสุดท้ายเพื่ออุปถัมน์จิตนั้นอย่าง แน่นอน ดังพุทธพจน์ที่ว่า

"จิตเต อสังกิลิเถ สุคติ ปาฏิกังขา"

เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันพึงหวังได้ ไม่ต้องสงสัยเลย" ดังนี้

 

มีหลายครั้งค่ะ ที่ผู้ดูแลเล่าว่า ผู้ป่วยกลับมาเป็นคนเดิม พูดจารู้เรื่อง ให้ดีใจ
เรื่องที่เล่าในบันทึกนี้ สนิทกันมาก เขาเลยเล่าอะไรๆให้ฟังหลายอย่างค่ะ ได้ความรู้จากเรื่องจริงๆ และรู้จักกันดีด้วย

ขอบคุณคุณSasinandมากค่ะที่มาทำลิ้งค์ไว้ ดีมากเลยค่ะ จะได้เชื่อมโยงประสบการณ์ความรู้

ขอบคุณน้องมัท มากนะ สำหรับความรู้ดีๆ แถมแปลให้เสร็จเลย พี่จะเอาไปใช้สอน นศ ของพี่บ้าง (แล้วจะบอกเด็กๆ ว่า ความรู้นี้ได้จากพี่มัท ไว้ตรงท้ายเอกสาร)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท